“คุยกันมาเป็นปี แต่วันนี้เขาเปิดตัวกับคนอื่น”
“เดี๋ยวนี้ไม่เน้นมีแฟนหรอก เค้าเน้นมีคนคุย”
ฯลฯ
หากเราเห็นประโยคเช่นนี้ก็คงจะแท็กเพื่อนมาช่วยกันขำ เพราะสถานการณ์นี้อาจเคยเกิดขึ้นกับเราและเพื่อนมาก่อน เราเข้าใจโดยไม่ต้องฉุกคิดว่ามันคืออะไร ในขณะที่พ่อแม่อาจขมวดคิ้วงุนงงและถามเราว่า “คนคุยคืออะไร”
จะว่าเป็นเพื่อนก็ไม่ใช่.. เป็นแฟนก็ไม่เชิง.. ในบทความนี้เราจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจกับสถานะคนคุย พร้อมอธิบายว่าทำไมสถานะนี้ถึงเป็นที่นิยมนักในยุคปัจจุบัน
รู้จักกับสถานะคนคุย
สถานะคนคุยอาจครอบคลุมตั้งแต่…
พูดคุยและทำความรู้จักกันเฉยๆ เพื่อดูว่าเราถูกใจกันและกันหรือเปล่า
เดตแบบไม่ Exclusive ซึ่งก็คือ การทำกิจกรรมร่วมกัน (เช่นดูหนัง ทานข้าว และอื่นๆ) แต่ยังมีโอกาสออกเดตกับคนอื่นๆ ได้
เดตแบบ Exclusive ต่างฝ่ายต่างคุยกับอีกฝ่ายเพียงคนเดียว เพื่อดูว่าจะพัฒนาความสัมพันธ์จริงจังกว่านี้ได้ไหม
จะเห็นได้ว่านิยามของคนคุยนั้นกว้างขวาง จนบางครั้งเราก็ทำตัวไม่ถูก หากเป็นไปได้ให้พูดคุยกับอีกฝ่ายว่าเราอยู่ระดับไหน จะได้ไม่คิดมากและอึดอัดกันทั้งคู่
คนคุยพึ่งมีในยุคนี้หรือเปล่า ทำไมโตมาพึ่งได้รู้จักกับสถานะนี้!?!
เราอาจเรียนรู้จากสื่อในอดีต (เช่นหนัง ละคร หรือนิยาย) ว่า ทุกความรักและความสัมพันธ์เริ่มต้นจากการจีบกันเสียก่อน จากนั้นก็ค่อยพัฒนาไปเป็นแฟน
และตัวเราในช่วงวัยประถม-มัธยม อาจทำตามเช่นนั้นจริงๆ! ภาพเด็กผู้ชายที่มักจะมานั่งรอไปรับ-ไปส่ง หรือซื้อของเซอร์ไพรส์เด็กผู้หญิง เป็นภาพที่ไม่แปลกตาเท่าไรนัก
แล้วอะไรที่ทำให้ขั้นตอนการ “จีบ” ที่ฟังดูเป็นการกระทำ (Action) ของฝ่ายเดียว เป็นต้นว่าต้องมีฝ่ายหนึ่งไล่ตาม คอยตะล่อมให้อีกฝ่ายที่ “ถูกจีบ” ตกหลุมรัก ได้ลดความนิยมลง กลายมาเป็นการมี “คนคุย” ที่เหมือนจะมีการกระทำจากทั้งสองฝ่ายแทน
แล้วปัจจัยอะไรที่ทำให้ความสัมพันธ์แบบคนคุย หรือการเดตในลักษณะนี้ ได้รับความนิยม?
1) โอกาสใหม่ๆ จากโซเชียลมีเดียและแอปหาคู่
แต่ก่อนการจะได้รู้จักใครและถูกใจใครสักคนนั้น มักจะมาจากคนรอบๆ ตัวเรา เช่น รุ่นพี่ในมหาลัย เพื่อนร่วมงาน พนักงานคนอื่นในตึกออฟฟิศเดียวกัน ไปจนถึงคนรู้จักที่เจอจากการไปทำกิจกรรมที่ชอบ
ตัวเลือกของเราจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าเราเอาตัวเองออกไปเผชิญโลกความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราสามารถเห็นชีวิตประจำวันและเรื่องราวของคนอื่นๆ ได้นับร้อย ผ่านโซเชียลมีเดีย เราสามารถตามหาคนที่โสดและพร้อมคุยเหมือนกัน ผ่านแอปฯ หาคู่ได้ง่ายๆ เพียงปัดนิ้วไปซ้ายขวา หลายคนจึงอยากเปิดโอกาสให้ตัวเองคุยไปเรื่อยๆ ก่อนจะเลือกใครสักคนนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม มีเรื่องหนึ่งที่เราควรระวัง
เราอาจคิดว่า ยิ่งมีตัวเลือกเยอะยิ่งดีใช่ไหม? แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น งานวิจัยพบว่าเมื่อคนเรามีตัวเลือก ‘มากเกินไป’ จะทำให้เราตัดสินใจไม่ได้สักที แถมยังรู้สึก ‘พึงพอใจน้อยกว่า’ กับตัวเลือกที่เลือกไปด้วย
ความรู้สึกอยากค้นหาไปเรื่อยๆ และรู้สึกว่า ‘อาจจะมีคนอื่นที่ดีกว่า’ เพราะตัวเลือกที่มากมายจากแอปฯ นี่เอง ทำให้หลายคนอาจรู้สึกไม่พึงพอใจกับใครสักคน เลยเลือกที่จะมีคนคุยไปเรื่อยๆ โดยไม่พัฒนาความสัมพันธ์ไปมากกว่านั้น
2) เราอยู่ในยุคที่เป็นตัวเองได้มากกว่าเคย
ในยุคที่มนุษย์อยู่กันเป็นเผ่า เราเห็นความต่างเป็นภัยอันตราย เราจึงพยายามที่จะเป็นเหมือนกับคนอื่นๆ ในสังคม เพื่อความอยู่รอด เพื่อการเป็นที่ยอมรับ และ การรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของอะไรบางอย่าง
อย่างไรก็ตาม ตัวตน (Identity) ของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่อิสระกว่าเคยในยุคปัจจุบัน คำถามที่ว่า ‘เราเป็นใคร’ กลายมาเป็นธีมหลักของการเดินทางในชีวิต เราอยากมีโอกาสหาคำตอบ ทดลอง ตัดสินใจ และเรียนรู้ด้วยตนเองเสียก่อน
การมีความสัมพันธ์จริงจัง อาจหมายถึงการคำนึงถึงความต้องการและความรู้สึกของอีกฝ่ายก่อนการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ แต่การยังเป็นโสดนั้นทำให้เรายังได้คำนึงถึงความต้องการของตนเองก่อน และ การตัดสินใจยังขึ้นอยู่กับเราเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
และนี่เองก็เป็นหนึ่งสาเหตุที่หลายๆ คนเลือกที่จะมีเพียง “คนคุย”
3) เรารายล้อมไปด้วยความบันเทิงที่มากกว่าเคย
การสำรวจพบว่าในปี 1950 ประชากรที่เป็นโสดในอเมริกามีเพียง 22% ตรงกันข้ามกับปัจจุบันที่มีคนโสดกว่า 50% หรือมากกว่าครึ่งของประชากร!
ปัจจุบันเรารายล้อมไปด้วยความบันเทิงและสิ่งล่อใจ (Distraction) มากกว่าเคย เช่น TikTok ที่ไถแป๊บๆ ก็กินเวลาไป 2-3 ชั่วโมง ซีรีส์ที่เลือกดูได้ตลอดจาก Netflix หรือเกมที่มีให้เลือกมากมาย ทั้งบนโลกออนไลน์และเกมคอนโซล เป็นต้น
แน่นอน ไม่ได้หมายความว่าคนเราเหงาน้อยลง แต่ก็ต้องยอมรับว่านอกจากงานที่กินเวลาไปกว่า 1 ใน 3 ของชีวิต กิจกรรมเหล่านี้ก็กินเวลาไปไม่น้อย จนอาจไม่มีเวลาพอไปพัฒนาความสัมพันธ์กับใครสักคนอย่างจริงจัง
สถานะอย่างคนคุยที่ไม่ได้มีกฎเกณฑ์มากมาย มีเวลาให้กันเมื่ออีกฝ่ายสะดวก เลยกลายมาเป็นตัวเลือกที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนปัจจุบันมากกว่า
โอกาสที่มากขึ้นจากโลกออนไลน์ การค้นหาตัวตน และไลฟ์สไตล์ที่วุ่นวาย เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์แบบ “คนคุย” ขึ้นมาในสังคมปัจจุบัน แน่นอนว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้คนโสดและไม่อยากมีความสัมพันธ์จริงจัง ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ อีกมากมาย
เรียกได้ว่า เพราะโลกเปลี่ยนไป ความสัมพันธ์จึงเปลี่ยนตาม
คุณผู้อ่านล่ะ คิดอย่างไรกับสถานะความสัมพันธ์แบบนี้ ชอบ ไม่ชอบ หรือตอบโจทย์คุณหรือเปล่า?
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- รู้จักกับ “Breadcrumbing” เมื่อเขาแค่อยากเก็บเราไว้ แต่ไม่ได้อยากจริงจัง – https://bit.ly/3NIpihW
- ปัดไม่หยุดเพราะยังไม่เจอคนที่ใช่ หรือเพราะ Tinder ไม่อยากให้เราเลิกเล่น!?! – https://bit.ly/3R42bS1
อ้างอิง
หนังสือ How to Not Die Alone: The Surprising Science That Will Help You Find Love
https://bit.ly/3afzqRH
https://bit.ly/3agW4Jw
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology