เราเป็นคนหลงตัวเองหรือเปล่านะ?
เชื่อว่าคงจะมีใครสักคนที่เคยถามคำถามนี้กับตัวเองมาก่อน โดยก่อนที่จะถามคำถามนี้กับตัวเองก็อาจจะคิดมาก่อนว่าตัวเองนั้นเป็นคนมีความมั่นใจ กล้าคิด กล้าพูดทุกอย่างออกมา แต่พอถึงจุดหนึ่งก็เริ่มสงสัยว่าเราเป็นคนมั่นใจหรือหลงตัวเองกันแน่ ซึ่งจุดที่เริ่มสงสัยก็อาจมาจากการที่คนอื่นบอกว่าเราหลงตัวเองอยู่บ่อยๆ ก็เป็นได้
หากใครเริ่มตั้งคำถามกับพฤติกรรมของตัวเอง ก็เป็นไปได้ว่าเราอาจเข้าข่ายหลงตัวเอง อย่างไรก็ดี การหลงตัวเองไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder หรือ NPD) เสมอไป กล่าวคือ การหลงตัวเองมีหลายระดับ อีกทั้งยังมีหลายประเภทอีกด้วย
ในบทความนี้เราจะชวนทุกคนมาสำรวจตัวเองไปพร้อมๆ กันว่า จริงๆ แล้วเราแค่มั่นใจหรือหลงตัวเองกันแน่ พร้อมมองหาวิธีพัฒนาตัวเองสู่เวอร์ชันที่ดีกว่า
มั่นใจหรือหลงตัวเอง?
หากดูเผินๆ เราจะรู้สึกว่าคนที่หลงตัวเองจะดูมีความมั่นใจเป็นพิเศษ แต่หากมองลึกลงไปอีกจะพบว่าคนหลงตัวเองนั้นชอบให้ทุกคนสนใจตัวเองและมองว่าตัวเองไม่ค่อยทำอะไรผิด เป็นคนอื่นที่ทำผิด อีกทั้งยังดูเหมือนว่าเวลาคิดอะไรก็จะชอบพูดออกมาเลยโดยไม่ค่อยกลั่นกรองนัก เพราะรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์จะพูดอะไรก็ได้
พฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้นนี้แสดงให้เห็นถึงการมีโครงสร้างการป้องกันตัวเองที่รุนแรงและแข็งแกร่ง ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ “ความมั่นใจ” ถึงแม้ว่ากลไกการป้องกันตัวเองจะเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมี กล่าวคือเป็นเรื่องปกติและเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ถ้ากลไกนี้เข้มแข็งและรุนแรงเกินไป ก็อาจทำให้เรามีความตระหนักรู้ในตนเอง มีสติสัมปชัญญะ และการปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นน้อยลงได้
หากเราลองสังเกตดูดีๆ จะพบว่า บางคนที่ดูเหมือนมั่นใจในตัวเองมากๆ ในความเป็นจริงแล้วเขาอาจกำลังรู้สึกไม่ปลอดภัยสุดๆ อยู่ก็ได้ ดังนั้นเขาจึงปกป้องตัวเองจากความรู้สึกไม่มั่นคงนั้นด้วยกลไกการป้องกันที่แข็งแกร่งของตัวเอง โดยกลไกดังกล่าวนี้จะป้องกันสภาวะทางอารมณ์ที่ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจและคุกคามความรู้สึกอันเปราะบางของตัวเอง
โดยเราจะป้องกันตัวเองด้วยการเบี่ยงเบนความสนใจ (Deflection) การปฏิเสธความจริง (Denial) การโทษหรือโยนความผิดให้ผู้อื่น (Projection) และการบิดเบือน (Distortion) ไปพร้อมๆ กัน
การเบี่ยงเบนความสนใจและการโทษคนอื่นในระดับรุนแรง จะทำให้บุคคลนั้นปัดความรับผิดชอบและโยนความผิดไปให้คนอื่นได้ โดยสถานการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลนั้นถูกจับได้คาหนังคาเขาว่าตัวเองทำผิด จึงใช้วิธีนี้โดยพยายามทำให้ตัวเองดูเหมือนเป็นเหยื่อ เพื่อให้หลุดพ้นจากสถานการณ์ตรงหน้า
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น สมมติว่าเราทำงานอยู่ในบริษัทหนึ่ง แล้ววันหนึ่งกลับถูกจับได้ว่าตัวเองเป็นคนทำงานผิดพลาด แทนที่จะรู้สึกผิด เรากลับร้องไห้และบอกเจ้านายว่าพ่อของตัวเองป่วย จึงไม่มีสมาธิกับการทำงานเลย การกระทำเช่นนี้คือการใช้ภาวะอารมณ์ทางลบมาแก้ตัวการกระทำผิดของตัวเอง
ตรงกันข้ามกับคนที่มีความ “มั่นใจในตัวเอง” ที่มีกลไกการป้องกันตัวเองแบบยืดหยุ่น และรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเองมากกว่า ดังนั้นจึงสามารถทนรับกับความรู้สึกไม่มั่นคงได้ดีกว่า คนที่มีความมั่นใจในตัวเองจะมองว่าความไม่สบายกายไม่สบายใจไม่ใช่แค่เรื่องแย่ๆ แต่เป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยให้พัฒนาตัวเองต่อไปได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการมีความฉลาดทางอารมณ์
ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าเราทำงานผิดพลาด แทนที่จะเบี่ยงประเด็นหรือโทษคนอื่น หากเราเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง เราจะรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง พยายามแก้ไขปัญหานั้นอย่างเต็มที่ และแน่นอนว่าประสบการณ์ครั้งนี้จะทำให้ต่อไปเราไม่ทำผิดแบบเดิมอีก
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วเชื่อว่าหลายคนคงจะแยกระหว่าง “มั่นใจ” กับ “หลงตัวเอง” ออกบ้างแล้ว ทีนี้เราจึงอยากชวนทุกคนมาสำรวจให้ลึกขึ้นว่า จริงๆ แล้วมีสัญญาณอะไรอีกบ้างที่บ่งชี้ได้ว่าเราอาจเป็นคนหลงตัวเอง
1) คนหลงตัวเองจะโฟกัสที่ “ตัวเอง” เป็นหลัก
หลายคนอาจจะคิดว่าคนที่โฟกัสตัวเองเป็นหลักคือคนที่มีความมั่นใจ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้นเลย เพราะคนที่มีความมั่นใจมักจะให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้อื่นมากกว่าตัวเอง ซึ่งตรงกันข้ามกับคนหลงตัวเองที่มักจะไม่ค่อยมองเห็นอะไรที่นอกเหนือไปจากตนเองเท่าไร
2) คนหลงตัวเองมักจะต้องการ “การยืนยันคุณค่าจากผู้อื่น”
คนที่มั่นใจจะไม่ได้พยายามพิสูจน์ตัวเองกับใคร แน่นอนว่ามีบางครั้งที่ต้องการกำลังใจจากผู้อื่น แต่ไม่ได้ต้องการการยืนยันคุณค่าจากผู้อื่นเพื่อสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้กับตัวเอง เพราะโดยพื้นฐานแล้วคนที่มีความมั่นใจจะมีความสามารถในการสร้างสมดุลทางอารมณ์ โดยที่ไม่ต้องสนใจความคิดเห็นคนภายนอก
แต่คนที่มีความมั่นใจต่ำจะพยายามเรียกร้องความสนใจและการยอมรับจากผู้อื่น จะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าก็ต่อเมื่อคนอื่นมองว่าตัวเองมีคุณค่า ซึ่งคนหลงตัวเองก็มีแนวโน้มที่จะคำนึงถึงสิ่งที่ผู้อื่นคิด “มากเกินไป” และแสวงหาคุณค่าของตัวเองจากความเห็นของผู้อื่น
3) คนที่หลงตัวเองมักจะ “แสวงหาประโยชน์” จากผู้อื่น
คนที่มีความมั่นใจจะยินดีที่เห็นคนอื่นเติบโตและประสบความสำเร็จในเป้าหมายของตัวเอง อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จด้วย เพราะมองว่าความสำเร็จของคนอื่นไม่ใช่ภัยคุกคามต่อตัวเอง แต่คนที่หลงตัวเองมีรากฐานที่ไม่ค่อยมั่นคงเท่าไรนัก จึงมีแนวโน้มที่จะมองว่าความสำเร็จของผู้อื่นเป็นภัยคุกคาม ด้วยเหตุนี้จึงพยายามทำอะไรหลายๆ อย่างเพื่อไม่ให้คนอื่นแซงหน้าและเพื่อให้ตัวเองก้าวหน้าแซงคนอื่น แม้ว่าจะต้องเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นก็ตาม
4) คนที่หลงตัวเองมักจะ “เลี่ยงการถูกตำหนิติเตียน”
การยอมรับผิดไม่ใช่เรื่องง่ายไม่ว่าจะกับใครก็ตาม แต่สำหรับคนที่มีความมั่นใจในตัวเองจะง่ายกว่ามาก เพราะมองว่าคนเราสามารถผิดพลาดกันได้ และการทำผิดแค่ครั้งเดียวไม่ได้หมายความว่าชีวิตของเราจะจบสิ้น จึงทำให้กล้าที่จะยอมรับความผิดของตัวเองได้มากกว่า
แต่คนที่หลงตัวเองจะไม่ค่อยยอมรับความผิดของตัวเอง เพราะยึดถืออัตลักษณ์ของตัวเองไว้กับความสำเร็จ มองว่าคุณค่าของตัวเองขึ้นอยู่กับสิ่งนี้ ดังนั้นแล้วการยอมรับความผิดจึงเป็นเหมือนภัยคุกคาม สุดท้ายจึงไม่กล้ายอมรับผิด
5) คนที่หลงตัวเองจะค่อนข้าง “โลกแคบ ใจแคบ”
คนที่มีความมั่นใจจะสามารถมองสถานการณ์ต่างๆ ในมุมมองของผู้อื่นได้ แต่คนที่หลงตัวเองจะมองตัวเองเป็นศูนย์กลาง เพราะคิดว่าตัวเองเก่ง ความคิดของตัวเองเป็นจริงและดีที่สุด จนทำให้ละเลยการคำนึงถึงประสบการณ์หรือมุมมองของคนอื่นไป
ถึงเวลาปรับตัวก่อนสาย
เมื่อพูดถึงการหลงตัวเอง เชื่อว่าหลายคนคงจะทราบถึงข้อเสียกันดีอยู่แล้ว หากเจอคนเช่นนี้แน่นอนว่าไม่ว่าใครก็คงจะไม่อยากอยู่ใกล้เท่าไรนัก เพราะถือว่าเป็นคนที่มีพฤติกรรมที่ค่อนข้างท็อกซิก เช่น โยนความผิดให้คนอื่น ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ ไม่รับฟังผู้อื่น ต้องการเป็นที่สนใจตลอดเวลา ไม่เคยตั้งคำถามกับพฤติกรรมของตัวเอง และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละบุคคล
ดังนั้นแล้วหากใครรู้สึกว่าตัวเองเข้าข่ายหลงตัวเองและอยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกที่ดี ซึ่งในวันนี้เราก็มีเคล็ดลับในการปรับเปลี่ยนตัวเองมาฝากกันด้วย
1. อย่าโฟกัสแค่ตัวเอง
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าคนหลงตัวเองมักจะโฟกัสตัวเองเป็นหลัก ได้ยินแต่เสียงภายในของตัวเอง โดยไม่สนมุมมองของผู้อื่นเลย ดังนั้นจึงควรเอาชนะการโฟกัสแค่ตัวเองให้ได้ ซึ่งสามารถเริ่มทำได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
[ ] ระวังเรื่องแอร์ไทม์ของตัวเอง : ลองสังเกตดูว่าเราใช้เวลาในการพูดมากกว่าคนอื่นหรือเปล่า ทางที่ดีอย่าใช้เวลาไปกับการพูดมากกว่าการฟัง ให้บาลานซ์สองสิ่งนี้ให้ดี
[ ] สังเกตเรื่องที่เรากำลังพูดคุย : ลองพิจารณาดูว่าตอนนี้เรากำลังพูดถึงใครอยู่ เราพูดเรื่องตัวเองมากไปหรือเปล่า เราโฟกัสไปที่อีกฝ่ายที่พูดคุยด้วยมากน้อยแค่ไหน ทางที่ดีแทนที่จะพูดคุยแต่เรื่องของตัวเอง ให้พูดคุยเรื่องทั่วๆ ไปแทน เช่น พูดเรื่องดินฟ้าอากาศ
[ ] ถามคำถาม : การถามคำถามแสดงให้เห็นว่าเราสนใจคู่สนทนา โดยเราสามารถเริ่มคำถามได้ด้วยการใช้คำว่า “อะไร (What) หรือ อย่างไร (How)” ควรทำให้เป็นคำถามปลายเปิด เพื่อให้อีกฝ่ายแบ่งปันความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์
2. หลีกเลี่ยงการฟังเพื่อโต้แย้ง
คำว่า “แต่” เป็นเหมือนการขัดและปัดสิ่งที่อีกฝ่ายพูดออกไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถพูดได้ แต่การพูดขัดบ่อยๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไรนัก ทางที่ดีเราควรแก้นิสัยนี้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
[ ] เป็นผู้ฟังที่ดี : การรับฟังผู้อื่นเพียงเพื่อต้องการที่จะโต้แย้งไม่ใช่การฟังที่ดี เพราะเราจะจับแต่จุดที่คนอื่นพลาด ไม่ใช่การฟังเพื่อเรียนรู้ ดังนั้นให้เป็นผู้ฟังที่ดี กล่าวคือ เมื่อไม่เข้าใจให้ถามคำถามอย่างเป็นมิตร เพื่อทำความเข้าใจในสิ่งที่อีกฝ่ายพูดอีกครั้ง เมื่อยอมรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายแล้ว หลังจากนั้นก็สามารถให้ความคิดเห็นของตัวเองได้ แต่อย่าลืมว่าห้ามโจมตีอีกฝ่าย ต้องพูดอย่างเป็นมิตร
[ ] ให้คิดว่าเราพูดถูกทั้งคู่ แค่มองคนละมุม : อย่าโจมตีว่าสิ่งที่อีกฝ่ายพูดนั้นผิด และเคลมว่าสิ่งที่เราพูดนั้นถูกต้องแล้ว แต่ให้พยายามทำความเข้าใจจากทั้งสองมุม เพราะบางทีเราอาจมองข้ามอะไรไป
3. เปิดใจรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์
บางครั้งคนที่หลงตัวเองมักจะโกรธเคืองเวลาที่มีคนอื่นมาตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ หรือบางครั้งก็อาจถึงขั้นปัดความรับผิดชอบและโยนความผิดให้คนอื่น ซึ่งเราไม่ควรทำเช่นนั้น ทางที่ดีเราควร..
[ ] โฟกัสไปที่ฟีดแบ็กที่มีประโยชน์ : เพราะเราทุกคนไม่ใช่คนสมบูรณ์แบบ เราทุกคนสามารถทำผิดพลาดได้ แต่อยู่ที่ว่าเราจะพัฒนาให้ดีขึ้นหรือเปล่า ถ้าอยากพัฒนาให้ดีขึ้นก็จงรับฟังความคิดเห็น แล้วเราจะเห็นช่องทางในการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น
[ ] เรียนรู้จากข้อผิดพลาด : คนเราผิดพลาดกันได้ แต่อย่าผิดพลาดซ้ำสองอีก เมื่อมีคนให้ฟีดแบ็กที่มีประโยชน์มา เราก็ควรรับฟังและเปลี่ยนข้อผิดพลาดนั้นเป็นโอกาสในการเรียนรู้
ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นคนหลงตัวเองได้ อยู่ที่ว่ามากหรือน้อย ถ้ามากเกินไปก็อาจส่งผลกระทบต่อตัวเองและคนรอบข้างได้ ดังนั้นแล้วการรู้เท่าทันพฤติกรรมตัวเองจึงถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำพาเราไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป อย่างไรก็ดี การจะปรับเปลี่ยนตัวเองได้ต้องอาศัยความพยายามในระยะยาว ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนให้สามารถก้าวต่อไปได้จนสุดทางและค้นพบตัวเองในเวอร์ชันที่ดีขึ้น
อ้างอิง
– Are You a Narcissist? 10 Behaviors : Catherine DiBenedetto, Health – https://bit.ly/3QevfY8
– The Difference Between Narcissism and Confidence : Erin Leonard Ph.D., Psychology Today – https://bit.ly/4aKqVrX
– Narcissism vs. confidence: 5 ways to tell the difference : Mandi Corbett, Thriveworks – https://bit.ly/4dcnMTs
– How Do I Stop Being a Narcissist? : Susan Heitler Ph.D., Psychology Today – https://bit.ly/4daIeUv
#psychology
#narcissism
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast