เราอาจเคยตั้งปณิธานที่ยิ่งใหญ่ในใจ อาจเป็นความตั้งใจที่จะมีชีวิตที่ดี มีการงานที่มั่นคง มีเงินสักก้อน มีบ้านสักหลัง หรืออาจเป็นความต้องการที่เรียบง่ายแต่ยุ่งยากที่สุดอย่าง “มีความสุข” ทว่าไม่มีอะไรที่จะเป็นไปตามความคาดหวังของเราเสมอ เพราะในชีวิตทุกวันของเราต้องเจอกับสิ่งที่คาดเดาไม่ได้และอุปสรรคอีกมากมาย
พอเรามัวแต่แก้ปัญหาทุกสิ่งอย่างในแต่ละวันแบบเต็มกำลัง ทั้งแรงกายและแรงใจก็ไม่เหลือให้กลับมา “เชื่อมั่น” ในเป้าหมายของเราได้อีก
บางครั้งเราอาจรู้สึกว่าปัญหาในแต่ละวันมันช่างมากมายเหลือเกิน ความเหนื่อยล้าทำให้เกิดเสียงในหัวที่คอยสบประมาทความพยายามของตัวเอง สงสัยขึ้นมาว่าต้องอดทนอีกมากขนาดไหนเราถึงจะใกล้เป้าหมาย? เราพยายามมากพอแล้วหรือยัง? และอีกนานหรือยังกว่าจะถึง? จนสมองเจ้ากรรมอาจตีความไปเลยว่า “เราไม่มีทางไปถึง”
แต่อันที่จริงเราแค่กำลังอยู่ “ระหว่างทาง” สู่ความสำเร็จเท่านั้น
ในวันที่เราเผลอสะดุดหินก้อนเล็กๆ จนล้มลง เข่าสองข้างอยู่บนพื้น ศอกเปื้อนกรวดหินและทราย ตาของเราจะมองเห็นแต่เส้นทางข้างหน้าด้วยความท้อใจ นึกถึงแต่ความเจ็บปวดที่กำลังเผชิญจนไม่อยากไปต่อ แต่พอเราตั้งสติได้ แล้วนั่งพักสักครู่ หยิบแผนที่เดิมขึ้นมาดู เราจะพบว่า “เราเดินออกมาจากจุดแรกไกลขนาดนี้เชียว”
เมื่อเราลองลากนิ้วจากจุดสตาร์ตมาถึงจุดปัจจุบัน เราจะเริ่มจำได้ว่า เราเคยอดทนเดินผ่านถนนลูกรัง ข้ามเนินที่สูงชัน ข้ามแม่น้ำที่เชี่ยวกราก ข้ามสะพานที่ผุพัง หรือแม้แต่วิ่งหนีคนป่าใจร้ายก็ยังเคยทำมาแล้ว ถ้าอย่างนั้นกับหินก้อนเล็กๆ ที่ทำให้เราสะดุดล้ม มันน่ากลัวตรงไหนกัน?
ไม่ใช่เพียงหยิบแผนที่ขึ้นมาดูว่ายังเหลือระยะทางอีกเท่าไร แต่หยิบขึ้นมาดูว่าทุกเส้นทางที่เราเคยผ่านมา ทุกความลำบากที่เราเคยเผชิญ และทุกเวลาที่เราเสียไป ก็เพื่อเดินไปให้ถึง “จุดหมาย” ที่เราปักธงไว้
ถ้าทุกก้าวของเรา ทั้งก้าวเล็กและก้าวใหญ่ กำลังพาเราให้เข้าใกล้จุดหมายของเราอยู่ ความพยายามของเราในแต่ละก้าวก็จะมี “คุณค่า” เสมอ
ในเวลาที่เรากำลังสงสัยในความพยายามของตนเอง หรือท้อแท้ในวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ ลองหยิบแผนที่อันเดิมที่เราเคยวาดไว้กลับขึ้นมาดูอีกครั้ง และเรียกความมั่นใจให้กลับมาไปพร้อมกับวิธีการข้างล่างนี้
เรียกความเชื่อมั่นในการเดินทางของเรา
[ ] เช็กเป้าหมายอีกครั้ง
ความลังเลสับสนอาจมาจากความไม่ชัดเจนของเป้าหมาย ลองตรวจสอบดูอีกครั้ง ว่าความต้องการของเราที่เคยตั้งไว้ ตอนนี้เรายัง “ต้องการ” อยู่อีกหรือเปล่า ถ้าเป้าหมายเก่ายังคงเป็นเป้าหมายปัจจุบัน ลองพิจารณาดูอีกทีว่าเป้านั้นยังมีความชัดเจน เอื้อมถึงได้ และวัดผลได้หรือไม่
[ ] หมั่นกลับไปดูความคืบหน้า
บางคนอาจเลือกใช้วิธีย่อยเป้าหมายใหญ่ออกมาเป็นข้อเล็กๆ เพื่อที่จะได้เห็นชัดเจนว่าเรามีความคืบหน้าไปขนาดไหนแล้ว แต่อย่าลืมว่าเส้นทางสู่เป้าหมายไม่เคยเป็นเส้นตรง บางครั้งมีขึ้นมีลง บางครั้งอาจเหวี่ยงมาที่เดิม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีความคืบหน้า ต่อให้เป็นก้าวที่เล็กมากก็ยังถือว่าเป็นความคืบหน้า
[ ] ภูมิใจแม้กระทั่งความสำเร็จเล็กๆ
เพราะบางครั้งเราอาจโฟกัสแต่เป้าหมายใหญ่ตรงปลายทาง จนอาจลืมว่าความพยายามเล็กน้อยในแต่ละวันของเรา ก็คู่ควรกับการเฉลิมฉลองเหมือนกัน เราอาจเคยตั้งเป้าหมายว่าต้องลดน้ำหนักให้ได้ 10 กิโลกรัม จนลืมไปว่าลดได้แค่ 1 กิโลกรัมต่อเดือนก็ถือว่าเก่งมากแล้ว
[ ] เรียนรู้จากความผิดพลาด
เราอาจเคยถูกสอนให้กลัวและหลีกเลี่ยงความผิดพลาด แต่แท้จริงแล้วความผิดพลาดไม่ใช่สิ่งที่ใครจะหลีกหนีได้ แม้แต่คนที่ประสบความสำเร็จก็ไม่เคยมีใครที่ไม่ผิดพลาด ในทางตรงกันข้าม การเรียนรู้จากความผิดพลาดและยอมรับมันต่างหากที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
[ ] ท้าทายเสียงในหัว
ในวันที่เราท้อแท้ เสียงในหัวจะต้องเริ่มทำงานเพื่อบั่นทอนจิตใจเราอย่างแน่นอน ขอให้เรารู้ทัน ตั้งคำถามและท้าทายมัน เพื่อพิสูจน์ว่าเสียงนั้นคิดผิด โดยเราอาจกลับไปย้อนดูสิ่งที่เขียนในบันทึกประจำวัน (Journal) หรือในเครื่องมืออื่นที่ใช้ติดตามวัดผลงาของนเรา แล้วเราจะเห็นว่าเสียงในหัวไม่ได้ถูกต้องเสมอไป
[ ] สนุกไปกับระหว่างทาง
เมื่อเราเลือกที่จะเชื่อมั่นในทางที่เราเลือก เราก็จะต้องยอมรับว่านี่อาจเป็นหนทางที่ยาวไกลพอสมควรกว่าจะถึงเป้าหมาย ในระยะทางที่ยาวไกลนี้แทนที่เราจะคาดหวังแต่ผลลัพธ์วันข้างหน้า ให้เราลองสนุกไปกับความท้าทายและการพัฒนาตนเองในแต่ละวัน
[ ] อยู่กับปัจจุบัน
เพราะการคาดหวังเป็นสิ่งที่กลืนกินความพยายามของเราได้มากที่สุด บางคนอาจโฟกัสที่จุดหมายปลายทางบนแผนที่จนกังวลและผิดหวัง และอาจลืมไปแล้วว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ที่จุดไหน หรืออาจลืมไปแล้วว่าอนาคตที่ดีของพรุ่งนี้ ก็มาจาก “ปัจจุบันนี้” ที่ดีเหมือนกัน
[ ] ยอมรับความไม่แน่นอน
เพราะชีวิตของเราไม่ได้เรียบง่ายเป็นเส้นตรง และชีวิตของเราก็ยังเกี่ยวพันกับอีกหลายชีวิตด้วยกัน เราจึงต้องปรับตัวให้ยืดหยุ่นเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนตลอดเวลา คนที่สามารถยอมรับและเข้าใจความไม่แน่นอนได้ จึงจะเป็นคนที่สามารถควบคุมสถานการณ์และผลกระทบที่จะมาถึงตนเองได้
[ ] แยกสิ่งที่ควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้
ปัญหาที่เราเผชิญมีอยู่ทุกวันและอาจทำให้เรากังวลได้ทุกวัน แต่สมองของมนุษย์เรามีพลังงานที่จำกัด เราไม่สามารถหาทางออกกับทุกปัญหาในชีวิตได้เสมอไป หากมันมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้รวมอยู่ด้วย ทางที่ดีที่จะทำให้เราคลายความกังวลและทำให้เป้าหมายของเราสำเร็จไปอีกขั้น คือการแยกแยะว่าปัญหาไหนที่เราจัดการได้ด้วยตนเองและปัญหาไหนที่เราควบคุมด้วยตนเองไม่ได้
สมมติว่าเราคือคุณครูท่านหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาเรื่องเด็กไม่ตั้งใจเรียน เราเครียดเพราะรู้สึกว่าเป็นความผิดของตนเองที่วางแผนการสอนไม่น่าดึงดูดพอให้เด็กๆ สนใจ แต่ความจริงแล้ว การที่เด็กแต่ละคนจะเลือกสนใจอะไรเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก สิ่งที่เราทำได้มีเพียงอย่างเดียวคือการพัฒนาแนวทางการสอนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
[ ] พักผ่อนสักหน่อย
เพราะเราอาจจริงจังกับเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ จนลืมจริงจังกับการพักผ่อน การเดินทางที่ยาวนานมักทำให้เราเหนื่อยล้า เราอาจจะกำลังฝืนตัวเองมากเกินไปจนกระทบมาถึงสภาพร่างกายและสภาพจิตใจ ในเป้าหมายย่อยที่แยกออกมาจากเป้าหมายใหญ่ของเราจึงควรรวมเอาแผนการพักผ่อนไปปรับให้สมดุลด้วยถึงจะเหมาะสม
ผลลัพธ์ที่น่าภูมิใจต้องแลกมากับความพยายาม ระหว่างทางเราอาจจะมีล้มลุกคลุกคลานและอาจต้องเผชิญกับการสงสัยในตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ถ้าเป้าหมายที่เราตั้งไว้มีคุณค่าพอให้ทุ่มเท การล้มเพื่อเป้าหมายก็ไม่ใช่เรื่องของความพ่ายแพ้แต่อย่างใด ขอแค่เรายังคงเชื่อมั่นว่า ต่อให้เราล้มเพราะอุปสรรคมากขนาดไหน แต่ทางที่เรากำลังเดินอยู่คือทางที่จะพาเราไปสู่เป้าหมายแน่นอน
อ้างอิง
– 3 Proven Strategies for Trusting the Process in Your Life: Time Value Millionaire – https://bit.ly/3Qp5LZ7
– What to Do When You Feel Like You Can’t Do Anything Right: Ariane Resnick, CNC – https://bit.ly/43W1CPu
#selfdevelopment
#inspiration
#trusttheprocess
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast