SOCIETYชีวิตมันต้องยากขนาดนี้เลยหรือ ทำอย่างไรเมื่อ ‘ความสุขของชีวิต’ มีราคาแพงเกินเอื้อม?

ชีวิตมันต้องยากขนาดนี้เลยหรือ ทำอย่างไรเมื่อ ‘ความสุขของชีวิต’ มีราคาแพงเกินเอื้อม?

เคยรู้สึกเหมือนชีวิตเจอแต่ทางตันไหม? แค่คิดว่าต้องตื่นมาในตอนเช้าก็รู้สึกอึดอัดราวกับมีหินก้อนใหญ่ทับอยู่บนอกพาให้หายใจไม่ออกเสียดื้อๆ หันซ้ายก็เจอข่าวน่าสลด หันขวาก็เจอกับวิกฤตมากมายที่คอยสั่นคลอนความรู้สึกมั่นคงของชีวิต

ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็มีแต่เรื่องให้ชวนตั้งคำถามว่า “ชีวิตมันต้องลำบากขนาดนี้เลยหรือ” ลำพังแค่การต่อลมหายใจแต่ละวันก็บั่นทอนกำลังใจมากพอแล้ว แต่พอถึงเวลาที่ต้องการแสวงหาความสุขมาหล่อเลี้ยงสักเล็กน้อยก็ต้องเจอกับความจริงประจันหน้าว่า ‘มันแพงจนเอื้อมไม่ถึง’

สถิติจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเผยให้เห็นอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยปี 2565 ที่ผ่านมามีอัตราการฆ่าตัวตายถึง 7.97 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน แทบจะพุ่งสูงเทียบเท่าช่วงหลังภาวะฟองสบู่แตกหรือวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2542 ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายถึง 8.59 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน

แม้จำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น ผู้ที่เสี่ยงซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย มีปัญหาความเครียด มีภาวะหมดไฟ ‘ที่มาทำแบบประเมิน’ ผ่าน Mental Health Check In (MHCI) ในไตรมาสที่ 3/2566 จะมีจำนวนลดลงจากปี 2565 จาก 27.92% เป็น 21.48% แต่ตัวเลขผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลับสูงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา

ความสุขมันจะหายากขนาดนั้นเชียวหรือ?

บางคนอาจจะสงสัยว่าหาทางเข้าถึงความสุขมากยากเย็นขนาดนั้นเชียวหรือ? หรือมันเป็นที่ตนเองที่ไม่พึงพอใจกับอะไรสักอย่างในชีวิตเอง หากลองปรับทัศนคติแล้วหันมามีความสุขกับเรื่องเล็กๆ อย่างอาหารอร่อย การอยู่กับตัวเอง เป็นต้น ก็คงมีความสุขได้ไม่ยาก

ทว่าท่ามกลางยุคสมัยที่พื้นที่ส่วนตัวลดลงด้วยราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงลิ่ว พื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะที่เปิดฟรีก็น้อยลงเรื่อยๆ ด้วยการพัฒนาพื้นที่เพื่อแสวงหาผลกำไร ค่าขนส่งสาธารณะที่สูงขึ้นสวนทางกับคุณภาพ

เห็นภาพชัดที่สุดคงเป็นเด็กจบใหม่ในกรุงเทพฯ เงินเดือนขั้นต่ำ 15,000-18,000 บาท ค่าอาหารขั้นต่ำเฉลี่ยที่ 60-70 บาทต่อมื้อ หรือก็คือประมาณ 6,000 บาทต่อเดือน ค่าเดินทางไป-กลับด้วยขนส่งสาธารณะอยู่ที่ 100-150 บาทต่อวัน คิดเป็นประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน ไม่นับรวมบางกรณีที่อาศัยในหอพักอีก 6,000 บาทต่อเดือน เพียงเท่านี้ก็ไม่มีเหลือเก็บหรือกันไว้สำหรับฉุกเฉินด้วยซ้ำ

การแสวงหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ อย่างการออกไปสัมผัสหญ้า การทำสมาธิในพื้นที่ส่วนตัว การนั่งรถกินลมชมวิวปล่อยความเครียดละลายไปกับสายลมกลายเป็นเพียงความฝันที่ ‘มีราคาต้องจ่าย’ เมื่อลองประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นสวนทางกับรายได้ที่แช่แข็งมานานหลายปีจนทำให้อัตราเงินเก็บของคนไทยน้อยลงเรื่อยๆ จะเห็นว่าความสุขเป็น ‘สินค้า’ ที่คนยุคนี้ไม่มีกำลังซื้อ

ปัจจัยเหล่านี้เป็นเพียงความยากลำบากที่คนในยุคสมัยเผชิญร่วมกันเป็นประสบการณ์ร่วม ความยากลำบากจะทวีคูณความโหดร้ายขึ้นเมื่อเราต้องสัมผัสกับโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เติบโตขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี หรือเมื่อเรามีปัญหาเฉพาะส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็น

1. การมีชีวิตอยู่ภายใต้การกดขี่

ลำพังการแสวงหาความสุขที่ว่ายากแล้ว ต้องมาเจอกับข้อจำกัดทางสังคมมากมายที่เกิดมาจากการกดขี่ ไม่ว่าจะเป็นทางการเมืองหรือทางสังคม เช่น การกีดกันทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาพ การถูกจำกัดสถานะทางสังคมเนื่องมาจากความทุพพลภาพหรืออาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ทั้งโรคประจำตัวและโรคจิตเวชมากมาย เป็นต้น

Advertisements

2. ข้อจำกัดและภาระทางการเงิน

การหาเงินให้เพียงพอต่อค่าครองชีพในปัจจุบันก็ค่อนข้างท้าทายแล้ว การมีเงินเก็บยังท้าทายกว่า ทว่าชีวิตจะอึดอัดกว่าเดิมเมื่อคุณมีภาระหนี้ที่ต้องคอยแบกเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเพื่อการศึกษา การกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น รายได้ที่เข้ามาจะต้องหักลบออกไปจนแทบจะไม่เหลือเพียงพอต่อการดำรงชีวิต เช่นนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึงค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากการ ‘ประทังท้อง’ ให้ผ่านพ้นในแต่ละวัน

3. ปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพใจ

ปัญหาสุขภาพเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ลดความเป็นไปได้ในการเข้าถึงความสุข เนื่องจากโรคเรื้อรังหรือโรคทางจิตเวชหลายครั้งมักพบกับข้อจำกัดในการกระทำสิ่งต่างๆ เช่น กินอาหารที่ชอบบางประเภทไม่ได้ ดูรายการโทรทัศน์แนวที่ชอบไม่ได้ นอกจากนี้ยังต้องรับมือกับอาการของโรคที่เข้ามาโจมตีเป็นรายวันก็ยิ่งจะต้องแบ่งภูมิคุ้มกันความลำบากส่วนหนึ่งไปกับสถานการณ์ตรงหน้านั่นเอง

4. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต

ปัจจัยด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความเท่าเทียมและอื่นๆ ล้วนแต่เป็นโลกภายนอก แต่สภาพแวดล้อมและสังคมที่เติบโตมานั้นเป็นโลกเบื้องหน้าที่คนคนหนึ่งต้องเผชิญในทุกๆ วัน หากเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มั่งคงและไม่เหมาะต่อการดำรงชีวิต เช่น ภายในพื้นที่สงคราม ภายใต้ความรุนแรง สภาพแวดล้อมของยาเสพติด ทั้งหมดนี้สามารถนำไปสู่ความฝังใจหรือ ‘Trauma’ ที่เป็นอีกหนึ่งความหนักอึ้งที่ชีวิตคนหนึ่งต้องแบกรับเพิ่ม

5. ความโดดเดี่ยวท่ามกลางสังคมใหญ่

ความเหงาเป็นสาเหตุของโรคและความตายมานับไม่ถ้วน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการหล่อเลี้ยงความสุขเล็กๆ ภายในใจ ทว่าหลายคนต้องพบกับปัญหาการขาด ‘ความสามารถ’ ในการเข้าสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน ด้านเวลา ด้านสุขภาพ ทำให้ต้องเผชิญหน้ากับความโดดเดี่ยวที่จะทำให้ชีวิตหม่นไปอีกเท่าตัว

6. สถานการณ์ที่ยากลำบากในแต่ละช่วงชีวิต

ฟังดูแล้วอาจจะเป็นเรื่องปกติที่แต่ละชีวิตจะต้องเจอกับความท้าทายในช่วงวัยนั้น โดยปกติแล้วความสุขเสี้ยวหนึ่งก็สามารถประคับประคองให้เราผ่านมันไปได้ แต่อย่างที่กล่าวไปว่าเพราะการเข้าถึงความสุขยุคปัจจุบันมันยากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาที่ดูเหมือนธรรมดาก็กลายเป็นทางตันในชีวิตของคนจำนวนหนึ่งได้เช่นเดียวกัน

จะเห็นได้ว่าจากปัจจัยมากมายที่กำลังกดทับการใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบันอยู่นั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จำนวนผู้มีความเสี่ยงเป็นโรคจิตเวชและจำนวนผู้ป่วยโรคจิตเวชจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ความโหดร้ายของโลกใบนี้ยังไม่จบเพียงเชื้อเพลิงที่แผดเผา แต่การเข้าถึง ‘น้ำ’ มาดับไฟที่สุมชีวิตอยู่เหล่านี้ก็เป็นเรื่องยากเช่นเดียวกัน

Advertisements

ราคาที่ต้องจ่ายของผู้ ‘ไม่มีความสุข’

การเข้าถึงความสุขมีราคาที่ต้องจ่าย การใช้ชีวิตในฐานะคนที่ไม่สามารถเข้าถึงความสุขก็ยังมีราคาที่ต้องจ่ายอีกเช่นเดียวกัน นั่นคือกลุ่มผู้เผชิญหน้ากับปัญหาสุขภาพจิตและผู้ป่วยจิตเวชจำนวนมาก คำว่า ‘ไม่สามารถเข้าถึงความสุข’ ไม่ได้หมายถึงพวกเขาไม่สามารถมีความสุขได้ แต่หมายถึงผู้ป่วยจิตเวชและกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตอีกมากไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้นั่นเอง

แม้ว่าภาครัฐจะมีสวัสดิการที่ครอบคลุมการรักษาปัญหาสุขภาพจิต เช่น บัตรทอง ประกันสังคม ประกันข้าราชการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าบริการของภาครัฐยังมีข้อจำกัดอีกมาก ทั้งเรื่องของการกระจายข่าวสารไปยังกลุ่มเป้าหมายไปจนถึงทางเลือกในการรักษาที่ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงยาที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าได้เพราะถูกประเมินว่า “ไม่จำเป็น”

ซึ่งหากเลือกที่จะรับบริการด้านสุขภาพจิตที่ดีและครอบคลุมกับอาการมากกว่า รวมถึงบริการอื่นๆ นอกจากการจ่ายยาเพียงอย่างเดียว เช่น การเข้ารับการบำบัด ก็จะต้องยอมจ่ายในราคาที่แพงกว่าโดยเฉลี่ยแล้วครั้งละ 1,000-3,000 บาท หรือบางครั้งอาจพุ่งสูงไปถึงครั้งละหนึ่งหมื่นบาท

โดยธรรมชาติของโรคจิตเวชแล้วเป็นโรคที่ต้องรักษาและติดตามอาการอยู่เป็นระยะเพื่อคอยปรับยาให้เข้ากับภาวะที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน เป็นสาเหตุให้กลุ่มผู้ต้องการรับความช่วยเหลือต้องทนรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวอยู่ตั้งแต่รายสองสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาส รายครึ่งปี ไปจนถึงรายปี

ในสหรัฐอเมริกาเองก็พบเจอกับปัญหาทำนองเดียวกันเมื่อกลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านบริการสุขภาพจิตต้องเป็นหนี้เพื่อนำเงินมารักษา ‘สุขภาพ’ อันเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตอยู่ ยังไม่นับรวมการเหมารวมและการตีตราโรคจิตเวชที่ถูกมองว่าแตกต่างจากสุขภาพกาย จนเกิดเป็นการเลือกปฏิบัติทางการรักษาและการเลือกปฏิบัติในการทำประกันสุขภาพ

ยกตัวอย่างเช่น โรคจิตเวชมักถูกมองว่าเป็น “โรคเรื้อรัง อาจกลับมาเป็นซ้ำ และมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูง (จากการฆ่าตัวตาย)” แบบประกันจำนวนมากจึงมีเงื่อนไขว่าผู้เอาประกันต้องไม่เคยหรือไม่อยู่ในระหว่างการรักษาโรคจิตเวช แม้ว่าแบบประกันดังกล่าวจะเป็นประกันออมทรัพย์ไม่ใช่ประกันสุขภาพ หรือบางแบบประกันก็คิดค่าเบี้ยที่สูงเป็นเท่าตัวเพื่อให้ได้ครอบคลุมด้านจิตเวช

นอกจากนี้ผู้เอาประกันที่มีประวัติการรักษาโรคจิตเวชยังมีโอกาสที่จะถูก “ยกเว้น” หรือบอกเลิกสัญญาระหว่างทางมากกว่าผู้ป่วย “โรคเรื้อรัง อาจกลับมาเป็นซ้ำ และมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูง” อย่างโรคมะเร็งหรือโรคร้ายแรงอื่นๆ อีกเช่นกัน

เรียกได้ว่ากลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านจิตเวชจำนวนมากถูกกีดกันจากทัศนคติ ข้อจำกัดด้านการเงินและข้อจำกัดด้านความรู้อีกมาก กลายเป็นว่านอกจากชีวิตจะหาความสุขได้อย่างยากลำบากแล้ว การจะเข้าถึงสิ่งบรรเทาทุกข์ก็กลายเป็นเรื่องยากเช่นเดียวกัน

แล้วจะอยู่บนโลกด้วยชีวิตที่ยากลำบากนี้ได้อย่างไร?

แม้การมีชีวิตอยู่จะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แต่ลมหายใจก็เป็นประตูบานสุดท้ายที่จะนำเราไปสู่โอกาสที่ดีกว่า หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังแบกโลกไว้ทั้งใบ Mission To The Moon อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยคุณแบ่งเบาภาระนั้นด้วยวิธีการรับมือกับชีวิตบนโลกใบนี้

1. มีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อเปิดโอกาสให้เจอสิ่งที่ดีกว่า

ความทุกข์มันเจ็บปวดและลำบากจนบางครั้งก็อยากจะทิ้งมันไปพร้อมลมหายใจที่เหลืออยู่ แต่หากเราเลือกที่จะทิ้งลมหายใจไป หนึ่งสิ่งที่ใหญ่ที่สุดที่เราจะสูญเสียไปพร้อมกับมันคือ ‘โอกาสให้ตัวเองได้เจอสิ่งที่ดีกว่า’

ถึงแม้ว่าชีวิตจะให้สัญญากับเราไม่ได้ว่าการมีชีวิตต่อไปจะต้องไปพบเจอความสุขที่ต้องการในสักวัน แต่สิ่งที่ลมหายใจให้ได้คือโอกาสในการเปิดประตูสู่ความเป็นไปได้เหล่านั้น เป็นหนทางไปสู่ความสุขสุดท้ายที่เราจะสามารถให้ตัวเองได้ในวันที่ต้องการความสุขมากที่สุด

2. เปิดโอกาสให้ตนเองได้รับความสุข

หลายครั้งที่ลำพังใช้ชีวิตของตนเองก็เหนื่อยมากพอแล้ว และอีกหลายครั้งที่สังคมที่รายล้อมมันไม่เหมาะกับเราเสียเลย เราจึงเลือกที่จะเก็บตัวและโดดเดี่ยวตนเองออกจากสังคม สุดท้ายแล้วก็ต้องรับมือกับทุกความหนักอึ้งในชีวิตเพียงลำพังบวกด้วยความเหงาอีกเท่าตัว

การพาตนเองออกไปเจอกับโลกภายนอก ไม่ว่าโลกใบนั้นจะเป็นโลกที่เหมาะกับเราหรือไม่ เป็นโลกที่เราชอบหรือเปล่า แต่อย่างน้อยก็จะเป็นประตูที่จะพาเราไปสู่โอกาสใหม่ๆ หากมีข้อจำกัดบางประการ ก็อาจจะลองเริ่มต้นจากสังคมใหม่ที่ใกล้เคียงจากกลุ่มเดิมก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี

3. ฝึกทักษะการยืดหยุ่นและการปรับตัว

แน่นอนว่าทุกคนย่อมมีหลักการและข้อยึดถือบางอย่างเพื่อเป็นแนวทางในการใช้ชีวิต แต่บางครั้งโลกก็ไม่ใจดีพอให้เรายึดเหนี่ยวหลักการนั้นไว้ได้ตลอดไป สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การเรียนรู้สิ่งใหม่ เปิดใจให้กว้างและยอมรับสถานการณ์ตรงหน้าจะทำให้เรารับมือกับยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น

4. แม้จะยากแต่การคิดบวกยังคงสำคัญ

‘การคิดบวก’ ในที่นี้ไม่ใช่การพยายามหลอกตัวเองด้วยการทาน้ำผึ้งบนแอปเปิลเคลือบยาพิษ หรือการพยายามลดทอนความโหดร้ายของบางเรื่องราวลง แต่เป็นการทำความเข้าใจสถานการณ์ตามความเป็นจริงและเชื่อมั่นเสมอว่าทุกสิ่งจะผ่านไปนั่นเอง

คำว่า “ชีวิต” ตัวมันเป็นก็หนักอึ้งถึงอย่างนั้นก็เป็นสิ่งมหัศจรรย์เดียวที่จะเกิดขึ้นกับเรา แม้ว่ามันจะยากเสียหน่อยในยุคสมัยนี้ แต่เวลายังคงเดินหน้าอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ไม่กี่สิบปีที่แล้วผู้คนยังไม่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายและความเท่าเทียม แต่ปัจจุบันคู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้ในบางประเทศ เป็นหลักฐานอย่างดีว่าสักวัน “อนาคตที่ดีกว่า” จะต้องมาถึง การเฝ้ารอมันมาถึงก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้เช่นเดียวกัน

ที่มา
– ‘Why Is Life So Hard?’ How to Cope When You Feel This Way: Julia Childs Heyl, VeryWellMind – https://bit.ly/42clYob
– Families fall deep in debt for mental health care. Why is insurance so spotty?: Michelle Baruchman, The Seattle Times – https://bit.ly/48GzH98
– สถิติคนไทยฆ่าตัวตายสูงสุดในรอบ 5 ปี  ปัญหาสุขภาพจิตคนไทยยังน่าห่วง: Spotlight Amarin TV – https://bit.ly/3vHGHEi

#society
#lifequality
#mentalhealth
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า