‘ผู้ชายลาบวชได้ ทำไมผู้หญิงจะลาเพราะปวดท้องประจำเดือนไม่ได้’
‘ถ้ามีวันลาประจำเดือน นายจ้างก็ไม่ต้องจ้างผู้หญิงแล้ว’
‘ถ้าจะลาเยอะมากขนาดนั้นก็ไม่ต้องทำงานแล้ว กลับไปเป็นแม่บ้านเถอะ’
หนึ่งในประเด็นถกเถียงร้อนๆ จากแพลตฟอร์ม X (เดิมชื่อ Twitter) ที่ใกล้ตัว “คนทำงาน” ทุกคนมากจนอดจะหยิบมาพูดคุยกับทุกคนไม่ได้ เพราะการถกเถียงเรื่องของสวัสดิการ “วันลา” นั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่ดำเนินต่อเนื่องมาโดยเกี่ยวข้องกับมิติทางสังคมมากมาย
ข้อถกเถียงประการแรกที่ทุกคนคงจะเคยได้ยินก็หนีไม่พ้น “วันลาหยุดตามกฎหมาย” ที่มีการตั้งคำถามว่ามันเพียงพอหรือไม่และสอดคล้องกับวัฒนธรรมการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า เนื่องจากกฎหมายแรงงานที่บังคับใช้ปัจจุบันยังเป็นจากเวอร์ชันพ.ศ. 2541 ผนวกกับฉบับแก้ไขเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ทว่าสภาพสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังโควิด-19 เกิดรูปแบบการทำงาน ข้อตกลงและสิ่งใหม่มากมาย เช่น การทำงานที่บ้าน การทำงานแบบยืดหยุ่น ก็สร้างช่องโหว่เรื่องการขาดลามาสาย การเบิกค่าทำงานล่วงเวลา (OT) และอื่นๆ อีกมากมาย
ผนวกกับเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 เนื่องในโอกาสของ ‘วันสตรีสากล’ ก็มีการเดินขบวนเสนอ 11 ข้อเรียกร้องเพื่อลดความไม่เท่าเทียมที่กดทับแรงงานสตรี ตั้งแต่การเรียกคืนคุณค่าให้ ‘งานบ้าน’ หยุดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในที่ทำงาน ไปจนถึงการเรียกร้อง “วันลาคลอด 180 วันของผู้หญิง และลาเพื่อช่วยเลี้ยงดูบุตร 30 วันของผู้ชาย” โดยต้องได้รับค่าจ้างตามจริง 100%
แน่นอนว่าทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมก่อให้เกิดแรงต้านเป็นเรื่องปกติ ข้อถกเถียงล่าสุดก็เช่นกัน โดยประเด็นดังกล่าวเกิดจากผู้ใช้รายหนึ่งแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายของคุณพุธิตา ชัยอนันต์ ส.ส.ประจำจังหวัดเชียงใหม่จากพรรคก้าวไกลว่าเป็น “สาเหตุให้ผู้หญิงตกงาน” เพราะเสนอโควตาวันลาเนื่องจากปวดท้องประจำเดือนเพิ่มจากวันลาป่วยเดือนละ 3 วัน
สังคมกังวล “วันลาของผู้หญิง” มากไปจนกระทบธุรกิจ
แพลตฟอร์ม X (เดิมชื่อ Twitter) กลายเป็นเวทีถกเถียงอีกครั้งเมื่อมีผู้มาออกความคิดเห็นตอบโต้ผู้ใช้ดังกล่าวมากมาย โดยความคิดเห็นแบ่งออกเป็นสองฝั่งใหญ่ๆ คือผู้สนับสนุนการเพิ่มวันลาปวดประจำเดือน และผู้ไม่สนับสนุนวันลาปวดประจำเดือน
สำหรับฝ่ายผู้ไม่สนับสนุนวันลาปวดประจำเดือนนั้นมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า วันลาหยุดของผู้หญิงนั้น “เยอะเกินไป” เช่น หากวันลาคลอด 180 วันตามข้อเรียกร้องล่าสุด ประกอบกับวันลาประจำเดือน 3 วันต่อเดือนเป็น 36 วันต่อปี พักร้อนอีก 10 วันและลากิจอีก 10 วัน รวมกับวันหยุดเสาร์อาทิตย์เท่ากับผู้หญิงจะมีวันลาหยุด 365 วันหรือ 1 ปีเต็ม
นอกจากนั้นยังมีข้อกังวลถึงกรณีการ “ป่วยการเมือง” หรือการอ้างว่าปวดท้องประจำเดือนทั้งๆ ที่ไม่ได้ปวดจริงเพื่อเอาเวลาไปทำอย่างอื่น ด้วยเหตุผลเหล่านี้นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าการเพิ่มวันลาปวดประจำเดือนอาจทำให้ “เสียระบบการทำงาน” และ “ไม่เป็นธรรมกับนายจ้าง” เป็นต้น
สังคมร้อง วันลาปัจจุบันไม่ตอบรับความแตกต่างหลากหลายของเพศสภาพ
สำหรับฝ่ายผู้สนับสนุนวันลาปวดประจำเดือนให้เหตุผลว่า ปัจจุบันมีองค์กรจำนวนมากที่ไม่อนุญาตให้มีการลาปวดประจำเดือน โดยไม่ให้นับเป็นการลาป่วยแต่นับเป็นวันลาพักร้อนหรือวันลาที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน (Leave without pay) ทั้งที่การปวดท้องประจำเดือนก็ไม่ต่างอะไรกับการเจ็บป่วยทางกายและในหลายคนอาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตด้วยเช่นกัน
และถึงแม้ว่าจะมีบริษัทที่ยอมให้ลาปวดท้องประจำเดือนโดยนับเป็นวันลาป่วย ก็จะทำให้โควตาวันลาป่วยจริงของพนักงานหญิงน้อยลงกว่าที่ควรได้รับจริง กล่าวคือวันลาป่วยประจำปี 30 วัน หากปวดท้องประจำเดือนไตรมาสละ 3 วันก็นับเป็นครึ่งหนึ่งของสิทธิ์ลาป่วยทั้งหมดแล้ว หากปีใดเกิดเหตุป่วยหนักกะทันหันก็อาจถูกปัดเป็นวันลาที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน (Leave without pay) จนเสียรายได้
กลับกันหากพิจารณาถือสิทธิ์ “ลาอุปสมบท” ของพนักงานชายที่กินเวลาตั้งแต่ 15-120 วันโดยรับเงินเดือนเต็ม ก่อให้เกิดคำถามว่าสวัสดิการที่ไม่ตอบโจทย์พนักงานชายที่ไม่มีแผนบวช ผู้นับถือศาสนาอื่นหรือเพศอื่นเช่นนี้เหตุใดจึงมีในบังคับกฎหมายได้ และเหตุใดสวัสดิการเพื่อรองรับสุขภาพของเพศอื่นๆ อย่างวันลาคลอด วันลาปวดประจำเดือน วันลาผ่าตัดแปลงเพศจึงกลายเป็นปัญหาทางธุรกิจ
นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็นอีกส่วนหนึ่งกล่าวว่า ปัญหา “ป่วยการเมือง” สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกตำแหน่ง ทุกประเภทองค์กร โดยไม่เกี่ยวว่าองค์กรนั้นจะมีสวัสดิการวันลาเป็นอย่างไร เนื่องจากสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงคือระบบขององค์กรที่ไม่ตอบโจทย์สุขภาพจิตและแรงจูงใจในการทำงานหรือรักษาผลปฏิบัติงานของพนักงานมากกว่า
กล่าวคือสวัสดิการวันลาที่เหมาะสมกับแต่ละความต้องการที่แตกต่างกันของกลุ่มคนในสังคมเป็นเป็นสิ่งที่จำเป็น นับเป็นการยอมรับความหลากหลายและผลักดันสังคมให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตบนความหลากหลายมากขึ้น การเรียกร้องวันลาปวดประจำเดือนจึงไม่ใช่เพื่อความสบายของเพศหญิงแต่เป็นกระบวนการหนึ่งในการยอมรับความแตกต่าง
กรณีถกเถียงครั้งนี้นำไปสู่การตั้งคำถามว่าการศึกษาในประเทศไทยมีการสอนเรื่องสุขภาพของเพศหญิงน้อยกว่าจำเป็นจนนำไปสู่การไม่เข้าใจหรือไม่ เนื่องจากวัฒนธรรมไทยสมัยก่อนการพูดถึง “ประจำเดือน” เรียกได้ว่าแทบจะเป็น “คำต้องห้าม” (Taboo) ที่ไม่เหมาะสมในการยกมาพูดถึง ถกเถียง สอนหรือสนทนา ทั้งที่ควรเป็นบทเรียนที่สอนควบคู่ไปกับการมีเพศสัมพันธ์แบบป้องกันและปลอดภัย (Safe Sex) และความยินยอม (Consent) นั่นเอง
เมืองนอกทำได้ ทำไมเมืองไทยทำไม่ได้?
กรณีถกเถียงดังกล่าวยังทำให้เกิดคำถามต่อระบบการทำงานของไทยที่มีการจัดการที่ไม่ยืดหยุ่นจนทำให้ “วันลา” และ “สวัสดิการ” ต่างๆ เป็นปัญหาที่กระทบกับการดำเนินงานด้วย เนื่องจากในต่างประเทศมากมายก็มีวันลาปวดประจำเดือนเช่นเดียวกันเช่น
[ ] ไต้หวันมีการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ปี 2013 ให้พนักงานหญิงสามารถลาด้วยประจำเดือนได้ 3 วันต่อปีแบบรับเงินเดือนปกติ
[ ] ประเทศฟิลิปปินส์บังคับใช้กฎหมายเมื่อปี 2019 ให้พนักงานหญิงสามารถลาด้วยประจำเดือน 2 วันต่อเดือนแบบรับเงินเดือนเช่นกัน
[ ] สเปนได้มีกฎให้พนักงานหญิงสามารถลาด้วยประจำเดือนได้ไม่มีกำหนดและรับเงินเดือนปกติ โดยมีใบรับรองแพทย์กำกับ
ยิ่งไปกว่านั้นวัฒนธรรม “Emotional Paycheck” ที่ทำให้ค่าแรงไม่ใช่ค่าตอบแทนเดียวที่ดึงดูดพนักงานเก่งๆ แต่เป็นสวัสดิการและวัฒนธรรมองค์กรไร้พิษ (Untoxic Work Environment & Culture) ที่ตอบโจทย์ทำให้องค์กรที่มีสายป่านถึงจำนวนมากจึงแข่งกันออกสวัสดิการ จนสร้างความคาดหวังและมาตรฐานใหม่ในการหางานและจ้างงาน
ทว่าองค์กรขนาดเล็กและองค์กรที่ยังอยู่ในช่วงการสร้างเนื้อสร้างตัวจนสายป่านไม่ถึงล่ะ? กลายเป็นตัวร้ายในสังคมที่เป็นผู้เอาเปรียบพนักงานเช่นนั้นหรือ? เนื่องจากค่าแรงและค่าต้นทุนในประเทศไทยนั้นแตกต่างจากธุรกิจต่างประเทศ รวมไปถึงวัฒนธรรมการทำงาน แรงจูงใจ เงื่อนไขชีวิตพนักงานและทักษะที่แตกต่างกันทำให้องค์กรต้องแบกรับความเสี่ยงมากมาย
สุดท้ายก็เกิดเป็น “ภาระ” ที่องค์กรต้องรับเพิ่มขึ้นโดยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการช่วยเหลือหรือสนับสนุนองค์กรให้สามารถตอบรับความคาดหวังของพนักงานโดยที่ยังดำเนินธุรกิจได้โดยสายป่านไม่ขาดเสียก่อน จนกลายเป็นคำถามว่าองค์กรจะต้องรับจบและแบกรับการเปลี่ยนแปลงนี้แต่เพียงผู้เดียวอย่างนั้นหรือ?
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนั้นกระทบกับทุกฝ่าย คงจะดีไม่น้อยหากองค์กรปรับมุมมองต่อพนักงานและหันมาสนใจพวกเขาในฐานะ “คน” มากกว่า “ต้นทุน” คงจะดีไม่น้อยหากสังคมเข้าใจความแตกต่างของแต่ละเพศ เพราะฉะนั้นการขยับและปรับเปลี่ยนคนละเล็กน้อยเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนอาจเป็นหนทางที่ยุติธรรมสำหรับทุกฝ่ายหรือไม่?
ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่าประเด็นถกเถียงเรื่องสวัสดิการคนทำงานไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและก็คงไม่ใช่สุดท้าย เพราะสังคมยังคงเดินหน้าเปลี่ยนแปลงต่อไป เป็นที่น่าติดตามว่าการถกเถียงทั้งหลายเหล่านี้จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างไรและเมื่อใด หรือจะเปลี่ยนแปลงจริงๆ หรือไม่ ทุกคนคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นเหล่านี้ มาแชร์กันได้ในคอมเมนต์เลย
ที่มา
– เช็ก 11 ข้อเรียกร้อง “วันสตรีสากล” ลาคลอด180 วัน-ขอหยุด 8 มี.ค.: Thai PBS – https://bit.ly/4b5slNL
– พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา – https://bit.ly/4beRohu
– What is menstrual leave, and which countries in the world have it?: Mushfika Anjum, Niki Oveisi, Free Period Canada – https://bit.ly/3UBAanf
#trend
#organizationalculture
#menstrualleave
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast