NEWSTrendsงานหนักไม่เอา งานเบาไม่สนุก! ผลสำรวจชี้ Gen Z เผชิญภาวะ ‘Boreout’ เบื่องานง่ายๆ ที่ไม่ท้าทายชีวิต

งานหนักไม่เอา งานเบาไม่สนุก! ผลสำรวจชี้ Gen Z เผชิญภาวะ ‘Boreout’ เบื่องานง่ายๆ ที่ไม่ท้าทายชีวิต

คุณเคยอยากลาออกเพราะ ‘งานเบาๆ’ บ้างไหม?

บางครั้งเราก็ต้องเจอกับช่วงที่ชีวิตอยู่เหนือการควบคุม หรือรู้สึกว่าการจัดการสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน โดยเฉพาะเรื่องงานนั้นยากเย็นแสนเข็ญ จนรู้สึกเหนื่อย หมดหวัง ท้อแท้และอยากยื่นใบลาออกให้รู้แล้วรู้รอดกันไปเลย แล้วค่อยหวังน้ำบ่อหน้าด้วยการออกไปหางานอื่นที่ง่ายต่อการใช้ชีวิตมากกว่าเดิมทำ

แต่การหนีมรสุมเรื่องงานยาก ไปตามหางานง่ายอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Gen Z ที่เรียกได้ว่าเป็นน้องใหม่ของโลกการทำงานในตอนนี้กำลังเผชิญกับสภาวะ Boreout หรือสภาวะเบื่องานเพราะ ‘ง่ายเกินไปและไม่ท้าทาย’ จนเกิดเป็นกระแสแฮชแท็ก Boredatwork ซึ่งมียอดเข้าชมสูงกว่า 470 ล้านครั้งบน TikTok ตามการรายงานในเว็บไซต์ Business Insider ซึ่งเป็นสื่อสำหรับโลกธุรกิจ

อะไรทำให้คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเคยทำงาน และมีประสบการณ์การทำงานน้อยมากอย่าง Gen Z เบื่อหน่ายกับงานแรกๆ ในชีวิตได้ถึงเพียงนี้?

ในปัจจุบันนี้ ความสุขและงานที่หลากหลายทำให้คนทำงานมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น และสามารถออกแบบเส้นทางอาชีพที่ใช่สำหรับตัวเองได้อย่างแท้จริง ทำให้คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เลือกงานที่ทำน้อย เครียดน้อย แต่ได้รับค่าตอบแทนในระดับที่พอรับได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม คนทำงานหลายคนก็วิ่งหนีออกจากงาน หรือองค์กรที่กดดัน และมีภาระงานหนักเกินไป เพื่อไปหางานที่สบายกว่าแทน โดยไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับภาวะ Boreout ในภายหลัง

แอนดรูว์ บรอดสกี (Andrew Brodsky) ศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการ มหาวิทยาลัยเท็กซัสกล่าวกับเว็บไซต์ Business Insider ว่าภาวะ Boreout เกิดจากการที่ชีวิตขาดแรงกระตุ้น หรือการได้รับแรงกระตุ้นเพียงน้อยนิดจากการทำงาน ซึ่งทำให้คนรู้สึกเบื่อหน่าย เกิดความรู้สึกด้านลบ และหมดไฟในการทำงานได้

ยิ่งไปกว่านั้นรูธ สต็อค (Ruth Stock) ศาสตราจารย์และประธานแผนกการตลาดและการจัดการทรัพยากรมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยในดาร์มสตัดท์ ประเทศเยอรมนียังกล่าวอีกด้วยว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นผลมาจากความรู้สึกถูกละเลยของพนักงานในองค์กร และเป็นปรากฏการณ์ตรงข้ามกับภาวะ Burnout ที่เราคุ้นเคยกันอย่างสิ้นเชิง

ตามความเข้าใจของคนทั่วไป ภาวะ Burnout เกิดจากภาระงานที่มากเกินไป หรืองานที่ยากเกินไป ซึ่งถ้าพูดในแง่ของปริมาณและคุณภาพชิ้นงาน ภาวะ Burnout สร้างชิ้นงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ในขณะที่ภาวะ Boreout เกิดจากงานที่ไม่มีแรงกระตุ้น อาจเป็นงานที่พนักงานรู้สึกจำเจ รู้สึกว่าไม่ใช่งานที่ยากจนต้องทุ่มเทความสามารถและแรงกายแรงใจ หรือใช้ทักษะสูงอะไรมากมาย ทำให้งานที่ได้อาจเป็นงานที่ไม่มีคุณภาพมากพอ

สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรุ่นใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ 18-25 ปี ผู้ซึ่งระบุว่า ‘งานที่มีความหมาย’ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างแรงบันดาลใจมากที่สุดในการวางแผนเส้นทางอาชีพ ตามรายงานของ Handshake ในปี 2022 ถึงอย่างไรก็ตาม ทั้งองค์กรและคนทำงานเองก็ปฏิเสธที่จะยอมรับ หรือแสดงความรู้สึกเบื่อหน่าย และความรู้สึกถูกละเลยของตัวเอง ทำให้ต้องทนทำงานที่ไม่ได้ให้ความหมายกับชีวิตจนกลายเป็นภาวะ Boreout ไปในที่สุด

ความรู้สึกเบื่องานมักจะคืบคลานเข้ามาอย่างเงียบเชียบเสมอ มันไม่ได้มาพร้อมกับความเหนื่อยล้าทางกายหรือทางใจที่เห็นได้อย่างชัดเจนเท่ากับภาวะ Burnout และมักจะมาพร้อมกับความรู้สึกที่ว่า ‘พลังกาย ใจ และความคิดที่เราลงแรงไปกับงานนั้นทั้งสูญเปล่าและไร้ค่า’ หรือเป็นงานที่ไม่ได้สอดคล้องกับทักษะของเราสักเท่าไร

ภาวะ Boreout ส่งผลกระทบกับคนทำงานมากกว่าที่คิด เนื่องจากการทำงานนั้นเป็นทักษะที่ต้องอาศัยการฝึกฝน การทำซ้ำๆ และการสั่งสมประสบการณ์ถึงจะมีความเชี่ยวชาญในขอบเขตงานของตัวเอง แต่ถ้าเราต้องเจอกับงานที่น่าเบื่อ หรืองานที่ไม่ได้ช่วยให้เราได้เรียนรู้ และพัฒนาฝีมือเลย เราก็อาจจะขาดโอกาสที่จะได้เจอแบบฝึกหัดยากๆ ที่ทำให้ท้าทายตัวเองได้

สต็อคยังกล่าวอีกด้วยว่าคนที่มีทักษะสูง หรือมีความกระตือรือร้นที่อยากจะพัฒนาทักษะการทำงานของตัวเองก็มักจะประสบกับภาวะนี้ได้บ่อยเช่นเดียวกัน เพราะพวกเขามีแรงกระตุ้นในการทำงานสูงมาก ต้องการงานยากที่ท้าทายให้คนเหล่านี้ได้พิสูจน์ความสามารถของตัวเอง แต่กลับเจองานที่แทบจะไม่ต้องพยายามอะไรเลยเสียอย่างนั้น

นอกจากทักษะและความสามารถที่เราเคยมีจะค่อยๆ ลดลงเหมือนมีดทู่ๆ และมีสนิมเกาะแล้ว ยังทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงความสามารถในการจัดการและรับมือกับปัญหาน้อยลงอีกด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น เราอาจจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่าขีดความสามารถของเราลดน้อยลงไปขนาดนี้ตั้งแต่เมื่อไร และการจะกู้คืนความสามารถเดิมที่เคยมี รวมถึงเรียนรู้ทักษะใหม่ที่จำเป็นก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่ใครๆ คิด

แล้วเราจะแก้ไขอย่างไร เมื่อต้องเผชิญกับภาวะ Boreout?

Advertisements
Advertisements

งานที่น่าเบื่ออาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น งานรูปแบบเดิมๆ หรือทำแบบเดิมๆ ทุกวัน งานที่สามารถทำลวกๆ ก็เสร็จได้ทันที งานที่ไม่มีการประเมิน การวัดผลหรือฟีดแบ็ก หรืออาจจะเป็นงานจุกจิกที่ไม่ได้จำเป็นกับความสำเร็จในภาพรวม แต่ต้องทำตามกระบวนการที่องค์กรทำมาตลอด

งานพวกนี้เป็นชนวนสำคัญของใจที่เบื่องาน แต่เราก็ยังป้องกันภาวะ Boreout ได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

[ ] เปลี่ยนจากงานเรียบๆ ให้เป็นงานที่ตรงกับจุดแข็งของเรา

โดยใช้ความสามารถ หรือทักษะที่เราชำนาญเป็นพิเศษไปกับงานชิ้นนั้น เช่น พนักงานแอดมินที่มีมุกตลก สามารถสร้างระบบตอบกลับแบบอัตโนมัติที่ใช้ภาษาแบบเป็นกันเอง ดูเป็นมนุษย์ และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้ามากขึ้นได้

[ ] เปลี่ยนจากงานธรรมดาให้มี ‘ลูกเล่น’ มากขึ้น

เมื่อเรารู้สึกจำเจและ ‘หมดมุก’ กับงานที่ทำ อาจจะเปลี่ยนงานของเราให้มีอะไรใหม่ๆ โดยการมองหาลูกเล่นใหม่ๆ ที่เราไม่เคยทำมาก่อนใส่ลงไปในงานชิ้นนั้นได้ อย่างไรก็ตาม พนักงานอาจจะต้องมองหาลูกเล่นที่เข้ากับแบรนด์ หรือภาพลักษณ์ขององค์กร เพราะถ้าความแปลกใหม่นั้นขัดแย้งกับคุณค่าที่องค์กรพยายามยึดถือมาตลอด ก็อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าได้

[ ] เปลี่ยนจากงานของลูกค้า ให้เป็น ‘คุณค่าขององค์กร’ ที่ส่งตรงถึงมือลูกค้า

กฎเกณฑ์ที่เข้มงวด รวมถึงการทำงานตามบรีฟของลูกค้าโดยที่พนักงานไม่มีอิสระในการตัดสินใจเลยอาจทำให้พนักงานรู้สึกถูกละเลย และไม่ได้รับการยอมรับได้ ดังนั้น ลองเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีอิสระในการออกแบบ และใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปกับผลงานชิ้นนั้นให้มากที่สุด และตรงตามใจตามโจทย์ที่ลูกค้าตั้งไว้ วิธีนี้ก็อาจจะทำให้พนักงานรู้สึกว่าเป็นความท้าทาย และอยากลองทำให้เต็มที่ที่สุด

เชื่อว่าหลายองค์กรในปัจจุบันมีแบบแผนและระบบการทำงานที่ดำเนินการมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นวิธีการที่ตอบโจทย์กับเนื้องาน และลูกค้าขององค์กรอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม แบบแผน ระบบการทำงาน รวมถึงโครงสร้างต่างๆ ในบริษัทอาจจะยังไม่ตอบโจทย์พนักงาน ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญขององค์กร

ดังนั้น องค์กรจึงไม่ควรยึดติดกับระบบและวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมๆ เสมอไป และจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรควรจะมองหาแนวทางใหม่ๆ ในการปรับตัว รวมทั้งหาวิธีสร้างความท้าทาย เพื่อไม่ให้พนักงานรู้สึกเบื่อหน่ายกับงานเดิมๆ จน Boreout ขึ้นมาได้ ไม่แน่ว่าวิธีนี้อาจจะทำให้องค์กรสามารถพัฒนาศักยภาพของพนักงานได้อย่างสูงสุดด้วยก็ได้

อ้างอิง
– ‘Boreout’ is the opposite of burnout – but can be just as harmful for workers :
Sawdah Bhaimiya and Kai Xiang Teo, Business Insider – https://bit.ly/3xWHamU
– Boreout Syndrome: What it is, causes & how to avoid it : Guille Santana, QuestionPro – https://bit.ly/3JtWeer

#boreout
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า