เรื่องน่าประหลาดใจเกี่ยวกับแรงจูงใจ

1928
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • มีการทดลองเกี่ยวกับแรงจูงใจของคน โดยสร้างสภาวะขึ้นมา 3 แบบ คือ รับรู้งานที่เขาทำ, ทำเป็นไม่สนใจงานที่เขาทำ และสุดท้ายคือช่างแม่ง ผลคือภาวะการ “รับรู้” จะจูงใจคนได้มากสุด ส่วนสองภาวะที่เหลือทั้ง “ไม่สนใจ” กับ “ช่างแม่ง” จะอันไหนก็ไม่จูงใจทั้งคู่ แถมทำให้คนทำงานหมดกำลังใจอีกตั้งหาก

ในหนังสือเรื่อง Payoff: The Hidden Logic That Shapes Our Motivations ของ
แดน อารีลีย์ (Dan Ariely) ได้กล่าวถึงการทดลองหนึ่งเกี่ยวกับแรงจูงใจของคน ซึ่งน่าสนใจมาก

ในการทดลองนี้ จะมีการพิมพ์จดหมายออกมาแบบสุ่ม แต่จะมีจดหมายที่เหมือนกันอยู่หลายๆ คู่ ผู้เข้าร่วมการทดลองจะถูกบอกให้จับคู่จดหมายที่เหมือนกัน

เมื่อผู้เข้าร่วมจับคู่จดหมายคู่แรกเสร็จ พวกเขาจะได้รับเงิน 55 เซนต์ และจะถูกถามต่อ ว่าอยากจะทำต่อไหม แต่คราวนี้ถ้าทำเสร็จจะได้เงินน้อยลงครั้งละ 5 เซนต์นะ (เมื่อจับคู่ต่อไปเสร็จก็จะได้รับเงิน 50 เซนต์)

Advertisements

และในการทดลองนี้ มีการเซตสภาวะไว้ 3 แบบด้วยกัน คือ

สภาวะแรก คือ สภาวะ “acknowledged” หรือ “รับรู้”

ในสภาวะนี้ ผู้เข้าร่วมการทดลองจะเขียนชื่อของตัวเองไว้ที่กระดาษมุมซ้ายบนสุด แล้วลงมือจับคู่จดหมาย แล้วเดินเอาจดหมายไปให้ผู้ควบคุมการทดลอง ผู้ควบคุมการทดลองจะตรวจดูจดหมายอย่างละเอียดตั้งแต่หัวจรดท้ายว่ามีการจัดคู่มาอย่างถูกต้องจริงๆ และพูดคำว่า “อะฮะ” จากนั้นก็คว่ำหน้าจดหมายลง แล้วผู้ควบคุมการทดลองจะถามผู้เข้าร่วมว่า อยากจะทำการจับคู่จดหมายอีกไหม แต่คราวนี้จะได้เงินน้อยลงคู่ละ 5 เซนต์นะ หรือว่าจะหยุดแล้วรับเงินเท่ากับงานที่ทำมาเลยก็ได้ ถ้าหากผู้เข้าร่วมการทดลองต้องการจะทำต่อ กระบวนการก็จะดำเนินต่อไป

สภาวะที่สอง คือ สภาวะ “ignored” หรือ “ไม่สน”

ในสภาวะนี้ ผู้เข้าร่วมการทดลองไม่ต้องเขียนชื่อตัวเองลงบนจดหมาย และตอนที่ยื่นจดหมายให้ผู้ควบคุมการทดลอง ผู้ควบคุมการทดลองจะไม่สนใจตรวจดูจดหมายเลย แต่จะวางคว่ำหน้าจดหมายไว้บนโต้ะแบบไม่ใส่ใจไยดี แล้วผู้ควบคุมการทดลองจะถามผู้เข้าร่วมว่าอยากจะทำการจับคู่จดหมายอีกไหม แต่คราวนี้จะได้เงินน้อยลงคู่ละ 5 เซนต์นะ

ถ้าเทียบกับสภาวะแรก พูดง่ายๆ ว่างานมันดูมีความหมายน้อยลงไป “less meaningful”

สภาวะที่สาม คือ สภาวะ “shredded” หรือผมขอเรียกแบบหยาบๆ นิดนึงว่าเป็นสภาวะแบบ “ช่างแม่ง”

คือ ผู้เข้าร่วมการทดลองไม่ต้องเขียนชื่อตัวเองลงบนจดหมาย และตอนที่ยื่นจดหมายให้ผู้ควบคุมการทดลอง ผู้ควบคุมการทดลองจะไม่สนใจตรวจดูจดหมายเลย แต่จะใส่มันลงไปในเครื่องย่อยกระดาษที่อยู่ข้างๆ ตัวเขาทันที แล้วผู้ควบคุมการทดลองจะถามผู้เข้าร่วมการทดลองว่าอยากจับคู่จดหมายอีกไหม แต่คราวนี้จะได้เงินน้อยลงคู่ละ 5 เซนต์นะ

คุณคงคิดว่าตั้งแต่สภาวะแบบ “ไม่สน” เนี่ย ผู้เข้าร่วมทำการทดลองน่าจะมีแรงจูงใจทีจะโกงคือไม่ต้องจับคู่จดหมายก็ได้ และแรงจูงใจนี้น่าจะสูงมากขึ้นไปอีกในสภาวะแบบ “ช่างแม่ง” เพราะยังไงซะ ผู้ควบคุมการทดลองก็ไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องอยู่แล้ว ดังนั้น ด้วยตรรกะนี้เราต้องคิดว่าคนที่อยู่ในการทดลองในสภาะวะ “ไม่สน” และ “ช่างแม่ง” ควรจะอยู่ในการทดลองนานขึ้นเมื่อเทียบกับสภาวะ “รับรู้” เพื่อให้ได้เงินมากที่สุดใช่ไหม เพราะยังไงเงินก็ได้เห็นๆ อยู่แล้ว เนื่องจากไม่มีใครตรวจไม่เหมือนกับสภาวะ “รับรู้” ที่มีคนตรวจตลอดเวลา

แต่ผลการทดลองมันออกมาเป็นแบบนั้นจริงไหม?

นี่คือสิ่งที่แดนค้นพบครับ 

ในสภาวะการทดลองแบบ “รับรู้” นั้น ผู้เข้าร่วมการทดลอง ทำงานไปจนราคาที่จ่ายเหลือเฉลี่ยประมาณ 15 เซนต์ ซึ่งเป็นราคาที่บอกว่า ทำต่อก็ไม่คุ้มเวลาของเขาแล้ว 

Advertisements

ตรงกันข้ามในสภาวะแบบ “ไม่สน” ผู้เข้าร่วมการทดลองหยุดทำงานที่ราคาเฉลี่ยประมาณ 27.5 เซนต์ ในขณะที่สภาวะแบบ “ช่างแม่ง” ผู้เข้าร่วมการทดลองหยุดทำงานเร็วกว่ามากที่ราคาเฉลี่ยใกล้เคียงกันคือ 29 เซนต์

เรื่องนี้บอกเราได้ 2 อย่าง คือ

หนึ่ง ถ้าคุณต้องการที่จะทำลายกำลังใจคนที่ทำงานด้วย การทำแบบ “ไม่สน” หรือ “ช่างแม่ง” นั้นจะได้ผลใกล้เคียงกัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เปลืองแรงก็ทำแบบช่างแม่งไปเลยก็ได้ ไม่ค่อยมีอะไรต่างกันเท่าไร เพราะขาดการรับรู้ถึงความสำคัญของงานที่ทำไปแล้ว คนทำงานก็ขาดแรงจูงใจที่จะทำงาน

สอง เวลาคนได้รับการรับรู้ถึงการทำงานของเขา คนเรามักจะยินดีทำงานหนักขึ้นแม้อาจจะไม่ได้เงินเพิ่มขึ้นตามงานที่หนักขึ้นก็ตาม ดังนั้นการรับรู้ถึงงานที่คนทำจึงเป็นสิ่งที่มีค่ามากๆ เป็นเหมือนของขวัญที่คนหนึ่งคนจะมอบให้อีกคนได้ แม้อาจจะเป็นเหมือนสิ่งเล็กน้อย แต่การทำอย่างต่อเนื่องจะสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้ การสร้างแรงจูงใจจึงไม่จำเป็นต้องใช้เงินแต่เพียงอย่างเดียว 

นอกจากนี้ แดนยังทำการทดลองทำนองนี้อีกหลายอย่างและผลที่ออกมาก็คล้ายๆ กันเกือบหมด 

นี่เป็นสิ่งที่บอกเราว่าการเข้าใจความรู้สึกของคน (human touch) นั้นสำคัญจริงๆ สำหรับการสร้างแรงจูงใจให้คนทำงานไม่ว่าคนนั้นจะเป็นลูกน้อง คู่ค้า หรือแม้แต่ลูกค้าของคุณ การ “อัดเงิน” ลงไปเพียงอย่างเดียว จึงมักจะไม่ใช่ทางออก และหลายครั้งกลับกลายเป็นผลเสียมากกว่าผลดีด้วย 

จริงๆ ผมเองก็ยังพยายามฝึกเรื่องนี้ให้ดีขึ้นครับ เพราะยอมรับว่าหลายครั้งก็ลืมนึกถึงคนอื่น ลืมที่จะ “รับรู้” งานที่คนอื่นทำไปบ้างเหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะหลายครั้งเราทำงานด้วยอารมณ์ เอาตัวเองมาเป็นใหญ่ หลายครั้งเราปล่อยให้อีโก้ของเราเข้ามาครอบงำ ของแบบนี้ต้องตั้งสติและค่อยๆ ฝึกกันไปครับ

พยายามรับรู้และมองหาข้อดีของคนที่ทำงานกับคุณ ยิ้มเยอะๆ เข้าไว้ ใส่ใจผลงานของคนอื่นถ้าดีก็ชม ไม่ดีก็ติด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช้อารมณ์ รับรู้ว่าคนอื่นก็ทำงานหนักไม่แพ้คุณเหมือนกัน เพราะหลายครั้งเรามักคิดว่า เราทำงานหนักที่สุดในบริษัท ซึ่งมันไม่จริงครับ

ทั้งหมดนี้ทำไม่ง่าย แต่ถ้าไม่พยายามคนที่ทำงานกับเราก็จะหมดกำลังใจ

เราคงไม่อยากให้ใครทำงานกับเราแบบ “ไม่สน” หรือ “ช่างแม่ง” เหมือนกันใช่ไหมครับ

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่