ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่นจริงไหม? ในวันที่ “ต้นทุนชีวิต” (Socioeconomic Status) ต่างกัน

6138
1920-Socioeconomic Status

“ต้นทุนชีวิต” มาจากไหน?
.
ต้นทุนชีวิตก็มาจาก “Socioeconomic Status (SES)” ซึ่งหมายถึง สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ประกอบไปด้วย 4 ด้าน ได้แก่ ระดับการศึกษา (Education Level), อาชีพ (Occupation), ระดับรายได้ (Income Level) และความมั่งคั่ง (Wealth) เป็นตัวกำหนดรูปแบบชีวิตของคนคนนั้น รวมไปถึงการเลี้ยงลูกของพวกเขาแบบรุ่นสู่รุ่น
.
.
“ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จสักที เพราะไม่พยายามเองหรือเปล่า”
“ถึงไม่มีเงิน แต่ถ้าขยันก็ประสบความสำเร็จได้เหมือนกันแหละ”

หลายคนอาจเคยโดนคนพูดประโยคแนวนี้ใส่ จนอดคิดไม่ได้ว่า ที่ผ่านมาเรายังพยายามไม่มากพอที่จะก้าวข้ามความลำบากในชีวิตใช่ไหม

แต่แค่ “ความพยายาม” หรือ “ความขยัน” นั้นจะขับเคลื่อนเราไปสู่ความสำเร็จได้เสมอ…จริงหรือ?

คลิปวิดีโอหนึ่งที่ถ่ายทอดเรื่องราวการแข่งวิ่งเพื่อชิงเงินรางวัล 100$ ของนักเรียนไฮสคูลจนกลายเป็นไวรัล น่าจะอธิบายเรื่องนี้ได้ดีไม่น้อย การแข่งขันนี้ให้นักเรียนทุกคนเริ่มต้นที่จุดสตาร์ตเดียวกัน แต่แล้วคุณครูกลับบอกกติกาพิเศษขึ้นมา

“ใครที่มีสิ่งเหล่านี้ ขอให้ก้าวออกมาข้างหน้า”

ใครที่พ่อแม่ยังอยู่ด้วยกัน ก้าวออกมาสองก้าว
ใครที่ไม่ต้องทำงานพิเศษเพื่อหาเงิน ก้าวออกมาสองก้าว
ใครที่ไม่ต้องคิดว่าเย็นนี้จะมีอะไรกินไหม ก้าวออกมาสองก้าว

เงื่อนไขนับสิบข้อที่ครูค่อยๆ ประกาศ พาให้เด็กบางคนก้าวมาเกือบแตะเส้นชัยโดยที่ยังไม่ได้เริ่มวิ่ง เด็กอีกจำนวนหนึ่งมาได้ครึ่งทาง ในขณะที่อีกไม่น้อยยังอยู่ที่จุดเริ่มต้น

จากนั้นครูก็ส่งสัญญาณให้ทุกคนวิ่ง วิ่ง…แม้จุดสตาร์ตของแต่ละคนจะไม่เท่ากันอีกต่อไป

นี่คือภาพสะท้อนของสิ่งที่เรียกว่า “ต้นทุนชีวิต” แต้มต่อของจุดสตาร์ตที่ไม่ใช่ทุกคนจะมีเท่ากัน

[รับชมคลิปวิดีโอได้ที่: https://bit.ly/3qJAr9X]

 

“ต้นทุนชีวิต” มาจากไหน?

ต้นทุนชีวิตก็มาจาก “Socioeconomic Status (SES)” ซึ่งหมายถึง สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ประกอบไปด้วย 4 ด้าน ได้แก่ ระดับการศึกษา (Education Level), อาชีพ (Occupation), ระดับรายได้ (Income Level) และความมั่งคั่ง (Wealth) เป็นตัวกำหนดรูปแบบชีวิตของคนคนนั้น รวมไปถึงการเลี้ยงลูกของพวกเขาแบบรุ่นสู่รุ่น

Advertisements
Advertisements

สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ นี้ส่งผลต่อความสำเร็จอย่างไร

มีงานวิจัยหนึ่งจากสหรัฐฯ เมื่อปี 2013 ที่พบว่า เด็กจากครอบครัวที่ร่ำรวย (รายได้มากกว่าหรือเท่ากับ 3,595,500 บาทต่อปี) มีโอกาสเรียนจบได้มากกว่า 8 เท่าของเด็กจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 1,129,380 บาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจาก National Student Clearing House ในปี 2020 ที่เผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้อัตราการเลือกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐฯ ลดต่ำจนถึงติดลบ 21.7% เพราะพวกเขาแบกรับค่าใช้จ่ายที่จะเรียนต่อไม่ไหว

นอกจากโอกาสในการเรียนจบแล้ว สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมยังส่งผลต่อการมีทักษะทั้งทักษะทางปัญญา และพฤติกรรมด้วย

เพราะหากเราอยากประสบความสำเร็จในธุรกิจ นอกจากความรู้เฉพาะทางในธุรกิจแล้ว เรายังต้องใช้ “ทักษะทางปัญญา (Cognitive Skill)” เช่น การคิด การอ่าน ทักษะการให้เหตุผล ฯลฯ และ “ทักษะด้านพฤติกรรม (Non Cognitive Skill)” เช่น ทักษะในการเข้าสังคม การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความมุ่งมั่น และการมองโลกในแง่บวก ซึ่งสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมเองก็ส่งผลให้ระดับทักษะเหล่านี้แตกต่างกันออกไปตั้งแต่เด็กเข้าอนุบาล

จากการศึกษาเด็กอนุบาลในสหรัฐฯ ปี 2010-2011 นักวิจัยพบว่า เด็กเล็กที่มีพ่อแม่อยู่ในสถานะทางสังคมสูงจะมีระดับทักษะทางปัญญาและพฤติกรรมในระดับที่สูงกว่า เด็กที่ครอบครัวมีสถานะทางสังคมต่ำ และความแตกต่างตั้งแต่เริ่มต้นเข้าโรงเรียนนี้ย่อมส่งผลต่อการศึกษาในระดับต่อไปของเด็กด้วย

อีกหนึ่งการวิจัยในปี 2021 ได้ทำการศึกษาในเด็กประถมจากประเทศเยอรมนี พวกเขาพบว่า แม้นักเรียนจากครอบครัวร่ำรวย จะมีระดับทักษะทางปัญญาต่ำ แต่กลับเข้าใจเนื้อหาที่เรียนได้สูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่มีระดับทักษะทางปัญญาสูงและ/หรือมีครอบครัวอยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ นี่จึงทำให้รู้ว่า ความพยายามรวมกับความสามารถอาจยังไม่เพียงพอที่จะเอาชนะผู้ที่มีทุนทรัพย์ในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมได้

ส่วนประเทศไทยก็มีผลสำรวจที่น่าสนใจเช่นกัน โดยเมื่อปี 2021 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้สำรวจ “สถานการณ์ต้นทุนชีวิต (Life Asset)” ของเด็กและเยาวชนไทยช่วงอายุ 12-18 ปี จำนวนมากกว่า 10,000 คนจาก 6 ภูมิภาค ซึ่งต้นทุนชีวิตในที่นี้ หมายถึง ทักษะการรู้คิด และการมีจิตสำนึกต่อต้นทุนเองและต่อสภาพแวดล้อมที่เด็กๆ อาศัยอยู่

ผลการสำรวจเผยว่า ต้นทุนชีวิตของเด็กไทยลดลงมากจนอยู่ในระดับไม่ผ่านเกณฑ์ และ “พลังครอบครัว” ซึ่งเป็นฐานในการสร้างทุนชีวิตให้กับเด็ก ก็ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากคะแนนมีแนวโน้มลดลงทุกปี จากเดิม 10 ปีที่แล้วยังอยู่ในเกณฑ์ดี

ในขณะที่อัตราการเข้าถึงระดับการศึกษาของไทยก็ลดลงเช่นกัน ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี 2020 เผยว่า การเรียนต่อในระดับมัธยมปลายมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 7,607 บาท ทำให้มีเด็กไทยประมาณ 60% ของประชากรได้เรียนต่อระดับชั้นมัธยมปลาย และเด็กที่ได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยมีแค่ 28% เท่านั้น

นอกจากนี้ นักศึกษาจากครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ ก็มีแนวโน้มจะเข้าถึงแหล่งข้อมูลและเนื้อหาการเรียนในมหาวิทยาลัย รวมถึงโอกาสเลือกคณะที่ตัวเองใฝ่ฝันได้น้อยกว่าด้วย เช่น คณะแพทยศาสตร์ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเรียนที่สูง ส่วนการทำงาน ผู้ที่มีพื้นเพครอบครัวสูงมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในอาชีพมากกว่า และเตรียมพร้อมเข้าสู่โลกแห่งทำงานได้ดีกว่า เพราะพวกเขาสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลอย่างที่ปรึกษาด้านการทำงาน หรือสามารถทำโปรไฟล์ได้ตามที่บริษัทต้องการได้มากกว่านั่นเอง

แล้วปัญหาความเหลื่อมล้ำจะแก้ไขได้อย่างไร?

หากเรามองให้ลึกแล้ว ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะผู้เรียน/ครอบครัวขาดความพยายามในการใช้ชีวิตหรือการศึกษาเพื่อให้ตนประสบความสำเร็จในชีวิต แต่เกิดขึ้นเพราะครอบครัวขาดเสถียรภาพด้านการเงินและความเป็นอยู่ที่ดี นี่จึงเป็นหน้าที่สำคัญของภาครัฐที่ต้องเข้ามาแก้ไขความเหลื่อมล้ำนี้ให้ลดลง

ทาง BCG (2021) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการระดับโลกของอเมริกา ได้แนะนำวิธีที่จะช่วยให้ภาครัฐสามารถลดความไม่เท่าเทียมนี้ลงไปผ่าน 3 องค์ประกอบสำคัญ ดังนี้

1. เพิ่มการศึกษาและการฝึกอบรม

ภาครัฐควรส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่ใช่แค่เด็กเล็กเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้ปกครองได้เข้าศึกษาอื่นๆ ความรู้เพิ่มเติมเพื่อประกอบอาชีพได้ดีขึ้น ภาครัฐจึงควรร่วมมือกับภาคเอกชน ออกแบบโปรแกรมการเรียนเพื่อใช้ทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การให้ความสำคัญกับการศึกษานี้ ไม่ใช่แค่การเพิ่มงบประมาณให้โรงเรียนเท่านั้น แต่รวมไปถึงการซัปพอร์ตด้านการเงินของผู้ปกครอง เพื่อให้เด็กๆ ได้โฟกัสที่การเรียนอย่างเต็มที่ ไม่ต้องลาออกมาช่วยพ่อแม่หาเงินประทังชีพ

2. พัฒนาสาธารณสุขที่เข้าถึงได้ง่าย

การจำกัดการเข้าถึงสาธารณสุขทั้งด้านกายและใจ ล้วนส่งผลกระทบอันเลวร้ายต่อการศึกษาและอาชีพ เช่น เด็กอาจต้องเลิกเรียนกลางคัน / พ่อแม่ต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อเอาเงินมาจ่ายค่ารักษาหากคนในบ้านล้มป่วย เราจึงควรมีระบบสาธารณสุขที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มีราคาถูกหรือรักษาฟรี ไปพร้อมๆ กับการได้รับบริการที่สะดวกสบายด้วย เพราะจากปัญหาในปัจจุบันที่ผู้ป่วยและญาติต้องไปรอรับบริการเป็นเวลานาน ทำให้ต้องเสียโอกาสในการทำงานหาเงินไปด้วย

3. กระตุ้นอัตราการจ้างงาน

ภาครัฐต้องเร่งออกกฎหมาย มาตรการหรือกระบวนการต่างๆ เพื่อเร่งการสร้างงาน เพิ่มการจ้างงานที่หลากหลายอย่าง Inclusive Employment เช่น มอบเงินเพิ่มเติมสำหรับการจ้างผู้พิการ และลดกำแพงที่ขวางกั้นการเริ่มทำธุรกิจ เช่น เพิ่มแหล่งเงินทุนและคำแนะนำให้ SMEs มากขึ้น รวมถึงให้ทุกคนมีโอกาส Upskill และ Reskill ตัวเอง

นอกจากภาครัฐจะต้องให้ความสนใจแรงงานที่มีทักษะสูงและต่ำแล้ว ภาครัฐยังต้องออกนโยบายช่วยเหลือแรงงานที่อพยพเข้าประเทศมาหางานทำ รวมถึงส่งเสริมแรงงานหญิงที่ต้องทำทั้งงานที่ทำงานและงานที่บ้าน ให้พวกเขามีสวัสดิการและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ฟินแลนด์ คือตัวอย่างประเทศที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำในประเทศได้เป็นอันดับ 1 ของโลก (ข้อมูลจาก SDG Index ปี 2021) ภาครัฐสนับสนุนให้ทุกคนเข้าถึงการบริการทุกด้าน โดยไม่มีการแบ่งแยกว่า ผู้รับบริการจะรวยหรือจน รวมถึงการเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีให้ประชาชนในประเทศด้วยนโยบายเรียนฟรีแบบ 100%, จ่ายเงินค่าเลี้ยงดูเด็กเพื่อลดภาระของผู้ปกครอง และสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อการใช้ชีวิต


จะเห็นได้ว่า ปัจจัยที่ทำให้เราประสบความสำเร็จนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพยายามของเราเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงสถานะของครอบครัว สภาพสังคมและอื่นๆ รอบตัวเรามากมาย ดังนั้น หากเรายังไม่ประสบความสำเร็จ อย่าได้โทษว่าตัวเองพยายามไม่มากพอ หรือหากเราเป็นผู้ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงอยู่แล้ว ความพยายามจนมาถึงจุดสูงสุดในชีวิตก็ไม่ใช่สิ่งไร้ค่าเช่นกัน ตอนนี้เราทุกคนควรหันมาสนใจให้ภาครัฐเร่งหาทางรับมือ หรือเสนอแนวทางแก้ไขปัญหานี้ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้ช่องว่างแห่งความไม่เท่าเทียมนี้แคบลงในอนาคต


อ้างอิง:
https://bit.ly/3I6kOiS
https://bit.ly/3Ig3YOx
https://bit.ly/3fxWgTt
https://bit.ly/3qBthVc
https://bit.ly/3rwjXS0
https://bit.ly/3KlYDap
https://on.bcg.com/3GIkuq4


#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่