ห้วงมิติแห่งการบริหารเวลา

2319
มิติแห่งการบริหารเวลา
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • คนที่ประสบความสำเร็จหลายคนมีแนวคิดในการบริหารจัดการเวลาที่คล้ายๆกัน คือ
  • พวกเขารู้ว่าทุกคนมีไพร์มไทม์ และพวกเขาจะใช้เวลาเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
  • พวกเขาดูแลร่างกายอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นออกกำลังกายหรือพักผ่อนให้เพียงพอ
  • พวกเขาโฟกัสและทำงานเป็นเรื่องๆไปเพื่อให้ได้งานออกมาสมบูรณ์แบบมากที่สุด
  • พวกเขาใช้เวลาในเรื่องที่ถนัดที่สุด ส่วนเรื่องที่ไม่ถนัดก็จะให้คนอื่นทำแทน
  • พวกเขาไม่ปล่อยเศษเวลาให้หายไป และให้ค่ากับเวลามากกว่าเงินทอง

ออกตัวไว้ก่อนเลยว่า ท่านที่ติดตามงานเขียนของผมมาก่อนหน้านี้จะทราบว่า ผมเคยเขียนเรื่องของการบริหารเวลามาหลายครั้งแล้ว ซึ่งสาระสำคัญในแต่ละครั้งไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่ครั้งนี้คุณเคน บรรณาธิการบริหาร ของ THE STANDARD อยากให้ผมเขียนเรื่องการบริหารเวลา ผมเลยอยากเขียนแบบ ไม่เอาเท่ห์ ไม่เอาหล่อ แต่เอาข้อดีต่างๆ ของเรื่องการบริหารเวลา มาเล่าให้ฟังจริงๆ

เราเอาความจริงมาพูดกันกันเลยว่าของที่มีค่าที่สุดอย่างเวลาเนี่ย เอาจริงๆ คนที่ประสบความสำเร็จเขาบริหารกันได้แค่ไหน แล้วถ้าเราบริหารเวลาได้ห่วยแตกเราจะประสบความสำเร็จหรือมีความสุขในชีวิตได้ไหม

บทความนี้จึงแตกต่างจากบทความเรื่องการบริหารเวลาที่ผมเคยเขียนมา ที่ว่ากันด้วยเรื่องทฤษฏีล้วนๆ แต่ครั้งนี้ผมได้ลงพื้นที่หรือโทรศัพท์พูดคุยเพื่อสำรวจความคิดเห็นของคน 4 คนที่ผมคิดว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ ถามว่ามิติของเวลาที่เรามีคนละ 24 ชั่วโมงเนี่ย เขาบริหารกันยังไง อะไรคือสิ่งที่ทำให้พวกเขาขึ้นมายืนเหนือคนอื่นๆได้ เพื่ออรรถรสในการเขียนผมขออนุญาตใช้นามสมมติของทุกคนนะครับ จะได้ไม่เคอะเขินกัน

Advertisements

อะไรคือข้อคิดข้อสรุปที่เราพอจะเอามาใช้งานได้บ้าง
และนี่คือสิ่งที่ผมได้จากการคุยกับคนเหล่านี้ครับ

มหาเศรษฐีเจ้าของโรงแรมหลายสาขาทั่วไทย และเป็นคุณแม่ลูกสอง

คนแรกชื่อ พี่ก้อย มหาเศรษฐีเจ้าของกิจการโรงแรมหลายสาขาทั่วไทย คุณแม่ลูกสอง เป็นผู้หญิงที่อายุสี่สิบปลายแต่ดูเหมือนอายุสามสิบกลางๆ เมื่อถามถึงเรื่องการบริหารเวลา พี่ก้อยตอบผมกลับมาก่อนเลยกว่า ก่อนจะพูดเรื่องบริหารเวลาต้องเข้าใจก่อนเลยนะว่าเวลามันมีสองอย่างคือ เวลาตามนาฬิกา กับ เวลาจริง

ฟังแค่นี้ก็งงแล้ว พี่ก้อยอธิบายแบบนี้ครับ เวลาตามนาฬิกาคือ หนึ่งปีมี 365 วัน หนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง หนึ่งชั่วโมงมี 60 นาที

เวลาจริงคือ เวลาที่เรารู้สึกซึ่งเป็นการเปรียบเทียบ เช่นเวลาอ่านหนังสือสอบ หนึ่งชั่วเหมือนครึ่งวัน เวลาสังสรรค์กับเพื่อน ครึ่งวันเหมือนหนึ่งชั่วโมง หรืออย่างตอนที่ลูกพี่ก้อยเป็นเด็กๆ ปีหนึ่งผ่านเป็นเร็วเหมือนหนึ่งเดือน เป็นต้น

ข่าวดีคือเราอยู่โลกของเวลาจริงไม่ใช่โลกของเวลาตามนาฬิกา นี่คือสาเหตุที่ทำให้ 24 ชั่วโมงของแต่ละคนไม่เท่ากัน เพราะเวลาจริงคือเวลาสัมพัทธ์ เราต่างคนต่างสร้างมันขึ้นมาเอง อะไรที่เราสร้างขึ้นมาเองเราจึงเป็นคนบริหารเอง

คนที่มีเวลาไม่พอจึงไม่มีใครให้โทษนอกจากตัวเอง เพราะเขาคือคนที่บริหารเวลาห่วยเองผมฟังถึงตรงนี้ ต้องบอกว่านี่คือคำอธิบายที่ผมฟังแล้วเข้าใจที่สุดเรื่องที่ชอบมีคนพูดว่า 24 ชั่วโมงของแต่ละคนไม่เท่ากัน

พี่ก้อยบอกว่าทุกวันพี่จะตื่นตีห้ามาออกกำลังกาย ทุกวันไม่เคยขาด เสร็จแล้วจะมาเตรียมอาหารให้สามีและลูก จริงๆ คนงานที่บ้านก็มีแต่พี่ก้อยถือว่านี่คือหน้าที่แม่และภรรยาที่ดี เสร็จแล้วพี่ก้อยจะอ่านรายงานสรุปเรื่องของโรงแรมและข่าวที่น่าสนใจที่ลูกน้องส่งมาทิ้งไว้ตอนกลางคืนประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นเดินทางไปออฟฟิศและเริ่มทำงานประมาณ 10 โมง ระหว่างนี้จะยังไม่เปิดคอมพิวเตอร์แต่จะใช้เวลาช่วงเช้าในการพูดคุยสั่งการกับทีมงาน

ราวเที่ยงครึ่งเธอจะไปทานข้าว พี่ก้อยจะไม่ทานข้าวที่โต๊ะทำงานเพราะเธอบอกว่านั่นแสดงว่าเราแบ่งเวลาไม่เป็น เวลากินก็ต้องกินให้ดีๆ ตกบ่ายเธอจะกลับมาประชุมและเช็คอีเมลล์ สิ่งที่เธอย้ำกับผมมากคือเวลาทำอะไรเธอจะทำทีละอย่าง ไม่ทำพร้อมกันหลายๆอย่าง เช่น คุยกับลูกน้องก็คุย เช็คอีเมลก็เช็คอีเมล กินข้าวก็กินข้าว ฯลฯ เธอถึงขั้นมีป้าย do not disturb (ห้ามรบกวน) แขวนไว้หน้าห้องเวลาต้องการสมาธิในการทำงาน

บ่ายแก่ๆ ถ้าไม่นัดเจอเพื่อน ก็จะไปโยคะ และกลับบ้านไปทานข้าวเย็นกับครอบครัว พี่ก้อยแทบจะไม่ออกข้างนอกตอนกลางคืน และเธอไม่แตะแอลกอฮอล์เลยทั้งๆที่ตอนสาวๆเป็นคนปาร์ตี้หนักพอควร พี่ก้อยไม่มีทีวีในห้องนอนเพราะเธอแทบไม่ดูทีวี ก่อนนอนเธอจะใช้เวลาอ่านหนังสือและนั่งสมาธิประมาณครึ่งชั่วโมง

พี่ก้อยหลับก่อน 4 ทุ่มทุกวัน ถ้าวันไหนต้องเดินทางไปตรวจโรงแรมที่อยู่ต่างจังหวัดตารางชีวิตก็จะเปลี่ยนไปเล็กน้อยแต่สิ่งที่เธอทำไม่ขาดคือ การออกกำลังกายและนั่งสมาธิทุกวัน

ฟังเสร็จผมถามว่า ถามจริงพี่ไม่เบื่อเหรอ ที่ต้องทำแบบนี้ทุกๆวัน ไม่ออกไปปาร์ตี้กินเหล้าสังสรรค์บ้างเลย เธอตอบกลับมาว่า

กลัวแก่และกลัวจน มากกว่ากลัวเบื่อ

กลัวแก่และกลัวจน มากกว่ากลัวเบื่อ

โอเคครับ คิดว่าคำตอบน่าจะครบถ้วนสมบูรณ์ดี

เด็กบ้านนอกที่ไม่มีฐานะ ที่กลายเป็นมหาเศรษฐีเจ้าของบริษัท ไอที

คนต่อไปที่ผมคุยด้วยคือ กบ คนนี้เป็นเพื่อนผมตั้งแต่สมัยเรียน กบเป็นเด็กที่บ้านจนมากครับ เข้ามาเรียนกรุงเทพด้วยการเป็นเด็กทุน และต้องหารายได้พิเศษเพื่อเลี้ยงตัวเอง แต่หลังจากจบมากบทำงานหลายอย่าง ด้วยความขยันและฉลาด บริษัทที่ปรึกษาด้าน ไอที ที่กบตั้งขึ้นจากเล็กๆวันนี้กลายเป็นบริษัทที่ใหญ่พอตัวและเป็นที่รู้จักในวงการ

ทำให้กบจากเด็กบ้านนอกที่บ้านไม่มีฐานะ กลายเป็นมหาเศรษฐีขับ ซุปเปอร์คาร์ ในวัย 30 กลางๆ ด้วยต้นทุนชีวิตที่ไม่ได้มีเหมือนคนอื่น ความสามารถในการบริหารเวลาของเขาจึงน่าสนใจมาก

ทุกวันนี้กบมีชีวิตที่สบายมากแล้วเพราะ บริษัทของเขาแทบจะรันไปได้ด้วยตัวเอง และเขาก็มีลูกน้องที่ไว้ใจได้คอยบริหารงานให้ กบเป็นหนุ่มโสด ถ้าวันไหนไม่มีนัดลูกค้า เขาจะตื่นสายๆ เข้าออฟฟิสประมาณ 10-11 โมง ออกจากออฟฟิสบ่ายสาม ไปฟิตเนส และตกเย็นด้วยการไปทานข้าวกับลูกค้าหรือสังสรรค์กับเพื่อนๆ

เขาบอกว่าเคล็ดลับสำคัญที่วันๆนึงทำงานน้อยอย่างนี้ได้ เพราะว่าเวลาที่เขาอยู่ที่ทำงานเขาจะ “โฟกัส” มากๆ เพราะฉะนั้นเวลาทำงานไม่กี่ชั่วโมงของเขา ได้งานเท่ากับการทำงานหลายวันของคนทั่วไป และนี่คือเคล็ดลับสี่ข้อที่เขาบอกกับผมมาครับ

กบบอกว่าเมื่อพูดถึงเรื่องการบริหารเวลาสิ่งแรกที่ต้องระวังคือ สิ่งล่อใจ เพราะคนส่วนใหญ่จะใช้เวลาไปอย่างน่าเสียดายกับสิ่งพวกนี้แหละ สิ่งล่อใจก็เป็นได้ตั้งแต่เรื่องเล็กอย่างการเผลอไปเปิด เฟสบุ๊ค (facebook) ตอนเช้า พอรู้ตัวอีกที เราก็นั่งดูคลิปจาก ยูทูบ (youtube) ไป 7-8 อันแล้ว เสียเวลาอันมีค่าไปครึ่งชั่วโมง

เรื่องที่สองคือ สิ่งที่ต้องทำจริงๆ ในวันหนึ่งจะมีของที่สำคัญจริงๆที่จะส่งผลต่อ ประสิทธิภาพ (performance) กว่า 90% ของเราไม่เกิน 5 ประเด็น คือคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า 5 อย่างนั้นคืออะไร วิธีการหาคือให้ ลิสต์ ของที่ต้องทำประมาณ 20 อย่างของวันนี้ออกมาก่อนในตอนเช้า แล้วเลือกสิ่งที่สำคัญที่สุด 5 อย่างออกมาทำก่อน ถ้า 5 อย่างนี้ไม่เสร็จที่เหลืออีก 15 อย่างยังไม่ต้องทำ กบบอกผมว่าเรื่องนี้ดูเหมือนจะเบสิคแต่คนที่ประสบความสำเร็จทั้งหลายบนโลกนี้อย่าง (บิล เกตส์) Bill Gates หรือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffet) ต่างใช้วิธีนี้กันทั้งนั้น

เรื่องที่สามคือ การแบ่งส่วน (Compartmentalisation) คือการแบ่งเวลาของวันเป็น บล็อค (block) และเคารพ (block) เวลาอันนั้นด้วย เช่น ถ้าลงเวลาใน ปฏิทิน (calendar) ไว้ว่าจะประชุมหนึ่งชั่วโมง เมื่อครบหนึ่งชั่วโมงให้ลุกเลย ทำแบบนี้ให้เป็นนิสัยแล้วจะเป็นคนที่บริหารเวลาได้ และทำไปนานๆในที่สุดทุกอย่างจะจบตามเวลาที่ต้องการไปเอง เพราะเหมือนเป็นการถูกฝึกให้เป็นนิสัย

เรื่องสุดท้ายคือ ดูแลคนที่อยู่รอบข้างให้ดีๆ ทีมงานของเราคือการขยายความสามารถในการทำงานของเรา ถ้าเราทำงานคนเดียวได้ 8 ชั่วโมง มีทีมงานที่เก่งเท่าเราสี่คนก็เหมือนจะทำงานได้ 32 ชั่วโมง แต่เรื่องจริงๆไม่ใช่แบบนั้นเพราะทีมงานของเราจะเป็นตัวคูณทั้งด้านดีและไม่ดี ดังนั้นการออกแบบ ”ระบบ” การทำงานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ถ้าระบบดีเราจะแก้ปัญหาใหญ่ให้เป็นปัญหาเล็ก ถ้าระบบห่วยเราจะทำปัญหาเล็กให้เป็นปัญหาใหญ่

เพราะระบบเปรียบเหมือนแว่นขยายนั่นเอง มันจะขยายทั้งสิ่งดีและสิ่งที่ไม่ดี กบเพิ่มเติมให้นิดนึงด้วยว่า การดูแลทีมงานที่ดีให้ทำแบบที่ ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) เคยกล่าวไว้คือ

Advertisements
สร้างคนของคุณให้เก่งจนไปทำงานที่ไหนก็ได้ และดูแลเขาให้ดีเสียจนเขาไม่คิดอยากจะไปไหนริชาร์ด แบรนสัน

คมกริบ

ตอนท้ายผมถามเรื่องชีวิตส่วนตัวนิดหน่อยผมถามว่าทุกวันนี้ชีวิตเป็นไงบ้าง กบหัวเราะแล้วบอกว่าชิลมากๆเพราะทีมงานดี ลูกน้องเก่งกว่ามันอีก ตอนนี้เที่ยวหนัก ดื่มเยอะไปนิด ว่าจะลดการดื่มลงหน่อย แต่กบจบท้ายการสนทนาด้วยการชวนผมไปดื่มไวน์ซะงั้น

ครีเอทีฟ ที่กวาดรางวัลใหญ่ๆมาแล้วมากมาย

คนที่สามชื่อ มังกร เป็น ครีเอทีฟ (creative) ที่มีชื่อเสียงมากในวงการโฆษณาได้รับรางวัลใหญ่ๆ มาเพียบ “ชีวิตผมเอาแน่เอานอนไม่ได้พี่” นี่คือคำแรกที่เขาบอกเมื่อผมถามถึงเรื่องการบริหารเวลา

“บางช่วงงานเยอะหรือถ้าสมองมันแล่นก็อยู่ยันเช้า แต่ถ้าช่วงชิลก็นั่นแหละชิลๆ แต่ผมก็พยายามชดเชยนะช่วงที่งานไม่เยอะก็พยายามดูและตัวเอง ไปโยคะ สปา ปั่นจักรยาน เล่นกับหมาบ้าง”

มังกร บอกว่าเขาอาจจะไม่ได้คิดเรื่องบริหารเวลามากเท่าไร แต่นี่คือสองสิ่งที่เขาทำเสมอๆ ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น

เรื่องแรกคือ ฝึกพูดคำว่า “ไม่” ซะบ้าง เขาพบว่าคนไทยใช้คำนี้ไม่ค่อยเป็น เพราะความขี้เกรงใจสุดท้ายเลยต้องเสียเวลาอันมีค่าของตัวเองไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง อยากใช้เวลาให้มีค่าต้องพูด “ไม่” ให้เป็นครับ

เรื่องที่สองคือ การใช้ “เศษเวลา” ให้เป็นประโยชน์ เขาบอกว่าเขาแปลกใจมากที่เห็นคนไทยชอบเล่นมือถือเวลาไม่มีอะไรทำ เช่น ตอนอยู่บนรถไฟฟ้า ตอนนั่งรอหมอ ตอนนั่งรอลูกเรียนเปียโน ฯลฯ แทนที่จะอ่านหนังสือ หรือทำงานอะไรที่เป็นประโยชน์ มังกรบอกว่าเขาพกหนังสือและสมุดจดติดตัวตลอดเวลา ตอนว่าง 5 นาที 10 นาที เขาไม่อ่านหนังสือก็จะจดอะไรบางอย่างเสมอ งานที่ได้รับรางวัลจำนวนมากของเขาริเริ่มมาจากแรงบันดาลใจจากสิ่งที่เขาจดหรืออ่านตอนช่วง “เศษเวลา” นี่แหละ

มังกรบอกว่า “พี่รู้ป่ะ ว่าคนเขียนเรื่องหนังสือ Presumed Innocent ที่ ขายดีจนติดอันดับนิวยอร์กไทม์ (New York Times Best Seller) แม่งใช้เวลาเขียน ระหว่างนั่งรถไฟใต้ดินไปทำงาน แค่วันละ 10 นาทีนี่แหละ พี่เข้าใจที่ผมต้องการจะสื่อใช่ไหม”

ผมเข้าใจครับ และผมจะพยายามเลิกไถมือถือเล่นเวลาเบื่อๆแล้วครับ

ทายาทเจ้าของโรงงานยาขนาดใหญ่

คนสุดท้ายที่ผมคุยด้วยชื่อ ประพต เขาเป็นทายาทเจ้าของโรงงานยาขนาดใหญ่ เขาไม่ใช่เด็กสปอยทั่วไปแต่เป็นคนที่สืบทอดกิจการจากพ่อและทำให้กิจการรุ่งเรืองขยายใหญ่โตเป็นอย่างมาก เขาดูแลทุกเรื่องของกิจการตั้งแต่งานผลิต การตลาด และงานขาย เขาจึงเป็นคนที่ยุ่งมากๆ

ประพตบอกว่า เขาจะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีทุกเช้าก่อนเริ่มงานในการวางแผนว่าวันนี้จะทำอะไรบ้าง โดยการแบ่งช่วงเวลาเป็น ล็อตๆ (time slot) แล้วใส่ไว้ใน ปฏิทินของกูเกิ้ล (Google Calendar) โดยเขาบอกผมว่า เขาจะดูก่อนเลยว่าวันนี้งานอะไรที่ทำแล้วจะส่งผลให้เกิดประโยชน์กับบริษัทมากที่สุดเขาจะเลือกมันขึ้นมาทำก่อน โดยใช้หลัก 80/20 ในการเลือก

นอกจากจะมีลิสต์ สิ่งที่ต้องทำ แล้วเขายังมีลิสต์ สิ่งที่ไม่ทำ ด้วย เพื่อให้ไม่เผลอไปทำงานที่เขาสามารถมอบหมายให้คนอื่นทำได้

และในช่วงเช้าถึงเที่ยงเขาแทบจะไม่จับโทรศัพท์มือถือเลย โดยถ้ามีสายเข้าและไม่ด่วนเลขาเขาจะเป็นคนจัดการให้ทั้งหมด เพราะช่วงนี้คือช่วงเวลาที่สมองทำงานดีที่สุดเขาจะใช้มันทำงานสำคัญๆเท่านั้น ถ้าจะใช้โทรศัพท์นั่นหมายถึงการโทรที่เป็นสายสำคัญจริงๆ

โดยส่วนใหญ่เขาจะใช้เวลาในช่วงเช้าตรวจโรงงานและวางแผนการขาย หรือพัฒนาปรับปรุงและออกผลิตภัณฑ์ใหม่

เวลาสั่งงานลูกน้องคำสั่งของเขาจะชัดเจนและไม่กำกวม ประพตบอกว่า คำสั่งที่กำกวมเสียทั้งเวลาลูกน้องและเขาด้วย เพราะเดี๋ยวลูกน้องก็จะมีคำถาม ดังนั้นก่อนสั่งอะไรคิดคำสั่งให้มันเคลียร์ๆก่อน

ช่วงเย็นเวลาใกล้จะกลับบ้านเขาจะวิ่งรอบโรงงาน ถือเป็นการออกกำลังกายพร้อมกับทักทายลูกน้องและตรวจสถานที่ไปด้วย

เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสามตัว

คนที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ว่าพวกเขามีแนวคิดในการบริหารจัดการเวลาที่คล้ายๆกัน

1.พวกเขารู้ว่าทุกคนมี ไพร์มไทม์ (prime time)

ช่วงเวลา prime time วันหนึ่งอาจจะไม่มากมาย แค่วันละ 1-2 ชั่วโมง แต่เรียกว่าเป็นช่วง “องค์ลง” มีกำลังสมองและสมาธิสูงสุด ถ้าเป็นสาย ครีเอทีฟ คือช่วงงานคลอด ถ้าเป็นเจ้าของกิจการคือช่วงคิดไอเดีย ถ้าเป็นนักเขียนคือช่วงพิมพ์มือเป็นระวิง ฯลฯ พวกเขาจะใช้ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดเหล่านี้ อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุดไม่เสียเวลาไปกับเรื่องไร้สาระ เช่น การเล่น โซเชียลมีเดีย เป็นอันขาด

2.พวกเขาดูแลร่างกายอย่างดีมาก

พวกเขาจะดูแลร่างกายให้ดีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะออกกำลังกายหรือพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะพวกเขาเหล่านี้รู้ว่าสมองจะทำงานได้ดีร่างกายต้องอยู่ในสภาพที่ดีด้วย คนที่อดนอนสามวันไม่สามารถทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพได้อย่างแน่นอน ผู้นำของโลกอย่างประธานาธิบดีโอบามาหรือปูตินต่างก็ออกกำลังกายเป็นประจำ

3.พวกเขาโฟกัส

คนที่ผมคุยด้วยทุกคนจะโฟกัสและทำงานเป็นเรื่องๆไป เพราะเวลาเขาทำงานเขาเล่าให้เราฟังว่าเขาจะเหมือนตกอยู่ในภวังค์ งานที่ได้ออกมามันจึงใกล้เคียงความสมบูรณ์แบบที่สุด คนทุกคนที่ผมคุยด้วย ไม่มีใครที่ทำงาน หลายอย่างพร้อมๆกันในเวลาเดียว (multi-task) เลยซักคนเดียว ผมแนะนำว่าการแบ่งช่วงเวลาของวันออกเป็นบล็อค (time block) ว่าตอนนี้ควรทำอะไรและใช้เวลาเท่าไรเป็นสิ่งที่ดีมากครับ เครื่องมือที่ผมใช้และอยากแนะนำต่อมากๆคือ การใช้ ASANA ซึ่งเป็น เครื่องมือบริหารจัดการงาน และโปรเจกต์  (task management) เมื่อเชื่อมต่อ (intregrate) เข้าไปกับ ปฏิทินของกูเกิ้ล (Google Calendar) มันจะเป็นเครื่องมือในการจัดการเวลาที่ทรงพลังมากครับ

4.พวกเขาใช้เวลาไปทำในสิ่งที่พวกเขาถนัดที่สุด เรื่องอื่นที่ไม่ถนัดพวกเขาจะให้คนอื่นทำ

เมื่อเจาะลึกลงไปในการใชัชีวิตของคนเหล่านี้ จะพบว่าพวกเขาจะทุ่มเทเวลาไปกับการเจียระไนทักษะ (skill) ที่พวกเขาถนัดมากๆให้คมขึ้นไปเรื่อยๆ ในขณะที่เรื่องที่พวกเขาไม่ถนัด พวกเขาจะส่งต่อให้คนอื่นทำ พูดง่ายๆ คือคนเหล่านี้ไม่พยายามจะทำตัวให้เป็นคนเก่งทุกเรื่องนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น กบไม่เคยเล่นหุ้น มันบอกว่าการศึกษาเรื่องหุ้นเป็นเรื่องเสียเวลามันเอาเวลาไปหาลูกค้าดีกว่า เรื่องหุ้นเอาเงินไปให้พวก มืออาชีพที่รับบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล (private wealth management) จัดการดีกว่า

5.พวกเขาไม่ปล่อยเศษเวลาให้หายไป

ผมว่าตัวอย่างของกบอธิบายได้ครบถ้วนมาก

6.พวกเขาให้ค่ากับเวลามากกว่าเงิน

พวกเขาเหล่านี้เข้าใจมากๆเลยว่าเวลาไม่สามารถเก็บหรือสะสมไว้ได้ เวลาผ่านแล้วผ่านเลย ดังนั้นมันจึงมีค่ามากที่สุด หากวันนี้มีคนเสนอเงินให้คุณ 100 ล้านแลกกับ 10 ปีของชีวิตคุณ คุณคงไม่เอาใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นอย่าโยนเวลาทิ้งไปราวกับมันไม่มีค่านะครับ
อย่าลืมนะครับ

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่