เสียงทำนายฝัน

1697
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • เราได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ที่ไม่ยอมแพ้และต่อสู้เพื่อความฝันตัวเองจนประสบความสำเร็จมากมาย แต่พอเป็นเรื่องของเรา เรากลับไม่กล้าทำ หลายครั้งปัจจัยสำคัญนั้นเกิดจาก “เสียง” ที่เราได้ยินทั้งจาก
  • เสียงของผู้หวังดีกับเรา ไม่ว่าจะญาติ เพื่อน ครอบครัว
  • เสียงของผู้หวังดีประสงค์ร้าย อย่าไปใส่ใจคนกลุ่มนี้
  • เสียงในหัวของเรา จะคอยบอกให้เราหยุด แต่เราต้องมีสติและเรียนรู้ที่จะไม่สนใจมัน
  • เสียงในใจของเรา เป็นเสียงที่เราต้องตั้งใจฟัง และอย่าให้เสียงคนอื่นดังกว่าเสียงในใจของเรา

นักแสดงผู้ไม่ยอมแพ้

ที่ไมอามี่ ปี 1927 เด็กชายคนหนึ่งลืมตาขึ้นมาดูโลกด้วยน้ำหนักแรกเกิดเพียง 1.4 กิโลกรัม ครอบครัวของเขาเป็นชาว บาฮามาส (Bahamas) ที่อพยพมายังสหรัฐอเมริกา โดยพ่อของเขาประกอบอาชีพเป็นคนขับแท็กซี่

เมื่อพ่อเห็นลูกชายของตัวเองเกิดมาตัวเล็กนิดเดียวก็รู้สึกเศร้าใจ คิดว่ายังไงก็คงไม่รอดชีวิตแน่ๆ พ่อของเด็กชายคนนี้ถึงกับต่อโลงศพเล็กๆ ไว้เพื่อที่จะฝังลูกแรกเกิดของเขา แต่เด็กชายคนนี้รอดชีวิตราวกับปาฏิหาริย์ เขาเติบโตขึ้นมาในไร่มะเขือเทศกับพี่น้องอีก 6 คน

จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น พออายุได้ 16 ปี เด็กหนุ่มก็มุ่งหน้าเข้าสู่มหานครนิวยอร์คเพื่อตามหาความฝัน เขาทำงานเป็นคนล้างจานในร้านอาหารเพื่อยังชีพ ในขณะเดียวกันก็พยายามหางานอื่นไปด้วย

Advertisements

วันหนึ่งขณะเปิดหน้าหนังสือพิมพ์หางาน เขาเห็นประกาศรับสมัครนักแสดงที่ American Negro Theater เขาจึงคิดว่าไหนๆ ก็ไหนๆ น่าลองไปสมัครดู

ในวันที่ไปออดิชั่น เนื่องจากพื้นเพของเขามีสำเนียงของคาริเบียน และภาษาอังกฤษก็ไม่สู้ดีพูดศัพท์ยากๆ ที่เกินสองพยางค์ได้ไม่คล่องนัก คนที่ดูแลการคัดตัวนักแสดงจึงเดินมาแล้วหยิบบทออกจากมือเขาแล้วพูดว่า

“ไปหางานทำเป็นคนล้างจาน หรืออะไรสักอย่างเหอะ”

นั่นคือจุดเปลี่ยนชีวิตของเด็กหนุ่ม เขาคิดว่า เฮ้ย! นี่เขาไม่ได้บอกคนที่ดูแลเรื่องคัดตัวนักแสดงเลยนะว่าเขามีอาชีพล้างจาน นี่มันต้องเป็นชีวิตเขาไปตลอดจริงๆ เหรอ เขาคิดในใจว่า

หมอนี่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับฉันเลย แล้วอะไรกัน ที่ทำให้คนแปลกหน้าสามารถสรุปทั้งชีวิตของฉันลงมาเป็นเรื่องการล้างจานได้วะ

เด็กหนุ่มกลับไปล้างจานต่อ แต่คราวนี้เขาพยายามพัฒนาภาษาอังกฤษของตัวเองด้วยการอ่านหนังสือพิมพ์ตอนพัก โดยมีเด็กเสิร์ฟชาวยิวอีกคนเป็นคนช่วยสอนให้ เด็กหนุ่มต้องการพิสูจน์ตัวเองว่าเขาสามารถเป็นนักแสดงได้

ผ่านไปหลายเดือนเขากลับไปที่ American Negro Theater อีกครั้ง คราวนี้เขาได้ถูกเลือกเป็นนักแสดงสมใจ อาจจะเพราะโชคช่วยด้วยเพราะโรงละครกำลังขาดนักแสดงชายพอดี แม้การแสดงในช่วงแรกของเขาแย่มากจนมันทำให้คนดูหัวเราะเสมอๆ แต่นั่นไม่เคยทำให้เขาหยุดพัฒนาตัวเอง

ในปี 1950 เขาได้แสดงเรื่อง No Way Out 

ในปี 1958 เขาได้แสดงเรื่อง The Defiant Ones และถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

ในปี 1963 เขาได้รับรางวัลออสการ์ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากภาพยนต์เรื่อง Lilies of the Field เป็นนักแสดงผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รางวัลนี้

ปี 1997-2007 เขาได้รับเลือกเป็นเอกอักราชทูต Bahamas ประจำประเทศญี่ปุ่น

ปี 2009 เขาได้รับเหรียญ Presidental Medal of Freedom ซึ่งเป็นเหรียญเกียรติยศสูงสุดที่พลเรือนสามารถรับได้

นี่คือเรื่องราวชีวิตของ ซิดนีย์ พอยเทียร์ (Sidney Poitier) อีกหนึ่งคนที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับเสียงวิจารณ์ของคนอื่น แต่เลือกที่จะต่อสู้เพื่อความฝันของตัวเอง 


เราคงเคยได้อ่านเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจของคนที่ เต็มเปี่ยมไปด้วยความกล้าหาญ อดทน เด็ดเดี่ยว ไม่ยอมแพ้ ในลักษณะนี้มานับไม่ถ้วน พอสะท้อนย้อนกลับมาดูตัวเรา เราก็น่าจะทำได้เหมือนกันสิ เพราะเราก็มีหนึ่งสมอง กับสองมือเหมือนกัน

แต่พอถึงตอนที่เราต้องทำจริงๆ ทำไมเราถึงกลัวโน่นกลัวนี่เต็มไปหมด และหลายครั้งเราเลือกที่จะอยู่ในโซนปลอดภัย (comfort zone) ของตัวเอง แทนที่จะเดินออกไปต่อสู้เพื่อความฝันที่เราอยากได้ เราลองมานั่งวิเคราะห์เรื่องนี้กันดูครับ

Advertisements

“เสียง” ที่เราได้ยิน

ผมพบว่าปัจจัยสำคัญนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่อง “เสียง” ที่เราได้ยินครับ 

เสียงของคนรอบข้าง

เสียงแรกคือ เสียงของผู้หวังดี ซึ่งเขาหวังดีกับเราจริงๆ นะครับ เสียงนี้อาจจะเป็นเสียงของครอบครัว ญาติผู้ใหญ่ เพื่อนสนิท คนที่เราเคารพ เสียงของคนเหล่านี้ดังมากทีเดียว อาจจะเป็นเพราะเขาอยู่ใกล้เรา อาจจะเป็นเพราะเขามีบุญคุณกับเรา อาจจะเป็นเพราะเรารักเขา ฯลฯ

เวลาคุณเล่าเรื่องความฝันที่คุณอยากทำให้ใครซักคนฟังเคยได้ยินคำเหล่านี้กันไหมครับ

“ลูกป้าเคยทำแบบเธอแล้ว เจ๊งไม่เป็นท่าเลย”
“เธอเด็กเกินไปนะ”
“เธอแก่เกินไปแล้วนะ”
“อยู่อย่างนี้ก็สบายแล้วจะไปหาเรื่องใส่ตัวทำไม”
“เอาจริงๆ นะ เธอไม่มีพรสววรค์ด้านนี้หรอก ไม่น่าจะรอดนะ”
“สิ่งที่เธอคิดต้องมีคนที่คิดอยู่แล้วและทำได้ดีกว่าเธอ เพราะฉะนั้นอย่าทำเลย”
“ธุรกิจ 9 ใน 10 ที่เกิดใหม่เจ๊งหมด เชื่อฉัน ฉันเรียนมา”
“อย่าทำเลย เชื่อฉันเถอะ ฉันมีประสบการณ์เยอะกว่าเธอตั้งเยอะ”
ฯลฯ

นี่คือเสียงของกลุ่มคนที่หวังดีครับ เขาพูดออกมาอาจจะเพราะเขามีแผนการในชีวิตวางไว้ให้คุณแล้ว หรือเขาอาจจะมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับสิ่งที่คุณกำลังจะทำ เขาอาจจะกลัวหรือคิดไปเองกับความฝันของคุณ ฯลฯ ซึ่งแน่นอนไม่มีใครรู้อนาคตและการันตีความสำเร็จของคุณได้ แต่ผมเชื่อเสมอครับว่าถ้าคุณพยายามมากพอ ความฝันมันเป็นไปได้ครับ และที่สำคัญกว่านั้นคนเรามักเสียใจกับสิ่งที่ไม่ได้ทำมากกว่าสิ่งที่ได้ทำแม้จะล้มเหลวครับ

เสียงของพวกหวังดีประสงค์ร้าย

เสียงที่สองอันนี้อันตรายสุดๆ เพราะคนกลุ่มนี้จะแฝงมากับภาพที่ดูเหมือนอยากจะช่วย แต่จริงๆ แล้วอยากจะมากดคุณลงมากกว่า กลุ่มนี้คือพวก คนมองโลกในแง่ลบ (negative people) ที่ต้องหลบให้ไกลๆ อย่าเอาคนพวกนี้เข้ามาอยู่ในชีวิตไม่งั้นพังแน่นอนครับ คนเหล่านี้จะสนุกสนานกับการได้ใช้คำพูดในการวิพากษ์วิจารณ์ ฉุดลากคุณไม่ให้ไปไหนด้วยเหตุผลสองข้อด้วยกันครับ

1. เพราะการวิจารณ์มันง่ายกว่าการสร้างสรรค์ 

หนังสือสุดอภิมหาคลาสิคอย่าง The Great Gatsby ก็เคยถูกนักวิจารณ์บางคนให้คะแนนต่ำมากๆ มาแล้วครับ ภาพยนต์ที่ผมว่าดีที่สุดอย่าง The Godfather ก็มีคนเขียนด่า เพราะฉะนั้นถึงแม้คุณทำอะไรออกมาดีแค่ไหนก็รับรองว่ามีคนด่าแน่นอนครับ เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดมากอยากทำอะไรก็ทำครับ

2. คนบางคนไม่ต้องการให้คุณตามหาความฝัน เพราะพวกเขาไม่มีโอกาสได้ตามหาความฝันของตัวเอง

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่าไม่กล้าออกจากคอมฟอร์ทโซน หรืออะไรก็แล้วแต่ วันหนึ่งคนเหล่านี้ลืมตาตื่นขึ้นมาแล้วพบว่ามันสายเกินไปสำหรับเขาที่จะตามหาฝันของตัวเองแล้ว คุณเหมือนกับกระจกที่สะท้อนสิ่งที่ไม่มีวันจะเกิดขึ้นกับพวกเขา ซึ่งคนเหล่านี้ไม่อยากให้คุณทำสำเร็จ เขาจึงต้องพูดหว่านล้อมทุกอย่างไม่ให้คุณออกเดินทางตามความฝันของคุณ

ถ้าคุณมีคนแบบนี้อยู่รอบๆ ตัว คุณรีบถอยออกมาให้ห่างๆ นะครับ คบไว้ชีวิตมีแต่อัปมงคลครับ

เสียงในหัวของเราเอง

เสียงที่สาม คือเสียงที่น่ากลัวที่สุด เพราะมันคือ “เสียงในหัวเรา” คุณเคยลองวิ่งไกลๆ ไหมครับ มันจะมีเสียงที่คอยบอกว่า พอเถอะ หยุดเถอะ นายทำไม่ได้หรอก วันนี้เหนื่อยแล้วพักก่อนนะ

เสียงในหัวเรานี่แหละครับ ที่น่ากลัวที่สุดเพราะจริงๆแล้วมันอยู่กับเราตลอด ไม่เคยไปไหน เพียงแต่ว่ามันจะพูดออกมาตอนไหนเท่านั้นเอง

จากประสบการณ์ของผม เสียงในหัวของเราจะมาตอนที่เราเหนื่อยสุดๆ หรือไม่ก็ตอนที่เรากำลังชะล่าใจ พูดง่ายๆ คือเสียงนี้มักจะมาตอนคุณการ์ดตก อยู่ในสภาะที่บอบบางเสมอ

วิธีการเดียวที่จะจัดการกับมันได้คือ มีสติและเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันโดยไม่สนใจมันครับ

นึกถึงจอห์น แนช (John Nash) ในหนังเรื่อง A Beautiful Mind ที่ ศาสตราจารย์ จอห์น แนช มักจะเห็นภาพหลอน ซึ่งถ้าเขายิ่งสนใจภาพเหล่านั้นมันจะยิ่งส่งผลกับเขามากขึ้น แต่ถ้าเขาไม่ยุ่งกับภาพหลอนเหล่านั้น ภาพเหล่านั้นก็ไม่ได้หายไปไหน แต่จะยืนอยู่ห่างๆและส่งผลกับเขาน้อยลง

ผมว่าเสียงในหัวของเราก็คล้ายๆ กับภาพหลอนเหล่านั้นแหละครับ

เสียงในใจของเรา

เสียงสุดท้ายที่เราต้องฟังอย่างตั้งใจ เพราะนี่คือเสียงของความฝันของเราครับ มันเต็มไปด้วยพลัง เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ เต็มไปด้วยทัศนคติของนักสู้
อย่าให้เสียงของใคร ดังกว่าเสียงในใจของเรานะครับ 

เหมือนที่ สตีฟ จอบส์ เคยกล่าวคำสุดคลาสิคไว้ว่า 

เวลาของคุณมีจำกัด จงอย่าเสียเวลาไปอยู่ในชีวิตของคนอื่น อย่าไปอยู่ในกฎ เพราะนั่นหมายถึงการใช้ชีวิตในผลลัพธ์ที่ผู้อื่นคิด อย่าให้เสียงของคนอื่นชนะเสียงภายในตัวของคุณ และสิ่งที่สำคัญที่สุด จงมีความกล้าพอที่จะทำตามสัญชาติญาณและใจของคุณ เพราะมันรู้อยู่แล้วว่าจริงๆ แล้วคุณต้องการจะเป็นอะไร เรื่องอื่นๆ นอกนั้นคือสิ่งที่สำคัญรองลงไปสตีฟ จอบส์
Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่