ไม่ว่าใครก็คงอยากมีครอบครัวอันแสนอบอุ่นและเป็นที่พึ่งทางใจในยามที่รู้สึกว่าโลกนี้มันช่างโหดร้ายกับเรากันทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีขนาดนั้น เพราะคนเราไม่สามารถเลือกเกิดได้
บางคนเติบโตมาพร้อมกับความรักอันล้นปรี่ของพ่อแม่ ถูกเลี้ยงดูและทะนุถนอมมาอย่างดี แต่บางคนต้องเผชิญกับประสบการณ์ที่ตรงกันข้าม บ้างก็อาจจะถูกพ่อแม่ละเลย ไม่ใส่ใจ ไม่เคยมอบความรักและอ้อมกอดอันแสนอบอุ่นให้ บ้างก็อาจจะถึงขั้นถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจเลยก็มี
เพราะฉะนั้นแล้วจากคำกล่าวที่ว่า “ไม่ว่าพ่อแม่คนไหนก็รักลูกของตัวเองกันทั้งนั้น” จึงดูเหมือนไม่ใช่เรื่องจริงเท่าไรสำหรับใครบางคนที่เติบโตมาพร้อมกับการเป็น ‘Unloved Child’
ความเจ็บปวดของเด็กคนนั้นที่รู้สึกว่า “พ่อแม่ไม่รัก”
สำหรับใครที่ผ่านวัยเด็กมาพร้อมกับความรู้สึกว่าไม่มีใครรักหรือรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ได้ ก่อนอื่นก็ต้องบอกว่าตัวเรานั้นไม่ใช่คนเดียวที่ต้องเผชิญกับเรื่องราวเหล่านี้ หลายคนเคยผ่านช่วงเวลาเช่นนี้มาอย่างยากลำบากเช่นเดียวกัน
แต่การที่หลายคนต่างก็เคยเผชิญกับเรื่องนี้มาก็ไม่ได้หมายความว่ามันคือเรื่องที่เราควรมองข้ามไป เพราะผลกระทบจากเรื่องนี้นั้นหยั่งรากลึกกว่าที่คิด ยิ่งปล่อยไว้แผลใจอาจยิ่งแย่กว่าเดิม
คาร์ลา มารี แมนลี นักจิตวิทยาคลินิก กล่าวว่า ประสบการณ์ในวัยเด็กที่เราถูกเลี้ยงดูมาเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้เรารู้สึกได้ว่าการได้รับความรักและความปลอดภัยในโลกอันแสนจะสับสนวุ่นวายนี้เป็นอย่างไร เมื่อไรก็ตามที่เราถูกละเลย ถูกปฏิเสธ หรือถูกทำร้าย ความรู้สึกของการไม่ได้รับความรักก็จะเกิดขึ้นและจะคงอยู่ต่อไปในระยะยาว ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อชีวิตเราในทุกๆ ด้าน
และนี่คือผลกระทบส่วนหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในตอนโต หากเราในวัยเด็กไม่รู้สึกถึงความรักจากพ่อแม่
1) กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีความมั่นคงทางใจ
หากใครเคยได้ยิน Attachment Theory หรือ ‘ทฤษฎีความผูกพัน’ กันมาก่อน ก็คงจะทราบกันดีว่าการเลี้ยงดูในวัยเด็กจะมีอิทธิพลต่อตัวเราในตอนโต กล่าวคือหากตอนเด็กเราได้รับความรักและการตอบสนองความต้องการจากพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูอย่างเต็มที่ เมื่อโตมาเราก็จะกลายเป็นคนที่มีความมั่นคงทางจิตใจ กลับกัน หากตอนเด็กเราไม่ได้รับการดูแลหรือถูกละเลย เราก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีความมั่นคงทางจิตใจ
โดยรูปแบบความผูกพันที่ไม่มั่นคงในวัยเด็กที่เรารู้สึกว่าไม่ได้รับความรักสามารถส่งผลกระทบถึงสิ่งเหล่านี้ได้
[ ] วิธีการสื่อสารอารมณ์และความต้องการ
[ ] วิธีการทำความเข้าใจในอารมณ์และความต้องการของผู้อื่น
[ ] วิธีการตอบสนองต่อความขัดแย้ง
[ ] วิธีควบคุมตนเอง
[ ] ความคาดหวังที่เรามีต่อความสัมพันธ์
[ ] วิธีการใช้ชีวิต การทำงาน และการมีความสัมพันธ์ในวัยผู้ใหญ่
2) ความฉลาดทางอารมณ์พัฒนาได้ไม่เต็มที่
ตอนเด็กๆ หากพ่อแม่ของเราไม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเรา เช่น แสดงพฤติกรรม ทัศนคติ หรือปล่อยพลังงานลบๆ ออกมา ผลเสียก็จะตกมาอยู่ที่เราด้วย เพราะเราจะซึมซับแต่สิ่งที่เห็นและรู้สึกมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้นแล้วก็จะทำให้ความฉลาดทางอารมณ์ของเราพัฒนาได้ไม่ดี
อย่างไรก็ดี แม้ว่าพ่อแม่ของเราจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีในวัยเด็ก แต่เราสามารถสร้าง EQ ให้ตัวเองตอนโตได้ผ่านการตระหนักรู้ในตนเองว่าเรา ‘ขาด’ สิ่งนี้อยู่ และพยายามอย่างเต็มที่ที่จะพัฒนาเรื่องนี้ให้ดียิ่งขึ้น
3) รู้สึกว่าตนเองไม่ดีพอ
โดยปกติแล้วคนเราจะมีสิ่งที่เรียกว่า Sense of Self หรือการพัฒนาตัวตน กล่าวคือเรารู้สึกว่าตัวเองมีค่ามีตัวตน ซึ่ง Sense of Self สามารถสร้างขึ้นได้จากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าพ่อแม่ที่ไม่แสดงความรักอันไร้เงื่อนไขให้กับลูกๆ ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ลูกๆ รู้สึกเสียเซลฟ์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือรู้สึกว่าตัวเองยังคงบกพร่องและไม่ดีพอนั่นเอง
โดยความรู้สึกของการบกพร่องในตนเองมักจะเกิดขึ้นเมื่อเราในวัยเด็กรู้สึกว่าไม่ได้รับความรัก ไม่เป็นที่ต้องการ ถูกปฏิเสธ ละเลย ทอดทิ้ง หรือถูกวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง
4) มีปัญหาเรื่องความเชื่อใจ
ปัญหาเรื่องความไว้วางใจก็เป็นอีกหนึ่งผลกระทบที่ตามมา เพราะเด็กๆ ที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้รับความรัก ความปลอดภัย และความเคารพ ก็มักจะเติบโตมาพร้อมกับความรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นผลให้เด็กคนนั้นกลายเป็นคนไม่ไว้ใจใครไปอีกเลย ไม่ว่าบุคคลนั้นจะน่าไว้วางใจมากแค่ไหนก็ตาม เรียกได้ว่าเป็นการสร้างการป้องกันอย่างหนึ่ง แต่การป้องกันนั้นช่างแข็งแกร่งจนไม่เหลือพื้นที่ให้ใครเข้าไปในใจได้
5) เลือกคบคนพาล
หลายคนที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษต้องจำใจยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่อง “ปกติ” และคุ้นชินไปในที่สุด และเมื่อเด็กคนนั้นเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ก็อาจโหยหาความคุ้นเคยอันแสนจะน่าอึดอัดใจในวัยเด็กโดยไม่รู้ตัวได้เช่นกัน จนทำให้เลือกคบเพื่อนหรือคนรักที่ไม่ดีต่อสุขภาพจิตไปโดยไม่รู้ตัว และฝันร้ายในวัยเด็กก็จะคงดำเนินซ้ำต่อไปแค่เปลี่ยนตัวละครจากครอบครัวมาเป็นเพื่อนและคนรัก
6) ถูกความกลัวความล้มเหลวครอบงำ
คาร์ลา มารี แมนลี นักจิตวิทยาคลินิก ชี้ว่าบางครั้งความกลัวความล้มเหลวก็สามารถเกิดขึ้นมาจากการได้รับความรักจากพ่อแม่ได้ด้วยเช่นกัน แต่เป็นความรักที่มีเงื่อนไข กล่าวคือจะได้รับความรักก็ต่อเมื่อทำผลงานอะไรบางอย่างให้พ่อแม่ชื่นใจ และเมื่อไรก็ตามที่พ่อแม่ไม่แสดงความรักและคอยวิพากษ์วิจารณ์เพียงอย่างเดียว เด็กคนนั้นก็จะเติบโตมาพร้อมกับความรู้สึกไม่มั่นคงและกลัวความล้มเหลวไปในที่สุด
7) มีปัญหาสุขภาพจิต
นอกเหนือจากผลกระทบข้างต้นแล้ว อีกหนึ่งผลกระทบที่ตามมาและเราไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่งเลยก็คือ ปัญหาสุขภาพจิต
มีงานวิจัยชี้ว่าการถูกละเลยทางอารมณ์หรือการถูกทำร้ายในวัยเด็กอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตในระยะยาวได้ โดยเราอาจดูแลรักษาอารมณ์ของตัวเองได้ไม่ดีพอจนก่อเกิดเป็นภาวะสุขภาพจิตเหล่านี้
[ ] โรควิตกกังวล
[ ] ภาวะซึมเศร้า
[ ] โรคหลายบุคลิก
[ ] โรคติดสารเสพติด
[ ] โรคกลัว (Phobia)
[ ] โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD)
นอกจากนี้แล้วก็อาจทำให้เรากลายเป็นผู้ใหญ่ที่รู้สึก “โดดเดี่ยว” ได้เช่นกัน เพราะตอนเด็กๆ เราเรียนรู้มาว่าการพึ่งพาผู้อื่นไม่ใช่เรื่องที่ดี เรารู้สึกว่าเราตัวคนเดียวในโลกใบนี้ จนทำให้พึ่งแต่ตัวเองและแยกตัวออกจากสังคมไปโดยปริยาย ซึ่งในสมัยใหม่นี้ก็มีการศึกษาออกมาแล้วว่า ความโดดเดี่ยวนั้นอันตรายถึงชีวิต อันตรายพอๆ กับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวันเลยทีเดียว
เยียวยาความเจ็บปวดจากการ ‘ไม่ถูกรัก’
ความเจ็บปวดทางอารมณ์จากการไม่ได้รับความรักจากคนที่เรารักสุดหัวใจในวัยเด็กจะแสดงออกมาให้เราเห็นได้ในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งเราอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ บางทีเราอาจรู้สึกว่างเปล่า ต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าหรือความวิตกกังวล เพราะบาดแผลทางใจไม่มีวันหายดีได้หากไม่ได้รับการเยียวยา
แล้วเราจะเยียวยาตัวเองได้อย่างไรบ้าง?
1. มอบความรักให้เด็กคนนั้นในตัวเรา
สิ่งพื้นฐานที่เราสามารถทำได้คือ การสำรวจดูว่าทำไมเด็กคนนั้นถึงรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความรัก แล้วลองค้นหาแนวทางดูว่าเราจะสามารถดูแลและโอบกอดเด็กคนนั้นในตอนนี้ได้อย่างไรบ้าง เราต้องเรียนรู้จะที่เลี้ยงดูตัวเองขึ้นมาใหม่
คำไหนที่เราเคยอยากได้ยินจากพ่อแม่แต่ไม่เคยได้ยิน การกระทำแบบไหนที่เราเคยอยากได้จากพ่อแม่แต่ไม่เคยได้ ความรักและความอบอุ่นแบบไหนที่เราเคยอยากมีแต่ไม่มี วันนี้ให้ลองทำแบบนั้นกับตัวเอง ลองเรียนรู้ที่จะมอบความรัก การยอมรับ และการสนับสนุนตัวเราเองให้ได้ทำในสิ่งที่ใจต้องการเสมอมา
นอกจากนี้แล้วก็อย่าลืมย้ำเตือนกับตัวเองว่า เราไม่ใช่คนผิด เราไม่ได้ผิดอะไรเลย ไม่ว่าจะตอนนั้นหรือตอนนี้ก็ตาม หากเป็นเด็กคนอื่นที่ไม่ได้รับความรักจากพ่อแม่ เราก็คงจะไม่โทษเด็กคนนั้นอย่างแน่นอนว่าเป็นคนผิด เพราะฉะนั้นเราก็ควรทำแบบนั้นกับเด็กในตัวเราด้วย
2. ลองมองในมุมพ่อแม่
การลองมองในมุมพ่อแม่ ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องยอมรับหรือหาเหตุผลให้กับพฤติกรรมร้ายๆ ของคนที่เลี้ยงดูเรามาแบบไม่ไยดี แต่เป็นการค้นหาสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของพวกเขา ลองนึกดูว่าพ่อแม่ของเราเผชิญกับอะไรมาบ้าง ทำไมพวกเขาถึงกลายเป็นพ่อแม่ที่ไม่มอบความรักและความอบอุ่นให้กับลูกๆ ของตัวเอง
การที่เรารับรู้ว่าพวกเขาก็อาจจะผ่านความบอบช้ำทางจิตใจมาก็อาจจะช่วยให้เราตระหนักได้ว่าสิ่งที่เขาทำกับเราไม่ใช่เพราะเขาโกรธหรือเกลียดเรา แต่เป็นเพราะสิ่งที่พวกเขาเผชิญมาต่างหาก การทำเช่นนี้อาจช่วยปลดปล่อยจิตใจเราให้เป็นอิสระมากขึ้นได้
3. โอบรับความเจ็บปวดของตัวเอง
ความรู้สึกของการไม่ถูกรักจากคนที่เรารักมากที่สุดอย่าง ‘พ่อแม่’ แน่นอนว่าจะต้องสร้างความเจ็บปวดมหาศาลให้กับเรา แต่อยากให้ทุกคนมองว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นเรื่องธรรมชาติ เรามีเหตุผลมากพอที่จะรู้สึกแบบนี้ มันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ดังนั้นให้โอบรับความเจ็บปวดเหล่านั้น และพยายามย้ำเตือนกับตัวเองว่ามันเป็นเรื่องปกติมากๆ ที่เราจะรู้สึกเช่นนี้
4. พยายามใจดีกับตัวเอง
บางครั้งการที่เราถูกละเลยในวัยเด็กก็อาจทำให้เรามีความคิดที่ว่าตัวเรานั้นไม่ดีพอ จนถึงทุกวันนี้เราก็อาจจะยังรู้สึกเช่นนั้นได้อยู่ การเปลี่ยนจากการวิจารณ์ตัวเองไปสู่การรักตัวเองจึงเป็นเรื่องยากสำหรับใครบางคน แต่เราก็ควรใจดีและเห็นใจตัวเราเองบ้าง
โดยในขั้นแรกเราต้องยอมรับว่าตัวเรานั้นไม่ได้รับการตอบสนองจากพ่อแม่ที่ดีพอในวัยเด็ก และเราสามารถเริ่มใจดีกับตัวเองได้ด้วยการเห็นใจตัวเองที่เคยอยู่ในจุดนั้นมา นอกจากนี้แทนที่จะโทษตัวเองก็ให้ขอบคุณตัวเองที่ผ่านพ้นเหตุการณ์เหล่านั้นมาได้ เพื่อปลดปล่อยการโทษตัวเองที่เราต้องแบกรับมาโดยตลอด
อย่างไรก็ดี นอกจากคำแนะนำเบื้องต้นเหล่านี้แล้ว อีกทางเลือกหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นความเจ็บปวดนี้ไปได้ก็คือการเข้ารับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต
การไม่ได้รับความรักในวัยเด็กเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับใครหลายๆ คน อีกทั้งยังส่งผลกระทบมาถึงตัวเราในวัยผู้ใหญ่ ทั้งทำให้เรารู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ ทั้งทำให้เราตั้งคำถามถึงคุณค่าในตัวเอง การจะผ่านพ้นความเจ็บปวดในอดีตที่ส่งผ่านมาถึงปัจจุบันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราก็ไม่ควรปล่อยมันไปเฉยๆ เพราะบาดแผลจะไม่มีวันหายไปจนกว่าจะได้รับการเยียวยา เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนจะสามารถผ่านพ้นความเจ็บปวดนี้ไปได้ด้วยดี และค้นพบวัยผู้ใหญ่ที่มีความสงบสุขทั้งกายและใจ ไม่ต้องพะวงเกี่ยวกับความเจ็บปวดในอดีตอีกต่อไป
อ้างอิง
– How Being Unloved in Childhood May Affect You as an Adult : Morgan Mandriota, PsychCentral – https://bit.ly/44BzgvG
– 13 Ways to Heal from Being an Unloved Child : Sandra Silva Casabianca, PsychCentral – https://bit.ly/44D2p9Z
#psychology
#unlovedchild
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast