ชีวิตของเรานั้นคือการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งเสมอ เหมือนดังที่ คาร์ล ยุง (Carl Jung) นักจิตบำบัดและจิตแพทย์ชาวสวิสชื่อดังกล่าวไว้ว่า ชีวิตคือการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของชีวิตเราจะขับเคลื่อนโดยอัตตา (Ego)
เราจะพยายามปรับตัวให้เข้ากับอาชีพการงาน สร้างชีวิตให้เข้ากับความคาดหวังของสังคม เราจะได้รับทักษะและได้เรียนรู้สิ่งที่จำเป็นในการใช้ชีวิต ผู้คนส่วนใหญ่เน้นที่การเดินตามเป้าหมายภายนอก แรงขับเคลื่อนในช่วงครึ่งแรกของชีวิตส่วนใหญ่มาจาก “แรงขับเคลื่อนภายนอก” เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงในการแสดงถึงความเป็นตัวตนของเรา
เมื่อเราเข้าสู่วัยกลางคน จุดเปลี่ยนตามธรรมชาติจะเกิดขึ้น นี่คือสาเหตุว่าทำไมหลายคนถึงมี Midlife Crisis หรือวิกฤตวัยกลางคน เพราะฉะนั้นแล้วช่วงครึ่งหลังจะต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
เวลาเปลี่ยนไป คนก็เปลี่ยนตาม
หากพูดถึงการเดินทางของชีวิต ในช่วงครึ่งแรกของชีวิตเราจะมีแรงจูงใจภายนอกเป็นตัวขับเคลื่อน กลับกัน ในช่วงครึ่งหลังของชีวิต คาร์ล ยุง บอกว่า จริงอยู่ว่าชีวิตเดินไปข้างหน้า แต่มันจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ละเอียดอ่อนแต่ชัดเจน เราจะเริ่มค้นหาตัวตนของเราทั้งหมด จะไม่เลือกสนใจแค่ภาพบางอย่าง
ในอดีตเราอาจจะเลือกชอบหรือไม่ชอบอะไรบางอย่างในตัวตนของเรา แต่พอถึงจุดหนึ่งของชีวิตเราจะพบว่าการที่เราจะเดินไปข้างหน้าและจะเปลี่ยนตัวเองไปในเวอร์ชันที่ดีขึ้นได้ สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำก็คือ “ต้องยอมรับตัวตนของเราทั้งหมด”
ในช่วงครึ่งหลังนี้ความหมายของการค้นหาจะมีความลึกซึ้ง ไม่ผิวเผินเหมือนตอนที่เรายังอายุน้อย รวมทั้งความครอบงำของอัตตาก็จะลดลง เราจะเข้าใกล้สิ่งที่เรียกว่า “ตัวตนที่แท้จริง” มากขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “ครึ่งแรกของชีวิตอุทิศให้กับการสร้างอัตตาที่เชื่อว่าดี ครึ่งหลังของชีวิตคือการเข้าใจและปล่อยวาง”
อย่างไรก็ดี ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงนี้หลายคนจะเริ่มเกิดคำถามขึ้นมาว่า “ตกลงเราเป็นใครกันแน่?” นอกเหนือจากบทบาทที่เราเล่น เช่น บทบาทของคนทำงาน บทบาทความเป็นพ่อ แม่ หรือลูก หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ “เราคือใคร?”
เริ่มค้นหาและยอมรับตัวตนของเราอย่างแท้จริง
สำหรับ คาร์ล ยุง การที่อายุเพิ่มขึ้นไม่ได้หมายถึงการเสื่อมถอย แต่หมายถึง “การเบ่งบาน” เปรียบเสมือนกับดอกไม้ที่กำลังออกดอก โดยในช่วงชีวิตนี้ผู้คนจะหันเข้าหาการพยายามค้นหาตัวตนของตัวเอง เพื่อพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่เวอร์ชันที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น อย่างไรก็ดี คาร์ล ยุง ตั้งข้อสังเกตว่า คนเราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ถ้าไม่ยอมรับ “ตัวตนทั้งหมด” ของตัวเอง
หากเราเปรียบชีวิตครึ่งแรกและครึ่งหลังเหมือนกับการปีนเขา สมมติว่าเราใช้เวลาหลายปีในการปีนเขาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงนั้นเรามีแรงผลักดันจากข้างนอก มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะไปถึงยอดเขา แต่ในวันนี้พอเรามายืนอยู่บนยอดเขาแล้ว ก็จะตระหนักได้ว่าความงามที่แท้จริงไม่ได้มีแค่วิวที่เรายืนมองอยู่ แต่มีความสวยงามระหว่างการเดินทางด้วย เราจะเริ่มชื่นชมทางที่ซ่อนอยู่ในหุบเขา เส้นทางที่ขลุกขลัก ดอกไม้ข้างทางที่เราเจอ ต้นไม้ที่มีรูปทรงแปลกๆ สัตว์บางชนิดที่เราเจอระหว่างทาง รวมถึงบทเรียนต่างๆ ที่เราได้
คาร์ล ยุง กล่าวว่า ในครึ่งแรกของชีวิตเราเน้นแรงขับเคลื่อนจากภายนอกและการสร้างอัตลักษณ์ ส่วนครึ่งหลังเราจะใช้ความพยายามอย่างมากในการยอมรับ “เงา” ของตัวเอง กล่าวคือด้านที่เราซ่อนไว้ ในครึ่งแรกเราพยายามซ่อนเงาเหล่านี้ไว้ อาจเป็นเพราะเราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่สังคมไม่ชอบ แต่ในช่วงครึ่งหลังของชีวิต เราไม่สามารถหนีเงาของตัวเองได้อีกต่อไป
คาร์ล ยุง ยังอธิบายต่ออีกว่า “การยอมรับตัวตนและด้านมืดของเรา” เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสมบูรณ์ โดยบางทีด้านมืดของเรากำหนดชีวิตเรามาตลอด เราอาจเรียกมันว่าโชคชะตา แต่เราไม่เคยทำความเข้าใจถึงสิ่งเหล่านี้จริงๆ เราหนีสิ่งที่ซ่อนไว้มาตลอด ดังนั้นหากเราเผชิญหน้ากับด้านมืดของตัวเองได้ เราก็จะค้นพบความสมบูรณ์ของจิตใจมากยิ่งขึ้น เพราะมันเป็นเหมือนการปลดล็อกความรู้สึกบางอย่างที่เราไม่สามารถปลดล็อกได้ในครึ่งแรก หลังจากนั้นเราก็จะเชื่อมโยงกับบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้น
ในความคิดของ คาร์ล ยุง แล้ว เขาเชื่อว่าช่วงครึ่งหลังของชีวิตเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ใหญ่มาก กล่าวคือเราจะเผชิญหน้ากับความจริงที่เราต้องตาย เราจะไตร่ตรองถึงธรรมชาติของชีวิตว่าเรามีข้อจำกัดนี้อยู่ ทำให้เราต้องประเมินสิ่งสำคัญใหม่อย่างแท้จริง เราจะมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและแสวงหาความหมายที่แท้จริงมากยิ่งขึ้น
โดยในครึ่งหลังของชีวิตสิ่งหนึ่งที่มนุษย์มักจะค้นพบก็คือเราจะนิยามความสำเร็จตามเงื่อนไขของเราเอง สิ่งที่เราเคยเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนเราจะเปลี่ยนไป เราจะหันมาเชื่อค่านิยมที่ลึกซึ้ง การเติบโตจากภายใน และการมีส่วนร่วมในบางสิ่งบางอย่างที่ใหญ่กว่าตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าจะนำมาซึ่งความพึงพอใจและการเติมเต็มที่ลึกซึ้งมากกว่า
ในท้ายที่สุดแล้ว อาจกล่าวได้ว่าวิสัยทัศน์ของเราจะชัดเจนก็ต่อเมื่อเราสามารถมองเข้าไป “ในใจ” ของเราเองได้เท่านั้น ไม่ใช่มองแค่สิ่งที่อยู่ภายนอก
ทุกช่วงชีวิตของเราไม่อาจหลีกหนีความทุกข์ได้พ้น
การค้นหาตัวเองในช่วงครึ่งหลังของชีวิต แน่นอนว่าหากเราเจอและโอบรับความเป็นตัวเองได้ เราจะมีความสุขมากกว่าเดิม แต่กว่าจะไปถึงขั้นนั้นได้เราจะไม่ได้เจอแต่ความสุข เพราะกระบวนการในช่วงครึ่งหลังของชีวิตเป็นกระบวนการที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวล ความสูญเสีย และความผิดหวังร่วมกัน การเปลี่ยนการโฟกัสเรื่องจิตวิญญาณ ซึ่งคือการเคลื่อนที่จากอัตตาไปสู่ความเป็นตัวตนของตัวเอง เป็นกระบวนการที่เต็มไปด้วยความกระวนกระวายใจ ความรู้สึกว่างเปล่าและไม่มั่นคง
เพราะสิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับมนุษย์คือ “การยอมรับตัวเองอย่างสมบูรณ์” เนื่องจากจะมีหลายสิ่งหลายอย่างตามมา ตั้งแต่ความปรารถนาที่ซ่อนอยู่ซึ่งยังไม่ได้รับการตอบสนองและความขัดแย้งที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งจะมาในรูปแบบของความเหนื่อยล้า ความหดหู่ ความทุกข์ หรือความวิตกกังวลที่มีไม่จบไม่สิ้น เหมือนเราไม่สามารถปล่อยวางได้ หรือเหมือนมีก้อนเมฆบางอย่างอยู่ในหัว แต่ทั้งหมดทั้งมวลจะนำมาซึ่งโอกาสในการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง
คาร์ล ยุง กล่าวว่า ไม่มีทางที่เราจะรู้สึกตัวได้อย่างแท้จริงหากปราศจากความเจ็บปวด การต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ก็รังแต่จะทำให้ความรู้สึกไม่สบายกายไม่สบายใจยาวนานขึ้นเท่านั้นเอง
ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือ “การโอบรับความไม่แน่นอน” และ “ตั้งเป้าใหม่” โดยเป้าครั้งนี้ไม่ใช่การค้นหาความยิ่งใหญ่ภายนอก แต่เป็นการ “ค้นหาตัวเอง”
พยายามหาเวลาไตร่ตรอง จดบันทึก ใช้เวลากับธรรมชาติ ทำสมาธิให้บ่อยขึ้น สำรวจอารมณ์ของตัวเองทุกวัน แสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตน ค่านิยม และแรงจูงใจของตัวเอง ทดสอบหรือทบทวนสมมติฐานในความเชื่อของตัวเองว่าสิ่งที่เราเชื่อมาตลอดยังเป็นจริงอยู่หรือไม่ ทบทวนความสัมพันธ์ของเรากับโลก รวมทั้งอนุญาตให้ตัวเองทิ้งตัวตนที่ล้าสมัยไปเสีย แล้วมาสร้างตัวตนใหม่ที่ดีขึ้นแทน
อย่าคิดว่าครึ่งหลังของชีวิตเป็นการถดถอย แต่เป็นการสั่งสมประสบการณ์ที่พร้อมจะสร้างตัวตนใหม่ที่เบ่งบานมากขึ้น มีเอกลักษณ์มากขึ้น พร้อมที่จะแบ่งปันภูมิปัญญาและเพลิดเพลินกับความรุ่มรวยที่มาพร้อมกับกาลเวลา เมื่อเรายอมรับตัวตนที่แท้จริงของเราทั้งหมด ในท้ายที่สุดแล้วเราจะพบกับโลกที่สดใสมากขึ้น
อ้างอิง
ตามหาตัวเราที่แท้จริง ในช่วงครึ่งหลังของชีวิต แบบฉบับ Carl Jung | Mission To The Moon EP.2070 – https://bit.ly/3Q7k6s5
#psychology
#carljung
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast