เคยสงสัยไหมว่า คนที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานเขาทำอย่างไรถึงมาสู่จุดที่เขายืนอยู่ได้?
บนโลกใบนี้มีผู้คนที่ประสบความสำเร็จมากมาย ซึ่งกว่าจะไปถึงความสำเร็จได้แต่ละคนก็ใช้วิธีที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่าจะไม่มีเส้นทางสู่ความสำเร็จที่ชัดเจน แต่เชื่อไหมว่ามีลักษณะนิสัยหรือแนวคิดบางอย่างที่ผู้ประสบความสำเร็จมีเหมือนกัน และสิ่งนั้นก็เป็นเคล็ดลับที่ช่วยให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายของตัวเองได้
ในบทความนี้เราจะพาไปสำรวจเส้นทางชีวิตของ Guy Kawasaki ว่าบุคคลธรรมดาๆ ที่ไม่ได้มีต้นทุนชีวิตด้านการเงินมากมาย แต่สุดท้ายแล้วทำไมถึงกลับกลายเป็นชายผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple ได้
จุดเริ่มต้นของ Guy Kawasaki
Guy Kawasaki เคยเป็น Chief Evangelist ที่เคยร่วมงานกับ Steve Jobs หนึ่งในผู้ก่อตั้งของ Apple มาก่อน และปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งเดิมแต่ย้ายมาอยู่ที่ Canva แพลตฟอร์มออกแบบกราฟิกชื่อดัง
นอกจากนี้ เขายังเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการและนักเขียนหนังสือขายดีมากกว่า 15 เล่ม เช่น The Macintosh Way, The Art Of Social Media, และ Wise Guy
แต่กว่าที่เขาจะเดินทางมาสู่จุดนี้ได้ ก็ต้องบอกก่อนว่าครอบครัวของเขาไม่ได้มีฐานะร่ำรวย แถมยังเคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ยากลำบากมาก่อน โดยแม่ของเขามีอาชีพเป็นแม่บ้าน ส่วนพ่อเป็นพนักงานดับเพลิง
แล้วอะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ Guy Kawasaki ก้าวเข้าสู่การทำงานกับบริษัทระดับโลกอย่าง Apple และมีชื่อเสียงมาจนถึงทุกวันนี้ได้?
4 บทเรียนเบื้องหลังความสำเร็จของ Guy Kawasaki
1. อย่ากลัวที่จะใช้ประโยชน์จากคอนเน็กชัน
ถึงแม้ว่าบ้านของ Kawasaki จะไม่รวย แต่ครอบครัวก็พร้อมสนับสนุนเรื่องการเรียนของเขาเสมอ จนเขาเรียนจบคณะจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด นี่ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของเขา
เพราะก็อย่างที่ทุกคนเคยได้ยินมาว่า “อยากเป็นคนแบบไหน ก็ให้พาตัวเองไปอยู่ในที่แบบนั้น” ดังนั้นการที่เขาได้เข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยระดับต้นๆ ของโลก จึงทำให้เขาได้เจอเพื่อนฝูงมากมายที่คอยสนับสนุนเขาอยู่เสมอ เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “การสร้างเครือข่ายและคอนเน็กชัน”
และแน่นอนว่าการสร้างเครือข่ายเช่นนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาอาชีพเป็นอย่างมาก เพราะ..
[ ] การสร้างเครือข่ายช่วยสนับสนุนความเป็นอยู่ทางสังคมที่ดีให้กับเรา
[ ] การสร้างเครือข่ายจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลาย
[ ] การสร้างเครือข่ายจะทำให้เรารู้จักกับคนทุกระดับอาชีพ
คอนเน็กชันเหล่านี้เองที่เป็นจุดเปลี่ยนทำให้ Kawasaki ก้าวเข้าสู่การทำงานในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Apple ได้ เพราะเขาเล่าว่า Mike Boich เพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยของเขาที่กำลังทำงานอยู่ที่ Apple ได้มาชักชวนให้ไปทำงานด้วยกันนั่นเอง
2. ช่วยเหลือคนอื่นเสมอ
การสร้างคอนเน็กชันไม่ใช่แค่การเป็นฝ่ายรับเพียงอย่างเดียว แต่เราจะต้องเป็นฝ่ายให้ด้วย ซึ่งการให้และรับแบบนี้สุดท้ายแล้วจะเป็นการสร้างรากฐานมิตรภาพที่ดี ดังนั้นหากมีเรื่องอะไรที่เราสามารถช่วยเหลือคนรอบข้างได้ เราก็ควรยื่นมือเข้าไปช่วยบ้าง ไม่ใช่แค่รอให้คนอื่นยื่นมือมาช่วยเราเพียงอย่างเดียว
เข้าใจว่าบางคนอาจจะกลัวว่าถ้าเราช่วยเหลือคนอื่นมากไปแล้วจะถูกเอาเปรียบ แต่ Kawasaki ไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะเขาบอกว่าการช่วยเหลือผู้อื่นนั้นมีข้อดีมากเกินกว่าที่จะมานั่งกังวลเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการถูกเอารัดเอาเปรียบ
3. ให้ความสำคัญกับความประทับใจแรก (First Impression)
เมื่อพูดถึงการสร้างคอนเน็กชันแล้ว สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เราควรให้ความสำคัญมากๆ เลยก็คือ ความประทับใจแรก (First Impression)
เพราะความประทับใจแรกเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียวและใช้เวลาเพียงแค่ไม่ถึงหนึ่งนาทีด้วยซ้ำ ถ้าเราสามารถสร้างความประทับใจแรกได้ดี ก็มีโอกาสที่คนเหล่านั้นจะจดจำเราได้ท่ามกลางผู้คนมากมายที่พบเจอ
ซึ่งสิ่งนี้มีประโยชน์ในหลายๆ สถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์งานหรือการขายงานให้ลูกค้า เชื่อว่าหากเราสร้างความประทับใจได้ดี คนเหล่านั้นจะนึกถึงเราเป็นอันดับแรกๆ อย่างแน่นอน เรียกได้ว่าเป็นความสามารถอย่างหนึ่งในการสร้างเครือข่ายที่ดีเลยทีเดียว
ฉะนั้นถ้าอยากสร้างความประทับใจแรก สิ่งที่สามารถทำได้ง่ายๆ ก็คือ “การยิ้มให้กับคนอื่น” เพราะการยิ้มไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร แต่หากเราไม่ยิ้มเราอาจสูญเสียโอกาสในการสร้างความประทับใจแรกและโอกาสในการสานสัมพันธ์หลังจากนี้ไปได้
ซึ่ง Kawasaki ก็ได้บอกไว้ว่าการยิ้มและการหัวเราะนอกจากจะเป็นการสร้างความสุขให้กับตัวเราเองแล้ว ในขณะเดียวกันหากมีคนมาเห็นว่าเรายิ้มและหัวเราะ ในครั้งต่อๆ ไปพวกเขาก็จะรู้สึกสบายใจและมีความสุขที่เห็นเรา
4. มุ่งมั่นในการทำงานและเดินตามสิ่งที่ชอบ
Kawasaki กล่าวไว้ว่า ความสำเร็จของใครหลายๆ คนมาจากคำเพียงคำเดียว นั่นก็คือ Grit หรือความทรหดอดทนทำอะไรบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมา แม้ว่าตัวเขาเองจะเรียนที่สแตนฟอร์ด แต่เขาไม่เคยคิดว่าตัวเองฉลาดกว่า เก่งกว่า หรือมีวิสัยทัศน์มากกว่าใครเลย สิ่งที่เขาทำได้มากกว่าคนอื่นๆ มีเพียงแค่ “การทำงานให้หนักกว่าคนอื่นและสนุกกับงานที่ทำ”
ตัวอย่างเช่น หากพูดถึงงานเขียน ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่นักเขียนทุกคนที่จะชอบแก้ไขงานซ้ำๆ แต่สำหรับ Kawasaki แล้ว เขาใช้เวลาในการปรับปรุงและแก้ไขงานของเขาเป็นเวลาหลายเดือนเลยทีเดียว
เก่งในสิ่งที่คนอื่นต้องการ
ไม่ว่าจะในตลาดแรงงานหรือตลาดของการทำธุรกิจ เราต่างก็มีคู่แข่งมากมาย แต่ประเด็นสำคัญก็คือ แม้ว่าเราจะเก่งแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าเราไม่ได้เก่งในสิ่งที่คนอื่นต้องการ ชีวิตการทำงานของเราก็อาจจะไม่ได้ก้าวไปข้างหน้าขนาดนั้น
เพราะฉะนั้น เราจะต้องมี “ทักษะที่โดดเด่นและเป็นที่ต้องการ”
ดังที่ Kawasaki กล่าวไว้ว่า “กุญแจสู่ความสำเร็จในอาชีพคือการมีทักษะที่โดดเด่นและมีคุณค่าต่อผู้อื่น เพราะหากคุณมีทักษะที่โดดเด่นแต่ไม่มีคุณค่าต่อผู้อื่น สิ่งนั้นก็จะไม่มีความหมายอะไร และหากคุณมีทักษะที่มีคุณค่าแต่ไม่โดดเด่น สิ่งนั้นก็จะไม่ได้ทำให้เราแตกต่างจากคนอื่น ชีวิตที่ดีจะต้องโดดเด่นและมีคุณค่า ฉะนั้นจงเก่งในสิ่งที่คนอื่นต้องการ”
จะเห็นได้ว่า กว่า Guy Kawasaki จะประสบความสำเร็จได้ต้องผ่านอะไรมาไม่น้อย และการจะไปถึงเป้าหมายได้ไม่ใช่แค่ต้องมีคอนเน็กชันเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีทักษะที่โดดเด่นและเป็นที่ต้องการในตลาดด้วย
สามารถรับฟังเรื่องราวของ Guy Kawasaki เพิ่มได้ที่ : http://bit.ly/3QKTUCF
แปลและเรียบเรียง
– 7 Life Lessons From a “Wise Guy” : Douglas T. Kenrick, Psychology Today – http://bit.ly/3QKhTC1
– What is networking and why is it so important? : Erin Eatough, BetterUp – http://bit.ly/3QRd9dJ
– Importance of first impressions (and how to improve yours) : Indeed – https://bit.ly/3HdZPgv
– Grit (work hard and follow your passion): Lessons from my parents : LinkedIn Learning – https://bit.ly/3WnUO9g
#selfdevelopment
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast