รีวิวหนังสือ: Principles

150304
หนังสือ principles
หนังสือ principles
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • หนังสือเล่มนี้มีค่าไม่น้อยไปกว่าการเรียน MBA ของผมเลยครับ แต่ละพาร์ทของหนังสือเป็นดังนี้
  • พาร์ทที่ 1: เป็นพาร์ทชีวิตของบุคคลต่างๆ เช่น เรย์ ดาลิโอ ที่เป็นที่ปรึกษาให้หลายบริษัทอย่างแมคโดนัลด์ และบุคคลผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างสตีฟ จอบส์ หรืออีลอน มักส์
  • พาร์ทที่ 2: หลักการแห่งชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความฝัน ความตั้งใจ ความเจ็บปวด
  • พาร์ทที่ 3: หลักการในการทำงาน ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญได้แก่ คน และวัฒนธรรมองค์กร

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่ดีที่สุดเล่มนึงที่ผมเคยอ่านมาในชีวิต และปกติผมจะไม่คิดพิมพ์ประโยคนี้ แต่หนังสือเล่มนี้พลาดแล้วจะ “เสียใจ” ครับ ใครได้อ่านก่อนตั้งแต่ยังอายุน้อย ๆ ถือว่าโชคดี

ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้มีค่าไม่น้อยกว่าการไปเรียน MBA ของผมอย่างแน่นอนครับ 

ผมซื้อหนังสือเล่มนี้ให้พ่อ แม่ พี่เขย ผู้ใหญ่ที่เคารพ และทีมงาน เพราะการปรากฏตัวของหนังสือที่ดีขนาดนี้ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่หลายสิบปีอาจจะมีให้เห็นซักเล่มนึง ก่อนจะอ่านบทความนี้แนะนำว่าควรว่าง ๆ ก่อนนะครับ เพราะบทความนี้ยาวกว่าบทความปกติของผมมาก

8 เหตุผลที่หนังสือเล่มนี้ดีมาก

  1. ผู้เขียนเป็นหนึ่งในบุคคลที่หลักแหลมที่สุดของโลกในสายงานที่เขาทำ กองทุน บริดจ์วอเตอร์ แอสโซซิเอท (Bridgewater Associates) ที่เขาก่อตั้งโดยเริ่มต้นจากอพาร์ทเมนต์ของตัวเอง ปัจจุบันได้กลายมาเป็น กองทุนบริหารความเสี่ยง (Hedge Fund) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  2. วิธีคิดของ เรย์ (Ray) นั่นถือว่าล้ำสมัยไปเป็นสิบ ๆ ปี และผมเชื่อว่าโครงสร้างทางความคิดนี้คือสิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดที่เราควรจะใช้เป็นบรรทัดฐานในการออกแบบโลกที่มี AI, big data, IoT ฯลฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา
  3. หนังสือเล่มนี้ถูกถ่ายทอดอย่างละเอียด ตั้งใจ และมีความเป็นระบบ (systematic) มาก
  4. ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำเองทั้งสำเร็จและล้มเหลว โดยไม่ต้องอ้างอิงทฏษฏีอะไร จะว่าไปทฏษฏีหลายอย่างที่เราใช้ ๆ กันอยู่มาจากแนวคิดของผู้เขียนด้วยซ้ำ
  5. บริดจ์วอเตอร์ ก่อตั้งขึ้นก่อนที่ผมจะเกิดซะอีก แต่แนวคิดที่ถูกเขียนไว้อยู่เหนือกาลเวลา ไม่ดูเก่าหรือล้าสมัยแม้แต่น้อย สามารถนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้เลย
  6. เรย์ คือบุคคลที่ทำนายเหตุการณ์สำคัญ ๆ ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินได้อย่างแม่นยำมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่านี่คือของจริง ไม่ใช่โชคช่วย
  7. หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ให้แค่แนวคิดเฉพาะเรื่องธุรกิจ แต่เป็นเรื่องชีวิตด้วย เพราะงานกับเรื่องส่วนตัวนั้นแยกกันไม่ออกจริงๆครับ
  8. แนวคิดเรื่องการบริหารคนของเรย์ คนที่ว่านี้หมายถึงคนอื่นและตัวเองด้วย เป็นหนึ่งในวิธีการบริหารคนที่สุดยอดที่สุดที่ผมเคยอ่านมา

หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบผมเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุดคุณจะเปลี่ยนวิธีคิดกับการทำงาน การบริหารชีวิต การลงทุน และการวางแผนอนาคตของคุณ

ด้วยพื้นฐานที่ผมเคยทำงานด้านการเงินมาก่อน หนังสือเล่มนี้จึงอ่านสนุกมากเป็นพิเศษ แต่ไม่ต้องห่วงนะครับสำหรับคนที่ไม่ได้คุ้นเคยในสายงานนี้ เรื่องเกี่ยวกับการเงิน เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ ทั้งหมดในเล่มนี้เป็นยังไม่สำคัญเท่า “วิธีคิด” ที่อยู่เบื้องหลังครับ

และผมเชื่อว่าสิ่งที่ทุกคนจะได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่การไป เทรดหุ้น หรือลงทุนที่เก่งขึ้น แต่เป็น “วิธีคิด” ที่ทรงพลังมาก ที่จะเอาไปปรับใช้ได้กับทุกเรื่อง

สิ่งที่ผมจะสรุปนี้ไม่ได้เป็นทุกอย่างที่อยู่ในหนังสือนะครับ ผมจะเขียนโดยการสะท้อน สิ่งที่ผมรู้สึกเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะว่ายังไงก็ดีผมเชื่อว่าทุกคนควรจะต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยตัวเองครับ และคุณเองก็ต้องสะท้อนความรู้สึกด้วยตัวเอง ซึ่งมันคงไม่เหมือนของผมแน่นอน 

พาร์ทที่ 1 : ชีวิตของ เรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio)

ในช่วงปี ค.ศ. 1970 เรย์ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับหลายบริษัท รวมถึงบริษัท แมคโดนัลด์ (Mcdonald’s) และบริษัท เลน โปรเซสซิ่ง (Lane Processing) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไก่รายใหญ่ที่สุดของประเทศ

ช่วงเวลานั้นเองบริษัท แมคโดนัลด์ ต้องการที่จะทำนักเก็ตไก่ แต่พวกเขาลังเลเพราะความกังวลที่ราคาของไก่จะผันผวนและทำให้กำไรลดลง หรืออาจจะขาดทุนเลยก็ได้ ในขณะที่ เลน โปรเซสซิ่ง ก็ไม่ยอมตกลงที่จะขายเนื้อไก่ให้ แมคโดนัลด์ ในราคาคงที่เพราะความกังวลเดียวกัน

เรย์ จึงได้ให้คำแนะนำว่าจริง ๆ แล้วราคาของไก่นั้นขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยเท่านั้นคือ ตัวลูกไก่กับอาหาร สิ่งที่ผันผวนมากที่สุดคือราคาของอาหารไก่ สิ่งที่เรย์ทำคือออกแบบอนุพันธ์ซึ่งเป็นส่วนประกอบของราคาข้าวโพดและถั่วเหลืองเพื่อล็อคราคาของอาหารไก่ในอนาคต ทำให้ เลน โปรเซสซิ่ง สามารถขายไก่ให้ แมคโดนัลด์ ในราคาคงที่ได้

ด้วยสาเหตุนี้เอง แมคโดนัลด์ จึงเริ่มขายแมคนักเก็ตในปี 1983 ถ้าไม่มีเรย์พวกเราคงไม่ได้กินแมคนักเก็ต 🙂

เรย์ผ่านช่วงเวลาขึ้นลงในยุค 1980 มากมาย เขาได้ให้แง่คิดในช่วงต้นของหนังสือว่าเขาเพียงต้องการจะได้คำตอบที่ถูก ซึ่งคำตอบที่ถูกนั้นไม่จำเป็นต้องมาจากเขา ดังนั้นเขาจึงฝึกตัวเองให้เป็นคนที่เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นเสมอ และก็ได้สรุปว่าวิธีการเหล่านี้จะเป็นวิธีที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จได้

  1. หาคนที่ฉลาดที่สุด ที่ไม่เห็นด้วยกับเขา เพื่อที่จะได้พยายามทำความเข้าใจกับเหตุผลของคนนั้น
  2. รู้ว่าเมื่อไหร่ไม่ควรมีความคิดเห็น
  3. พัฒนาทดสอบ และสร้างระบบของหลักการ ที่สามารถใช้ได้เป็นสากลและต้องไม่มีวันล้าสมัย
  4. หาจุดสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนโดยสร้างผลตอบแทนให้สูงในขณะที่ลดความเสี่ยงลง

ระหว่างทางของการใช้ชีวิตของเขามีเรื่องต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมากมาย เรื่องที่ทำให้เขามองชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่าง เช่น ในช่วงกลางทศวรรษ 80’s บริดจ์วอเตอร์ แอสโซซิเอท มีลูกค้าชื่อ อลัน บอนด์ (Alan Bond) ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของออสเตรเลีย

ธุรกิจของ อลัน นั้นมีการยืมเงินเป็น ดอลลาร์สหรัฐ (USD) เพื่อซื้อกิจการต่าง ๆ เช่นโรงงานเบียร์ในออสเตรเลีย ที่เขายืมเงินเป็น ดอลลาร์สหรัฐ ก็เพราะว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ณ ตอนนั้น ถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยของออสเตรเลีย

แม้ว่าตัวเขาจะรู้หรือไม่ก็ตาม การทำแบบนี้คือการคาดการณ์ค่าเงินว่า ดอลลาร์สหรัฐ จะไม่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับ ดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) เมื่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น รายได้จากกิจการเบียร์ของเขาจึงไม่พอที่จะจ่ายหนี้

อลัน โทรหา เรย์ เพื่อขอคำแนะนำ ซึ่ง เรย์ ก็ได้คำนวณว่าถ้ามีการทำ การป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ควรจะทำที่เท่าไร เพื่อเป็นการรับประกันว่าจะไม่เสียหายเรื่องค่าเงินไปมากกว่านี้ เรย์ บอกให้ อลัน รอจังหวะ ดอลลาร์ออสเตรเลีย แข็งค่าขึ้นแล้วรีบทำ การป้องกันความเสี่ยงของค่าเงิน

และ ดอลลาร์ออสเตรเลีย ก็แข็งค่าขึ้นจริง ๆ แต่ อลัน ไม่ทำตามคำแนะนำ เพราะคิดว่าปัญหาเรื่องของค่าเงินได้ผ่านไปแล้ว แต่อีกไม่นาน ดอลลาร์ออสเตรเลีย ก็ร่วงลงมา ต่ำสุดเป็นสถิติใหม่ (new-low) เลย คราวนี้ อลัน ต้องขอประชุมด่วนกับ เรย์ ซึ่งสิ่งที่เขาแนะนำให้ทำคือรีบรับความเสียหายเท่านี้และประกันความเสี่ยงซะ

แต่ อลัน ไม่ทำ และคราวนี้ ดอลลาร์ออสเตรเลีย ไม่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาอีก ทุกอย่างก็สายเกินไป ในที่สุดเขาก็ล้มละลาย อลัน บอนด์ นี่เป็นหนึ่งในหลายเคสของคนที่ร่ำรวย เก่ง และประสบความสำเร็จที่สุดลำดับต้น ๆ ของโลก แต่ต้องสูญเสียทุกอย่างไปในพริบตา เพราะไม่เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่

เรย์ ได้เก็บข้อมูลมหาศาลในช่วงเวลาหลายปีอย่างเป็นระบบ ทำให้เขาสามารถบันทึกสิ่งที่เรียกว่า หลักการลงทุน (investment principle) และผลที่คาดว่าจะเกิดของมัน เขามีข้อมูลของผลตอบแทนของสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ หลายพันรูปแบบ และในแต่ละรายการเขาเริ่มทดลองโปรแกรมและทดสอบกฎพื้นฐานของการเทรดของสินทรัพย์นั้น ๆ ดังนั้นเขาจึงมีตัวเลือกของสินทรัพย์ที่ใช้ในการซื้อขายมากกว่าคนอื่นเยอะมาก เพราะเขามีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ

การทำแบบนี้ทำให้เขาตื่นตะลึงกับผลตอบแทนเป็นอย่างยิ่ง ทางทฤษฎีเมื่อมีฐานข้อมูลและวิธีการทดสอบแบบที่เขาทำมันสามารถเพิ่มอัตราผลตอบแทนได้ 3 ถึง 5 เท่าต่อ 1 หน่วย ของความเสี่ยง หรือพูดง่าย ๆ ว่าเขาสามารถทำเงินได้มากมายมหาศาลกว่าคนอื่นในขณะที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า

ความสำเร็จจากวิธีการนี้สอน หลักการ (Principle) ที่ เรย์ ใช้ในทุกมุมของชีวิต นั่นก็คือ เมื่อเราลงทุนกับอะไรที่มีความเสี่ยงหลายอย่างที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกัน และทำมันให้สมดุล มีการบริหารจัดการที่ดี มันคือวิธีการที่แน่นอนที่สุดที่จะทำให้เราได้ในสิ่งที่เราอยากได้โดยมีความเสี่ยงน้อยที่สุด

ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง :

สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) น่าจะเป็น ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ช่วงที่เรามีชีวิตอยู่วัดจากขนาดและความสำเร็จของเขา ซึ่งผู้กำหนดทิศทางที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ คือ คนที่มีวิสัยทัศน์ (Vision) ที่มีค่าต่าง ๆ ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างมันออกมาได้อย่างสวยงาม และโดยส่วนใหญ่วิสัยทัศน์เหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาท่ามกลางความสงสัย และการต่อต้านจากคนรอบข้าง

สตีฟ จอบส์ สร้างบริษัทที่ใหญ่และสำเร็จมากที่สุดในโลกยุคใหม่โดยการปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ เพลง การสื่อสาร อนิเมชั่น หลักการถ่ายภาพ ด้วยสินค้าที่ถูกดีไซน์ใหม่อย่างสวยงามมาก ๆ

ในโลกของเรายังมีผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงอีกหลายคนอย่างในสายธุรกิจก็ เช่น อีลอน มักส์ (Elon Musk), เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) และ รีด แฮสติ้งส์ (Reed Hastings)

ในขณะที่ในโลกของการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เรามี มูฮัมหมัด ยูนูส (Muhammad Yunus), เจฟฟรีย์ แคนาดา (Geoffrey Canada) และ เวนดี้ ค็อปป์ (Wendy Kopp)

ในภาครัฐก็เช่น วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill), มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.), ลี กวนยู (Lee Kuan Yew) และ เติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping)

ภาควิทยาศาสตร์ เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein), ซีคมุนท์ ฟร็อยท์ (Sigmund Freud), ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin)

บางคนเป็น ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง ทั้งภาคธุรกิจ สังคม และ ภาครัฐก็มีเช่น ไมเคิล บลูมเบิร์ก (Michael Bloomberg) เป็นต้น 

เรย์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับบุคคลเหล่านี้หลายคน พวกเขาเหล่านี้สามารถมองเห็น แนวคิด (concept) และสร้างองค์กรขึ้นมาจากมันได้จริง ๆ พวกเขายังทำสำเร็จอย่างต่อเนื่องและยาวนานอีกด้วย

คนเหล่านี้มีหลายอย่างที่เหมือนกัน พวกเขามีอิสระทางความคิด พวกเขาไม่ให้ใครหรืออะไรมาขวางทางในการเดินทางถึงเป้าหมายของพวกเขา พวกเขามีแผนการที่ชัดเจนมาก ว่าสิ่งต่าง ๆ ควรถูกทำอย่างไร ในขณะเดียวกันพวกเขาก็พร้อมที่จะทดสอบแผนการเหล่านี้ในโลกแห่งความจริงและพร้อมเสมอที่จะเปลี่ยนมัน ถ้ามันมีวิธีการที่ดีกว่าที่จะทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จและไปถึงเป้าหมายได้

พวกเขามีความยืดหยุ่นสูงมากกว่าคนธรรมดามาก เพราะว่าความต้องการในการไปถึงเป้าหมายของพวกเขานั้นมีมากกว่าความเจ็บปวดที่เขาต้องเจอระหว่างทาง หรือการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่น่าสนใจที่สุดน่าจะเป็นความกว้างของ วิสัยทัศน์ ที่คนเหล่านี้มีมากกว่าคนธรรมดาทั่วไปอย่างยิ่ง คนเหล่านี้มีความสามารถในการมองทั้งภาพใหญ่ให้เห็นชัดและการมองภาพเล็กอย่างละเอียดด้วย

ที่สำคัญที่สุดพวกเขาทำงานด้วยความรักและหลงใหลในงานที่เขาทำอย่างยิ่งพวกเขาจะไม่ยอมให้คนที่เขาทำงานด้วยทำงานน้อยกว่า 100% เพราะคนเหล่านี้เชื่อว่าเขาและคนรอบข้างเขาจะต้องทำงานเพื่อสร้างสิ่งที่มี แรงกระเพื่อม กับโลกได้มากที่สุด

อีลอน มักส์

เรย์ เล่าให้ฟังว่าตอนที่ เทสล่า (Tesla) ออกรถรุ่นแรกมาขายเขาได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับ อีลอน มักส์ หลังจากคุยเรื่องรถซักพักเขาก็ถาม อีลอน ว่าทำไมถึงได้ตั้งบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ล่ะ

คำตอบที่ไดัรับทำให้ เรย์ ต้องประหลาดใจในความกล้าของ อีลอน

อีลอน ตอบว่า นานมาแล้วละที่ผมคิดว่าสิ่งเลวร้ายจะต้องเกิดขึ้นในระดับที่ ส่งผลกระทบต่อทั้งโลก อาจจะเป็นโรคระบาดร้ายแรงหรืออุกกาบาตที่มาชนโลกก็ได้ ถ้ามันเกิดขึ้นก็หมายความว่ามนุษยชาติต้องหาที่อยู่เพื่อเริ่มต้นใหม่ เช่น ดาวอังคาร วันนึงผมจึงไปที่เว็บไซต์ของ นาซ่า (NASA) เพื่อดูความคืบหน้าเกี่ยวกับการเดินทางไปดาวอังคาร แล้วก็พบว่า นาซ่า ยังไม่มีแผนการที่จะพามนุษย์ไปดาวอังคารในเร็ววันนี้

ตอนผมขาย เพย์พาล (Paypal) ผมได้เงินมาทั้งหมด 180 ล้านเหรียญสหรัฐ มันทำให้ผมคิดว่าถ้าผมใช้เงินซัก 90 ล้านเหรียญในการซื้อจรวด ไอซีบีเอ็ม (ICBM – Intercontinental Ballastic Missile) จากรัสเซีย ผมอาจจะจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจในการเดินทางสำรวจดาวอังคารได้

ณ จุดนี้ เรย์ ถาม อีลอน ถึงความรู้เกี่ยวกับจรวดของเขา
อีลอน ตอบว่าเขาไม่เคยมีความรู้เกี่ยวกับจรวดมาก่อน และพูดต่อว่า

ผมก็แค่เริ่มอ่านหนังสืออีลอน มักส์

และสิ่งที่พวกคุณเห็นในวันนี้เกิดจากความมุ่งมั่นอย่างสูงสุดในการพาตัวเองไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจ นี่คือสิ่งที่ ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงมี

เรย์ บอกไว้ในตอนท้ายของช่วงต้นว่าเมื่อตอนที่เขายังหนุ่มอยู่นั้นเขาได้มองเห็นชีวิตของบุคคลที่ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย และคิดว่าคนเหล่านั้นประสบความสำเร็จเพราะพวกเขาเป็นคนพิเศษ แต่หลังจากที่ เรย์ ได้คุยกับคนเหล่านี้เป็นการส่วนตัวแล้ว เขาก็พบว่าคนเหล่านี้ทุกคนก็เหมือนกับคนทั่ว ๆ ไป พวกเขาทำเรื่องที่ผิด พวกเขาต้องดิ้นรนและต่อสู้กับความอ่อนแอของตัวเอง พวกเขาไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเก่งหรือพิเศษกว่าคนอื่นแต่อย่างใด

คนที่ประสบความสำเร็จมากมายเหล่านี้ไม่ได้มีความสุขมากกว่าคนทั่วไป แม้ว่าตอนที่พวกเขาจะได้ในทุกสิ่งที่เขาฝันไว้แล้วก็ตาม เขาเหล่านี้ก็ยังคงดิ้นรนอยู่ ตัวของ เรย์ เองก็เป็นเช่นนั้น เรย์ เล่าว่าเขาได้ในสิ่งที่เขาต้องการหลายสิบปีแล้ว แต่ทุกวันนี้ตัวเขาเองก็ยังดิ้นรนอยู่ ทำให้เขารู้ว่า

ความรู้สึกพึงพอใจกับความสำเร็จนั้น ไม่ได้มาจากการที่คุณได้ในสิ่งที่คุณต้องการ แต่มาจากการต่อสู้ที่มีความหมายต่างหากเรย์ ดาลิโอ

เพื่อให้เข้าใจความหมายนี้ลองหลับตาแล้วนึกถึงเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตคุณ ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม เช่น การมีเงินมากมาย การได้รางวัลออสการ์ หรือการมีองค์กรอันยิ่งใหญ่ คราวนี้ลองนึกดูว่าคุณได้ของเหล่านี้มาทันที คุณอาจจะมีความสุขในตอนแรก แต่ในที่สุดแล้วคุณก็จะค้นพบว่าคุณต้องการความท้าทายและการต่อสู้ครั้งใหม่ ถ้าคุณไม่เชื่อคุณลองดูคนที่ได้สิ่งที่ฝันตั้งแต่ยังเด็ก ๆ อยู่ หรือได้มันมาอย่างรวดเร็ว อย่างเช่น ดาราที่ดังตอนเด็ก คนที่ได้รางวัลลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 หรือแม้แต่นักกีฬาที่มีช่วงเวลาพีคในสมัยที่อายุยังน้อย คนเหล่านี้มักไม่ค่อยมีความสุขนอกเสียจากว่าเขาจะหาสิ่งใหม่ที่ท้าทายในชีวิตทำได้

ในเมื่อชีวิตนำพามาซึ่งเรื่องที่ดีและเรื่องที่ไม่ดี การต่อสู้ที่มีความหมายจะทำให้ช่วงที่ดีของ คุณดีมากขึ้นและทำให้ช่วงที่ยากของคุณไม่ยากจนเกินไป เรย์ บอกว่าตัวเขาเองก็ยังคงดิ้นรนและต่อสู้อยู่และคงจะต่อสู้จนถึงวันที่เขาตายนั่นแหละ


ขอบคุณการดิ้นรนต่อสู้ และการเรียนรู้ มันทำให้ผมได้ทำทุกอย่างที่ผมอยากทำเรย์ ดาลิโอ

พาร์ทที่ 2 : หลักการแห่งชีวิต (Life Principle)

1. ยอมรับความเป็นจริง และจัดการกับมัน (Embrace Reality and Deal with it) :

เรย์ สังเกตว่าคนที่ทำสิ่งที่ยอดเยี่ยมได้นาน ไม่ใช่นักเพ้อฝันแต่เป็นนักคิด และเป็นคนยึดถือความจริงมากๆ (hyperrealist)

ความฝัน + ความจริง + ความตั้งใจ = ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ :

เรย์ ได้เรียนรู้ว่าถ้าคุณต้องการใช้ชีวิตให้ได้มากที่สุด มันไม่ได้หมายความว่าคุณต้องทำงานหนักที่สุดอย่างเดียว แต่คุณต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วย การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้ผลของมันดีกว่ากันร้อยเท่าทีเดียว

กุญแจสำคัญอยู่ที่การล้มเหลว เรียนรู้ และพัฒนาอย่างรวดเร็ว ถ้าคุณเรียนรู้และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา คุณจะมีวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เรย์ เชื่อว่าวิวัฒนาการคือความสำเร็จที่สุดของชีวิตและเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเช่นกัน

ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เราเห็นว่าทุก สปีชีส์ (species) ถ้าไม่สูญพันธ์ไปก็จะวิวัฒนาการไปเป็นสปีชีส์อื่น แต่เนื่องจากกรอบเวลาที่เรามองเห็นได้นั้นมันสั้นมาก มันอาจจะทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้ได้ยาก จริง ๆ แล้วมนุษย์นั้นเป็นวิวัฒนาการของ ดีเอ็นเอ (DNA) ในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นมาราว 200,000 ปีที่แล้ว ดังนั้นวันหนึ่งถ้าพวกเราถ้าไม่สูญพันธ์ไปเราก็จะต้องวิวัฒนาการไปเป็นอย่างอื่นที่สูงกว่า

โดยส่วนตัวแล้ว เรย์ เชื่อว่าพวกเราจะเริ่มมีการวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วด้วยความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งสามารถประมวลผลข้อมูลได้เร็วและดีกว่าพวกเรา อีกไม่กี่ร้อยปีเผ่าพันธุ์มนุษย์อาจเข้าสู่จุดที่เราเรียกว่า ความรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด (infinite knowledge) โดยมีข้อแม้ว่าพวกเราต้องไม่ทำลายตัวเองกันไปหมดก่อนนะ

ความเจ็บปวด + ผลกระทบ = การพัฒนา :

ในชีวิตส่วนตัวของ เรย์ สิ่งที่เขาต้องการจะให้กับคนที่เขารัก คือพลังในการจัดการกับความจริงเพื่อให้ได้ในสิ่งที่คนเหล่านั้นต้องการ และเพื่อให้คนเหล่านั้นมีพลังที่เข้มแข็ง เรย์ บอกว่าเขามักจะปฏิเสธสิ่งที่คนเหล่านั้น “อยากได้” แต่เขาจะให้โอกาสที่คนเหล่านั้นจะได้ดิ้นรนและต่อสู้ด้วยตัวเองเพื่อที่จะรู้จักเข้าใจและเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้วยตัวเอง

คนส่วนใหญ่มักไม่ชอบถูกปฏิบัติแบบนี้เพราะชอบการถูกตามใจมากกว่า แต่ถ้าหากเราตามใจคนที่เรารักตลอดเวลาและให้สิ่งที่เขาอยากได้ตลอดเวลา เขาจะกลายเป็นคนที่อ่อนแอและต้องการความช่วยเหลือไม่จบสิ้น การดูแลคนที่เรารักด้วยการให้โอกาสเขาได้ดิ้นรน และต่อสู้ด้วยตัวเอง จึงเป็นของขวัญที่ดีที่สุดที่เรามอบให้กับคนเหล่านี้ได้

ความอ่อนแอ (Weakness) :

เมื่อคุณต้องเจอกับความอ่อนแอของตัวเองคุณมีทางเลือกด้วยกันทั้งหมด 4 ทาง

  1. คุณสามารถปฏิเสธมันได้ (มันเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ชอบทำ)
  2. คุณสามารถยอมรับมันและหาทางบริหารจัดการมันให้กลายเป็นจุดแข็งแทน (ซึ่งอาจจะทำได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเปลี่ยนแปลงของคุณ)
  3. คุณสามารถยอมรับมันและหาทางหลีกเลี่ยง
  4. คุณสามารถเปลี่ยนแปลงเป้าหมายของคุณเพื่อไม่ให้เกี่ยวข้องกับความอ่อนแอของตัวเองได้

เส้นทางที่คุณเลือกมีความสำคัญต่อชีวิตคุณอย่างยิ่ง

เส้นทางแรก: คือเส้นทางที่แย่ที่สุด การปฏิเสธหมายถึงการยิ่งทำให้จุดอ่อนของคุณนั้นอ่อนแอลงไปอีก และมันจะทำให้คุณไม่ไปไหนเลยในชีวิต

เส้นทางที่สอง: ยอมรับจุดอ่อนของคุณและหาทางเปลี่ยนมันกลายเป็นจุดแข็งเป็นเส้นทางที่ดีที่สุด ถ้าหากว่าคุณทำมันได้แต่หลายครั้งมันมีจุดอ่อนที่คุณไม่สามารถทำได้ดีจริง ๆ หรือถ้าคุณจะทำมันให้ดีมันต้องใช้พลังงานและเวลาเป็นอย่างมาก

เส้นทางที่สาม: ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีคนใช้น้อยมากคือเมื่อคุณรู้จุดอ่อนของคุณแล้ว คุณต้องพยายามหลีกเลี่ยงหาทางหลบมันไม่พาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่จุดอ่อนของคุณจะโดนเปิดออกมา หลายคนจะไม่ค่อยนึกถึงเส้นทางนี้

2. ใช้ 5 ขั้นตอนนี้เพื่อให้ได้สิ่งที่คุณต้องการในชีวิต :

นี่คือ 5 ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดหากคุณต้องการจะประสบความสำเร็จ หากคุณทำ 5 ขั้นตอนนี้ได้ดีแล้วมันค่อนข้างจากการันตีได้เลยว่า ชีวิตของคุณจะต้องได้ในสิ่งที่คุณอยากได้แน่นอน

  1. มีเป้าหมายที่ชัดเจน
  2. ระบุปัญหาให้ชัดและไม่ยอมให้ปัญหาเหล่านั้นมาขวางทางระหว่างตัวคุณกับการบรรลุเป้าหมายของคุณเป็นอันขาด
  3. วินิจฉัยปัญหาให้ถึงแก่นว่าจริง ๆ แล้วอะไรคือต้นเหตุของมัน
  4. คิดแผนการที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านั้น
  5. เมื่อได้ดีไซน์ในการแก้ปัญหาแล้ว ทำให้มันเห็นผลไม่ว่าจะต้องลงทุนอย่างไรก็ตาม

การทำทั้ง 5 ขั้นตอนนี้ คุณต้องทำตามลำดับขั้นเมื่อวางเป้าหมายก็ให้วางเป้าหมายอย่างเดียว ยังไม่ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้ไปถึงเป้าหมายนั้น หรือยังไม่ต้องคิดว่าจะมีอุปสรรคอะไรบ้าง

เมื่อคุณวิเคราะห์ปัญหาก็ให้วิเคราะห์ปัญหาอย่างเดียว ยังไม่ต้องคิดว่าจะแก้ปัญหายังไง การทำหลาย ๆ ขั้นตอนพร้อมกันจะทำให้ผลลัพธ์ออกมาไม่ดี เพราะมันเข้าไปขัดขวางขบวนการของการหาต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหา

มันสำคัญมากที่คุณจะใช้กระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้ ในสภาวะที่สมองของคุณโปร่งใสที่สุด มีเหตุผลที่สุด และมองลงมาเห็นตัวเอง จากมุมบนที่สุด และซื่อสัตย์กับตัวเองที่สุด ถ้าหากคุณทำขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้ในขณะที่ยังมีอารมณ์อยู่ให้หยุดก่อนแล้วถอยกลับไป เพื่อให้คุณมีเวลาที่จะสะท้อนความจริงให้ชัดเจนถ้าจำเป็นให้หาคนมาช่วย 

อย่าหลีกเลี่ยงปัญหาที่ต้องเผชิญ เพราะปัญหาจะยิ่งหยั่งรากลึก :

การคิดถึงปัญหาที่ยากจะแก้ไข มันอาจจะทำให้คุณรู้สึกกังวลมาก ๆ แต่การไม่คิดถึงมันเลยซึ่งหมายถึงการไม่ยอมแก้ไขมันจะยิ่งทำให้คุณกังวลมากขึ้น เมื่อปัญหานั้นเกิดขึ้นมาจากตัวคุณเอง

เช่นการที่คุณไม่มีความสามารถพอ หรือไม่มีทักษะเพราะคนส่วนใหญ่จะรู้สึกละอาย คุณต้องก้าวข้ามผ่านมันไปให้ได้ ขอเน้นอีกครั้งว่า การรับรู้ถึงความอ่อนแอและจุดบอดของคุณ ไม่ได้หมายถึงการยอมรับมัน แต่เป็นก้าวแรกของการเอาชนะมันต่างหาก ความเจ็บปวดที่คุณกำลังรู้สึกอยู่เมื่อคุณทุ่มเทพลังในการเผชิญหน้ากับปัญหานั้นเป็นสิ่งที่เรียกว่า

“การเติบโตบนความเจ็บปวด”

ซึ่งมันจะเป็นบททดสอบของคุณ และจะเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ของคุณหากคุณก้าวข้ามมันไปได้

จงใช้เวลาในการวิเคราะห์ปัญหา มุ่งเน้นไปที่ปัญหาว่า ”คืออะไร” ก่อนตัดสินใจว่า “จะแก้ปัญหาอย่างไร” :

สิ่งที่คนชอบทำและมันไม่ถูกต้องคือการกระโดดไปหาวิธีคิดในการแก้ปัญหาเลย โดยไม่วิเคาระห์ว่าตัว “ปัญหา” จริงๆแล้วเกิดจากอะไร ในการวางกลยุทธ์ของการแก้ปัญหานั้นเราต้องทำทั้งการวิเคราะห์ตัวปัญหาและการดีไซน์วิธีการแก้ปัญหา

การวิเคราะห์การแก้ปัญหาที่ดีนั้นใช้เวลาราว 15 นาทีถึง 60 นาทีเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าเรามีเครื่องมือในการวิเคราะห์ที่ดีแค่ไหนและปัญหานั้นยากและซับซ้อนแค่ไหน การวิเคราะห์ปัญหานั้นสามารถทำได้โดยพูดคุยกับคนที่เกี่ยวข้อง ดูหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหา เพราะหากปัญหาไม่ได้ถูกแก้ที่ต้นเหตุแล้วมันจะกลับมาเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

จงตระหนักว่าการออกแบบแผนการแก้ปัญหาที่ดี ไม่จำเป็นต้องใช้เวลานาน :

การวางแผนในการแก้ปัญหานั้นไม่ได้ใช้เวลานานเลยมันอาจจะใช้เวลาหลายชั่วโมงจนถึงหลายหลายวันเท่านั้นเอง แต่เป็นกระบวนการที่สำคัญมาก เพราะมันจะทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำนั้นมีประสิทธิภาพหรือไม่ คนจำนวนมากต้องการกระโดดลงไปลงมือทำเลย โดยไม่ยอมใช้เวลากับการออกแบบนี้ซึ่งเป็นความผิดมหันต์ เราต้องดีไซน์ก่อนลงมือทำเสมอ

ทุกคนมีสิ่งสำคัญอย่างน้อยหนึ่งอย่างที่ขวางทางความสำเร็จของพวกเขา “ค้นหาและจัดการกับมัน” :

เราต่างมีอะไรบางอย่างที่ขวางกั้นระหว่างเรากับความสำเร็จของเราทั้งสิ้นหามันให้เจอแล้วจัดการกับมันซะวิธีการจัดการกับมันมี 2 ทางเท่านั้นคือ 1) จัดการมันด้วยตัวเอง 2) ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น

3. เป็นคนใจกว้าง อย่างแท้จริง (Be Radically Open-Minded)

บทนี้น่าจะเป็นบทที่สำคัญที่สุดในหนังสือ เพราะอธิบายถึงสองสิ่งที่สำคัญมากที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งสองอุปสรรคนี้เกิดขึ้นจากธรรมชาติของสมองเราและมนุษย์เราเป็นกันเกือบทุกคน สองสิ่งที่ว่านั้นคือ

อีโก้ (ego) และ จุดบอดที่ถูกมองข้าม (blindspot)

แต่ว่า อีโก้ และ จุดบอด นั้นเกิดจากกลไกการทำงานของสมอง ถ้าเราเรียนรู้มันเราจะมีชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับคนรอบข้างด้วย

เกราะป้องกันอีโก้ (Ego barrier) คืออะไร ?

เกราะป้องกันอีโก้ คือระบบการป้องกันตัวเองที่ถูกซุกซ่อนอยู่ (subliminal defense mechanism) ทำให้การยอมรับข้อผิดพลาดและจุดอ่อนของตัวเองเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก 

ความต้องการที่จะได้รับความรักหรือความกลัวที่จะถูกปฏิเสธความรัก ความต้องการที่จะได้รับการยอมรับหรือความกลัวที่จะถูกเฉยเมย หรือแม้แต่สัญชาตญาณแห่งความอยู่รอดและความกลัวที่จะไม่สามารถอยู่รอดได้

ความต้องการและความกลัวที่ลึกซึ้งมากของมนุษย์เหล่านี้ อยู่ในระบบปฏิบัติการในสมองส่วน เก่าแก่ (primitive) ที่สุดของมนุษย์เช่น สมองส่วน อะมิกดะลา (amygdala) ซึ่งอยู่ในสมองส่วน กลีบขมับ (temporal lobe) ที่ทำหน้าที่ประมวลผลอารมณ์ของเรา

สมองส่วนนี้อยู่เหนือการควบคุมของจิตสำนึกของมนุษย์ โดยมันจะทำงานอย่างรวดเร็วและพยายามตีความทุกอย่างให้ง่ายกว่าความเป็นจริง (oversimplfy) เมื่อมันทำงานเราจึงไม่รู้ว่ามันเข้าควบคุมพฤติกรรมอะไรของเราบ้าง สมองส่วนนี้ชอบคำชม และตอบสนองต่อคำติเหมือนกับตอนที่เราถูกโจมตีหรือทำร้าย สมองส่วนนี้ไม่สามารถแยกการติเพื่อก่อ ออกจากการโดนด่าเฉย ๆ ได้

ในขณะเดียวกันเรามีสมองอีกส่วนคือ คอร์เทกซ์ บริเวณกลีบหน้าผากส่วนหน้า (prefrontal cortex) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่สำคัญมากที่ทำให้มนุษย์เราแตกต่างจากสัตว์อื่น นั้นคือสมองส่วนจิตสำนึกที่เราใช้ในการตัดสินใจต่างๆ หรือเราเรียกว่า กิจบริหาร (executive function) ซึ่งสามารถประมวลผลเรื่องตรรกะและเหตุผลได้เป็นอย่างดี

ดังนั้นมันจึงเหมือนมีเราสองคนอยู่ในคนเดียว และถ้าเราสังเกตดี ๆ เราจะพบว่าสมองส่วนต่าง ๆ นั้นพยายามอยากที่จะชนะในการตัดสินใจให้ได้

เคยเป็นไหมครับบางครั้งที่เรากินขนมแล้วหยุดไม่ได้ รู้ตัวอีกทีก็กินไปหมดถุงแล้ว ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ากินแล้วอ้วน แล้วตอนกินนั้นก็รู้ว่าตัวเองไม่ได้หิวด้วย เหตุการณ์แบบนี้เกินขึ้นเพราะสมองส่วน กิจบริหาร (executive function) พ่ายแพ้ต่อสมองส่วน เก่าแก่ (primitive) ของเรา

เราลองพิจารณาเหตุการณ์ที่มีคนไม่เห็นด้วยกับเรา และต้องการให้เราอธิบายมุมมองของเรา คนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกได้ถึงการถูกจู่โจมและปล่อยระบบป้องกันตัวเองออกมา ทั้ง ๆ ที่ถ้ามองกันด้วยเหตุผลแล้วการถกเถียงในเรื่องที่มีคนไม่เห็นด้วยกับเรานั้นจริง ๆ เป็นเรื่องดีเพราะเราจะได้เห็นมุมมองของคนอื่น

แต่โดยส่วนใหญ่เรามักจะพูดออกไปโดยไม่ไตร่ตรองก่อนเสมอ ทำให้คำอธิบายของเราไม่สมเหตุสมผลเต็มร้อย หรือบางทีข้อโต้แย้งก็เจือไปด้วยอารมณ์ที่ผสมอยู่ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ฟังเหตุผลของอีกฝ่ายเลย

หลายครั้งที่สมองส่วน กิจบริหาร (executive function) ไม่สามารถทำงานได้ทัน เราเลยพูดโดยไม่ไตร่ตรองให้ดีซะก่อน แม้แต่คนที่ฉลาดมาก ๆ หลายคนก็เป็นแบบนี้ เพราะสำหรับเราตอนนั้น ความจำเป็นที่จะต้องเป็นฝ่าย “ถูก” มันสำคัญกว่าการหาความจำเป็นในการหา “ความจริง”

จึงเป็นที่มาว่าถ้าเราเชื่อมั่น ยึดถือในความสามารถของตนเอง เราจะพลาดโอกาสหลายอย่างในชีวิตไป รวมไปถึงการตัดสินใจก็จะแย่ลงไปด้วย ซึ่งแน่นอนมันทำให้เราอยู่ห่างไกลความสำเร็จมากขึ้น

จุดบอด (Blindspot) คืออะไร?

จุดบอด คือ วิธีคิดส่วนตัวของเราที่ทำให้เรามองไม่เห็นภาพที่แท้จริงของเรื่องที่เรากำลังต้องตัดสินใจ ถ้าเปรียบให้ง่าย ๆ คือ เหมือนกับเราตาบอดสีกับบางสีนั่นเอง อย่างเช่น คนบางคนมองภาพใหญ่เก่งแต่ไม่เห็นภาพเล็ก ๆ ความจริงมนุษย์ส่วนใหญ่จะไม่ให้ค่ากับสิ่งที่ตัวเองมองไม่เห็น แต่เราส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัว

และนี่เป็นที่มาของ จุดบอด (blindspot) มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่รู้เลยว่าคนอีกคนมีวิธีหรือกระบวนการคิดอย่างไร และไม่พยายามที่จะเข้าใจด้วย เพราะเรามัวแต่พยายามจะบอกอีกฝ่ายว่าสิ่งที่เราคิดนั้น “ถูก” อย่างไร มากกว่าที่จะสนใจกระบวนการคิดของอีกฝ่ายนึง

Advertisements

เราตั้งสมมติฐานโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้งมากเกินไปโดยเฉพาะเมื่ออีกฝ่ายพูดสิ่งที่ไม่ตรงกับความคิดเรา ซึ่งหลายครั้งมันทำให้เราพลาดโอกาสอะไรดี ๆ ในชีวิตไปเพราะเราไม่สนใจหรือไม่เข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายพยายามแสดงให้เห็น แม้ว่าสิ่งนั้นจะมีประโยชน์หรือบางครั้งอาจจะถึงขั้นช่วยชีวิตเราได้ด้วยซ้ำ

นี่คือสาเหตุที่ทำไมเวลาคนสองคนเถียงกัน ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม แม้จบการเถียงกันแล้ว ทั้งฝ่ายที่ แพ้ ชนะ หรือเสมอ ก็ยังจะคิดว่าตัวเอง “ถูก” เสมอ

แต่ถ้าหากเรามองดี ๆ เมื่อคนมีความเห็นไม่ตรงกัน มันเป็นไปได้สูงมากเลยว่าจะมีความเห็นของใครที่ผิด ซึ่งจริง ๆ จะดีกว่าไหมถ้าเรามีกระบวนการที่ชัดเจนเพื่อให้แน่ใจว่าความคิดเห็นของเราไม่ผิด

คนที่เห็นกับดักนี้จะพยายามปรับตัว โดยการปรับตัวก็อาจทำได้หลายอย่างเช่น

  1. การสอนให้สมองทำสิ่งที่ไม่ถนัด เช่น คนที่เป็น นักสร้างสรรค์ (creative) มากๆ ทำงานเฉพาะเมื่อตัวเองอยากทำ ก็สามารถสอนให้ตัวเองมีวินัยและสม่ำเสมอได้ ผ่านการฝึกฝนที่เข้มข้น เป็นต้น
  2. ใช้เทคนิคช่วยเหลือ เช่นเครื่องมือต่าง ๆ ที่คอยเตือนสติ
  3. ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นในส่วนที่เราคิดว่าเราไม่ถนัด

เรย์ ย้ำอีกครั้งว่าทั้ง อีโก้ และ จุดบอด นั้นเป็นข้อบกพร่องที่ทำให้คนเก่ง ฉลาด ทำงานหนัก แต่ไม่ประสบความสำเร็จตามศักยภาพของตัวเองมาเยอะแล้ว

ตระหนักว่าการตัดสินใจเป็นกระบวนการสองขั้นตอน ก่อนอื่นให้นำข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดออกมา แล้วจึงค่อยตัดสินใจ :

อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนไม่ค่อยได้นึกถึงเท่าไหร่ต้องเข้าใจว่าการตัดสินใจนั้นเป็นกระบวนการ 2 ขั้นตอนขั้นตอนที่ 1 คือ การเก็บข้อมูลทั้งหมด ขั้นตอนที่ 2 ตัดสินใจ

คนส่วนใหญ่จะลังเลมาก ๆ ที่จะเก็บข้อมูลที่ไม่ตรงกับสิ่งที่พวกเขาได้สรุปในใจไว้แล้ว คนส่วนใหญ่มักจะให้คำตอบถึงเหตุผลที่ทำแบบนั้นว่า “เพราะผมได้ตัดสินใจไปแล้ว” คนเหล่านี้อาจคิดว่าการพิจารณามุมมองที่ตรงกันข้ามกับมุมมองของตัวเอง จะทำให้ความสามารถในการตัดสินใจลดลง ซึ่งมันไม่เป็นความจริงเลย

การพิจารณามุมมองของคนอื่นไม่ได้ทำให้อิสรภาพในการตัดสินใจของเราลดลง กลับกัน มันจะทำให้มุมมองเรากว้างขึ้นเมื่อเราต้องตัดสินใจ

ตระหนักรู้ถึงสัญญาณแห่ง “ความปิดกั้น” และ “เปิดกว้าง”

1. คนที่ปิดกั้น (Closed-minded people) : คนกลุ่มนี้ไม่ชอบให้ไอเดียของพวกเขาถูกท้าทาย พวกเขามักรู้สึกหงุดหงิดเมื่อไม่สามารถทำให้คนอื่นเห็นด้วยกับความคิดพวกเขาได้ แทนที่จะอยากรู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไร พวกเขาสนใจที่จะพิสูจน์ว่าตัวเองถูกมากกว่าที่จะอยากรู้มุมมองของคนอื่น

คนที่เปิดกว้าง (Open-minded people) : มักสงสัยว่าทำไมถึงเกิดการไม่เห็นด้วยเกิดขึ้น พวกเขาไม่รู้สึกโมโหเมื่อมีคนไม่เห็นด้วยกับเขา พวกเขาเข้าใจว่ามันมีโอกาสเสมอที่พวกเขาจะผิด และเวลาเพียงเล็กน้อยที่จะใช้ในการพิจารณามุมมองของคนอื่นนั้นคุ้มเกินคุ้มเพื่อให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ครบถ้วนมากขึ้น 


2. คนที่ปิดกั้น (Closed-minded people) : มักจะแจ้งเพื่อทราบมากกว่าถามคำถาม 

คนที่เปิดกว้าง (Open-minded people) : มักจะถามคำถามจำนวนมากเพราะพวกเขาเชื่ออย่างแท้จริงมากเพราะอาจจะผิดก็ได้ พวกเขาจะถามคำถามอย่างจริงใจ และพวกเขาจะตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่าในเรื่องนี้เขามีความรู้ความสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นแค่ไหน


3. คนที่ปิดกั้น (Closed-minded people) : ต้องการให้คนอื่นเข้าใจตัวเองมากกว่าพยายามจะเข้าใจผู้อื่น เมื่อคนอื่นไม่เห็นด้วยพวกเขาจะรีบสันนิษฐานก่อนว่าตัวเองไม่ได้รับความเข้าใจ โดยไม่พิจารณาว่าบางทีอาจจะเป็นเพราะเขาไม่เข้าใจมุมมองของคนอื่นก็ได้

คนที่เปิดกว้าง (Open-minded people) : รู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องมองจากมุมมองของผู้อื่นเสมอ


Are you up for the challenge?
คุณพร้อมสำหรับความท้าทายหรือยัง?

มีทางเลือกที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตเพียงทางเลือกเดียว คือ คุณต้องการที่จะต่อสู้เพื่อค้นหาความจริงหรือไม่ คุณเชื่อหรือไม่ว่าการค้นหาความจริงนั้นจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของคุณ คุณมีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะหาว่า สิ่งที่คุณหรือคนอื่นทำนั้นผิดหรือไม่ หรือมันขวางทางระหว่างคุณกับความสำเร็จของคุณหรือไม่

ถ้าหากคุณตอบคำถามเหล่านี้ด้วยคำว่าไม่ ก็ให้ยอมรับว่าคุณอาจจะไม่สามารถมีชีวิตอย่างเต็มความสามารถของคุณได้ แต่กลับกันถ้าหากคุณกล้าพอที่จะตอบทุกคำถามว่าใช่และคุณเป็นคนที่ เปิดใจกว้าง (open mind) มาก ๆ คุณก็มีโอกาสที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างเต็มความสามารถของคุณได้

4. จงเข้าใจจริงๆ ว่าคนเรานั้นมีลักษณะที่แตกต่างกันมาก :

พวกเราต่างเกิดมามีลักษณะเฉพาะตัวที่จะสามารถทั้งช่วยเรา และทำร้ายเราได้ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ของเรา ลักษณะเฉพาะตัวส่วนใหญ่จะเป็นเหมือนดาบสองคม ยิ่งลักษณะเฉพาะนั้นมีความสุดโต่งเท่าไหร่ผลบวกหรือลบของมันก็จะยิ่งสุดโต่งตามไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก ๆ สามารถคิดไอเดียใหม่มาก ๆ อาจจะไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องเล็ก ๆ หรือรายละเอียดต่าง ๆ ในการทำงานเลย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีความสำคัญไม่แพ้กันพวกเขาเหล่านี้อาจจะถูกขับดันโดยการมองเป้าหมายระยะไกลมาก ๆ จนลืมมองถึงรายละเอียดระหว่างทางไป

ในทางกลับกันคนที่สามารถทำงานละเอียดได้มาก ๆ ก็มักจะไม่ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ คนสองประเภทนี้อาจจะประกอบกันเป็นทีมที่ดีได้ ก็ต่อเมื่อพวกเขาสามารถที่จะหาทางทำงานร่วมกัน โดยเข้าใจถึงพื้นฐานทางวิธีคิดที่ต่างกันอย่างมากมายของทั้งสองคนได้

5. เรียนรู้วิธีการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ

กุญแจสำคัญในการทำให้การตัดสินใจรวดเร็วและถูกต้องคือ

  1. หนึ่งในการตัดสินใจที่สำคัญที่สุด ที่คุณสามารถทำได้คือ คนที่คุณถามคำถาม : คุณต้องแน่ใจว่าพวกเขามีข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็นคนที่เชื่อถือได้
  2. อย่าเชื่อทุกสิ่งที่คุณได้ยิน : ทุกคนต่างมีความคิดเห็นกันทั้งนั้น เกือบทุกคนอยากจะแชร์ความคิดเห็นกับคุณ บางคนจะให้ความคิดเห็นในรูปแบบของข้อเท็จจริง สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือความสามารถในการแยกความคิดเห็นและข้อเท็จจริงออกจากกัน
  3. ทุกอย่างดูใหญ่ขึ้นเมื่อมาอยู่ตรงหน้า : ในทุกแง่มุมของชีวิตสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้จะดูเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตเสมอ นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมบางครั้งเราจำเป็นที่จะต้องทิ้งเวลาไว้ซักพักแล้วค่อยตัดสินใจ เพื่อที่ทำให้เรามองเห็นภาพใหญ่มากขึ้น
  4. ของใหม่มักดูมีค่ามากกว่าของที่ดี : บ่อยครั้งเราให้มูลค่ากับของใหม่เยอะเกินไปเมื่อเทียบกับของที่ดี ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เวลาเราจะเลือกอ่านหนังสือหรือดูหนังเรามักเลือกที่จะอ่านเรื่องใหม่ ๆ เสมอ เพราะคิดว่ามันจะดีกว่าของเก่า แต่หลายครั้งมันก็ถูกพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าหนังสือหรือภาพยนตร์เก่านั้นทำได้ดีกว่ามาก ภาพลวงตาข้อนี้ทำให้สินค้าหรือบริการที่ใหม่เกินไปหลายครั้งไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค แม้ว่ามันจะดูเป็นไอเดียที่ดีมาก ๆ ก่อนที่มันจะถูกปล่อยออกมาในตลาด
  5. อย่ามองข้ามในทุกจุดเชื่อมต่อของข้อมูล : จุดเชื่อม คือชิ้นส่วนของข้อมูลชิ้นหนึ่งจากจุดเวลาหนึ่ง เวลาคุณจะวิเคราะห์อะไรให้นึกถึงเรื่องนี้ไว้เสมอบางครั้งการมองชิ้นส่วนของข้อมูลเพียงชิ้นเดียวทำให้เราตัดสินใจผิดไปเยอะมาก อย่าให้น้ำหนักกับชิ้นส่วนของข้อมูลแต่ละชิ้นเยอะเกินไปจนหาความสมดุลของชิ้นส่วนข้อมูลไม่ได้

เพื่อให้มีชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่คุณมีได้
In order to have the best life possible you have to 

  1. รู้ว่าอะไรคือการตัดสินใจที่ดีที่สุด (Know what the best decisions are)
  2. มีความกล้าหาญที่จะทำสิ่งเหล่านั้น (Have the courage to make them)

พาร์ทที่ 3 : หลักการ ในการทำงาน (Work Principle)

องค์กรคือเครื่องจักรที่ประกอบไปด้วย 2 ส่วนที่ใหญ่ที่สุดอันได้แก่ 1 คน 2 วัฒนธรรม การขับเคลื่อนองค์กรให้สำเร็จมันไม่มีอะไรยากและสำคัญไปกว่าการได้คนที่ถูกต้อง และการทำให้วัฒนธรรมองค์กรนั้นเหมาะสม

สำหรับคนส่วนใหญ่การได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ดี และมีเป้าหมายร่วมกันมีค่ามากกว่าเงินซะอีก (For most people, being part of a great community on a shared mission is even more rewarding than money)

เรย์ เคยเขียน บันทึก (memo) ไว้ครั้งนึงในปี ค.ศ. 1996 ซึ่งผมคิดว่ามันสรุปใจความสำคัญของวิธีคิดในการทำงานของเขาได้ดีมาก ผมอยากให้ลองใช้เวลาในการย่อยบันทึกนี่หน่อยครับ เพราะมันดีมาก

“Bridgewater is not about plodding along some kind of moderate standard, it is about working like hell to achieve a standard that is extraordinary high, and then getting the satisfaction that comes along with that sort of super-achievement.
“บริดจ์ วอเตอร์ ไม่ได้เกี่ยวกับการก้าวไปตามมาตรฐานระดับปานกลาง แต่มันเป็นการทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้มาตรฐานที่สูงที่สุด จากนั้นถึงจะได้รับความพึงพอใจที่มาพร้อมกับความสำเร็จที่ยอดเยี่ยม

Our overriding objective is excellent, or more precisely, constant Improvement, improving company in all respects.
เป้าหมายที่เราต้องเอาชนะนั้นยอดเยี่ยม, หรือชัดเจนมากยิ่งขึ้น, ปรับปรุงมันอย่างต่อเนื่อง, พัฒนาบริษัทให้ดีขึ้นในทุกด้าน

Conflict in the pursuit of excellence is a terrific thing. That should be no hierarchy based on age or seniority. Power should lie in the reasoning, not the position, of the individual. The best ideas when no matter who they come from.
ความขัดแย้งในการแสวงหาความเป็นเลิศเป็นสิ่งที่ดี ต้องไม่มีการแบ่งลำดับชั้นตามอายุหรืออาวุโส อำนาจควรอยู่ในการให้เหตุผลไม่ใช่ตำแหน่งของบุคคล ไอเดียที่ยอดเยี่ยมนั้นไม่สำคัญว่าจะมาจากใคร

Criticism (by oneself and by others) is essential ingredient in the improvement process, yet, it handled incorrectly, can be destructive. It should be handled objectively. There should be no hierarchy in the giving or receiving of criticism.
คำติชม (จากตัวเองและผู้อื่น) เป็นส่วนประกอบสำคัญในกระบวนการพัฒนา หากรับมือกับมันได้ไม่ดี มันจะกลับกลายเป็นผลเสียแทน ดังนั้นจึงควรจัดการอย่างไม่มีอคติเป็นกลางที่สุด และไม่ควรจะมีลำดับขั้นในการให้ หรือรับคำวิจารณ์

Teamwork and team spirit are essential, including intolerance of substandard performance. This is referring to 1) one’s recognition of the responsibilities one has to help the team achieve its common goals and 2) he willingness to help others (work within a group) toward these common goals .Our fates are interwined. One should know that others can be relied upon to help. As a corollary, substandard performance cannot be tolerated anywhere because it would hurt everyone.
การทำงานเป็นทีมและจิตวิญญาณของทีมเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการไม่ยอมทนต่อประสิทธิภาพที่ตำ่กว่ามาตรฐาน ซึ่งหมายถึง 1)การรับรู้ถึงความรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องช่วยให้ทีมบรรลุเป้าหมายร่วมกัน และ 2)เต็มใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่น (ทำงานภายในกลุ่ม) การไปสู่เป้าหมายเหล่านี้โชคชะตาของทุกคนจะต้องถูกรวมเข้าด้วยกัน เราควรรู้ว่าคนอื่น ๆ สามารถไว้วางใจได้หากต้องการความช่วยเหลือ นี่จะเป็นข้อบ่งชี้ ว่าประสิทธิภาพที่ต่ำกว่ามาตรฐานจะไม่สามารถยอมรับได้ เพราะมันจะส่งผลเสียแก่ทุกคนในทีม

Long-term relationships about 1) intrinsically gratifying and 2)  efficient, and should be intentionally built. Turnover require retaining and therefore create setbacks.
ความสัมพันธ์ระยะยาวเกี่ยวกับ 1) ความพึงพอใจจากภายใน และ 2) มีประสิทธิภาพและต้องสร้างขึ้นโดยตั้งใจ

Money is a byproduct of excellence,  not a goal.  Our overriding objective is excellence and constant Improvement at Bridgewater.  To be clear,  it is not to make lots of money.  The natural extension of this is not that you should be happy with little money.  On the contrary-  you should expect to make a lot.  If we operate consistently what does philosophy we should be productive and the company should do well financially. There is comparatively little age and seniority-based hierarchy.
เงินเป็นผลตอบแทนจากความเป็นเลิศ ไม่ใช่เป้าหมาย เป้าหมายหลักของเราคือต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อพัฒนาปรับปรุง บริดจ์ วอเตอร์ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชัดเจนมันไม่ได้ทำเงินมากมาย แต่ก็ไม่ใช่ว่าคุณควรจะมีความสุขกับเงินเพียงเล็กน้อย ในทางตรงกันข้ามคุณควรคาดหวังให้มาก หากเราทำตามปรัชญานี้อย่างต่อเนื่อง เราควรจะมีประสิทธิผลที่ดี และบริษัทก็ควรจะมีสถานะการเงินที่ดี

Each person at Bridgewater should act like an owner,  responsible for operating in this way and for holding other accountable to operate in this way.”
ทุกคนที่ บริดจ์ วอเตอร์ ควรจะต้องทำเหมือนกับเป็นเจ้าของที่นี่ รับผิดชอบและดำเนินการในแนวทางตามปรัชญานี้

แถมให้นิดนึง

Work is either 1) a job you do to earn the money to pay for the life you want to have or 2) what you do to achieve your mission, or some of the two. I urge you to make it as much 2) as possible, recognizing the value of 1). If you do that most everything will go better than if you don’t.
งานเป็นทั้ง 1) งานที่คุณทำเพื่อหาเงินใช้จ่ายในชีวิตที่คุณต้องการ หรือ 2) สิ่งที่คุณทำเพื่อบรรลุพันธกิจของคุณ หรือทั้งสองอย่าง ผมขอให้คุณทำให้มากที่สุด 2) เท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อตระหนักถึงคุณค่า 1) แต่ถ้าคุณทำเพื่ออย่างแรก น่าจะดีกว่ามากถ้าคุณไม่ทำมัน

แนวคิดเชิงความสามารถนิยม (idea meritocracy) = ความจริง + ความโปร่งใส + ความเชื่อ – ถ่วงน้ำหนักการตัดสินใจ

1. เชื่อมั่นในความจริง และความโปร่งใสอย่างถึงที่สุด :

ทำความเข้าใจว่าความจริงนั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จ และความโปร่งใสในทุก ๆ เรื่องที่ทำ รวมถึงความผิดพลาดและความอ่อนแอของเรานั้น จะช่วยทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนา 

ยิ่งคนเห็นความจริงมากเท่าไหร่ทั้ง เรื่องที่ดี เรื่องที่ไม่ดี และ เรื่องที่แย่มาก ๆ เราจะสามารถจัดการและตัดสินใจกับทางออกของเรื่องนั้น ๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น

การไม่บอกความจริงกับคนที่อยู่รอบรอบตัวเรานั้น ด้วยความหวังว่าเราจะปกป้องเขากับความจริงอันโหดร้ายได้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เราบอกเด็ก ๆ ว่าซานตาคลอสมีตัวตนอยู่จริง การปกปิดความจริงนั้นอาจทำให้คนมีความสุขในระยะสั้น แต่จะไม่ทำให้พวกเขามีความสุขหรือฉลาดขึ้นหรือเชื่อใจเรามากขึ้นในระยะยาว

2. ปลูกฝังงานที่มีความหมาย และความสัมพันธ์ที่ดี :

ความสัมพันธ์ที่ดีนั้นประเมินมูลค่าไม่ได้เลยทีเดียว เพราะมันสร้างวัฒนธรรมของการกระตุ้นให้คนทำงานอย่างเป็นเลิศ เพราะความสัมพันธ์ที่ดีจะสร้างความไว้ใจและสภาวะแวดล้อมที่ส่งเสริมกันและกัน 

3. สร้างวัฒนธรรมที่สามารถผิดพลาดได้ และเรียนรู้จากความผิดนั้น :

ทุกคนต่างทำผิดพลาดกันทั้งนั้น ความแตกต่างที่สำคัญคือบุคคลที่ประสบความสำเร็จเรียนรู้จากมันและบุคคลที่ล้มเหลวไม่เรียนรู้จากมัน การสร้างสภาวะแวดล้อมที่ทำให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัยที่จะสามารถทำผิดได้ และเรียนรู้จากมันได้จะทำให้องค์กรนั้นสามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และในที่สุดแล้วทุกคนจะทำผิดพลาดน้อยลง

แต่สิ่งที่รับไม่ได้เลยในองค์กรของเราก็ คือ การที่คนทำผิดพลาดแล้วไม่ได้เรียนรู้อะไรจากมันเลย

ความเจ็บปวด + ผลกระทบ =  ความคืบหน้า

4. รับและอยู่ในการเชื่อมต่อเสมอ

หัวข้อนี้น่าจะเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ทำยากที่สุด แต่เราต้องไม่ลืมว่าการที่องค์กรจะประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพได้นั้น บุคลากรในองค์กรจะต้องมองเห็นภาพและทำงานไปในแนวทางเดียวกัน และต้องมีเป้าหมายร่วมกัน

หากมองอย่างผิวเผินมันจะเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก แต่อย่าลืมว่าคนเหล่านั้นมีพื้นฐานและวิธีคิดที่แตกต่างกันมาก คนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์นำในการทำงาน คนที่ทำงานโดยใช้ความละเอียดนำ คนที่ทำงานโดยใช้หลักการและเหตุผลนำ ฯลฯ

วิธีการทำงาน วิธีการเข้าถึงปัญหา และวิธีการจัดการกับปัญหาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง พวกเขามองโลกแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นการทำให้ทุกคนทำงานกันได้ยังเป็นทีมจึงเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในจุดสำคัญของเรื่องนี้ คือ การบริหารความขัดแย้ง หลายคนเข้าใจว่าการมองข้ามความขัดแย้งหรือประนีประนอม คือ วิธีการรักษาความสงบเรียบร้อยในองค์กร นี่คือความผิดมหันต์

แต่ในความเป็นจริงก็ คือ ความขัดแย้งเพียงเล็กน้อยเมื่อไม่ถูกจัดการโดยด่วน มักกลายเป็นความขัดแย้งที่ใหญ่หลวงขึ้น และจะกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่โตในที่สุด ถ้าหากทุกคนสามารถมีพื้นที่ในการบริหารจัดการความขัดแย้งและได้เปิดอกพูดคุยกัน สุดท้ายแล้วจะเป็นการดีกับทั้งคู่และความสัมพันธ์ระยะยาวของทั้งคู่ก็จะดีกว่าเยอะ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของทุกฝ่าย

5. ชั่งน้ำหนักความเชื่อของคุณในการตัดสินใจ

ในองค์กรปกติเรามักตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ โดยใช้ระบอบเผด็จการ คือ การตัดสินใจจากหัวหน้าลงมาจะใช้ระบอบประชาธิปไตย คือ ไอเดียไหนที่มีคนเห็นด้วยมากที่สุดจะได้รับการปฏิบัติ ซึ่งทั้งสองกระบวนการนี้มีข้อเสียที่รุนแรงด้วยกันทั้งคู่

กระบวนการการตัดสินใจที่ดีที่สุด คือ การตัดสินใจแบบ แนวคิดเชิงความสามารถนิยม (idea meritocracy) ซึ่งมีการให้น้ำหนักความคิดเห็นของแต่ละคนไม่เท่ากัน

ซึ่งน้ำหนักที่แต่ละคนได้นั้นจะแตกต่างกันออกไปตามความรู้ความสามารถในเรื่องที่กำลังจะถูกตัดสินใจ เราเรียกมันว่า “น้ำหนักของความเชื่อ” (Believability Weighting) ซึ่งคนที่มีความน่าเชื่อถือในการตัดสินใจมากที่สุดคือ

  1. คนที่ทำสำเร็จมาอย่างต่อเนื่องในเรื่องที่เรากำลังตัดสินใจ
  2. คนที่สามารถแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเหตุและผลอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ในเรื่องที่เรากำลังจะตัดสินใจ

เมื่อ “น้ำหนักของความเชื่อ” นั้นได้ถูกนำไปใช้อย่างถูกต้อง และต่อเนื่อง มันเป็นวิธีการที่ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพที่สุดในกระบวนการการตัดสินใจ ในกรณีของ บริดจ์วอเตอร์ แอสโซซิเอท นั้นมีการใช้ เบสบอล การ์ด (baseball card) และ สะสมจุดเชื่อม (dot collector) (สามารถไปดู TED ที่ เรย์ พูดเรื่อง dot collector ได้) เพื่อหาการโหวตของน้ำหนักของความเชื่อ

แต่ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีที่ใช้ในการหา การโหวตของน้ำหนักของความเชื่อ (believability-weight vote) ประเด็นสำคัญคือถ้าคุณเข้าใจ คอนเซปต์ ของมันคุณจะสามารถมองเห็นตัวเอง และทีมของคุณในกระบวนการการตัดสินใจ ว่าใครที่เหมาะสมและควรให้น้ำหนักกับความคิดเห็นของใครมากที่สุดในเรื่องนั้น ๆ ที่คุณกำลังตัดสินใจ ถ้าหากคุณใช้วิธีคิดแบบนี้การตัดสินใจของคุณจะเป็นระบบ และผลลัพธ์ของมันจะดีขึ้นมากอย่างแน่นอน

แง่คิดหลายอย่างที่น่าสนใจจากบางส่วนของหนังสือ

1. หากคุณไม่สามารถทำสิ่งใดได้สำเร็จอย่าคิดว่าคุณสามารถบอกคนอื่นได้ว่าควรทำอย่างไร :

มีคนเยอะมากเลยที่พยายามจะทำอะไรแล้วก็ล้มเหลว แต่ยังยึดมั่นความเชื่อของตัวเองว่าวิธีการคิดแบบนั้นถูก ถึงแม้จะว่าจะมีคนอื่นทำวิธีการตรงกันข้ามแล้วสำเร็จแล้วก็ตาม ซึ่งการยึดมั่นความเชื่อแบบนั้นเป็นสิ่งที่ทั้งโง่และหยิ่งผยอง

2. อย่าลืมว่าทุกคนมีความคิดเห็น และบ่อยครั้งอาจจะไม่ใช่ความคิดเห็นที่ดี :

ใคร ๆ ก็มีความคิดเห็นได้ และคนส่วนใหญ่ก็มักจะมีเยอะซะด้วย เมื่อเสนอความคิดเห็นออกมาแล้วก็ต้องสนับสนุนและยืนหยัดเพื่อมัน แต่มันน่าเสียดายที่ความคิดเห็นเหล่านั้นส่วนมากจะไร้ค่าหรือแม้แต่อันตราย อันนี้รวมถึงความคิดเห็นของตัวคุณเองด้วยนะ

3. หากใครบางคนยังไม่ได้ทำอะไรเลย แต่มีทฤษฎีที่ดูมีเหตุผล เราต้องทดสอบไอเดียนั้น ด้วยวิธีการที่มีทั้งหมด

4. คนที่ไม่มีประสบการณ์ก็สามารถมีไอเดียที่ดีได้ บางครั้งก็ดีกว่าคนที่มีประสบการณ์ :

นั่นก็เพราะว่าบางทีคนที่มีประสบการณ์นั้นยึดติดกับวิธีคิดแบบเก่ามากเกินไป ถ้าหากคุณได้ยินข้อเสนอของคนที่ไม่ได้มีประสบการณ์ แต่ฟังดูแล้วมีวิธีคิดและตรรกะที่ถูกต้อง บางทีความเห็นนั้นอาจเป็นความเห็นที่ดีก็ได้

อีกหนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุดที่จะพิสูจน์ความคิดเห็นของคุณ คือ การหาคนที่ ”ไม่เห็นด้วย” กับคุณที่น่าเชื่อถือที่สุด และพยายามเข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น นี่คือวิธีการที่เร็วที่สุดในการจะเรียนรู้และเพิ่มโอกาสของคุณในการได้ความคิดเห็นที่ถูกต้อง

สุดท้ายแล้วต้องให้ความสำคัญกับการสร้างระบบการตัดสินใจที่ยุติธรรม และเหมาะสม มากกว่าผลของมัน ว่ามันจะเป็นไปตามอย่างที่คุณอยากได้หรือเปล่า

5. ตระหนักถึงวิธีการ อยู่เหนือความขัดแย้ง :

เมื่อมีปัญหาหรือความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่าปล่อยให้มันผ่านไปโดยไม่ได้รับการแก้ไข มันเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าที่จะหลบหลีกการเผชิญหน้ากัน แต่ในระยะยาวแล้วการทำแบบนี้จะสร้างความเสียหายได้อย่างคาดไม่ถึง 

ดังนั้นเมื่อมีความขัดแย้งกันแม้เพียงเล็กน้อย ให้รีบจัดการก่อนที่จะลุกลามไปเป็นเรื่องใหญ่ และเมื่อได้ตัดสินใจจนเลือกทางใดทางหนึ่งแล้ว ทุกคนต้องสนับสนุนการตัดสินใจนั้นแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้นก็ตาม

6.  จำไว้ว่า “ใคร” สำคัญกว่า “อย่างไร”

เรย์ เล่าให้ฟังว่าตอนที่เขายังหนุ่มกว่านี้เขาไม่เข้าใจประโยคที่มีคนบอกว่า ให้ ”จ้างคนที่เก่งกว่าคุณ” ตอนนี้หลังจากผ่านไปหลายสิบปี เขาพบว่านั่นเป็นความจริงที่สุด ถ้าคุณอยากประสบคาวมสำเร็จคุณต้องทำตัวเหมือน คอนดักเตอร์ (conductor) และคนในวงของคุณต้องเล่นเครื่องดนตรีต่าง ๆ ได้เก่งกว่าคุณ และถ้าหากคุณสามารถหา คอนดักเตอร์ ที่เก่งกว่าคุณได้ คุณก็ต้องทำเช่นกัน ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่เราต้องทำนั้นเรียบง่ายมาก

  1. อย่าลืมเป้าหมาย
  2. ให้เป้าหมายนั้นกับคนที่สามารถบรรลุได้ (อันนี้สำคัญที่สุด) หรือบอกเขาว่าต้องทำยังไงถึงจะทำเป้าหมายได้สำเร็จ (ซึ่งเป็นการบริหารที่ลงรายละเอียดมากเกินไป ดังนั้นจะดีสู้ทางเลือกแรกไม่ได้)
  3. ทุกคนต้องรับผิดชอบกับงานที่ได้รับไป
  4. ถ้าพวกเขายังไม่สามารถทำงานได้หลังจากที่คุณได้ฝึกฝนเขา และให้เวลาเขาได้เรียนรู้แล้ว คุณต้องไม่เก็บเขาไว้ 

การตัดสินใจที่สำคัญที่สุดของคุณคือการเลือกว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบงานไหน

7. จ้างคนที่ถูกต้อง เพราะโทษของการจ้างคนผิดนั้นรุนแรง :

เวลาเราสัมภาษณ์คนหลายครั้งเราจะเลือกคนที่เราชอบ ซึ่งพิสูจน์มาแล้วว่าเป็นวิธีที่ผิด หรือเราอาจจะเลือกจากการดู ใบสมัคร ทำเช็คลิสต์ และใช้กึ๋นในการตัดสินใจซึ่งก็เป็นวิธีที่ไม่ดีอีกเช่นกัน เพราะว่าทั้งหมดทั้งปวงนี้เป็นการมองผู้สมัครโดยผ่านมุมมองที่เป็น “อคติ” ของเรา และเรามักจะเลือกรับคนที่มีวิธีคิดคล้าย ๆ กับเราเสมอ

หลังจากลองผิดลองถูกมาหลายวิธี เรย์ค้นพบว่าการเลือกคนที่ถูกต้องจะต้องทำผ่านหลักการ 2 อย่างคือ

  1. ต้องชัดเจนว่าเราต้องการคนแบบไหน
  2. มีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกที่ละเอียดมาก ๆ

ต้องเลือกคนให้เหมาะกับดีไซน์ของงาน ไม่ใช่หางานให้คนทำ กระบวนการในการคัดเลือกควรมองจาก

  1. คุณค่า : คือความเชื่อส่วนที่ลึกที่สุดซึ่งจะส่งผลต่อการกระทำต่าง ๆ ของเขา รวมไปถึงความประพฤติกับบุคคลอื่นที่อยู่รอบตัวเขาด้วย นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนยากที่สุดในคนคนหนึ่ง ดังนั้น คุณค่า จึงเป็นสิ่งแรกที่เราต้องมองหาว่าตรงกับสิ่งที่เราต้องการไหม
  2. ความสามารถ : คือวิธีคิดและวิธีการปฏิบัติตัว บางคนเป็นคนที่เรียนรู้เร็วและตอบสนองเร็ว ขณะที่บางคนมีความสามารถในการมองภาพใหญ่ได้ดี เป็นต้น
  3. ทักษะ : คือความสามารถที่สามารถฝึกฝนได้เช่นกัน ความสามารถทางภาษา เป็นต้น ทักษะ นั้นมักมีค่าเปลี่ยนไปตามเวลาด้วยยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ ความสามารถในการพิมพ์ดีดเคยเป็นสิ่งที่สำคัญในอดีต แต่ปัจจุบันนี้เราสามารถพูดแล้วให้คอมพิวเตอร์พิมพ์แทนได้แล้ว ถ้ามองไปในอนาคตเราจะเห็นว่า AI จะเข้ามาแทนส่วนนี้เยอะมากในอีก 10 ปีต่อจากนี้

การเลือกคนเราจึงให้ความสำคัญกับคุณค่ามากที่สุด ตามมาด้วย ความสามารถ และ ทักษะ เป็นอย่างสุดท้าย แต่หลายครั้งในการจ้างงานเราทำกลับกัน คือ เราดูทักษะกับความสามารถก่อน ในขณะที่ลืมเรื่อง “คุณค่า” ไป

สุดท้ายอย่าลืมว่าคนดี ๆ นั้นหายากมาก ถ้าหากคุณได้มาแล้วต้องหาวิธีการรักษาเขาไว้ให้ได้ เช่น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และคอยอัพเดทเรื่องราวต่าง ๆ ระหว่างกัน ที่สำคัญที่สุด คือ คุณต้องหาระบบบางอย่างที่ทำให้คนของคุณพูดเรื่องที่อยู่ในใจของเขาได้ สร้างความสุขในที่ทำงานให้เขา และให้โอกาสเขาเติบโต 

เมื่อคุณได้มีโอกาสรู้จักจริง ๆ ว่าคนคนนั้นเป็นยังไงคุณจะสามารถรู้ได้ว่าคุณคาดหวังอะไรจากเขาได้บ้าง

8. ฝึกอบรม และ ทดสอบประเมินคนอย่างต่อเนื่อง
9. จัดการให้บางคน นำพาเครื่องจักร เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย :

คนส่วนใหญ่มีความสุขที่สุดตอนที่เขาสามารถพัฒนาตัวเอง และทำในสิ่งที่เขาสามารถทำได้ดีโดยธรรมชาติ ดังนั้นการเรียนรู้เกี่ยวกับจุดแข็งและจุดอ่อนของทีมงานของคุณจึงมีค่าอย่างมาก อย่างที่บอกไปตอนต้นเรามองธุรกิจและองค์กรของเราเป็นเหมือนกับเครื่องจักรซึ่งเครื่องจักรนี้ประกอบไปด้วยคนและวัฒนธรรมองค์กร

เริ่มจากการจ้างคนที่ถูกต้องและดีไซน์วัฒนธรรมองค์กรให้ถูก เครื่องจักรทุกเครื่องต้องมี แบบแผนการทำงานที่ชัดเจน ที่บอกอย่างชัดเจนว่างานจะเข้าทางไหนและเดินทางจากคนไหนไปสู่คนไหนจนกระทั่งงานนั้นเสร็จ ถ้าคุณมีเครื่องมือนี้แล้วคุณจะสามารถรู้ได้ทันทีเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น และจะแก้ปัญหาได้ถูกจุดเหมือนกับช่างที่เข้าไปซ่อมเครื่องจักร

ในการจะรักษาเครื่องจักรให้เดินหน้าต่อไปได้ คุณยังต้องมีระบบการควบคุม ซึ่งเปรียบเสมือนกับ ตัวชี้วัด ที่เอาไว้วัดผลงานต่าง ๆ ของทีม ให้นึกถึง แผงควบคุม (Dashboard)  ที่บอกค่าต่าง ๆ ที่สำคัญให้กับคุณตลอดเวลา แผงควบคุม นี้จะมีแสงสีแดงวาบออกมาทันที หรือถ้าหากมีอะไรเสียหรือเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น คุณจะรับรู้ถึงประสิทธิภาพของเครื่องจักรนี้ตลอดเวลา

ต้องทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง การบริหารจัดการ, การบริหารจัดการที่ลงรายละเอียดมากเกินไป, และการไม่การบริหารจัดการ

10. เข้าใจ และ ไม่ทนต่อปัญหา
11. วินิจฉัยเพื่อหาต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหา
12. ออกแบบ ปรับปรุงระบบ เพื่อแก้ไขปัญหา :

เมื่อคุณพบปัญหาสิ่งแรกที่ต้องคิด คือ การหาต้นตอที่แท้จริงของปัญหา ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดจากการดีไซน์งานของคุณหรือเกิดจากคนที่ทำงานนั้น

เรย์ บอกว่าสิ่งที่เป็นความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก คือ การแก้ปัญหาเหมือนมันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ทั้งที่จริง ๆ แล้ว มันเป็นปัญหาเชิงระบบซึ่งต้องถูกแก้ที่การดีไซน์ระบบงานใหม่หรือการดีไซน์เครื่องจักรใหม่นั่นเอง การแก้ปัญหาโดยคิดว่ามันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวนั้นจะทำให้ต้นเหตุของปัญหาจริง ๆ ถูกละเลยไป ซึ่งในที่สุดหายนะจะเกิดขึ้นได้

การแก้ปัญหาโดยหาต้นตอของปัญหาที่แท้จริงเสียเวลามากกว่า แต่มีประโยชน์มากกว่ามากในระยะยาว

อีกข้อผิดพลาดที่พบบ่อย คือการที่เราพยายามหลีกเลี่ยงการระบุตัวตน (depersonalize) ของคนที่ก่อให้เกิดปัญหา การไม่เชื่อมโยงคนกับปัญหาเข้าด้วยกันนี่เอง ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาตัวบุคคล และปัญหาก็จะยังคงอยู่

ข้อสุดท้ายและเป็นข้อผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดคือการไม่เชื่อมโยงปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้กับปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

เรื่องแย่ ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นเอง มันเกิดขึ้นเพราะคนใดคนหนึ่งทำหรือตัดสินใจอะไรบางอย่างลงไป การวิเคราะห์เจาะลึกหาสาเหตุที่เป็นต้นเหตุจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคนหรือระบบเป็นเรื่องที่น่าอึดอัด แต่จำเป็นต้องทำ เราอาจจะค้นพบว่าในที่สุดแล้วคนที่ทำงานอยู่ในตำแหน่งนั้นไม่เหมาะ เพราะตัวเขาเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดพลาดอยู่เป็นประจำ

โดยมีหลักการในการวิเคราะห์ง่าย ๆ คือ ถามคำถามต่อไปนี้

  1. ผลลัพธ์ของงานดีหรือแย่
  2. ใครเป็นผู้รับผิดชอบผลลัพธ์นี้
  3. ถ้าผลลัพธ์ออกมาแย่ มันเป็นเพราะผู้รับผิดชอบไม่มีความสามารถ และ/หรือ ดีไซน์ของระบบไม่ดี

อย่าลืมว่าเราเป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบระบบทั้งหมด ดังนั้นต้องทำความเข้าใจและลองคิดถึงทางเลือกอื่น ๆ ในการออกแบบระบบด้วย การดีไซน์นั้น เป็นกระบวนการ มันจะต้องเริ่มต้นจากของที่ยังไม่สมบูรณ์ก่อนเสมอ และค่อย ๆ พัฒนาไปให้สมบูรณ์ขึ้น สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับทีมงานก็คือ

การมีระบบที่ยังไม่สมบูรณ์ดีกว่าการไม่มีระบบอะไรเลย

14. ทำสิ่งที่คุณตั้งใจจะทำ
15. ใช้เครื่องมือ และ ข้อตกลง เพื่อกำหนดวิธีการทำงานให้เสร็จ
16. อย่ามองข้ามการควบคุมดูแล

การมี หลักการ (Principles) ที่เข้มแข็งจะช่วยให้คุณตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในการทำงานได้ดียิ่งขึ้นแม้ว่าจะอยู่ในเวลาที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายที่สุด สิ่งที่สำคัญคือการยึดมั่นในความจริงและโปร่งใส ให้ความสำคัญในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คุณคือคนดีไซน์เครื่องจักร คุณคือคนดีไซน์ระบบ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคุณ ว่าคุณอยากให้มันออกมาเป็นยังไง แล้วคุณจะมีความสุขกับมันรึเปล่า

ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนคู่มือการทำงาน และคู่มือชีวิตที่ต้องกลับมาหยิบดูกลับมาอ่านซ้ำเรื่อย ๆ นะครับ เพราะเมื่อสถานการณ์ในชีวิตเราเปลี่ยนไป สิ่งที่หนังสือเล่มนี้จะคุยกับเราก็เปลี่ยนไปเช่นกัน

ถ้าจะให้สรุปหนังสือเล่มนี้ในหนึ่งประโยคผมนึกถึง คำพูดนี้ นี้จากภาพยนต์เรื่อง Rocky Balboa ครับ

โลกไม่ได้มีแต่แสงแดดและสายรุ้ง มันมีทั้งความโหดร้ายและหยาบคายมาก โลกไม่แคร์หรอกว่าคุณจะแกร่งแค่ไหน มันจะซ้อมคุณจนทรุด และกดคุณอยู่อย่างนั้นตลอดไปถ้าคุณยอมมัน ไม่ว่าคุณหรือผมก็ไม่มีใครหรอกที่ชกได้หนักเท่าชีวิต แต่มันไม่เกี่ยวว่าคุณหมัดหนักแค่ไหน แต่มันอยู่ที่ว่าคุณรับหมัดได้หนักแค่ไหนตั้งหากล่ะ และลุยต่อไปข้างหน้า รับและลุยต่อไปข้างหน้า ชัยชนะต้องแบบนั้นภาพยนตร์ Rocky Balboa
Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่