อย่าแค่ดี แต่ต้อง “ดีเยี่ยม”

1766
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • การลงทุนทำอะไรอย่างหนึ่งย่อมหมายถึงการเสียโอกาสในการทำอะไรอีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้นจงใช้ทรัพยากรอันมีค่าของคุณลงทุนพัฒนาในสิ่งที่เราเก่งอยู่แล้ว ให้เก่งมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ไปลงทุนพัฒนาในสิ่งที่เราไม่เก่งให้ดีขึ้นมา
  • เรื่องที่เราไม่เก่ง หรือเก่งไม่มาก หรือให้คนอื่นทำแทนแล้วได้ผลเท่ากัน เราควรยกให้คนอื่นทำให้หมดครับ แล้วเอาเวลาอันแสนมีค่าของเรามาทำเรื่องที่เราถนัดดีกว่า

พัฒนาสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น

เพราะเวลาและทรัพยากรในโลกของคุณมีจำกัด การลงทุนทำอะไรอย่างหนึ่งย่อมหมายถึงการเสียโอกาสในการทำอะไรอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน

การใช้ทรัพยากรอย่างมีค่าที่สุดคือการลงทุนในสิ่งที่จะได้ผลตอบแทนมากที่สุด และผมเชื่อว่าการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดคือการลงทุนพัฒนาในสิ่งที่เราเก่งอยู่แล้วให้เก่งมากยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ใช่การลงทุนพัฒนาในสิ่งที่เราไม่เก่งให้ดีขึ้นมา

เรื่องที่เราไม่เก่ง หรือเก่งไม่มาก หรือให้คนอื่นทำแทนแล้วได้ผลเท่ากัน เราควรยกให้คนอื่นทำให้หมดครับ แล้วเอาเวลาอันแสนมีค่าของเรามาทำเรื่องที่เราถนัดดีกว่า

Advertisements

ฟังดูทะแม่งๆ ยังไงชอบกลใช่ไหมครับ มาลองดูตัวอย่างของเรื่องนี้กันครับ

อธิบายนโยบายระดับชาติด้วยภาพวาดแบบเด็กประถม

ในปี 2008 มีการถกเถียงกันมากเกี่ยวกับนโยบายสุขภาพในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีโอบามาได้นำเสนอการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับนโยบายด้านสุขภาพที่เป็นที่คุ้นหูกันในชื่อโอบามาแคร์ (Obamacare) ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้แตกออกเป็นสองฝ่าย ว่าง่ายๆ คือถ้าไม่ชอบก็เกลียดกันไปเลย

แดน โรม (Dan Roam) นักเขียนหนังสือเรื่อง ปิ๊งด้วยภาพ (The Back of The Napkin) ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญอะไรเกี่ยวกับเรื่องนโยบายสุขภาพใดๆ ทั้งสิ้น แต่เขากลับกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ให้กับคนอเมริกันหลายล้านคน

แดนไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ แต่แดนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้การวาดภาพเพื่ออธิบายเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะเรื่องทางธุรกิจครับ

ทำไมคนที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้กลายมาเป็นคนที่สร้างความกระจ่างในเรื่องที่ดูเหมือนจะค่อนข้างวุ่นวายนี้ให้กับชาวอเมริกันได้

เรื่องมันเป็นแบบนี้ครับ

แดน โรม อย่างที่กล่าวไว้ว่า เขาเองยอมรับว่าไม่มีความรู้พอที่จะแม้แต่ให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายสุขภาพใดๆ ที่เป็นอยู่หรือที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงออกมา แต่สิ่งที่เขาเห็นในภาพข่าวคือ ความขัดแย้งที่ลุกลามใหญ่โต และเขาอยากมีส่วนร่วมในการสร้างความเข้าใจให้กับสังคมในเรื่องนี้ 

ในฐานะที่เขาเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจให้กับองค์กรต่างๆ จึงเคยร่วมงานกับคนมากมาย แดนนึกถึงคุณหมอคนหนึ่งชื่อโทนี่ ผู้มีความเข้าใจในเรื่องนโยบายสุขภาพเป็นอย่างดี โดยไม่รอช้า แดนติดต่อโทนี่ให้มาช่วยกันในโครงการนี้

ทั้งสองอยู่ในห้องที่เต็มไปด้วยกระดานไวท์บอร์ดพร้อมกับเอกสารเกี่ยวกับกฎหมายด้านสุขภาพเต็มห้อง ทั้งสองปฏิญาณว่าจะไม่เลิกจนกว่าจะสามารถวาดรูปแผนภาพ (diagram) แบบง่ายเพื่ออธิบายวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังกฎหมายเกี่ยวกับนโยบายสุขภาพเหล่านั้นได้

สองวันต่อมา ทั้งสองได้ภาพวาดมาทั้งหมด 43 ภาพ มันเป็นภาพวาดที่ดูเหมือนวาดโดยเด็กมัธยมต้น (หรือเด็กประถมแล้วแต่คุณจะมอง) ทั้งสองเอาภาพเหล่านั้นใส่พาวเวอร์พอยท์ และใส่หัวเรื่องพร้อมคำอธิบายสั้นๆ หลังจากนั้นก็เอาไปโพสออนไลน์ แล้วตั้งชื่อมันว่า “American Health Care: A 4-Napkin Explanation”

ภายในสัปดาห์เดียว มีคนดาวน์โหลดไปหลักพันคน ภายในหนึ่งเดือนมีคนดาวน์โหลดไป 50,000 คน ถึงวันนี้มีคนดาวน์โหลดไปแล้วกว่าสองล้านคน

มีสำนักข่าวต่างๆ ทำข่าวเรื่องนี้นับไม่ถ้วน

ในปี 2009 สไลด์แชร์ (Slideshare) มอบรางวัล World’s Best Presentation ให้

หนึ่งเดือนหลังจากที่แดนโพสงานนำเสนอของเขา ฟ็อกซ์นิวส์ (Fox News) เชิญเขาไปออกรายการสด 7 นาที เพื่ออธิบายงานนำเสนอของเขา หลังจากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์ เขาได้รับโทรศัพท์สายหนึ่ง เสียงปลายสายบอกว่า

Advertisements

“นี่คือคุณแดนที่พูดถึงเรื่องสไลด์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนโยบายสุขภาพในฟ็อกซ์นิวส์ใช่ไหม”

“ใช่ครับ”

“เราติดต่อมาจากทำเนียบขาว เราอยากเรียนเชิญคุณมาที่วอชิงตัน ดี.ซี. ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสุขภาพ เพื่อมาเล่าเรื่องราวที่คุณทำให้กับทีมงานของประธานาธิบดีหน่อยครับ”

แดนกับรูปภาพที่ดูเหมือนการ์ตูนของเขา และความสามารถในการอธิบายเรื่องผ่านการวาดภาพที่ไม่ธรรมดา ทำให้เขากลายเป็นศูนย์กลางและหนึ่งในบุคคลสำคัญที่สร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ให้กับคนอเมริกันไปได้

ปัจจุบัน แดนเขียนหนังสือขายดีอีกเล่มออกมาชื่อ Draw to Win: A Crash Course on How to Lead, Sell, and Innovate With Your Visual Mind ทั้งเล่มพูดถึงแต่เรื่องการสื่อสารด้วยการวาดภาพแบบง่ายๆ

นี่คือตัวอย่างครับว่า ถ้าเราเก่งอะไร จงโฟกัสกับเรื่องนั้นและทำให้เราเก่งแบบสุดๆ ไปเลยครับ


ผมเองเคยลองทำมาทั้งสองแบบแล้วครับ

ทั้งแบบที่พยายามพัฒนาทุกๆ ด้าน กับทำเฉพาะสิ่งที่เราถนัด พบว่าแบบหลังดีกว่าเยอะเลยครับ

ตอนแรกๆ ที่มาทำศรีจันทร์ใหม่ๆ ผมพยายามจะทำทุกอย่างเองทุกเรื่อง ตั้งแต่ออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปยันหนังโฆษณาทีวีก็เคยทำเองมาแล้ว (อันนี้เป็นเรื่องที่บ้ามาก ไม่ควรเลียนแบบอย่างยิ่ง) ผลปรากฏว่าออกมาไม่ดีสักอย่าง ผมได้ข้อสรุปว่าควรทำเฉพาะสิ่งที่ตัวเองถนัดแล้วทำให้เป็นเลิศ ส่วนเรื่องอื่นให้คนอื่นทำดีกว่า

ยกตัวอย่างเช่นงานด้านการผลิต เดี๋ยวนี้หลังๆ เราก็ให้พาร์ตเนอร์ทั้งที่ญี่ปุ่นและในไทยเราเป็นคนผลิตแทนเรา เพราะเขามีความชำนาญมากกว่า ส่วนเรามาโฟกัสในงานหลักของเราคืองานการตลาด นอกเสียจากว่าบางส่วนถ้าผลิตเองแล้วจะมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน (competitive advantage) เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการของสดใหม่ตลอดเวลา อย่างในกรณีที่เครื่องสำอางบางตัวอายุสั้น การผลิตเองในปริมาณน้อยๆ แล้วผลิตบ่อยๆ จึงได้เปรียบกว่าการจ้างผู้รับจ้างผลิตสินค้า (OEM: Original Equipment Manufacturer) ในปริมาณมากๆ แต่นานๆ ทำที แบบนี้ก็ควรพิจารณาผลิตเอง เป็นต้น

คนจำนวนมาก รวมถึงผมก่อนหน้านี้ด้วย เสียเวลากับการพยายามทำทุกอย่างให้ดี ในที่สุดก็กลายเป็น Jack of all trades หรือแปลเป็นไทยว่า “คนที่รู้ทุกเรื่อง รู้ทุกอย่าง แต่เก่งไม่จริงสักอย่าง”

ถ้าไม่อยากเป็นแบบนั้นเอาเวลามาโฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองเก่ง แล้วทำให้สุดๆ ไปเลยดีกว่านะครับ

สิ่งที่เราควรทำ

  • ถามตัวเองว่าเราเก่งมากๆ เรื่องอะไร
  • พิจารณาว่าเรื่องอะไรที่เราทำอยู่และสามารถส่งให้คนอื่นทำได้ และได้ผลพอๆกับที่เราทำเอง จึงควรส่งต่องานนั้นให้คนอื่นทำ
  • เข้มงวดและมีวินัยกับตัวเองมากๆ ในการใช้เวลาพัฒนาสิ่งที่ตัวเองเก่งอยู่แล้วให้ดีขึ้นไปอีกอย่างไม่ย่อท้อ

ถ้าเราสังเกตคนที่ประสบความสำเร็จทั้งหลายบนโลกนี้ ตั้งแต่นักกีฬาอย่างไมเคิล เฟลป์ส (Michael Phelps) ที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก ไปจนถึงเชฟที่รวยที่สุดของโลกอย่าง เจมี่ โอลิเวอร์ เราจะเห็นว่าเขาเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีจุดด้อยมากมาย เช่น ไมเคิลเป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD: Attention deficit hyperactivity disorder) หรือเจมี่เป็นโรคดิสเล็กเซีย (Dyslexia) แต่จุดเด่นที่พวกเขาเหล่านั้นมีคือการฝึกฝนอย่างหนักมากๆ จนสามารถลบจุดด้อยอย่างมิดชิด โดยที่ไม่มีใครมาสนใจจุดด้อยของพวกเขาอีกเลย

เหมือนดังที่ จิม คอลลินส์ (Jim Collins) เคยพูดไว้ครับ

ดี คือศัตรูของดีเยี่ยมจิม คอลลินส์
Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่