From Pandemic to Endemic: เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ถ้าโควิด-19 กลายเป็น “โรคประจำถิ่น”?

213

จากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่อย่างโอมิครอน ที่แม้จะก่อให้เกิดการติดต่ออย่างรวดเร็ว แต่ก็มีแนวโน้มการก่อความรุนแรงลดลง ทำให้ทั่วโลกต่างออกมาคาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจเปลี่ยนไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในที่สุด ซึ่งเกิดคำถามตามมาว่า หากรูปแบบของโรคระบาดเปลี่ยนไป จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง

ในประเด็นดังกล่าวนี้ สำนักข่าว The Wall Street Journal ได้มีรายงานออกมาว่า สถาบันการเงินอย่าง Bank of America และ JP Morgan Chase ได้มองเห็นถึงความหวังที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน มีแนวโน้มเปลี่ยนผ่านจากการเป็น “โรคระบาดใหญ่ (Pandemic)” สู่ “โรคประจำถิ่น (Endemic)”

แต่ในทางกลับกัน ผู้เชี่ยวชาญกลับระบุว่า หากลองพิจารณาและทำความเข้าใจถึงสถานการณ์อย่างละเอียดจะพบว่า การเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในครั้งนี้อาจยังสร้างหายนะและความเสียหายทางเศรษฐกิจอยู่ อย่างน้อยก็ในช่วงต้นปี 2022 นี้ โดยเป็นสร้างผลกระทบในวงกว้างทั้งในแง่ของการใช้ชีวิต สุขภาพ และการทำงานของผู้คน

ศาสตราจารย์ Caroline Colijin นักสถิติด้านโรคระบาด จากมหาวิทยาลัย Simon Fraser ในแคนาดาระบุว่า การที่โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นไม่ได้หมายความว่า ผู้ติดเชื้อรายวันจะมีจำนวนลดน้อยลง แต่หมายความว่าระบบสาธารณสุขจะอยู่ในจุดที่สามารถรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างมั่นคง แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะอยู่ในอัตราที่สูง ทั้งนี้ จากการจำลองฉากทัศน์การแพร่ระบาดของ ศาสตราจารย์ Caroline Colijin พบว่า แม้เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะมีความรุนแรงน้อยกว่า แต่กลับพบว่าจำนวนผู้ป่วยอาจจะไม่ลดลงเลยเมื่อเทียบกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า

ขณะเดียวกัน เมื่อโควิด-19 ได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้วก็จะยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่อไป แม้จะไม่มีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ก็ตาม เนื่องจากระบบเศรษฐกิจจะยังคงต้องรับมือกับการขาดหายไปของแรงงาน ที่ยังไม่สามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการปิดสถานที่ทำงานจากความเสี่ยงด้านโรคระบาดด้วย ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Supply Shock” ที่ส่งผลให้ผลผลิตมวลรวมลดลงอย่างมาก ขณะที่ความต้องการสินค้ายังคงเดิม

สำหรับผลกระทบต่อคนทำงานก็ยังคงมีทิศทางไปในรูปแบบเดียวกัน โดยผลสำรวจของ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมาพบว่า แรงงานมีความพึงพอใจต่อการทำงานลดน้อยลงจากหลายปัจจัย ทั้งค่าตอบแทนที่ลดลงจากเงินเฟ้อ ความคาดหวังในการทำงานที่เปลี่ยนไป และความเครียดสะสมจากโรคระบาด

ในขณะที่นายจ้างก็ต้องพบเจอกับสภาวการณ์ที่ยากลำบากเช่นเดียวกัน โดยเพราะเรื่องค่าตอบแทนที่สูงขึ้นทั้งจากภาวะขาดแคลนแรงงาน และความคาดหวังของแรงงานที่จะได้ค่าตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้นจากโรคระบาดที่ยังคงอยู่

จากการประเมินสถานการณ์ดังกล่าว ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะยังต้องเผชิญกับวิกฤตไปอีกพักใหญ่ แต่ความหวังในการฟื้นตัวก็ยังมีอยู่เช่นกัน เราคงต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงนี้กันอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมปรับตัวไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปทางไหนก็ตาม


แปลและเรียบเรียงจาก:
https://on.wsj.com/3FK1qGR
https://on.wsj.com/3tJt0lg

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#worldnews

Advertisements
Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่