เราเรียนรู้หลักการกันไปทำไม?

2688
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • คำถามที่หลายคนสงสัยว่า “ทำไมเรายังต้องเรียนตำรา” ในเมื่อเรียนรู้จากการลงมือทำจริงน่าจะดีกว่า ผมคิดคนเราต้องอาศัยการเรียนรู้จากหลายๆแบบทั้ง หลักการ และการลงมือทำจริง แต่สิ่งสำคัญสุดๆคือการรู้จัก “บูรณาการ” ความรู้ที่ได้มา เพื่อสร้างสไตล์ของตัวเองขึ้นมา นั้นจะทำให้เราแข็งแกร่ง

เคยมีน้องคนหนึ่งถามผมทำนองว่า ทำไมเรายังต้องเรียนตำรา ในเมื่อทุกวันนี้หลายต่อหลายครั้ง สิ่งที่ได้จากตำราก็เอาไปใช้ในชีวิตจริงไม่ได้ โดยหนึ่งในสิ่งที่น้องคนนี้ยกขึ้นมาเป็นเหตุผลนั้น ทำเอาผมต้องหยุดเพื่อคิดตามเลยว่ามันจริงไหม

เขาบอกว่า “ตอนเรียนจบ สิ่งที่สอนกันมามันก็ล้าหลังไปแล้วอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง แบบนี้ออกมาลองลุยงานเองเลยดีไหม”

ถ้าผมเข้าใจน้องเขาไม่ผิด ผมคิดว่าน้องเขาคงจะหมายถึงว่า ทำไมเรายังต้องเรียนพวกหลักการทฤษฎี ทั้งที่ภาคปฏิบัติดูจะเอาไปใช้ได้จริงและได้น้ำได้เนื้อมากกว่า จริงๆในความเห็นผม ผมคิดว่าภาคปฏิบัติก็สำคัญจริงๆอย่างที่น้องเค้าคิดแหละครับ แต่ว่าการรู้หลักการนั้นก็มีประโยชน์มากเช่นกัน แค่เราต้องเลือกว่าจะเอาอะไรมาใช้เท่านั้นเอง

Advertisements

กระบวนท่าแบบไร้กระบวนท่า

เคยได้ยินเรื่อง “กระบวนท่าแบบไร้กระบวนท่า” ของเล่งฮู้ชง ในกระบี่เย้ยยุทธจักรไหมครับ ผมเองก็จำได้ไม่หมด แต่เรื่องคร่าวๆ ที่จำได้มีประมาณนี้ ถ้าผิดพลาดต้องขออภัยด้วยนะครับ

กระบวนท่าของเล่งฮู้ชง ถ้าอธิบายง่ายๆ มันเป็นกระบวนท่ากระบี่ที่ไม่มีแบบแผนครับ

คือในยุทธจักรจะมีสำนักกระบี่หลายๆ สำนักที่มีเพลงดาบเป็นของตัวเอง คนในแต่ละสำนักก็ต้องหัดเรียนเพลงดาบของตัวเอง แต่ถ้าคนไหนรู้เพลงดาบของสำนักอื่นก็จะได้เปรียบกว่า เพราะสามารถอ่านเพลงดาบหรือแบบแผนของคู่ต่อสู้ล่วงหน้าได้ และยังสามารถนำไปปรับปรุงเพลงดาบเพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือเพลงดาบอื่นๆได้อีก

แต่สำหรับเล่งฮู้ชง เขาโชคดีมากที่เผอิญไปพบถ้ำลับที่จดบันทึกเพลงดาบของทุกสำนักไว้ แถมยังพบผู้เฒ่าที่เป็นสุดยอดมือกระบี่ที่ช่วยถ่ายทอดวิชาให้เขาฟัง ทำให้เล่งฮู้ชงได้รู้จักทั้งเพลงดาบของทุกสำนัก และยังรู้วิธีนำเพลงดาบมาปรับเป็น “สไตล์” ของตัวเอง หรือที่เรียกว่า “ไร้กระบวนท่า” นั่นเอง

ดังนั้น เวลาที่เล่งฮู้ชงปะมือกับคู่ต่อสู้ นอกจากเขาจะอ่านออกล่วงหน้าว่าคู่ต่อสู้จะใช้กระบวนท่าอะไรต่อจากนี้ สิ่งที่ทำให้เขาเหนือขึ้นไปอีกคือ คู่ต่อสู้ไม่สามารถคาดเดาแบบแผนกระบวนท่ากระบี่ของเขาได้เลย และนั่นทำให้คู่ต่อสู้งงเป็นไก่ตาแตก เพราะไม่รู้จะหาท่าดาบใดมาเอาชนะเขาดี

แต่กว่าที่เล่งฮู้ชงจะเก่งการใช้ “กระบวนท่าแบบไร้กระบวนท่า” เขาก็ต้องฝึกกับผู้เฒ่าและลองมือกับหลายคนมาก่อน กว่าที่วิชาดาบของเขาจะเจนจัดขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าแค่ดูบันทึกบนผนังถ้ำและฟังผู้เฒ่าจะเข้าใจได้เลย

ผมว่าที่น้องคนนั้นสงสัยก็คงคล้ายๆเรื่องนี้ครับ คือถ้าลองเทียบกัน สมมติเล่งฮู้ชงได้ยินแต่เรื่องวิธีการสร้าง “กระบวนท่าแบบไร้กระบวนท่า” โดยที่เขาไม่ค่อยรู้เพลงดาบของสำนักอื่น เขาก็จะมีกระบวนท่าที่จะเอาไปพลิกแพลงต่อยอดได้น้อยครับ ทางกลับกันพอรู้เยอะ ก็มีหลายท่าไปพลิกแพลงต่อยอดได้มากกว่า

สำหรับผม การรู้หลักการ ทฤษฎี ก็มีประโยชน์คล้ายๆแบบนี้แหละครับ คือถ้าเรารู้หลักการก่อน เวลาเราจะไปพลิกแพลงหรือสร้างให้เป็นสไตล์ตัวเอง ก็จะทำได้ง่าย เร็ว และหลากหลาย เพราะเราไม่ต้องมานั่งคลำหาวิธีเอง

ยิ่งถ้าเรายังไม่แม่น การรู้หลักการก่อนจะยิ่งทำให้เราเข้าใจเรื่องราวเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมก็ไม่ได้หมายว่าการเรียนรู้แบบครูพักลักจำ หรือการฝึกฝนนั้นไม่สำคัญนะครับ จริงๆสำคัญเหมือนกัน เพียงแต่ผมอยากยกให้เห็นว่า การเรียนรู้จากตำราหรือหลักการนั้นก็มีประโยชน์

อย่างปิกัสโซ่เอง ในช่วงเริ่มต้น เขาก็ใช้วิธีศึกษาและทำตามแนวศิลปะของคนอื่นก่อน แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ เค้าถึงค่อยๆเริ่มสร้าง “สไตล์” ที่เป็นตัวเองขึ้นมา ซึ่งแนวศิลปะของปิกัสโซ่ก็เป็นการผสมผสานแนวคิดศิลปะอื่นๆ มาเป็นแบบของเค้า

Advertisements
principle learning img2

เรียนรู้หลักการผ่านสำนักงาน

เมื่อพูดถึงเรื่องหลักการ ก็มีอีกเรื่องหนึ่งครับที่เป็นเรื่องการเรียนรู้หลักการเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ผ่านตำรา แต่ผ่าน “สำนักงาน”

สำนักงาน หรือบริษัท จริงๆก็เป็นเหมือนโรงเรียนเลยนะครับ ยกตัวอย่าง ถ้าบริษัทค้าปลีก CP Central ก็คงเป็นชื่อแรกๆ ที่คนนึกถึง หรือถ้าเป็นบริษัทพวกสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ก็เช่น Unilever, P&G และ Nestle หรือเอเจนซี่โฆษณา ก็เช่น Ogilvy, BBDO และ TBWA หรือถ้าเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ ก็เช่น ไทยรัฐ มติชน ผู้จัดการ เป็นต้น

ซึ่งบริษัทใหญ่ๆก็จะมีหลักการทำงาน แบบแผน หรือสไตล์ที่เป็นของตัวเอง ที่เป็นระบบ มีเหตุผล และกระบวนการที่ค่อนข้างชัดเจน มีหลักการ

ในขณะเดียวกัน บริษัทขนาดย่อมลงมา พวกกระบวนการ ระบบ แบบแผนต่างๆ ก็ย่อมยากที่จะแม่นยำและมีความถูกต้องสูงแบบบริษัทใหญ่ แต่ในข้อจำกัดเหล่านี้ก็สามารถช่วยสอนหลักการอีกอย่างให้กับเราได้เหมือนกัน คือหลักการในการหาทางออกจากปัญหาในสภาวะที่ทรัพยากรมีจำกัด เป็นต้น

เวลามีน้องๆมาถามผมว่าอยู่บริษัทเล็กๆ จะเป็นอะไรไหม เพราะทรัพยากรเหมือนจะสู้บริษัทใหญ่ไม่ได้ ผมมักจะตอบเสมอว่า

“บริษัทเล็กหรือใหญ่ไม่สำคัญ ขอให้ทั้งเราและบริษัทมีศักยภาพในการเติบโต (มากๆ) แค่นี้ก็น่าทำงานด้วยแล้ว”

อันนี้ยกตัวอย่างแค่แง่มุมเดียวนะครับ จริงๆแล้วบริษัทเล็กกับใหญ่นั้นยังมีอะไรที่แตกต่างกันอีกมาก

ซึ่งเทียบแล้ว เรื่องนี้ไม่ต่างอะไรกับสำนักกระบี่เลยครับ 

ฉะนั้น เวลามีใครมาคุยกับผมว่าอยากเปิดบริษัทหรืออยากทำอะไรเป็นของตัวเอง ถ้าผมเห็นท่าว่าเค้ายังดูไม่มั่นใจนัก ผมมักจะแนะนำให้เค้าไปลองฝึกกระบวนท่ากับสำนักงานต่างๆ ก่อน

เพราะอย่างน้อยสิ่งที่ได้ คือได้เรียนรู้แบบแผนของที่นั่นเพื่อนำมาปรับใช้ในอนาคต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจะเรียนรู้แบบแผนจากบริษัทก็ต้องอาศัยวิธีแบบครูพักลักจำและช่างสังเกตด้วย เพราะบริษัทไม่ใช่โรงเรียนที่จะมาสอนตรงๆเป๊ะๆ


ถ้าถามผม ผมว่าคนเราต้องอาศัยการเรียนรู้หลายๆแบบครับ และวิธีการเรียนรู้แต่ละแบบก็ให้ประโยชน์แตกต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญสุดๆคือการรู้จัก “บูรณาการ” ความรู้ที่ได้มา เพื่อสร้างสไตล์ของตัวเองขึ้นมาครับ ซึ่งนั่นจะทำให้เราแข็งแกร่งและรับมือกับปัญหาหรือคู่แข่งได้ดีที่สุด

ก็เหมือนกระบวนท่าไร้กระบวนของ เล่งฮู้ชง นั่นเอง

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่