3 วิธี เพิ่มพลังให้เรื่องเล่า!

952
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • หนึ่งในทักษะที่สำคัญของผู้ที่ประสบความสำเร็จ(ส่วนใหญ่)มี คือ ทักษะการเล่าเรื่องที่ดีและสนุก ผมเลยรวบรวม มาแบ่งปันให้ 3 ข้อ


  • เรื่องเล่าที่ดีต้องมี ความขัดแย้ง และ จุดจบของเรื่อง


  • เรื่องประกอบจะช่วยทำให้คนอินไปกับเรื่องเล่าได้มากขึ้น


  • เรื่องเล่าที่น่าติดตามควรต้องมีอารมณ์อยู่ในนั้น เหมือนกับที่เราดูหนังแล้วรู้สึก ตื่นเต้น เศร้า ขบขัน หรือมีความสุข


  • และแน่นอนที่สุด แม้วันนี้เราจะยังมีทักษะการสื่อสารที่ไม่ดีนัก แต่ทักษะเหล่านี้สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่การฝึกฝนครับ

การเล่าเรื่องที่ดีและสนุกเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญอันนึงที่เรามักจะพบในคนที่ประสบความสำเร็จครับ อนึ่ง การเล่าเรื่องนี้ไม่ได้หมายถึงการพูดอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการสื่อสารทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการเขียน การวาด หรือแม้แต่การแสดงออกทางร่างกายต่างๆ ก็ตาม

มีงานวิจัยหลายชิ้นนะครับที่พบว่า สมองคนเราชอบเรื่องเล่า และยังพบด้วยว่าสิ่งที่คนมักจดจำได้ดี ก็คือเรื่องเล่าเช่นกัน แต่การจะเล่าเรื่องให้คนอยากติดตามหรือสนใจนั้นก็ไม่ใช่การเล่าไปเรื่อยๆ นะครับ เพราะมันก็มีวิธีอยู่ ครั้งนี้ผมเลยรวบรวมหลักการผสมกับวิธีที่ผมชอบใช้ในช่วงนี้ มาแบ่งปัน โดยมีอยู่ 3 ข้อ ดังน้ีครับ

1. เรื่องเล่าที่ดีต้องมี ความขัดแย้ง และ จุดจบของเรื่อง

เรื่องจะเป็นเรื่องที่น่าติดตามมากขึ้น ถ้ามีความขัดแย้งหรืออุปสรรคครับ ถ้าเล่าไปเรื่อยๆ อารมณ์ว่า ตื่นเช้ามา ไปทำงาน กลับบ้านแล้วก็นอน แบบนี้เรื่องจะไม่สนุก ถ้าอยากให้สนุก ต้องมีการพลิกผัน อุปสรรค หรือเหตุการณ์ไม่ปกติ และบอกว่าสุดท้ายคลี่คลายและจบลงอย่างไร แบบนี้แหละครับถึงจะน่าติดตาม

Advertisements

อย่างเรื่องเล่าแบรนด์หนึ่งที่ผมว่าแปลกดีจนจำได้แม่น คือ แบรนด์แฟชั่น เคนเนธ โคล (Kenneth Cole) คือตอนที่ เค็นเน็ธ เริ่มต้นธุรกิจจากการขายรองเท้า ตอนนั้นเค้าไม่ค่อยมีเงิน แต่ว่าอยากนำรองเท้าไปวางขายในงานรวมสินค้าแฟชั่นที่โรงแรม ฮิลตัน ที่นิวยอร์ก ด้วยความที่เงินไม่พอจ่ายค่าออกบูธ เค้าก็เลยปิ๊งไอเดียว่า งั้นก็ขายรองเท้าหลังรถบรรทุกที่หน้าโรงแรมแทน

เค็นเน็ธ ก็เลยโทรไปถามขั้นตอนขอใบอนุญาตจอดรถกับทางเขต แต่ปรากฏว่า ทางเขตอนุญาตให้จอดรถได้ 2 กรณีเท่านั้น คือ หนึ่งเป็นรถสาธารณสุข เช่น รถห้องน้ำเคลื่อนที่ กับสองเป็นรถกองถ่ายภาพยนตร์ พอได้ยินอย่างนี้ เค็นเน็ธ ก็เลยเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น “เคนเนธ โคล โปรดักชั่นส์” และทำหนังสือแจ้งไปทางเขตว่า เค้าจะขอใบอนุญาตจอดรถบรรทุก(ที่เช่ามา) เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ชื่อเรื่อง “The Birth of a shoe company” (การกำเนิดของบริษัทรองเท้า)

โดยเรื่องที่เค้าถ่ายทำก็คือ ที่เค้าขายรองเท้าอยู่หน้าโรงแรมนี่แหละครับ และก็โชคดีมากว่า เค้าขายรองเท้าได้หมดและมีคนออร์เดอร์เข้ามาเพียบ จนทำให้บริษัทตั้งตัวขึ้นมาได้เลย ดังนั้นทุกวันนี้ แม้ เคนเนธ โคล จะเป็นแบรนด์แฟชั่นก็จริง แต่ก็ยังใช้ชื่อบริษัทว่า เคนเนธ โคล โปรดักชั่นส์ เหมือนเดิม เพื่อรำลึกถึงที่มาของการกำเนิดบริษัทนั่นเอง

จากเรื่องเล่านี้ ถ้าสังเกตดีๆ มีองค์ประกอบโครงสร้างเรื่องครบหมดเลยครับ คือมีความขัดแย้งหรืออุปสรรค (Conflict) ว่า เค็นเน็ธ ไม่มีเงิน แต่ต้องการขายรองเท้าให้ได้ จนมาถึงการคลี่คลาย (Resolution) คือ เค็นเน็ธ ใช้วิธีอ้างว่าถ่ายทำภาพยนตร์ และจบเรื่อง (Ending) ด้วยว่าเค้าขายรองเท้าได้หมดและตั้งหลักบริษัทได้สำเร็จ

ฉะนั้น ถ้าคุณอยากเล่าเรื่องอะไรก็ตามให้น่าสนใจ อย่าเล่าไปเรื่อยๆ นะครับ แต่ให้คิดโครงเรื่องที่มีองค์ประกอบพวกนี้ เพราะการเล่าแบบนี้เป็นการเล่าที่คนชอบฟังมากที่สุดครับ

2. เรื่องประกอบช่วยให้คนรู้สึกอิน

ทีนี้ ถ้าคุณไม่ได้ต้องการจะเล่าว่า เกิดอะไรขึ้นเหมือนตัวอย่างเรื่อง เคนเนธ โคล แต่อยากสื่อสารประเด็นหรือโน้มน้าวคนให้คล้อยตาม ตรงนี้คุณก็สามารถใช้เรื่องเล่ามาสร้างพลังได้เหมือนกันครับ

อย่างถ้าใครสังเกตเวลาผมเล่าเรื่องในแฟนเพจ ผมจะมีประเด็นเป็นธงที่จะเล่าทุกครั้ง พอมีธงแล้ว ผมก็จะหาเคสตัวอย่างมาเป็นประกอบ เช่น ผมตั้งธงว่าจะเล่าข้อดีของความอดทน จากนั้นผมก็จะหาเรื่องคนที่อดทนแล้วได้ดีมาเล่าประกอบ เพื่อสนับสนุนให้ประเด็นที่ต้องการสื่อสารมีน้ำหนัก

Advertisements

ซึ่งเรื่องเล่ายังช่วยได้อีกมากๆ คือทำให้คนอินและคล้อยตามได้ง่ายขึ้น เพราะเรื่องเล่าทำให้คนเห็นภาพชัด และทำให้คนอ่านเชื่อมโยงตัวเองกับเรื่อง เช่น บางคนมีประสบการณ์อดทนทำอะไรบางอย่างอยู่ พออ่านเรื่องคนที่อดทนแล้วประสบความสำเร็จ ก็จะเชื่อมโยงตัวเองกับเรื่องเล่า และคิดต่อว่า ถ้าตัวเองอดทนทำไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็สำเร็จได้เหมือนกัน

สำหรับ หลักสำคัญของข้อนี้คือ เรื่องเล่าประกอบต้องสอดคล้องกับธงที่จะเล่านะครับ ถ้าคนละเรื่องคนละราว จะทำให้ทั้งเรื่องงงๆ นอกจากนี้แล้ว ในหนังสือ Talk Like Ted ยังแนะนำอีกเทคนิคหนึ่งที่ดีว่า ถ้าอยากเปิดเรื่องให้คนติดตาม ควรเปิดเรื่องด้วยเรื่องเล่าด้วยเช่นกันครับ

Speaker at Business Meeting in the conference hall.

3. เรื่องเล่าต้องมีอารมณ์

อารมณ์ เป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างคุณลองสังเกตก็ได้ครับ สิ่งที่ตกค้างหรือที่เราพอจำได้เวลาฟังเรื่องเล่า ส่วนใหญ่มันคือ อารมณ์ร่วม ครับ คือบางทีคุณอาจจำไม่ได้ว่าเพื่อนพูดอะไร แต่คุณจะจำได้ว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับเรื่องที่เพื่อนพูด 

ดังนั้น การเล่าเรื่อง จึงต้องใส่อารมณ์เข้าไปด้วยครับ อย่างเรื่อง เคนเนธ โคล มันก็จะออกแนวตลกและแนวคาดไม่ถึง ที่ว่า เป็นบริษัทขายรองเท้าแท้ๆ แต่ดันมีวีรกรรมที่ทำให้ชื่อบริษัทเหมือนชื่อบริษัทโปรดักชั่น หรือกลับมาที่ตัวอย่างว่า อยากเล่าข้อดีของความอดทน ก็อาจต้องเล่าโดยใส่อารมณ์ที่ดูฮึกเหิม มีความหวัง ทั้งนี้ ก็เพราะอารมณ์ที่สอดแทรกเข้าไปจะช่วยให้คนอินกับเรื่องด้วย

สุดท้าย มันคือสิ่งเดียวกับเวลาเราดูหนังครับ เราไม่ได้ดูหนังว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นเท่านั้น แต่เรารับรู้อารมณ์ เช่น ตื่นเต้น เศร้า หรือขบขันไปกับเรื่องด้วย

และสามข้อนี้ ก็คือหลักคิดที่ผมใช้เวลาเล่าเรื่อง ส่วนถ้าถามผมว่า แล้วจะนำมาปรับใช้อย่างไรดี ผมว่าเรื่องนี้อยู่ที่การฝึก คือต้องลองฝึกบ่อยๆ และใช้วิธีดูว่าคนเก่งเค้าเล่าเรื่องอย่างไร แล้วลองมาปรับและสร้างสไตล์ของตัวเอง

อย่าง เดล คาร์เนกี เจ้าของหนังสือโด่งดังชื่อ วิธีชนะมิตรและจูงใจคน | How to win friends and influence people ที่กลายเป็นตำราคลาสสิกสอนเรื่องการเจรจากับคน ใครจะเชื่อว่า แต่เดิม เดล คาร์เนกี เป็นคนพูดไม่เก่งมาก่อน แต่ที่พัฒนาจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ได้ ก็เพราะเค้าฝึกบ่อยนั่นเอง

ฉะนั้น ใครที่อยากเล่าเรื่องเก่งๆ มีเคล็ดลับเดียวคือ ต้องฝึกบ่อยๆ แล้วคุณก็จะปล่อยมนต์ขลังให้เรื่องเล่าได้เก่งขึ้นเองครับ

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่