ถ้าพูดถึงสหรัฐฯ คุณจะนึกถึงอาหารอะไร?
เชื่อว่าคำตอบแรกของคนส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นแฮมเบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟรายส์ ไก่ทอด พิซซ่า โดนัต คุกกี้ ซีเรียลและเครื่องดื่มอัดลมสีดำที่เรียกว่า ‘โคล่า’
นอกจากนี้หากใครดูซีรีส์หรือหนังอเมริกัน ก็คงจะเคยเห็นร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีขนมขบเคียวที่มีทั้งโซเดียมและน้ำตาลสูงมาก เช่น มันฝรั่งทอดอย่าง ชีโตส โดริโทส คุกกี้โอรีโอ รวมทั้งซีเรียลที่มีน้ำตาลเรียงรายตลอดทางเดิน และร้านค้าส่วนใหญ่ก็มีลูกอมและลูกกวาดสีสันน่ารักสดใส คอยล่อตาล่อใจให้ลูกค้าหยิบมาจ่ายเงินเพิ่มตั้งอยู่ในจุดแคชเชียร์ ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่ว่าใครก็ต้องเดินผ่าน
ยิ่งไปกว่านั้น การสั่งอาหารฟาสต์ฟูดแบบชุดราคาถูกที่มีทั้งของทอด ขนมหวานและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงในสำรับเดียวกันยิ่งทำให้มื้ออาหารในแต่ละมื้อผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังสามารถกินเพิ่มได้อีกเรื่อยๆ โดยอาหารเหล่านี้ได้รับความนิยมจากชาวอเมริกันอย่างมาก จนอาจเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมหลักของประเทศที่เป็นเจ้าของป๊อปคัลเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้แล้ว
นอกจากชาวอเมริกันแล้ว ประชากรประเทศอื่นๆ ก็ชื่นชอบไม่แพ้กัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาหารเหล่านี้จะทั้งอร่อย ทำง่ายและหากินง่าย แต่อาหารเหล่านี้ก็ไม่ใช่อาหารที่ดีต่อสุขภาพ ยิ่งไปกว่านั้นพวกมันยังเป็นสาเหตุสำคัญของ ‘โรคเบาหวาน’ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกเลยก็ว่าได้ เพราะมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2035 อาจจะพบผู้ป่วยโรคเบาหวานสูงเกินครึ่งหนึ่งของประชากรโลกก็เป็นได้
‘วัฒนธรรมการกิน’ ที่กระทบทั้งสุขภาพและชีวิต
อาหารของชาวอเมริกันมักเป็นอาหารประเภทฟาสต์ฟูดที่ผ่านกระบวนการแปรรูปอย่างหนัก ซึ่งมีส่วนผสมของสารสังเคราะห์หลายชนิด และเป็นอาหารที่สามารถปรุงสุกได้อย่างรวดเร็วด้วยวิธีการทอดหรืออบ เพื่อให้อาหารมีความกรอบ มัน สดใหม่อยู่ตลอดเวลา ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อมีฟาสต์ฟูดติดมือ ย่อมต้องมีเครื่องดื่มล้างปากเพิ่มรสชาติ เช่น โคล่า น้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้ติดมือด้วย
ด้วยเหตุนี้ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยจึงได้รับไขมัน น้ำตาล และแคลอรีส่วนเกินจากอาหารเหล่านี้มากเกินไป จนประสบปัญหาโรคอ้วน โรคไขมันพอกตับ และกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable Diseases) เป็นจำนวนมาก และพบได้ตั้งแต่กลุ่มประชากรที่เป็นเด็กและวัยรุ่น
โดยข้อมูลจาก State of Childhood Obesity ของมูลนิธิ Robert Wood Johnson ระบุว่า 19.3% ของเด็กอเมริกันวัย 2-19 ปีมีภาวะโรคอ้วน เมื่อ Nancy Trout กุมารแพทย์จากรัฐคอนเนทิคัตสอบถามพฤติกรรมการกินอาหารจากเด็กๆ ที่เป็นโรคอ้วนก็พบว่าอาหารในมื้อหลักของเด็กๆ เป็นฟาสต์ฟูดและขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็มเป็นหลัก เช่น ชีโตส หรือโดริโทส
อีกทั้งยังมีซีเรียลที่มีน้ำตาลสูงอย่าง Frosted Flakes, Fruit Loops หรือ Lunchables อยู่ในมื้ออาหารแต่ละมื้ออีกด้วย นอกจากนี้เด็กและวัยรุ่นชาวอเมริกันยังเลือกบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงมากกว่าน้ำเปล่า เช่น น้ำผลไม้ น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีโซดา เครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา และนมช็อกโกแลต
ภายในปี 2035 อาจจะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานสูงเกินครึ่งของประชากรโลกทั้งหมด!
Trout ยังบอกอีกด้วยว่านอกจาก ‘วัฒนธรรมการกิน’ และอาหารแล้ว กิจกรรมในแต่ละวันก็ยังส่งผลอย่างมากต่อความรุนแรงของโรคเบาหวานที่พบในประชากรอเมริกัน โดยรายงานของ Trout ระบุว่าสถิติผู้ป่วยเบาหวานเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และพบในเด็กมากขึ้นในช่วงโควิดที่ผ่านมา
โดยจากการซักประวัติและเก็บข้อมูลคนไข้พบว่าเด็กและวัยรุ่นมีกิจกรรมที่ได้ออกกำลังกายน้อยลง และใช้เวลาไปกับหน้าจอนอกเหนือจากการเรียนทางไกลเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าค่าเฉลี่ยที่วัยรุ่นชาวอเมริกันใช้เวลาไปกับการเล่นเกมและโซเชียลเน็ตเวิร์กจะอยู่ที่ 4 ชั่วโมงต่อวัน แต่ก็มีเด็กบางคนใช้เวลาไปกับหน้าจอสูงถึง 8 ชั่วโมงต่อวันด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้สำนักข่าว Deseret News ยังรายงานอีกด้วยว่าสถานการณ์ผู้ป่วยโรคเบาหวานในสหรัฐฯ ทุกวันนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีอัตราส่วนของผู้ป่วยอยู่ที่ 2 ใน 5 และอัตราส่วนของผู้ป่วยเบาหวานขั้นรุนแรงอยู่ที่ 1 ใน 11 ซึ่งเกิดจากวัฒนธรรมการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์และการกินที่มากเกินไปทั้งสิ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ มีร้านค้าและร้านอาหารฟาสต์ฟูดสูงมาก แต่สามารถขายอาหารในราคาถูก และให้บริการในลักษณะบุฟเฟต์ ทำให้ผู้คนเริ่มเสพติดการกินอาหารที่ไม่ดีต่อร่างกายในปริมาณมาก โดยการเสพติดการกินของคนยุคนี้รุนแรงพอๆ กับการเสพติดยาสูบในประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำ
และยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นไปได้มากอีกว่าภายในปี 2035 เราอาจตรวจพบผู้ป่วยโรคเบาหวานสูงกว่า 4 พันล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกอีกด้วย
แม้ว่าการกินฟาสต์ฟูดเป็นอาหารหลักจะไม่ใช่วัฒนธรรมของคนเอเชีย หรือคนไทยสักเท่าไร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ของทอด ของมัน และของหวาน รวมถึงวัฒนธรรมการกินแบบบุฟเฟต์ของคนไทยก็ ‘กินดุ’ ไม่แพ้ชนชาติใดเหมือนกัน ดังนั้นแล้วไม่ว่าจะคนอเมริกันหรือคนไทยเองต่างก็ควรระวังเรื่องการกินของตัวเองให้ดี
เพราะการดูแลสุขภาพและการเลือกสรรอาหารที่ดีต่อร่างกายของเราเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ร่างกายและจิตใจของเรายังคงพร้อมต่อสู้กับเรื่องราวต่างๆ ในแต่ละวันได้ และเมื่อพิจารณาร่วมกับเวลา รวมถึงจำนวนเงินที่ต้องกันไว้เพื่อการตรวจและรักษาสุขภาพแล้ว ยิ่งทำให้ประโยคที่ว่า “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” กลายเป็นความจริงขึ้นมาทันที
อ้างอิง
– Changing the American Culture of Obesity : Nancy Trout, Connecticut Children’s – https://bit.ly/3UIPy1t
– The obesity epidemic in America: Costly in food and lives : Britney Heimuli and Emma Pitts, Deseret News – https://bit.ly/4a4RYNn
#trend
#selflove
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast