BOOK REVIEW“โกรธ Mindset” ฮาวทูความสำเร็จสไตล์คนหัวร้อน จากหนังสือ “Step Up: Lead in Six Moments that Matter”

“โกรธ Mindset” ฮาวทูความสำเร็จสไตล์คนหัวร้อน จากหนังสือ “Step Up: Lead in Six Moments that Matter”

ความโกรธ เป็นหนึ่งในอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ เมื่อมนุษย์เราพบเจอเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความผิดหวัง เสียใจ หรือหงุดหงิดจนไม่สามารถเก็บซ่อนไว้ในใจได้ ความรู้สึกเหล่านั้นก็จะถูกระบายออกมาเป็นความโกรธ เราถูกเรียนรู้ให้ต้องเอาตัวรอดเมื่อมีความโกรธเกิดขึ้น แต่วิธีการเอาตัวรอดของแต่ละคนนั้นย่อมมีความแตกต่างกัน บางคนก็เลือกที่เก็บไว้และไม่แสดงออกมา บางคนก็เลือกที่แสดงออกมาอย่างรุนแรง หรือบางคนก็อาจจะโฟกัสกับอารมณ์โกรธของตัวเองจนละเลยปัญหาที่แท้จริงไป ส่งผลให้ไม่สามารถประสบความสำเร็จในปลายทางที่ตัวเองต้องการได้

ถึงแม้ว่าความโกรธจะเป็นอารมณ์ที่ถูกสังคมมองในเชิงลบ แต่ความจริงแล้วข้อดีของความโกรธก็มีอยู่มาก ซึ่งหากเราเรียนรู้ที่จะเข้าใจความโกรธของตัวเองและสามารถใช้พลังของความโกรธมาขับเคลื่อนชีวิตให้ไปสู่ความสำเร็จได้ เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องอดทนอดกลั้น เก็บความโกรธเอาไว้กับตัวเองจนบั่นทอนสุขภาพจิตเลย

“The angry man is aiming at what he can attain, and the belief that you will attain your aim is pleasant.”

ประโยคนี้เป็นคำกล่าวของอริสโตเติล นักปราชญ์กรีกโบราณที่สามารถแปลความหมายออกมาได้ว่า “มนุษย์ที่มีอารมณ์โกรธนั้นจะมุ่งเป้าไปในสิ่งที่เขาสามารถทำได้สำเร็จ และการที่เขามีความเชื่อว่าจะสามารถทำได้สำเร็จนั่นแหละคือความน่ายินดี” เคยสังเกตหรือไม่ว่าเวลามนุษย์คนหนึ่งโกรธ เขาจะมีความกล้ามากขึ้น เช่น โกรธแล้วกล้าที่จะพูด โกรธแล้วกล้าที่จะออกความเห็นในสิ่งที่ตัวเองอาจจะคิดมาตลอดแต่ไม่เคยกล้าพูด แล้วนอกจากความกล้าที่เกิดขึ้นหลังจากมีอารมณ์โกรธแล้ว จะมีข้อดีอะไรที่เราสามารถใช้ประโยชน์จากความโกรธได้บ้าง?

ความโกรธ ช่วยเพิ่มสัญชาตญาณการเอาตัวรอด

ในประวัติศาสตร์โลกเราจะพบว่าความโกรธเข้ามามีบทบาทสำคัญในการอยู่รอดของมนุษย์มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติทางการเมือง การยกเลิกระบอบการเมืองเก่าๆ การต่อสู้จากการถูกเอาเปรียบ ทั้งหมดเกิดขึ้นได้ด้วยความโกรธ ความพิเศษของความโกรธที่ทำงานร่วมกับสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ก็คือ เมื่อเราโกรธ สมองจะถูกกระตุ้นให้เรามีการสังเกตและตรวจจับสัญญาณของการถูกคุกคามมากเป็นพิเศษ เมื่อพื้นที่ปลอดภัยของเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยง เราจะมีความโกรธขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เพื่อป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงนั้น และแสดงอาการที่มีความก้าวร้าวขึ้นมาเพื่อเอาชนะการถูกโจมตีจากผู้ที่แข็งแกร่งกว่า นั่นเท่ากับว่าเรากำลังพัฒนาตัวเองให้มีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างไม่รู้ตัว

ความโกรธ ช่วยเพิ่มความสามารถในการควบคุมสิ่งต่างๆ ได้

เมื่อเราเกิดความโกรธ ทำให้ความรู้สึกในการเป็นฝ่ายควบคุมกลับมา เพื่อให้ได้ในสิ่งที่เราต้องการ คนที่รู้จักความโกรธของตัวเองและสามารถแสดงออกมาได้อย่างชาญฉลาดจึงอยู่ในฝั่งที่ได้เปรียบมากกว่าคนที่เก็บซ่อนความโกรธเอาไว้โดยไม่แสดงออก

Dr. Jennifer Lerner นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งศึกษาทฤษฎีที่เกี่ยวกับอารมณ์และการตัดสินใจของมนุษย์พบว่า คนที่กล้าแสดงออกถึงความโกรธ มักจะเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีและกล้าเสี่ยง ในขณะเดียวกัน คนที่กลัวที่จะแสดงความโกรธออกมา มักจะเป็นคนที่มองโลกในแง่ร้ายและไม่กล้าเสี่ยง นอกจากนี้การศึกษาของดร. เจนนิเฟอร์ ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า คนที่กล้าโกรธ มีลักษณะทางอารมณ์ที่มีความสุขมากกว่าคนที่กลัวการแสดงอารมณ์โกรธอีกด้วย

หลังจากที่ดร. เจนนิเฟอร์ ทำการศึกษาเรื่องนี้ เธอยังไปทำการศึกษาเกี่ยวกับปฏิกิริยาของชาวอเมริกันที่มีต่อการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์ 9/11 และพบว่าเมื่อคนรู้สึกโกรธ คนคนนั้นจะมีความชัดเจนต่อความรู้สึกมากขึ้นและทำให้หน่วยงานสามารถเข้าไปควบคุมสถานการณ์ได้ในวงกว้าง เพราะผู้คนสามารถมารวมตัวกันเพื่อจุดประสงค์เดียวกันได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจและสอดคล้องกับงานวิจัยงานแรกของเธอคือผู้ที่โกรธมักจะมองเห็นโอกาสของการโจมตีซ้ำในอนาคตน้อยกว่าผู้ที่มีความหวาดกลัว ที่กังวลเกี่ยวกับการโจมตีซ้ำในอนาคตมากกว่า

ดังนั้นเราจึงสามารถสรุปได้จากงานวิจัย 2 ชิ้นนี้ว่า เมื่อเราโกรธ เราจะมองความสามารถของตัวเองในแง่ดีมากขึ้น ทำให้เราควบคุมสิ่งต่างๆ ให้ “เป็นที่เป็นทาง” ตามความต้องการได้มากกว่าปกติ

ความโกรธ ช่วยให้เกิดความร่วมมือ

ความโกรธในเรื่องเดียวกันสามารถทำให้มนุษย์ที่ไม่ได้สนิทใจกัน หันมาร่วมมือและสามัคคีกันได้ ทำให้ปัญหาส่วนใหญ่มักจะได้รับการแก้ไขเมื่อมีความโกรธเกิดขึ้น นอกจากนี้การแสดงความโกรธอย่างสร้างสรรค์ในความสัมพันธ์ก็เป็นสิ่งที่ดีและจำเป็น เพราะเมื่อเราโกรธกันแล้ว เท่ากับว่าเรารู้จักตัวตนของอีกคนและสนิทสนมกันมากขึ้น

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Society for Personality and Social Psychology ซึ่งเป็นวารสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวกับจิตวิทยา ระบุว่า “การให้อภัยเร็วเกินไปนั้น ไม่ดีต่อความสัมพันธ์เลย” เพราะบางครั้งการแสดงความโกรธเป็นสิ่งที่จำเป็นในการแก้ปัญหา แม้ว่าเราจะมีความรู้สึกขุ่นเคืองหรือไม่สบายใจในระยะสั้นก็ตาม แต่ในระยะยาวนั้นความโกรธเป็นผลดีมากกว่า ในทางกลับกัน การไม่แสดงออกถึงความโกรธในความสัมพันธ์ก็อาจเป็นอันตรายได้

ซึ่งผลจากงานวิจัยนี้ก็สามารถนำไปใช้กับความสัมพันธ์ประเภทต่างๆ ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรัก ครอบครัว หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงาน เพราะท้ายที่สุดแล้ว การแสดงความโกรธอย่างสร้างสรรค์จะช่วยให้คนเข้าใจปัญหาและเกิดความร่วมมือกันในที่สุด

ความโกรธ ทำให้เรามีพลังมากขึ้น

หากพูดถึงความโกรธกับแรงจูงใจแล้ว เราต้องทำความเข้าใจกับเรื่องแรงจูงใจก่อนว่าแรงจูงใจนั้นมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกคือแรงจูงใจในเชิงบวก ที่กระตุ้นให้เราขับเคลื่อนไปยังสิ่งที่ต้องการ และประเภทที่สองคือแรงจูงใจในเชิงลบ ที่กระตุ้นให้เราถอยออกจากสิ่งที่ทำให้เราไม่พึงพอใจ

ซึ่งตามหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้ว ความโกรธจะไปกระตุ้นเยื่อหุ้มสมองส่วนซ้ายหน้า ซึ่งสัมพันธ์กับแรงจูงใจในเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกัน ความกลัวและความโศกเศร้าจะไปกระตุ้นเยื่อหุ้มสมองส่วนขวาหน้า สัมพันธ์กับแรงจูงใจในเชิงลบที่ทำให้เราล้มเลิกในการทำสิ่งต่างๆ ดังนั้นความโกรธจึงสามารถทำให้เรามีพลังที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายหรือแก้ไขปัญหายากๆ ได้

Advertisements

วิธีสร้างความสำเร็จจากพลังความ “โกรธ” จากหนังสือ ‘Step up’ – Lead in Six Moments that Matter

หนังสือ ‘Step up’ – Lead in Six Moments that Matter เป็นหนังสือจิตวิทยาจาก Henry Evans และ Colm Foster ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความฉลาดทางด้านอารมณ์ (Emotional Intelligence) และมีผลงานวิจัยร่วมกันเกี่ยวกับอารมณ์โกรธและความสำเร็จของมนุษย์ โดยงานวิจัยของผู้เขียนทั้งสองท่านนี้ ได้เปิดเผยความจริงของความโกรธว่า “หัวหน้าที่ดีที่สุด ไม่ใช่หัวหน้าที่เก็บอารมณ์โกรธของตัวเองเอาไว้ แต่เป็นหัวหน้าที่รู้จักการใช้ความโกรธมาเป็นพลังในการขับเคลื่อน” เพราะความท้าทายอย่างหนึ่งของอารมณ์โกรธ คือแทนที่เราจะระบายมันออกมาอย่างไร้ศิลปะ แสดงความโกรธอย่างเกรี้ยวกราด เรากลับสามารถใช้ความโกรธนั้นให้เป็นประโยชน์ได้ ด้วยหัวใจหลัก 3 ข้อคือ จดจ่อกับสิ่งสำคัญ, สร้างความมั่นใจ และสร้างความน่าเชื่อถือ

1. จดจ่อกับสิ่งสำคัญ ด้วยการมีสติอยู่เสมอ

ความโกรธทำให้เรามุ่งความสนใจไปที่สิ่งสิ่งหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสนใจไปที่อะไร? สิ่งที่เราสนใจนั้นถูกทางหรือไม่? ถ้ายังนึกภาพไม่ออกให้ลองนึกถึงมาทาดอร์ที่โบกผ้าสีแดงตรงหน้าของวัว เมื่อวัวเห็นผ้าสีแดงก็จะวิ่งเข้าใส่ แต่ในโลกของการเป็นมนุษย์นั้นเราไม่สามารถวิ่งเข้าชนทุกอย่างด้วยความโกรธได้ สิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากวัวก็คือ “สติ”

แทนที่จะมุ่งความสนใจไปที่อารมณ์โกรธและคนที่เป็นต้นเหตุ ให้มุ่งความสนใจไปที่วิธีการแก้ไขสาเหตุของความโกรธนั้นแทน ลองตั้งคำถามเพียง 2 ข้อกับตัวเองในยามโกรธว่า
[ ] ปัญหาที่แท้จริงของความโกรธนั้นคืออะไร
[ ] มีวิธีใดที่ช่วยแก้ไขสถานการณ์นี้ได้

แน่นอนว่าความโกรธไม่ใช่สิ่งที่เรารู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่การนำสติมาใช้กับอารมณ์โกรธที่ได้เกิดขึ้นแล้ว จะทำให้เราพบกับวิธีการแก้ไขปัญหาที่เราไม่เคยคาดคิดถึงและมองเห็นทางออกที่ดีกว่าได้ในที่สุด

2. สร้างความมั่นใจให้กล้าทำสิ่งใหม่

ในบางครั้ง ความโกรธก็มีประโยชน์กับเราตรงที่เป็นพลังขับเคลื่อนที่ทำให้เราจัดการกับทุกปัญหาที่เคยหลีกเลี่ยงในอดีตได้ เมื่อเราโกรธ อะดรีนาลีนจะพลุ่งพล่านขึ้นทำให้การยับยั้งชั่งใจลดลง และนำมาสู่การออกจากพื้นที่ปลอดภัย หรือ Comfort zone ได้ในที่สุด ให้ลองสังเกตว่าเรามักจะต่อต้านการกระทำบางอย่างที่ไม่ถูกต้องของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าเพราะเรารู้สึกโกรธเขา หรือการกระตุ้นให้คนออกมาร่วมชุมนุมทางการเมืองก็มักจะมีการใช้อารมณ์โกรธของมวลชนเข้ามาร่วมด้วย ความโกรธเป็นสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการกระทำขึ้น

ซึ่งเราสามารถนำความโกรธนี้มาช่วยเพิ่มความมั่นใจในการทำบางสิ่งบางอย่างได้ เช่น การพูดคุยในหัวข้อที่เราไม่เคยกล้าพูดมาก่อน หรือการชวนคนอื่นมาช่วยแก้ปัญหายากๆ ที่เราไม่สามารถทำเองได้ และที่สำคัญคือไม่ควรรอให้อารมณ์โกรธเพิ่มขึ้นจนต้องระเบิดอารมณ์ออกมา ความโกรธที่กำลังดีคือความโกรธในระยะเริ่มต้น เพราะทำให้เรามีความกล้าที่จะพูดถึงปัญหาและมีพลังในการแก้ไขปัญหา เพราะฉะนั้นหากเราเริ่มมีความรู้สึกโกรธ ให้เริ่มพูดถึงปัญหาในระยะนี้ได้ทันที เพราะควบคุมง่ายกว่าการที่เราเก็บไว้ในใจจนระเบิดออกมา

3. สร้างความน่าเชื่อถือ ด้วยความจริงใจ

เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อมนุษย์ถูกกำหนดให้ต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม เราจะมีความสามารถในการรับรู้ถึงความทุกข์ของเพื่อนร่วมกลุ่มอยู่แล้ว บางครั้งแม้เราจะไม่รู้ว่าเพื่อนของเรามีปัญหาอะไร แต่เราจะสัมผัสถึงรังสีของอารมณ์นั้นได้เสมอ เพราะฉะนั้นคนที่มีความจริงใจ กล้าที่จะพูดถึงความรู้สึกของตัวเองจึงมักจะเป็นลักษณะของคนที่เพื่อนร่วมงานอยากร่วมงานด้วย

เคล็ดลับของการสร้างความน่าเชื่อถือในข้อนี้จึงเป็นการแสดงอารมณ์ออกมาอย่างจริงใจ ไม่ปกปิดความรู้สึกของตัวเอง หากโกรธให้แสดงความโกรธออกมาแต่ไม่เกรี้ยวกราด และกล้าที่จะพูดถึงปัญหาแต่ต้องใช้เหตุผลอยู่เหนืออารมณ์

ความโกรธนั้นอาจจะดูเหมือนเป็นอารมณ์ที่ผู้คนมักจะหลีกเลี่ยง หลายคนยึดคติที่ว่า “โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า” แต่ถ้าเราลองศึกษาดูจะพบว่าความโกรธนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่เราคิด แทนที่จะเก็บความโกรธไว้ ลองเปลี่ยนเป็นการทำความเข้าใจกับความโกรธของตัวเอง มีสติ มีความมั่นใจและจริงใจกับความรู้สึกของตัวเอง ที่สำคัญคือต้องแสดงความโกรธออกมาอย่างเหมาะสม ใช้ความโกรธในระยะเริ่มต้นเป็นพลังที่ขับเคลื่อนให้เราไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้ อย่าเก็บความโกรธจนระเบิดออกมา รับรองว่าเราจะไม่มีทางติดหล่มความโกรธจนทำให้ชีวิตล้มเหลวอย่างแน่นอน

อ้างอิง
– ‘Step up’ – Lead in Six Moments that Matter By Henry Evans and Colm Foster: Animated Summary : BigIdeasGrowingMinds – https://bit.ly/476ESxQ
– Just In! High Performing Leaders Leverage Their Anger : Rosaria Hawkins, PhD, President, LinkedIn – https://bit.ly/40axqj6
– 6 Surprising Benefits of Anger : Amen Clinics – https://bit.ly/40beEIl

#book
#angermanagement
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า