ไม่ชอบกันแต่ต้องร่วมงานกัน มันช่างลำบากใจยิ่งนัก!
ในการทำงานร่วมกัน เรามักจะรู้กันดีว่าความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดนั้นสร้างความขัดแย้งและส่งผลกระทบเชิงลบให้กับตัวคนทำงานและองค์กรได้อย่างมหาศาล ซึ่งมีงานวิจัยและการศึกษามากมายที่บ่งบอกว่าความสัมพันธ์ที่แย่นั้น ส่งผลกระทบต่องานเป็นอย่างมาก อีกทั้งความเครียดจากสถานที่ทำงานนั้นส่งผลให้ประสิทธิภาพของการทำงานลดลงด้วยเช่นกัน
เมื่อถามคำถามว่า “ความสุขในที่ทำงานส่งผลต่อการทำงานหรือไม่” พบว่า 70%-80% ของพนักงานบอกว่าส่งผลเป็นอย่างมาก และการรู้วิธีในการอยู่ร่วมกับคนที่ไม่ชอบในการทำงานจึงเป็นเรื่องที่คุ้มค่า
แล้วทำไมความสัมพันธ์ในที่ทำงานจึงเป็นเรื่องซับซ้อน จนไม่อาจเข้าใจได้? โดยทั่วไปแล้ว มนุษย์มีรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างซับซ้อนอยู่แล้ว เรามีปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ ทั้งค่านิยม ความเชื่อที่ฝังแน่นในทุกปฏิกิริยาการสื่อสาร โต้ตอบ ทุกคนมีอคติภายในใจของตัวเองโดยที่อาจจะไม่รู้ตัว ทุกคนมีความชอบในลักษณะของคนประเภทหนึ่ง และมีความไม่ชอบในลักษณะของคนอีกประเภทหนึ่งเสมอ ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวกำหนดวิธีคิดและความรู้สึกของเรา
“ความหลากหลาย” ทำให้องค์กรเดินหน้า
ในขณะเดียวกัน หลายคนมักจะคิดว่าเมื่อทุกคนมีความคิดไปในทางเดียวกับเรา งานก็คงจะสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ในความเป็นจริง ความคิดเช่นนี้เป็นเรื่องที่ไม่จริงและไม่ถูกต้อง เพราะการคิดเหมือนกันก็เป็นการปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาและก่อให้เกิดความล้มเหลวได้ง่าย สิ่งที่ทำให้องค์กรเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างถูกต้องมากที่สุดก็คือ “ความหลากหลาย”
แน่นอนว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องชื่นชอบเพื่อนร่วมงานทุกคน แต่ถึงแม้ว่าเราจะมีคนที่ไม่ชอบในองค์กร เราก็สามารถเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นและเป็นมืออาชีพ
7 วิธีร่วมงานกับคนที่ไม่ชอบได้อย่างมืออาชีพ
ข้อ 1 ลองมองย้อนกลับมาดูตัวเอง
เป็นเรื่องน่าสนใจที่มนุษย์สามารถชอบหรือไม่ชอบใครสักคนโดยที่ไม่อาจรู้ถึงสาเหตุนั้นได้ และคนส่วนใหญ่ไม่อาจจะหาคำมาอธิบาย แต่สิ่งที่มนุษย์มักทำก็คือการพยายามหา Comfirmation Bias หรือหาหลักฐานเพื่อสนับสนุนความคิดนั้น
หากเราต้องการลดความรำคาญใจเกี่ยวกับคนในออฟฟิศลง สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการกลับมาถามตัวเองว่า “เรามีอคติอะไรกับเขา” เพื่อหามูลเหตุของความไม่ชอบ นอกจากนี้วิธีการนี้ยังสามารถใช้ได้กับการหาอคติเชิงบวก ที่ทำให้เราชื่นชอบเพื่อนร่วมงานคนใดคนหนึ่งมากเป็นพิเศษได้เช่นเดียวกัน
เมื่อเรารู้จักอคติ รู้ใจของตัวเอง เราก็จะสามารถมองสถานการณ์รอบข้างในตามความเป็นจริงมากขึ้น
ข้อ 2 รักษาความเป็นผู้ใหญ่
ความเป็นผู้ใหญ่เป็นจุดที่สะท้อนความสามารถในการควบคุมอารมณ์ (EQ) ของคนทำงาน และการเลือกจัดการกับสถานการณ์ที่ไม่เป็นใจอย่างมีสติเป็นวิธีที่แสดงออกถึงความเป็นผู้ใหญ่ให้คนในองค์กรได้เห็นถึงศักยภาพของอารมณ์ของเราได้อีกด้วย
แล้วพฤติกรรมแบบเด็กๆ คืออะไร? ให้ลองนึกภาพการประชุม เมื่อมีคนที่พูดจาไม่เข้าหูเรา เราก็สวนกลับไปโดยใช้อารมณ์และไม่คิดไตร่ตรองอย่างดีก่อน หรือแม้แต่การโต้ตอบโดยใช้ความรุนแรงกับคนที่ไม่ชอบก็เป็นพฤติกรรมที่ผู้ที่มีความเป็นผู้ใหญ่ไม่พึงกระทำ และสามารถทำลายบรรยากาศในการทำงานได้
แต่การตอบกลับอย่างนิ่งและมีสติ จะทำให้ผู้อื่นเกิดความเคารพนับถือในตัวของเรามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับคู่กรณีของเรา อีกทั้งยังทำให้ปัญหาไม่ลุกลามใหญ่โตด้วย
ข้อ 3 อย่าลดทอนคุณค่าของอีกฝ่าย
แม้ว่าเราจะไม่ชอบฝ่ายตรงข้ามมากแค่ไหน แต่ก็ควรพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำหรือความคิดของอีกฝ่ายในการทำงานมากกว่าการลดทอนคุณค่าเพียงเพราะความไม่ชอบตัวบุคคล ควรเปิดใจกว้างและเปิดรับคุณค่าที่ทุกคนนำมาให้กับองค์กร
เพราะต้องยอมรับว่าแม้เราจะมีอคติส่วนตัวกับใคร แต่ทุกคนมีจุดแข็งและมีความคิดที่เป็นประโยชน์กับงานเสมอ ซึ่งเราสามารถที่จะนำมาช่วยให้ทีมและองค์กรเดินไปข้างหน้าได้เช่นกัน สิ่งที่ควรทำจึงเป็นการเห็นอกเห็นใจ ให้เกียรติทางความแตกต่างของความคิดเห็น และสะท้อนมุมมองของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา
ข้อ 4 อย่าทำร้ายเพียงเพราะไม่ชอบกัน
เมื่อเรามีคนที่ไม่ชอบ เรามักจะเกิดความคิดในด้านลบที่รอคอยวันที่ฝ่ายตรงข้ามจะพลาดแล้วได้รับบทเรียนที่แสนสาหัสในชีวิตการทำงาน แต่สิ่งเหล่านี้จะกลับมาทำให้เรากลายเป็นคนที่มีพลังงานลบตลอดเวลา และทำให้เราเป็นคนที่ไม่น่าทำงานด้วยไปโดยปริยาย ซึ่งควรหลีกเลี่ยงความคิดด้านลบให้ได้มากที่สุด
ข้อ 5 ลองสนทนาเชิงบวก
ลองพูดคุย เชื่อมต่อในเชิงบวกกับเพื่อนร่วมงานที่เราไม่ชอบ หรืออาจลองทำความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างซึ่งกันและกัน มองเข้าไปในความแตกต่างนั้น และหาจุดร่วมที่สามารถพูดคุยได้ แล้วเราจะพบว่าการตัดสินคนคนหนึ่งนั้นอาจจะเป็นข้อผิดพลาดของตัวเราเองด้วย
ข้อ 6 รู้จักการคิดเชิงกลยุทธ์
เพราะการทำงานให้สำเร็จ แท้จริงแล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราชอบหรือไม่ชอบใคร ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบอาจจะไม่ใช่ตัวแปรที่สำคัญกับการทำงาน แต่ความสามารถในการเชื่อมโยงคนทำงานให้เกิดการร่วมมือกันเป็นสิ่งที่จะพาเราให้ไปสู่ความสำเร็จได้ การเชื่อมต่อคนที่ไม่ชอบกันให้ทำงานด้วยกัน เป็นวิธีที่ผลักดันให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพในการทำงานได้
ดังนั้น แทนที่จะสนใจกับความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ ให้ลองกลับมาคิดในเชิงกลยุทธ์เพื่อนำจุดแข็งของตัวเองและทุกคนในทีมที่แม้จะมีความขัดแย้งกัน แต่ก็สามารถร่วมงานกันได้
ข้อ 7 เลือกที่จะสู้ในบางศึกเท่านั้น
เรามักจะเกิดความรู้สึกขัดใจหรือต้องการโต้ตอบกับทุกเรื่องที่เราไม่ชอบ แต่ความเป็นจริงแล้วมีเพียงบางเรื่องเท่านั้นที่คุ้มค่าต่อการสู้ สามารถนำข้อมูลจริงมาใช้เป็นข้อโต้แย้งได้อย่างสร้างสรรค์ บางเรื่องอาจจะไม่คุ้มต่อการสู้ และเหมาะกับการปล่อยผ่านมากกว่า
และท้ายที่สุด “เราไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นฝ่ายถูกเสมอ” เพราะความรู้สึกที่ต้องการเป็นฝ่ายถูกนั้นจะทำให้เราถูกอีโก้เล่นงาน ส่งผลให้เกิดอคติที่บังตาจนมองข้ามความจริงบางส่วนไปได้ แม้ว่าการเป็นฝ่ายที่ถูกจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเรา แต่ในบางโอกาส การแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) กลับเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้พิสูจน์ตัวเองกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ
ทั้งนี้ กุญแจสำคัญในการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) ก็คือการคิดในมุมมองของผู้อื่นให้มากขึ้นและมีความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่อีกฝ่ายคิดหรือทำมากกว่าการตัดสิน แม้ว่าเราจะถูกถามด้วยคำถามที่น่ารำคาญในระหว่างการประชุม แต่ในทางกลับกันพวกเขาอาจจะกำลังใส่ใจในสิ่งที่เรานำเสนออยู่ก็ได้ หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงานที่นินทาผู้อื่น อาจเกิดจากความไม่มั่นคงในจิตใจของตัวเอง เมื่อเรามองผู้อื่นด้วยความเห็นอกเห็นใจ เราจะสามารถรับรู้ได้ว่าทุกคนมีเรื่องของตัวเองและสมควรที่จะได้รับทั้งความอดทนอดกลั้นและความเข้าใจบ้าง ทั้งหมดนี้ก็จะทำให้เราสามารถทำงานในองค์กรอย่างราบรื่น เป็นมืออาชีพ และประสบความสำเร็จได้แม้จะต้องร่วมงานกับคนที่ไม่ชอบก็ตาม
ห้ามพลาด! กับงาน “Mission To The Moon Forum 2024 : Work-Life Survival Guide คู่มือเอาชีวิตรอดสำหรับคนสู้งาน” มาร่วมเติมพลังใจและเสริมทักษะเอาชีวิตรอดให้รอบด้าน ในโลกการทำงานยุคใหม่ไปด้วยกัน วันที่ 27 เมษายน 2567 เวลา 09.00-18.00 น. ณ Bitec Bangna Bhiraj Hall 2-3
📌สามารถซื้อบัตรได้แล้ววันนี้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/Mission-To-The-Moon-Forum-2024?ref=Fcm
#worklife
#การทำงาน
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast