8 สิ่งที่ได้เรียนรู้จากงานวิจัยเรื่อง “ความสุข” จากมหาวิทยาลัย Harvard
“What keeps us healthy and happy when we go through life?”
อะไรที่ทำให้เรามีชีวิตที่สุขภาพดีและมีความสุข? โรเบิร์ต วอลดิงเกอร์ เปิดด้วยคำถามนี้ใน Ted Talk ของเขาในปี 2015 ซึ่ง ณ วันนี้มีผู้คนเข้าชมมากกว่า 23 ล้านครั้ง นับเป็น Ted Talk อันดับต้นๆ ที่มีผู้ชมมากที่สุด โดยเนื้อหาพูดถึงการศึกษาที่ติดตามผู้คนกลุ่มเดิมนานกว่า 75 ปี ตั้งแต่หนุ่มไปจนแก่ เพื่อหาคำตอบว่า “ปัจจัยอะไรที่ทำให้พวกเขามีความสุข”
ผ่านมาจนถึงปี 2023 งานวิจัยนี้ยังดำเนินต่อมาและนักวิจัยก็ได้ค้นพบแง่มุมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา โรเบิร์ต วอลดิงเกอร์ ได้รับเชิญมาให้สัมภาษณ์อีกครั้ง เรามาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่พวกเขาได้เรียนรู้ในงานวิจัยที่กินเวลากว่า 8 ทศวรรษ และประเด็นใหม่ๆ ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมานี้
1) ความสัมพันธ์อันอบอุ่นไม่เพียงแค่ส่งผลต่อจิตใจ แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพกายด้วย
งานวิจัยพบว่าคนที่มีความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบๆ ตัวมักจะเผชิญกับโรคต่างๆ น้อยกว่า เช่น โรคซึมเศร้า โรคเบาหวาน และโรคเกี่ยวกับหัวใจ นอกจากนั้นแล้วยังมีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวจากอาการป่วยได้เร็วกว่าด้วย
2) เพียงแค่มีใครสักคนก็ช่วยต้านความเครียด
ความเครียดวนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราและเราต้องเผชิญกับมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเผชิญหน้ากับความเครียด ร่างกายของเราจะเข้าสู่ “โหมดสู้หรือถอย” (Fight or Flight) ซึ่งจะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นและเหงื่อออกตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
หากเราได้บอกเล่าและระบายความเครียดให้คนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นการโทรหรือการเจอกันต่อหน้า จะช่วยลดความเครียดได้มาก ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตและกายของเราในระยะยาว
3) เพราะไม่มีใครจึงเสี่ยงเครียดเรื้อรัง
ในทางตรงกันข้าม งานวิจัยพบว่าคนที่เจอเรื่องเครียดแล้วไม่มีใครให้ระบาย ร่างกายก็จะอยู่ในโหมดสู้หรือถอยเป็นเวลานาน ซึ่งเมื่อกลายเป็นความเครียดเรื้อรัง (Chronic Stress) ระดับการอักเสบที่เพิ่มขึ้นและการหมุนเวียนของฮอร์โมนส์ความเครียดที่ไม่หยุดหย่อนจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพนับไม่ถ้วน
4) แค่ใครสักคนก็เพียงพอ
เมื่อถามผู้เข้าร่วมการทดลองว่า “ถ้าพวกเขารู้สึกกลัวหรือป่วยกลางดึกขึ้นมาจะโทรหาใคร” บางคนตอบได้หลายชื่อ แต่บางคนก็ตอบชื่อใครไม่ได้เลย แต่งานวิจัยพบว่าขอแค่มีคนอย่างน้อย “เพียง 1 คน” คอยอยู่เคียงข้างเราและเป็นที่พึ่งให้เราในยามทุกข์ก็ส่งผลดีต่อความเป็นอยู่ที่ดีของเรามาก
5) ความสัมพันธ์ที่ดีมีความหมายมากที่สุดในชีวิต
เมื่อถามผู้เข้าร่วมทดลองที่อยู่ในช่วงวัย 80 ว่า “เมื่อย้อนมองอดีตแล้วคุณรู้สึกภาคภูมิใจกับอะไรมากที่สุดในชีวิตนี้” คำตอบของพวกเขาไม่ใช่เรื่องเงินทอง ชื่อเสียง หรือความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ล้วนเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ทั้งนั้น เช่น “ฉันเป็นเพื่อนที่ดี” หรือ “ฉันเป็นสามี/ภรรยาที่ดี”
จะเห็นได้ว่า “ความสัมพันธ์ที่ดี” เป็นเรื่องที่มีความหมายของเราเมื่อมาถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต
6) ไม่จำเป็นต้องเป็นแฟน ครอบครัว หรือเพื่อนสนิท
งานวิจัยพบว่าความสัมพันธ์ทุกประเภทสามารถส่งผลดีต่อความเป็นอยู่ที่ดีได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนในที่ทำงาน แคชเชียร์ที่เราพูดคุยด้วยประจำตอนไปซื้อของ ไปจนถึงคนแปลกหน้าที่เราเคยพูดคุยด้วย
7) คุยกับคนแปลกหน้าส่งผลดีกว่าที่เราคิด
งานวิจัยได้ทดลองโดยการแบ่งผู้เข้าร่วมเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกนั้นต้องขึ้นรถไฟฟ้าโดยไม่พูดคุยกับใคร ฟังเพลง หรืออ่านหนังสือของตัวเองไป ส่วนอีกกลุ่มได้รับคำสั่งให้พูดคุยกับคนแปลกหน้า ผลพบว่าเมื่อสิ้นสุดการเดินทาง กลุ่มที่พูดคุยกับคนแปลกหน้ารู้สึกพึงพอใจมากกว่า
8) ความสัมพันธ์ก็ต้องการการออกกำลังกาย
หากมีความสัมพันธ์แล้วปล่อยไว้เฉยๆ ก็จะเหมือนร่างกายที่ไม่ออกกำลังกาย วันหนึ่งกล้ามเนื้อจะหายไปและร่างกายจะอ่อนแอลง ดังนั้นเราควรหมั่นกระชับความสัมพันธ์เป็นประจำ เหมือนที่เราต้องออกกำลังกายเป็นประจำ
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้เราคงทราบกันแล้วว่าความสัมพันธ์รอบๆ ตัวเรานั้นสำคัญต่อเรามากแค่ไหน ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ วันนี้อย่าลืมโทรถามคนสำคัญของเรา ไถ่ถามว่าวันของเขาเป็นอย่างไร หรืออาจนัดเจอเพื่อนที่ไม่ได้เจอสักพักก็ได้ การกระทำเล็กๆ ที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นนี้ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง เพราะคนรอบตัวเหล่านี้นี่แหละจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของเราไปตลอดชีวิต
ฟังบทสัมภาษณ์เต็มๆ ได้ที่ : https://youtu.be/IStsehNAOL8
#selfdevelopment
#psychology
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast