ว่ากันว่า ‘สี’ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความหมายและความรู้สึกบางอย่าง ซึ่งมีทั้งความหมายที่รู้กันเป็นสากล และความหมายที่รู้กันเฉพาะกลุ่ม เช่น สีดำแทนการสิ้นสุด และความสูญเสีย สีขาวอาจหมายถึงแสงสว่าง ความบริสุทธิ์ หรือในบางวัฒนธรรมก็มองว่าสีขาวแสดงถึงการเริ่มต้นใหม่ได้ด้วย สีชมพูมักจะทำให้นึกถึงความอ่อนโยน และความอ่อนหวาน หรือความเป็นผู้หญิงได้เช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ สีซึ่งมีเฉดที่แตกต่างกันไปตามค่าความเข้มและความอิ่มตัวมากมายนับไม่ถ้วน จึงถูกใช้ในทุกๆ อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น การตกแต่งอาคาร หรือการตกแต่งพื้นที่ภายในรอบตัวของพวกเราทุกคนด้วย และนอกจากสีจะกลายเป็นเครื่องมือที่แสดงความชื่นชอบ รสนิยม แล้ว มันยังเป็นสิ่งที่สะท้อน ‘จิตวิทยา’ บางอย่างที่ซ่อนอยู่เช่นกัน
การใช้สีต่างๆ ในการตกแต่งสถานที่นั้นอาจไม่เพียงแต่บ่งบอกรสนิยมและความชอบอย่างเดียวเท่านั้น แต่สียังมีผลกระทบทางจิตวิทยาที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกนึกคิด และการรับรู้ของผู้คนอีกด้วย
มาดูกันว่าจิตวิทยาเบื้องหลัง ‘ทฤษฎีสี’ จะมีเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจบ้าง?
จิตวิทยาของสีทั้งสี่…แดง น้ำเงิน เหลือง เขียว
สีสามารถส่งผลกระทบด้านต่างๆ ให้กับผู้พบเห็น ทั้งด้านกายภาพ ด้านความคิด และด้านอารมณ์ โดยหากเราสามารถเข้าใจองค์ประกอบของสี รวมถึงใช้ประโยชน์จากการผสมผสานสีต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันได้เป็นอย่างดี เราก็จะสามารถสร้างขุมพลังให้กับชีวิตของเราได้
โดยแองเจลา ไรต์ (Angela Wright) ผู้เชี่ยวชาญด้านสีและจิตวิทยา อีกทั้งเป็นเจ้าของผลงานหนังสือ The Beginner’s Guide to Colour Psychology กล่าวว่ามีอยู่ 4 สีหลักๆ ที่ส่งผลทางจิตวิทยาต่อผู้คนมากที่สุด ได้แก่
[ ] สีแดง
สีแดงเป็นสีที่กระตุ้นการตอบสนองทางร่างกายได้มากที่สุดในบรรดาสีทั้ง 4 สี เนื่องจากเป็นสีที่กระตุ้นการเต้นของหัวใจ ช่วยเพิ่มชีพจร และเป็นสีกระตุ้นให้โหมด ‘สู้หรือหนี’ (Fight or Flight Mode) ทำงานด้วย
[ ] สีน้ำเงิน
สีน้ำเงินเป็นสีที่มีผลทางด้านความคิดและสติปัญญามากที่สุด นอกจากนี้ยังกระตุ้นความตื่นตัวของร่างกาย ช่วยสร้างสมาธิและเสริมพลังของการโฟกัสของสมองให้ดีขึ้นได้ด้วย
[ ] สีเหลือง
สีเหลืองเป็นสีที่มีผลทางจิตวิทยาสูงที่สุด เพราะส่งผลกระทบด้านอารมณ์สูงกว่าสีอื่นๆ เป็นสีที่ช่วยเติมพลังและความคิดเชิงบวก รวมถึงช่วยเพิ่มความมั่นใจ นอกจากนี้สีเหลืองยังช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และปรับอารมณ์ของผู้พบเห็นให้พร้อมต่อการสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
[ ] สีเขียว
สีเขียวเป็นสีแห่งความสมดุล แม้ว่าจะไม่ได้มีผลด้านใดด้านหนึ่งโดดเด่นมากนัก แต่สีเขียวสามารถเพิ่มความกลมกลืนให้กับทุกสีได้ นอกจากนี้ยังเป็นสีที่พบเห็นได้มากในธรรมชาติ และดึงเราออกจากความเหนื่อยล้าในวันที่งานเดือดได้เป็นอย่างดี
เปลี่ยนพื้นที่ทำงานของเราให้มีสีสันที่สดใส และเปี่ยมไปด้วยพลังชีวิต
ด้วยอำนาจทางจิตวิทยาที่หลากหลายของสี ทำให้เกิดอิทธิพลต่อวงการการออกแบบและตกแต่งภายในอาคารสถานที่อย่างมาก มาดูกันว่าสีแต่ละสีเหมาะกับการออกแบบพื้นที่สำหรับงานและอาชีพลักษณะไหนกันบ้าง?
[ ] สีแดง เหมาะกับกิจกรรมที่ต้องใช้แรงกาย
เนื่องจากสีแดงเป็นสีที่ส่งผลกับการตอบสนองทางร่างกายมากที่สุด เมื่อเทียบกับอีก 3 สีที่เหลือ ทำให้สีแดงกลายเป็นสีที่เพิ่ม Productivity ทางร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงมักพบเห็นสีแดงเป็นส่วนประกอบหลักในพื้นที่ที่ต้องใช้แรงกาย หรือร่างกายอย่างหนัก เช่น ฟิตเนส หรือเป็นสีหลักของแบรนด์แฟชั่นสำหรับลุคที่คล่องแคล่ว
[ ] สีน้ำเงิน เหมาะกับงานที่ต้องใช้สมาธิและการโฟกัส
สีน้ำเงินเป็นอีกสีหนึ่งที่ขึ้นชื่อด้านสีขององค์ความรู้และภูมิปัญญา และเป็นสีที่ออฟฟิศทำงานให้ความนิยมอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มสมาธิและพลังการโฟกัส ทำให้พนักงานสามารถจัดการงานและโปรเจกต์ในแต่ละวันให้เสร็จสิ้นได้แล้ว สีน้ำเงินยังช่วยส่งเสริมการสื่อสารที่ตรงประเด็นและไม่หลุดโฟกัส ซึ่งเหมาะกับการประชุมเรื่องสำคัญในองค์กรด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามถ้ารู้สึกว่าสีน้ำเงินมันมีสัดส่วนที่มากเกินไป ก็สามารถเติมไอเทมสีส้มเข้ามาเพื่อให้ตัดกัน และเพิ่มแรงบันดาลใจได้
[ ] สีเหลือง เหมาะกับงานที่ต้องใช้ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์
สีเหลืองเป็นสีที่เติมพลังบวก และความมั่นใจให้กับผู้คน นอกจากนี้ยังเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคนทำงานที่ต้องการไอเดีย หรือกำลังอยู่ในช่วงระดมความคิดสำหรับการรังสรรค์ผลงานใหม่ๆ เนื่องจากเป็นสีที่กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เหมาะกับนักคิด นักประดิษฐ์ นักธุรกิจและสายครีเอทีฟที่กำลังคิดงานไม่ออกมากทีเดียว
[ ] สีเขียว เหมาะกับกิจกรรมที่ผ่อนคลาย หรืองานที่ต้องอยู่กับการเยียวยา กับงานที่เกี่ยวกับธรรมชาติ
เนื่องจากสีเขียวเป็นสีหลักของธรรมชาติ ดังนั้นจึงเป็นสีที่เหมาะกับงานที่ต้องการความผ่อนคลาย เช่น ร้านค้า ร้านดอกไม้และต้นไม้ ร้านขายงานคราฟต์และงานฝีมือ หรือคลาสเรียนโยคะ นอกจากนี้การใช้สีเขียวตกแต่งพื้นที่ยังทำให้เราสามารถทำสมาธิได้อย่างสงบ และมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้น ประสิทธิภาพของสีในการสร้างบรรยากาศ หรือกระตุ้นการทำงานของเรานั้นยังขึ้นอยู่กับความเข้ม และความอิ่มตัวของแต่ละสี รวมถึงความชื่นชอบและรสนิยมของเจ้าของพื้นที่ด้วย โดยประการแรกเราอาจจะเริ่มจากเฉด โทน หรือระดับความสว่างของสีที่ส่งผลกับร่างกาย ความคิด หรือจิตใจของเราก่อน อย่างไรก็ตาม สีที่ได้นั้นขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของแต่ละคน ดังนั้นสีที่ส่งผลกับเรามากๆ อาจจะไม่ได้ส่งผลกับคนอื่นมากนัก
ยิ่งไปกว่านั้น การปรับปรุงทัศนียภาพในพื้นที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะทำงาน ออฟฟิศ หรือการตกแต่งภายในองค์กรด้วยการใช้สีสันยังเป็นวิธีขจัดความรู้สึกจำเจ เบื่องาน และความเหนื่อยล้าให้แก่พนักงานได้อย่างดีอีกด้วย
ดังนั้น นอกจากสวัสดิการ และความเป็นอยู่ของพนักงานแล้ว หากองค์กรสามารถสร้างทัศนียภาพ รวมถึงเลือกใช้สีสันตกแต่งภายในที่ตอบโจทย์กับงานแต่ละฝ่าย และพื้นที่ทำงานของแต่ละทีมได้ ก็จะช่วยเพิ่ม Productivity ในการผลิตงาน และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพนักงานทั้งด้านร่างกาย ความคิด และอารมณ์ได้เช่นกัน
อ้างอิง
– 4 Colors That Give You an Unexpected Productivity Boost : Harriet Genever, Redbooth – https://bit.ly/3yeccHq
– Loft Living – A Trend Worth Pursuing in 2024? : OKNOPLAST – https://bit.ly/3wh9AIb
#colorpsychology
#worklife
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast