PSYCHOLOGYworklifeลางานก็โดนตาม เลิกงานก็โดนเรียก! ส่องสิทธิแรงงานพื้นฐานตามกฎหมาย ก่อนเสียรู้ให้องค์กร Toxic

ลางานก็โดนตาม เลิกงานก็โดนเรียก! ส่องสิทธิแรงงานพื้นฐานตามกฎหมาย ก่อนเสียรู้ให้องค์กร Toxic

หลายคนอาจจะเคยได้รับโทรศัพท์หรือข้อความจากเพื่อนร่วมงานในตอนเย็น หลังจากที่ปิดคอมพิวเตอร์ไปแล้ว เนื้อความดังกล่าวอาจจะเป็น ‘การไหว้วาน’ ขอให้ช่วยทำงานโน้นงานนี้ให้หน่อย โดยที่งานชิ้นนั้นไม่ใช่ขอบเขตความรับผิดชอบของคุณโดยตรง แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้และต้องรีบกลับบ้านเพื่อเปิดคอมพิวเตอร์ แล้วจัดการงานชิ้นนั้นให้เสร็จตามเดดไลน์ที่เพื่อนร่วมงานไหว้วานมา

คนเราทำงานก็เพื่อเติมเต็มความคาดหวังในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน ความมั่นคง สุขภาพ หรือความสุขก็ดี แต่โลกของการทำงานไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น นอกจากจะต้องมีประสบการณ์การทำงานที่สูงกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ แล้ว ยังต้องมี Soft Skill ที่ตอบโจทย์สังคมที่ทำงาน แล้วก็ต้องเรียนรู้พัฒนาตัวเอง เพื่อเลื่อนขั้นสู่ตำแหน่งงานที่สูงกว่าเดิม

ทว่าก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นได้ก็ต้องเสี่ยงดวงกันก่อนว่าเราจะได้ทำงานในบริษัทแบบไหน หลายคนอาจจะเคยได้ทำงานในบริษัทที่มั่นคงและมีชื่อเสียง แต่ต้องเจอกับปัญหาหยุมหยิมมากมายภายในองค์กร เช่น เพื่อนร่วมงานที่ชอบฝากงานให้ทำนอกเวลางาน หรือหัวหน้างานที่มีปัญหากับวันลาของเราตลอด จนกลายเป็นว่ามีหน้าที่การงานมั่นคงก็จริง แต่เสียสุขภาพจิตเพราะเพื่อนร่วมงานแทนเสียอย่างนั้น

เนื่องด้วยวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น ‘วันแรงงานแห่งชาติ’ และรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวันหยุดของคนทำงานทั้งหมด ดังนั้น มาหาคำตอบกันว่าแท้ที่จริงแล้ว กฎหมายกำหนดชั่วโมงทำงาน วันหยุด และวันลาของพนักงานอย่างไรบ้าง?

แรงงานต้องทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

การไหว้วาน หรือการฝากงานให้ทำนอกเวลางานเป็นอีกหนึ่งปัญหาหยุมหยิมที่ถ้าไม่อาจแก้ไขให้ได้โดยเร็วก็สามารถสร้างผลกระทบครั้งใหญ่ให้กับองค์กรหรือบริษัทได้ เพราะต่อให้งานที่ไหว้วานนอกเวลาทำงานนั้นเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ ก็จริง แต่การจะทำงานหนึ่งชิ้นให้เสร็จสิ้นได้นั้นก็ทำให้กินเวลาพักผ่อนที่เราควรได้รับอยู่ดี

โดยกระทรวงแรงงานได้กำหนดจำนวนชั่วโมงทำงานปกติ เวลาพัก วันหยุด การทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุดกับแรงงาน หรือคนทำงานทั่วไปไว้ดังนี้

[ ] จำนวนชั่วโมงทำงานปกติ

กำหนดให้ทำงานทั่วไปไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และได้รับวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 1 วันต่อสัปดาห์ โดยวันหยุดประจำสัปดาห์นั้นต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วันด้วย

ส่วนงานที่อันตรายต่อสุขภาพ งานที่มีความเสี่ยงอันตรายสูง ซึ่งอาจกระทบต่อความปลอดภัยและชีวิตของคนทำงาน รวมถึงงานที่มีภาวะแวดล้อมเดินมาตรฐานความปลอดภัย เช่น งานที่ใกล้ชิดกับสารกัมมันตภาพรังสี งานที่ต้องทำใต้น้ำหรือใต้ดิน งานที่ต้องสัมผัสสารอันตราย ฯลฯ จะกำหนดให้ทำงานไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น

Advertisements

[ ] การทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุด

กระทรวงแรงงานกำหนดให้พนักงานทำงานล่วงเวลา และทำงานในวันหยุดไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยต้องได้รับความยินยอมจากพนักงานก่อนเป็นครั้งๆ ไป อีกทั้งยังกำหนดให้ทำงานเท่าที่จำเป็น กล่าวคือการทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุดจะต้องเป็นงานฉุกเฉิน หรืองานที่อาจเกิดความเสียหายได้ถ้าหยุดทำเท่านั้น

แต่งานโรงแรม งานมหรสพ งานสมาคม งานสโมสร รวมถึงสถานพยาบาลสามารถให้พนักงาน และบุคลากรทำงานล่วงเวลาได้เลย โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากพนักงาน แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องมีการกำหนดค่าจ้าง ค่าแรงและค่าทำงานล่วงเวลาไว้ให้ชัดเจนก่อนด้วยทุกครั้ง

วันลาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายที่พนักงานต้องได้รับ?

หลายคนที่ลางานแล้วต้องเจอกับคำถามเหล่านี้จากเพื่อนร่วมงานหรือ HR ตามมาด้วย เช่น “ลาไปทำอะไร?” “ให้คนอื่นที่บ้านไปแทนไม่ได้หรือ?” หรือการต้องใช้ใบรับรองแพทย์มายื่นตามหลังทุกครั้งที่ลาป่วย เรื่องหยุมหยิมพวกนี้สร้างความรำคาญให้กับคนทำงานไม่น้อยเช่นกัน ทั้งที่วันลาเองก็เป็นสิ่งที่คนทำงานต้องได้รับอยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องแจ้งเรื่องธุระส่วนตัวของตัวเองให้กับเพื่อนร่วมงานด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้น กระทรวงแรงงานกำหนดให้พนักงานได้รับทั้งวันลากิจ วันลาป่วย วันลาทำหมัน วันลาคลอด วันลารับราชการทหาร และวันลาฝึกอบรม รวมถึงรายละเอียดดังนี้

[ ] พนักงานสามารถลาป่วยได้ตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป และลากิจเพื่อธุระจำเป็นได้ตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไปด้วยเช่นกัน

[ ] พนักงานสามารถลาทำหมันได้ตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดในใบรับรอง โดยยังมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในวันลาเพื่อทำหมันด้วย

[ ] พนักงานหญิงสามารถลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 98 วัน โดยรวมวันลาเพื่อตรวจครรภ์และวันหยุดด้วย และนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างหญิงในวันลาเพื่อคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน

[ ] พนักงานสามารถลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพลเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดสอบความพร้อม โดยสามารถลาเป็นระยะเวลาตามที่ทางการทหารเรียก และยังได้รับค่าจ้างตลอดเวลาที่ลาแต่ไม่เกิน 60 วันต่อปี

[ ] พนักงานสามารถลาเพื่อฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อประโยชน์ต่อการทำงานของลูกจ้างตามโครงการหรือหลักสูตร ซึ่งมีกำหนดช่วงเวลาที่แน่นอน ทั้งนี้ทั้งนั้น ลูกจ้างต้องแจ้งเหตุผลในการลาให้ชัดเจน และแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) ให้นายจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันลา

อย่างไรก็ตาม ถ้าพนักงานเคยได้ลางานเพื่อฝึกอบรมมาแล้วไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือ 3 ครั้งต่อปี อาจทำให้การลาเพื่อฝึกอบรมเกิดผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อองค์กรได้ ทั้งนี้นายจ้าง หัวหน้า หรือ HR ก็สามารถปฏิเสธการลาเพื่อฝึกอบรมได้เช่นกัน

นอกจากวันลาแล้ว วันพักร้อนหรือ ‘วันหยุดพักผ่อนประจำปี’ เองก็สำคัญเช่นกัน เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้รายละเอียดของการลาพักร้อนประจำปี หรืออาจคิดว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องใช้วันหยุดเหล่านั้นก็ได้ ทำให้เราพลาดโอกาสที่จะได้พักผ่อน และเสียสิทธิ์ดังกล่าวไปโดยไม่รู้ตัว

โดยกระทรวงแรงงานระบุว่าพนักงานต้องได้รับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงานต่อเดือน และสามารถสะสมวันหยุดประจำปี เพื่อไปรวมกับปีอื่นได้ โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้า  หรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน

Advertisements

เราควรปฏิเสธอย่างไร? เมื่อโดนตามในวันหยุด และโดนเรียกใช้หลังเลิกงาน

การปฏิเสธด้วยคำขอโทษที่ไม่สามารถรับทำงานได้เพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอและทำให้เพื่อนร่วมงานคิดว่าเราเลือกงาน ทิ้งงาน หรือไม่มีน้ำใจช่วยทีมและองค์กรได้ แม้ว่าเราจะมีสิทธิ์ที่จะไม่ทำงานซึ่งอยู่นอกเหนือหน้าที่รับผิดชอบของเราก็จริง แต่เราต้องมีวิธีสื่อสารอย่างชาญฉลาด และปฏิเสธอย่างรักษาน้ำใจเช่นกัน

ในกรณีที่เราโดนที่ทำงานตาม หรือเรียกใช้ให้ทำงานหยุมหยิม ซึ่งไม่ใช่เรื่องด่วนหรือฉุกเฉินจริงๆ ขึ้นมา ก็สามารถรับมือได้ด้วยวิธีปฏิเสธงานเพิ่มเติมที่หยุมหยิมของในที่ทำงาน จากเว็บไซต์ Harvard Business Review แบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่นได้ดังนี้

[ ] ใช้กลยุทธ์ Relational Account คือการปฏิเสธพร้อมให้คำอธิบายว่าทำไมการที่เราปฏิเสธงานนี้ถึงเป็นคำตอบที่ดีกว่า

เช่น การที่ทีมกราฟิกถูกไหว้วานให้ตัดต่อวิดีโอหลังเลิกงาน ก็อาจจะตอบกลับไปว่าตอนนี้ภาระงานของทีมเราเยอะมากแล้ว หรือตอบกลับไปว่า “ความสามารถในการตัดต่อวิดีโอของเราอาจจะไม่เทียบเท่ากับความสามารถของคนในทีมตัดต่อ ดังนั้นถ้าให้ทีมตัดต่อทำงานก็จะมีคุณภาพมากกว่า ไว้พรุ่งนี้ลองคุยกับทีมตัดต่อดูนะ” ก็ได้เช่นกัน

[ ] ใช้กลยุทธ์ Exit Strategy คือการปฏิเสธพร้อมเสนอทางออก ตัวช่วย หรือคำแนะนำ

นอกจากวิธีนี้จะไม่ดูเป็นการปัดภาระไปให้คนอื่นแล้ว การช่วยเพื่อนร่วมงานคิดหาทางออกยังทำให้เราเป็นหนึ่งในทีมที่ช่วยระดมความคิดร่วมกัน และผลักดันให้งานสำเร็จโดยไม่กระทบกับงานส่วนตัวของเราด้วย

ถึงอย่างนั้นเราก็ยังพบเห็นคนทำงานจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ หรือพนักงานใหม่ที่ยังมีประสบการณ์ไม่มากนัก ถูกองค์กรและเพื่อนร่วมงานเอาเปรียบจากความไม่รู้อยู่บ่อยๆ และแม้ว่าเรื่องราวแสน Toxic แบบนี้ในองค์กรจะไม่ใช่การขัดต่อกฎหมายที่ชัดเจนนัก แต่การถามละลาบละล้วง รวมถึงการจัดการงานที่ไร้ระบบระเบียบก็ทำให้พนักงานรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม หรือองค์กรได้

ดังนั้นองค์กร ผู้ประกอบการ ผู้จัดการ หัวหน้า หรือแม้กระทั่งคนทำงานด้วยกันควรมีความรู้ความเข้าใจสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทำงานต้องได้รับตามกฎหมายอยู่แล้ว เพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเอง รวมถึงมีความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจสิทธิ์ของผู้อื่น โดยไม่สร้างบรรยากาศอึดอัดขึ้นในที่ทำงานด้วยเช่นกัน

อ้างอิง
– การคุ้มครองแรงงาน : กระทรวงแรงงาน – https://bit.ly/49OB0T7
– คำชี้แจงกระทรวงแรงงานเรื่องลาเพื่อคลอดบุตร : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน – https://bit.ly/4aFB8G1
– กระทรวงแรงงานขอความร่วมมือนายจ้าง ให้ลูกจ้างลา เพื่อรับราชการทหาร ประจำปี 2566 : The Golden Tree Legal – https://bit.ly/3w6C8nl
– When — and How — to Say No to Extra Work : Melody Wilding, Harvard Business Review – https://bit.ly/49Lg7bJ

#วันแรงงานแห่งชาติ
#worklife
#society
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า