SOCIETYคนดังก็ต้องการพื้นที่ส่วนตัว! เมื่อ Privacy เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนไม่ควรโดนละเมิด

คนดังก็ต้องการพื้นที่ส่วนตัว! เมื่อ Privacy เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนไม่ควรโดนละเมิด

หากพูดถึงการเป็นคนดังเฉกเช่นดารา ศิลปิน นักร้อง อินฟลูเอนเซอร์ หรือยูทูบเบอร์ทั้งหลาย ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการอยู่ในวงการนี้มีข้อดีคือการมีชื่อเสียงและเงินทองมากมาย แต่ในขณะเดียวกัน การยืนอยู่ ณ จุดนั้นต้องแลกกับอะไรหลายอย่างแบบไม่อาจเลี่ยงได้ หนึ่งในนั้นคือ “Privacy” หรือ “ความเป็นส่วนตัว”

บางคนอาจมองว่าการละทิ้งความเป็นส่วนตัวเพื่อแลกกับการได้เป็นดาราและความมั่งคั่งก็ไม่เห็นจะมีปัญหาใดๆ เลย เพราะพวกเขาเหล่านั้นได้มีชีวิตดีๆ ที่ใครหลายคนอยากมี แต่แท้จริงแล้วมันถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับใครหลายคนที่อยู่ในวงการนี้ เพราะมันสามารถนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายได้

ดังนั้นเราจึงควรมาทำความเข้าใจเรื่อง Privacy กันใหม่ เพื่อไม่ให้ไปละเมิดความเป็นส่วนตัวของคนอื่นโดยไม่รู้ตัว เพราะถึงแม้ว่าบางคนจะมีความคิดสุดโต่งว่าหากอยากเป็นศิลปินก็ต้องยอมแลกความเป็นส่วนตัวทั้งหมดของตัวเอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าก็สมควรมีพื้นที่ส่วนตัวกันบ้างทั้งนั้น จริงไหม?

เมื่อพูดถึงคำว่า Privacy หรือความเป็นส่วนตัวแล้ว ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่กว้างมากๆ และเกี่ยวข้องกับหลายแขนงในชีวิตเรา หากพูดถึงความเป็นส่วนตัวในโลกโซเชียลมีเดีย หลายคนก็อาจนึกถึง Privacy Policy ที่ปรากฏตามหน้าเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งเป็นการแจ้งรายละเอียดว่าเว็บไซต์จะเก็บข้อมูลอะไรของเราและจะมีมาตรการในการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเราอย่างไรบ้าง

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะเราก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทุกอย่างเริ่มเข้าสู่โลกออนไลน์ ข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและเราเองก็ควรให้ความสำคัญด้วย แต่นอกจากเรื่อง Privacy ที่เกี่ยวข้องกับตัวเราเองแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือความเป็นส่วนตัวของ “ผู้อื่น” โดยเฉพาะกับคนดังที่หลายคนมองว่า “เมื่อคุณเลือกจะเป็นคนดังแล้ว ก็ต้องรับเรื่องความเป็นส่วนตัวที่หายไปให้จงได้”

ตอนนี้อาจกล่าวได้ว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่ความเป็นส่วนตัวนั้นเหมือนกับ “สัตว์ใกล้สูญพันธุ์” ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ คือ การที่สำนักข่าวชื่อดังในเกาหลีชอบหากินกับข่าวเดตของศิลปินชื่อดัง ผ่านการแอบถ่ายรูปของศิลปินหลายคู่แล้วนำมาลงข่าวอยู่ทุกปีๆ

หรือหากดูในฝั่งของอเมริกา จัสติน บีเบอร์เองก็ถูกปาปารัสซีแอบถ่ายภาพขณะที่กำลังใช้ชีวิตส่วนตัว หรือโดนแฟนคลับยืนรออยู่หน้าบ้านอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเขาเองก็เคยออกมาร้องขอให้ช่วยเคารพความเป็นส่วนตัวของเขาด้วย หรือนักแสดงสาวอย่างรีส วิเธอร์สปูนเองก็เคยออกมาพูดว่า เวลาจะออกไปในที่สาธารณะแต่ละครั้งเป็นเรื่องที่ยากมาก บางครั้งเธอก็ทำได้แค่อยู่ในรถและร้องไห้

จะเห็นได้ว่าหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ความเป็นส่วนตัวของคนดังหดหายไปคือ “สื่อ” ที่ตามติดชีวิตศิลปินจนเหมือนเป็นสตอล์กเกอร์ และอีกปัจจัยหนึ่งก็หนีไม่พ้น “แฟนคลับ” ที่เป็นสตอล์กเกอร์หรือที่ใครหลายๆ คนเรียกว่า “ซาแซง”

แล้วติ่งขนาดไหนกันล่ะที่เรียกว่าเกินพอดี? จริงๆ ในทางการแพทย์มีคำว่า Celebrity Worship Syndrome (CWS) หรือการบูชาคนดัง คือความผิดปกติทางจิตที่ผู้ป่วยจะคลั่งไคล้และหมกมุ่นกับชีวิตของศิลปินหรือคนดังขั้นรุนแรง จนถึงขั้นมีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงการคุกคาม เช่น การสะกดรอยตามจนทำให้ศิลปินเกิดความวิตกกังวลหรือหวาดกลัว

จริงๆ แล้วการบูชาคนดังนั้นมีหลายระดับ อย่างเบาๆ คือการตั้งชื่อลูกหรือแต่งตัวตามดาราที่ชอบ แรงขึ้นมาอีกขั้นคือการทำศัลยกรรมให้เหมือนดาราที่ชื่นชอบ และขั้นรุนแรงสุดขั้วก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าอาจถึงขั้นสะกดรอยตามและล่วงละเมิดเลยก็ว่าได้

ซึ่งจากงานวิจัย “A CLINICAL INTERPRETATION OF ATTITUDES AND BEHAVIORS ASSOCIATED WITH CELEBRITY WORSHI” ชี้ว่า คนทั่วไปมากถึง 1 ใน 3 อาจมีอาการ Celebrity Worship Syndrome ในระดับรุนแรง กล่าวคือ มีความเอาใจใส่บุคคลเป้าหมายอย่างแรงกล้าและมีความคิดที่ไม่มีเหตุผล รวมถึงมีความรักความสัมพันธ์ข้างเดียวแบบเข้มแข็งกับศิลปินด้วย

การรักศิลปินแบบผิดๆ เช่นนี้เองที่ทำให้ความเป็นส่วนตัวของคนที่มีชื่อเสียงนั้นหดหายไปเรื่อยๆ ซึ่งจากเดิมที่ศิลปินไม่ค่อยมีความเป็นส่วนตัวอยู่แล้ว โลกยุคดิจิทัลก็เข้ามาทำให้ความเป็นส่วนตัวลดลงเรื่อยๆ จนแทบไม่หลงเหลือ เพราะคนเข้าถึงข้อมูลและส่งต่อข้อมูลกันง่ายขึ้น

Advertisements
Advertisements

ก่อนอื่นหากใครที่กำลังมีป้าย “สื่อ” แขวนคอไว้อยู่ ก็อาจกล่าวได้ว่าตอนนี้นักข่าวต้องเผชิญกับการรักษาสมดุลระหว่างการเคารพความเป็นส่วนตัวกับการต้องเขียนข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน หมายความว่าบางครั้งนักข่าวก็อาจต้องรบกวนความเป็นส่วนตัวของใครบางคนอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น ข่าวอาชญากรรมและพฤติกรรมต่อต้านสังคม การทุจริตหรือความยุติธรรม หรือความสามารถในการทำงานของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพราะเป็นการทำข่าวเพื่อสาธารณชน

ดังนั้นกฎสำคัญอย่างหนึ่งที่สื่อควรพึงระลึกไว้เสมอคือ จะต้องปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความยุติธรรมและความเคารพ เหตุผลเดียวที่สื่อจะเข้าไปยุ่งกับความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นได้คือ มันจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และสื่อกำลังเผยการกระทำที่ผู้นั้นทำผิดอย่างแท้จริง ไม่ใช่การเขียนข่าวหรือเล่าข่าวแบบใส่สีตีไข่ นำเอาข้อมูลของคนดังมาปู้ยี่ปู้ยำ จนก่อให้เกิดความเสียหายโดยไม่มีหลักฐานหรือมีประโยชน์ต่อสาธารณชนแต่อย่างใด

และอีกอย่างหนึ่งคือ หากมีแหล่งข่าวใดส่งข่าวมาให้หลังบ้าน ในฐานะสื่อจะต้องมีการเช็กข้อมูลอย่างรอบด้านว่าแหล่งข่าวน่าเชื่อถือขนาดไหน ข้อมูลนั้นเป็นจริงหรือไม่ หรือข้อมูลนั้นสมควรลงข่าวให้สาธารณชนรับรู้หรือไม่ หากลงไปจะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นหรือเปล่า เช่น ภาพ คลิปเสียง หรือวิดีโอที่เป็นเรื่องส่วนตัว หากเจ้าของเสียง คนที่อยู่ในภาพหรือในวิดีโอยังไม่ได้อนุญาตให้ปล่อย สื่อก็ไม่สมควรที่จะลง

อย่าลืมว่าในฐานะสื่อควรจะต้องสร้างความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ ความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และความถูกต้อง เพราะมันคือจรรยาบรรณของการเป็นสื่อ อย่าละทิ้งค่านิยมเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นผู้ติดตามหรือประชาชนคนทั่วไปจะสูญเสียความไว้วางใจในตัวคุณ เฉกเช่นกรณีข่าวลุงพล ที่มีสำนักข่าวลงข้อมูลโจมตีพ่อแม่ของผู้เสียหาย แต่กลับให้แสงผู้ต้องสงสัยในคดี ในท้ายที่สุดความน่าเชื่อถือของการเป็นสื่อจึงลดลง

ในขณะเดียวกัน หากพูดถึงในฐานะคนธรรมดาทั่วไปว่าควรทำอย่างไรถึงจะไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น อย่างแรกที่เราสามารถทำได้คือ หากเห็นข่าวที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นอย่าส่งต่อข่าวนั้น เพื่อที่เราจะได้ไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการทำผิดในครั้งนั้น

และอีกทางหนึ่งที่เราสามารถทำได้คือ อย่าปล่อยข่าวที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ช่วงนี้เราจะเห็นการไหลตามกันในโซเชียลบ่อยๆ เช่น คนหนึ่งแฉ อีกคนออกมาแฉตาม แล้วชาวโซเชียลก็ก่นคำด่าไปตามๆ กัน โดยที่ยังไม่รู้ว่าเรื่องที่คนเหล่านั้นออกมาเล่าจริงเท็จแค่ไหน แถม ‘บางครั้ง’ ยังเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของคนอื่นอีกด้วย เช่น ขุดเอาข้อมูลส่วนตัวของคนที่กำลังเป็นประเด็นมาแขวนในโลกโซเชียล

ดังนั้น หากอยากให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้น อยากให้ศิลปินที่เรารักมีความสุขมากขึ้น เราก็ควรหันมาตระหนักถึงเรื่อง Privacy กันให้มากขึ้น

เราสามารถชื่นชอบหรือรักศิลปินคนไหนก็ได้ แต่อย่าลืมว่าสุดท้ายแล้วเราไม่ควรละเมิดความเป็นส่วนตัวของคนอื่น หรือแม้แต่หากเราไม่ชอบศิลปินคนไหน เมื่อมีข่าวเสียๆ หายๆ ออกมา เราก็ควรฉุกคิดก่อนว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำหรือจะพิมพ์ลงไปมันเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นหรือเปล่าหรือข่าวนั้นจริงเท็จแค่ไหน จงระลึกไว้เสมอว่าอย่าล้ำเส้นคนอื่นเหมือนที่เราเองก็ไม่อยากให้ใครมาล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวของเรา

“Treat others how you want to be treated.” – ปฏิบัติต่อคนอื่นให้เหมือนกับที่อยากให้คนอื่นปฏิบัติกับเรา ประโยคนี้เป็นจริงและสามารถหยิบยกขึ้นมาใช้ได้เสมอ กับเหตุการณ์ข้างต้นนี้ก็เช่นกัน

จงมีสติ รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร และเอาใจเขามาใส่ใจเราเสมอ


อ้างอิง
– Fan or Obsession? All About Celebrity Worship Syndrome : PsychCentral – https://bit.ly/3NQVrGS
– Privacy 2.0: We Are All Celebrities Now : Linton Weeks, NPR – https://bit.ly/48HBhHo
– Respecting privacy as a journalist : Media Helping Media – https://bit.ly/4aKdp7P

#society
#privacy
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า