PODCASTMISSION TO THE MOONFree Speech ≠ Hate Speech หยุดสร้างวาทะความเกลียด และทำร้ายผู้อื่นผ่านคำพูด

Free Speech ≠ Hate Speech หยุดสร้างวาทะความเกลียด และทำร้ายผู้อื่นผ่านคำพูด

หากพูดถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม เชื่อว่าหลายคนก็คงจะคิดเหมือนๆ กันว่า หากเราอยากอยู่กันอย่างประชาธิปไตย เราก็ควรมีเสรีภาพในการคิดและแสดงความคิดเห็น แน่นอนว่าก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องที่ว่าคนเรานั้นมีสิทธิ์มีเสียงเป็นของตัวเอง

แต่บางครั้งคนเราก็ตีความคำว่า “เสรีภาพในการพูด” ผิดไป หากเราลองสังเกตในโลกโซเชียลมีเดีย จะเห็นได้ว่าหลายคนกล้าออกมาแสดงจุดยืนและแสดงความคิดเห็นของตัวเองกันมากขึ้น เช่น ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเอง และช่วยเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้อื่น

แต่ความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นที่มากขึ้น ทำให้บางครั้งเราอาจหลงลืมความรู้สึกของคนอื่นไป จนทำให้ Free Speech เปลี่ยนแปรเป็น Hate Speech โดยไม่รู้ตัว

คำถามคือ Free Speech กับ Hate Speech ต่างกันอย่างไร?

Free Speech ≠ Hate Speech

ในความเป็นจริงแล้วเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกนั้นถือเป็นเสาหลักสำคัญของสิทธิมนุษยชนและการเป็นสังคมแห่งประชาธิปไตย ซึ่งเสรีภาพดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ อย่างเช่น เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการนับถือศาสนา

ซึ่ง Free Speech ก็คือเสรีภาพของเราที่จะแสดงความคิดเห็นอะไรก็ได้โดยไม่ถูกปิดกั้น เช่น เรามีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นการทำงานของรัฐบาลโดยไม่ถูกมือที่มองไม่เห็นเข้ามาปิดกั้น

กลับกัน Hate Speech ก็เป็นการพูดเหมือนกัน แต่เป็นการพูดที่มีเจตนาที่ส่อให้เห็นถึงความเกลียดชังอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นคำพูดที่เหยียดหยาม ลดทอนความเป็นมนุษย์ ข่มขู่ให้อีกฝ่ายหนึ่งกลัว เช่น การใช้วาจาว่าร้าย ดูถูกและเหยียดหยาม เพียงเพราะต่างคนต่างศาสนา เชื้อชาติ เพศ สีผิว หรือแม้กระทั่งความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ

โดย  Hate Speech นั้นทำลายศักดิ์ศรีของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า Hate Speech ขัดแย้งกับเสรีภาพที่เป็นสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกันโดยกำเนิดของทุกคน

ดังนั้นความคิดที่ว่า “ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นของตัวเอง” ก็ถือว่าไม่ผิดนัก เราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะพูดสิ่งที่อยู่ในหัวออกมา แต่ก็อย่าลืมว่าความคิดเห็นนั้นจะต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองโดยสามัญสำนึก และต้องไม่ลืมที่จะคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ และจิตใจของผู้อื่น ไม่เช่นนั้น Free Speech ก็จะกลายเป็น Hate Speech ที่ลดทอนศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

โดย Thorbjørn Jagland อดีตเลขาธิการสภายุโรป เคยเตือนไว้ว่า เราไม่ควรสับสนระหว่างวาทะแห่งความเกลียดชังกับเสรีภาพในการพูด คำพูดที่แสดงความเกลียดชังเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก แน่นอนว่าเรามีอิสระในการแสดงออก แม้ว่าความคิดเห็นของเราจะทำให้ใครขุ่นเคืองใจ ตกใจ หรือรบกวนใครก็ตาม แต่ใช่ว่าทุกคนจะยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้คือ Free Speech

เมื่อไรก็ตามที่ผู้คนเริ่มยุยงให้เกิดความรุนแรง ความเกลียดชัง หรือการเลือกปฏิบัติต่อคนใดคนหนึ่งในที่สาธารณะ สิ่งนั้นก็ถือเป็น Hate Speech ไม่ใช่ Free Speech ไม่ว่าจะเป็นการตะโกนใส่ใครบางคนตามถนนหนทาง หรือการโพสต์ความเห็นที่ไม่เหมาะสมบนโลกออนไลน์ สิ่งเหล่านี้ถือเป็น Hate Speech ได้ทั้งสิ้น

และตอนนี้ความท้าทายอย่างหนึ่งในโลกไซเบอร์คือ หลายคนไม่ค่อยเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ตอนนี้เส้นแบ่งระหว่าง Free Speech กับ Hate Speech ค่อนข้างเลือนราง ดังนั้นเราจึงควรขีดเส้นแบ่งระหว่างสองสิ่งนี้ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เผลอบั่นทอนจิตใจใครเข้า

Hate Speech บนโลกโซเชียลเพิ่มสูงขึ้น!

เพื่อให้เห็นถึงปัญหาของ Hate Speech เราลองมาสำรวจปัญหานี้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศไปพร้อมๆ กัน

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานเพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานแห่งยุโรป (FRA) ได้ออกมาประกาศว่า ตอนนี้มีการใช้วาทะแห่งความเกลียดชังเพิ่มขึ้นบนโลกอินเทอร์เน็ต

โดยทางหน่วยงานได้ทำการวิเคราะห์ 1,500 โพสต์บนโซเชียลมีเดีย (X, Telegram, YouTube & Reddit)ในหลายๆ ประเทศ ได้แก่ บัลแกเรีย เยอรมนี อิตาลี และสวีเดน พบว่า ผู้หญิง รวมทั้งผู้ที่มีเชื้อสายแอฟริกัน ชาวโรมานี และชาวยิว ตกเป็นเป้าหมายของวาทะแห่งความเกลียดชังมากที่สุด

ซึ่งข้อความที่แสดงความเกลียดชังที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดขึ้นมาจากการต่อต้านหรือสนับสนุนชาวยิวภายหลังการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 รวมถึงการรุกภาคพื้นดินของอิสราเอลในช่วงเวลาต่อมา

นอกจากนี้ FRA ยังชี้ว่า แพลตฟอร์ม X (Twitter) นั้นกำลังสนับสนุนการใช้คำพูดที่แสดงถึงความเกลียดชังอยู่กลายๆ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ อีลอน มัสก์ โพสต์ข้อความที่สื่อถึงการแสดงความเกลียดชังต่อชาวยิว

ซึ่งการกระทำนี้ของ อีลอน มัสก์ ทำให้หลายคนมองว่า การโพสต์เช่นนี้เป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะมันอาจส่งเสริมทำให้ขบวนการต่อต้านชาวยิวยิ่งปะทุขึ้นมาได้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ผลดีเท่าไรนัก

จะเห็นได้ว่า โซเชียลมีเดียสามารถกลายเป็นแห่งรวมวาทะแห่งความเกลียดชังได้ ยิ่งเวลาผ่านไป ก็ดูเหมือนว่าการตอบโต้ของชาวเน็ตจะยิ่งมีความก้าวร้าวและเต็มไปด้วยความเกลียดชัง บางครั้งถึงขั้นมีการข่มขู่กันอย่างโจ่งแจ้งเสียด้วยซ้ำ

Advertisements

ผลกระทบจากวาทะแห่งความเกลียดชัง

การแสดงความเกลียดชังทางคำพูดถือเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง เราต่างก็รู้กันดีว่าคำพูดสามารถทำร้ายคนได้ เพราะหากมีใครมาล่วงละเมิดเราด้วยวาจา คำพูดของคนเหล่านั้นก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะทำให้เราได้รับอันตรายที่ไม่ใช่ทางกาย แต่เป็น “ทางอารมณ์” ดังนั้นแล้วการล่วงละเมิดทางวาจาถือเป็นความรุนแรงทางอารมณ์อย่างหนึ่ง

ซึ่งคำพูดก็ถือเป็นการกระทำอีกอย่างหนึ่งด้วย การที่เรากระทำด้วยคำพูด เช่น ข่มขู่ ตักเตือน เรียกร้อง สั่ง ดูถูก หรือทำให้อับอาย ก็ย่อมส่งผลเสียต่อจิตใจฝ่ายตรงข้ามได้ทั้งนั้น บางคนอาจถึงขั้นมีบาดแผลทางจิตใจ เป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล หรืออาการป่วยทางจิตอื่นๆ ได้

นอกจากนี้ คำพูดแสดงความเกลียดชังไม่ได้ส่งผลต่อเพียงแค่ศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชนของคนที่ตกเป็นเป้าหมายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อด้วย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า Hate Speech นั้นนำไปสู่ความแตกแยกของสังคม

อีกทั้งประวัติศาสตร์ยังแสดงให้เราเห็นว่าการใช้ Hate Speech นั้นในกรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจนำไปสู่การรวมกลุ่มกัน จนทำให้เกิดการต่อสู้ อาชญากรรม สงคราม และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้ครอบคลุมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวาทะแห่งความเกลียดชังไปเสียทั้งหมด อย่างที่เราเห็นก็จะมีการเอาผิดเรื่องการข่มขู่หรือการหมิ่นประมาท ดังนั้นหลายคนจึงยังกล้าที่จะใช้วาทะแห่งความเกลียดชังอยู่

ที่มาของความเกลียดชัง

คำถามต่อมาคือ ทำไมคนเราถึงเกลียดกันและแสดงความเกลียดชังได้โดยง่ายแม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน? เพื่อตอบคำถามนี้เราก็คงต้องมาสำรวจเหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลังของความเกลียดชังกันก่อน

ความเกลียดชังเป็นความรู้สึกลบที่เกิดขึ้นต่อบุคคล สิ่งของ หรือความคิดบางอย่างก็ได้ โดยความเกลียดมักจะมีความเกี่ยวข้องกับความรู้สึกกลัว โกรธ และไม่สบายใจ จนก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นอันตราย รวมถึงส่งผลให้เกิดความรุนแรง การเลือกปฏิบัติ และการกดขี่

ความเกลียดชังมีหลายรูปแบบมากๆ ไม่ว่าจะเป็นความเกลียดชังทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศ การเมือง ไปจนถึงชนชั้นทางสังคม โดยความเกลียดนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น
[ ] ประสบการณ์ส่วนตัว : บางคนอาจเคยเจอกับทัศนคติเชิงลบจากคนบางกลุ่มมาก่อน จนทำให้ขยาดกลุ่มคนนั้นไปโดยปริยาย เช่น โดนรังแกโดยบุคคลจากเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง จนสุดท้ายก็เกลียดคนเชื้อชาตินั้นไปเลย
[ ] ความกลัวและความไม่มั่นคง : ความเกลียดสามารถเกิดขึ้นได้จากการกลัวสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไป เช่น ตัวตนหรือสิทธิพิเศษที่ตัวเองเคยมี
[ ] สื่อ : สื่อมีอิทธิพลต่อความเกลียดชัง หากสื่อใดสื่อหนึ่งออกข่าวในเชิงลบแบบเหมารวมเกี่ยวกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็อาจทำให้คนดูช่องนั้นมีทัศนคติเชิงลบต่อคนกลุ่มนั้นตามไปด้วย
[ ] ปัจจัยทางเศรษฐกิจ : ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจอาจทำให้เกิดอคติและความเกลียดชังได้
[ ] ปัจจัยทางการเมือง : วาทะทางการเมืองและโฆษณาชวนเชื่อสามารถชักจูงให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังและอคติได้
[ ] ปัจจัยทางจิตวิทยา : บางคนอาจมีความเกลียดชังเพราะโดยพื้นฐานแล้วเป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจต่ำและมีความก้าวร้าวในระดับสูง

นอกจากนี้ เชื่อว่าหลายคนคงสังเกตเห็นเหมือนกันว่าโลกโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ X (Tiwitter) ต่างก็เต็มไปด้วย Hate Speech แล้วอะไรกันที่เป็นสิ่งที่ทริกเกอร์ความเกลียดชังเหล่านั้นขึ้นมาได้ขนาดนี้กัน?

มีการศึกษาที่ชี้ว่า โพสต์ที่จะได้รับความนิยมสูงหรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือมีการรีทวีตเยอะกว่า คือโพสต์ที่ใช้ภาษาที่เกี่ยวข้องกับ “ศีลธรรม” และ “อารมณ์” (การใช้คำที่อ้างถึงคุณค่าและคุณลักษณะของกลุ่ม) เราจึงมักจะเห็นคนโพสต์ลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้งเพื่อเรียกเอนเกจ แต่ผลเสียที่ตามมาคือ มันเป็นเหมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดวาทะแห่งความเกลียดชังมาด้วย

ตัวอย่างเช่น ข้อความที่โพสต์ว่า “ชาว LGBTQ+ มีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมที่รุนแรง (เช่น การฆาตกรรม การข่มขืน และการทำร้ายร่างกาย) สูงกว่าคนอื่นถึง 4 เท่า!” ข้อความนี้เป็นการใช้ภาษาทางศีลธรรมและอารมณ์ เนื่องจากมีคำต่างๆ เหล่านี้ “ชาว LGBTQ+, เหยื่อ, ความรุนแรง และอาชญากรรม” โพสต์ลักษณะนี้จะดึงดูดการตอบสนองได้ดีกว่าโพสต์ที่ไม่ค่อยใช้ภาษาทางศีลธรรมและอารมณ์

เชื่อว่าเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ทุกท่านคงจะเห็นถึงปัญหาของ Hate Speech กันบ้างแล้ว ดังนั้นใครที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมของเราให้น่าอยู่ขึ้น ทางที่ง่ายและสามารถทำได้ด้วยตัวเองคือ ลองสังเกตว่าเราเผลอไปพ่นวาทะแห่งความเกลียดชังใส่ใครไปหรือเปล่า ถ้าใช่ ทางที่ดีก็ควร “ลด Hate Speech ลง” ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราว่า ลองพิจารณาว่าถ้าเราโดนคำพูดแบบนี้บ้างเราจะรู้สึกอย่างไร เพื่อลดอคติและความเกลียดชังในใจให้มอดดับลง

นอกจากนี้หากใครผู้สังเกตการณ์เองก็สามารถออกมาปกป้องเหยื่อได้ ส่วนผู้ที่อยู่ในฐานะเหยื่อก็สามารถรับมือกับ Hate Speech เบื้องต้นได้ด้วยการซ่อน เมิน บล็อก และรายงานเนื้อหาที่ดูท่าจะไม่ค่อยเป็นมิตร เพื่อปกป้องจิตใจของตัวเองก่อน หากคำพูดไหนที่ดูเกินเลยก็สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้

มาหยุดสร้างวาทะความเกลียดชังและทำร้ายผู้อื่นผ่านคำพูด เพื่อสร้างสังคมที่หลากหลาย เปิดกว้าง และไม่ทำร้ายใครไปพร้อมๆ กัน

อ้างอิง
 – Hate speech is not free speech, says Secretary General ahead of Human Rights Day : Council of Europe – https://bit.ly/3wgLgpd
– Hate speech on social media platforms rising, new EU report finds : Euronews – https://bit.ly/3SOpSiD
– Why Some Tweets Trigger Hate Speech : Bence Nanay Ph.D., Psychology Today – https://bit.ly/3wpng3m
– Should Hate Speech Be Free Speech? : Berit Brogaard D.M.Sci., Ph.D, Psychology Today – https://bit.ly/49dzz1f
– What Is The Psychology Behind Hate? : PSYCHOLOGS MAGAZINE – https://bit.ly/48xAWH6
– Six things social media users and businesses can do to combat hate online : The Conversation – https://bit.ly/49mZ1Bp

#society
#hatespeech
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า