NEWSTrendsจากโลกร้อน สู่โลกเดือด แล้วอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะใช้ชีวิตอย่างไร?

จากโลกร้อน สู่โลกเดือด แล้วอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะใช้ชีวิตอย่างไร?

โลกนี้มันร้อนขึ้นทุกวันจนแทบอยู่ไม่ได้ นี่เรากำลังจะใช้ชีวิตในโลกแบบไหนกันแน่?

ในสัปดาห์แห่งวันคุ้มครองโลกหรือ Earth Day นี้ หัวข้อที่เป็นประเด็นที่ทุกคนกำลังให้ความสนใจมากที่สุดนั้นคงหนีไม่พ้นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เราทุกคนต่างก็ต้องพบว่าโลกเรากำลังร้อนขึ้นเรื่อยๆ ปีนี้ร้อนกว่าปีที่แล้ว และความร้อนที่เรากำลังสัมผัสนั้น เทียบไม่ได้กับความร้อนเมื่อ 10 ปีก่อนหน้า จนทำให้เราต่างเกิดความสงสัยขึ้นว่า “แล้วในอีก 10 ปีข้างหน้าโลกจะไปถึงจุดไหน และเราจะอยู่ได้อย่างไร?”

ในปัจจุบันนี้ เราจะเห็นว่ามีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากมาย ทั้งน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายอย่างรวดเร็ว การเกิดไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ตามจุดต่างๆ ของโลก หรือแม้แต่จำนวนของสัตว์บางประเภทอย่างเช่น ผึ้ง ที่ลดลงอย่างรวดเร็วจนน่ากังวลใจ ซึ่งเราอาจจะคุ้นเคยว่าทั้งหมดนี้เกิดจากสภาวะที่เรียกว่า ภาวะโลกร้อน (Global Warming) แต่แท้จริงแล้ว โลกนี้กลับสิ้นสุดภาวะโลกร้อนเป็นที่เรียบร้อย และเรากำลังอยู่ในขั้นของ “ภาวะโลกเดือด” (Global Boiling) เป็นที่เรียบร้อย

ความน่ากลัวของโลกใบนี้ได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เมื่อเลขาธิการสหประชาชาติได้ออกมาแถลงเตือนว่า โลกร้อนเข้าสู่ “ยุคโลกเดือด” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ประเมินว่าภายในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ โลกจะร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสและจะร้อนในระดับนั้นอยู่อย่างน้อย 1 ปี ซึ่งนั่นหมายความว่าเรากำลังจะสัมผัสกับโลกที่ร้อนจนเกินจะรับไหวยิ่งขึ้นไปอีก

โลกเดือดแล้วสิ่งที่ตามมาคืออะไร? แน่นอนว่าโลกจะต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่สุดขั้วยิ่งกว่าที่เราเคยพบเจอมา ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนที่ถล่มอย่างรุนแรงมากขึ้น น้ำท่วม ไฟไหม้ป่าที่รุนแรงขึ้น ภัยแล้งที่ส่งผลต่อเกษตรกรรมทั่วโลก น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงและมีความเป็นกรดจนสัตว์น้ำไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ทำให้มนุษย์อยู่ยากลำบากขึ้นและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้เลยทีเดียว

แต่แน่นอนว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุด ก็คือสถานการณ์ทางสภาพภูมิอากาศในประเภทแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย ที่จะได้รับผลกระทบจนทวีความรุนแรงอย่างน่าเป็นห่วง จากคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นมากกว่าปกติได้ถึง 30 เท่า และอากาศร้อนขึ้นไปอย่างน้อย 2 องศาเซลเซียส จึงสร้างความเสียหายให้กับการใช้ชีวิต และมีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดเพิ่มมากขึ้นด้วย

Advertisements

คำถามนี้ คงไม่มีเอกสารไหนที่ให้ภาพของโลกเราได้ชัดเจนมากไปกว่าเครื่องมือ Global Temperature Trend Monitor ของ IPCC (​​Intergovernmental Panel on Climate Change) ที่สามารถประเมินระดับภาวะโลกร้อน ณ วันที่คำนวณแนวโน้ม และวันที่โลกจะร้อนขึ้นแตะเพดาน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งพบว่าโลกจะถึงจุดนั้นในช่วงปี 2030 ไปจนถึง 2034 ที่เป็น 10 ปีข้างหน้านี้พอดี

แม้อุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสจะดูเป็นตัวเลขที่ไม่น่ากลัวเท่าไหร่นัก แต่หากมองความเป็นจริง เราจะพบว่าอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบที่มหาศาลต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกได้ อีกทั้งเราอาจจะไม่ได้สัมผัสสภาพอากาศที่เราเคยสัมผัสไปอีกเลยตลอดชีวิต

นอกจากภัยของคลื่นความร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วม และพายุ ซึ่งอาจสร้างความหายนะให้กับชุมชนและระบบนิเวศแล้ว สิ่งที่น่ากลัวที่ตามมาก็ยังมีอีกหลายประเด็นเช่น

[ ] ผู้คนที่อาศัยบนชุมชนชายฝั่ง อาจจะต้องเสียบ้านของตัวเองไป: การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเกินกว่า 1.5°C ส่งผลให้แผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็งละลายเร็วขึ้น ระดับน้ำทะเลจึงสูงขึ้น ทำให้ผู้คนหลายล้านคนต้องพลัดถิ่นและทรัพย์สินของพวกเขาต้องจมอยู่ใต้น้ำในที่สุด

[ ] สัตว์หลายชนิดที่เราคุ้นเคยอาจสูญพันธ์ุและกลายพันธุ์: การสูญพันธุ์ของสัตว์ เป็นเรื่องที่หลายคนกำลังกังวล แต่นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการกลายพันธุ์ของสัตว์หลายชนิด ที่กำลังดิ้นรนเพื่อปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้น เราจึงจะสามารถเห็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่และการกลายพันธุ์ครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน

[ ] อาหารการกินที่เราหาได้ในวันนี้ อาจจะหาไม่ง่ายอีกต่อไป: ผลผลิตพืชผลมีความอ่อนไหวสูงต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และในโลกที่อุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส อาจส่งผลให้ผลผลิตพืชลดลง และการขาดแคลนอาหารรุนแรงขึ้น ซึ่งพืชกลุ่มเสี่ยงคือข้าวโพด ข้าว ข้าวสาลี และพืชธัญพืชอื่นๆ ซึ่งเป็นผลผลิตที่เราบริโภคกันในทุกวัน

[ ] ความเครียดเรื่องเศรษฐกิจและการเงินเพิ่มมากขึ้น: เมื่อโลกเดือด อุณหภูมิสูง สัตว์และพืชขาดแคลน สิ่งที่เกิดขึ้นคือมนุษย์ใช้ชีวิตยากขึ้นและต้องเอาตัวรอดจากโลกนี้ ซึ่งสิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญก็คือ “เงิน” แต่การเอาตัวรอดด้านการเงินในโลกที่เศรษฐกิจแย่ลงจากสภาพภูมิอากาศ ย่อมทวีคูณมากกว่าปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน

เพราะโลกของเรานั้นมีเพียงใบเดียว ความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อมนุษย์นั้นจึงมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่าที่เราจะคาดเดาได้ อีกทั้งผลกระทบนั้นอาจเกิดขึ้นกับมนุษย์มากกว่าที่คิด หนทางที่จะช่วยได้ก็คือการช่วยกันรักษาอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียนั้นได้ และนอกเหนือจากการช่วยโลกในระดับบุคคลแล้ว หน่วยงาน องค์กรและอุตสาหกรรมต่างๆ ที่กำลังใช้ทรัพยากรของโลกอย่างมหาศาล รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำลายโลกของเราก็ต้องมีการร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเราสูงขึ้นจนเกิน 1.5 องศาเซลเซียสในอนาคต


อ้างอิง
Earth could exceed 1.5°C ‘dangerous climate change’ threshold by December 2034 – WHO : Ethan van Diemen, DailyMaverick – https://bit.ly/3QhQCro
ภาวะโลกเดือดจะส่งผลอะไรในอนาคตบ้าง? : RISC – https://bit.ly/3JwWdGF
The U.N. warns ‘an era of global boiling’ has started. What does that mean? : Victoria Bisset, The Washington Post- https://wapo.st/3xPFz2m

#trend
#GlobalBoiling
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า