ทำไม “การรอ” ถึงบั่นทอนหัวใจ? เข้าใจสาเหตุและเรียนรู้วิธีรับมือกับความกังวลที่มากับการรอ ด้วยการเข้าสู่สภาวะ “Flow”

4359
psychology flow 1920

หากถามว่าช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่า “ยาวนาน” ที่สุดคือช่วงเวลาใด​?
แน่นอน หลายๆ คนต้องตอบว่า “ช่วงเวลาแห่งการรอคอย”

ไม่ว่าจะเป็นการรอผลสมัครงาน รอผลสอบ รอผลตรวจสุขภาพ หรือรอคำตอบจากใครบางคน เราทุกคนล้วนได้สัมผัสความทรมานที่เกิดขึ้นระหว่างรอ จนเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเนื้อเพลง ‘รอนานๆ มันอาจจะบั่นทอนหัวใจ’ นั้นหมายความว่าอย่างไรโดยไม่ตรงรอเป็นปีๆ เพราะแม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แค่ไม่กี่ชั่วโมง ไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์ เรากลับรู้สึกว่าเข็มวินาทีเดินช้าจนน่าอึดอัดเหลือเกิน

ซ้ำร้าย ความกังวลที่ก่อตัวอยู่ภายในอาจกลายเป็นความเครียด ทำเอาเราไม่มีสมาธิ กินไม่ได้ และนอนไม่หลับ!

การศึกษาหลายงานพบว่า เมื่อถามผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ว่าช่วงเวลาใดที่รู้สึกยากลำบากที่สุดตั้งแต่ป่วยมา ส่วนใหญ่ตอบว่าขั้นตอนการรอฟังผลว่าเป็นมะเร็งไหมนั้นยากที่สุด แม้อาการป่วยหรือการรักษาด้วยเคมีบำบัดจะแสนทรมาน แต่กลับสู้ช่วงเวลาตอนรอผลตรวจไม่ได้เลย

การรอทำให้เราเครียดได้ขนาดนี้เลยหรือ? บทความนี้เราจะพาคุณไปหาคำตอบว่าทำไมการรอถึงชวนเครียดขนาดนี้ มนุษย์เราเผชิญความทุกข์จากการรอเหมือนกันไหม หรือมีแค่เราที่กังวลมากไป และทำความรู้จักกับ ‘สภาวะ Flow’ ตัวช่วยที่จะทำให้เรารับมือกับการรอได้ดียิ่งขึ้น!

ตอบคำถามที่ว่า ทำไมการรอนานๆ (และไม่นาน) ถึงทรมานขนาดนี้

เคท สวีนีย์ศาสตราจารย์แห่งภาคจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร์ เป็นคน ‘ขี้กังวล’ มาทั้งชีวิต เธอคิดมากจนเป็นนิสัย และเธอคิดว่าที่เธอเป็นเช่นนี้ก็เพราะแม่ของเธอเป็นคนขี้กังวลเช่นกัน หลังจากเรียนจบปริญญาเอก เธอเป็นกังวลทุกวันอยู่ 5-6 เดือนว่าจะหางานไม่ได้ ความทรมานระหว่างช่วงเวลาชีวิตนี้เอง จุดความสนใจให้เธอศึกษาเรื่อง ความเครียดในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอน (เช่นการรอ) และวิธีการรับมือกับมัน

จากการศึกษา เคทพบว่าปัจจัยแรกที่ทำให้การรอเป็นเรื่องทรมาน เป็นเพราะการรอได้รวม 2 “สภาวะท้าทาย” ที่สมองมนุษย์เกลียดแสนเกลียดไว้ด้วยกัน สภาวะแรกคือ ความไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต และอีกสภาวะคือ การที่เราไม่สามารถทำอะไรกับมันได้

ความไม่แน่นอนและความรู้สึกไร้ความสามารถนี้เองที่ทำให้มนุษย์รู้สึกว่าควบคุมอะไรไม่ได้ จริงอยู่ที่ความเครียดอื่นๆ ก็ยากลำบากในแบบของมัน แต่การรอนี้ดูจะทำให้เราอึดอัดใจเสียยิ่งกว่าเพราะสองสภาวะที่กล่าวมานั้นเป็นเรื่องที่รับมือได้ยากในชีวิตมนุษย์เหลือเกิน

ส่วนอีกปัจจัยที่ทำให้การรอเป็นเรื่องยาก คือ ธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะจินตนาการถึง “ผลลัพธ์อันเลวร้ายที่สุด”

หากเป็นผลสอบ เราคงคิดว่าเราติด F
หากเป็นการสัมภาษณ์งาน เราคงคิดว่าเราไม่ผ่านหรอก
และหากเป็นผลตรวจสุขภาพ เราคงคิดว่าเราเป็นมะเร็งแน่ๆ

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้? การศึกษาพบว่าในการรออะไรบางอย่าง แม้ตอนเริ่มต้นจะเริ่มด้วยการมองโลกในแง่ดี แต่พอผ่านไปสักพัก โดยเฉพาะช่วงที่ใกล้จะประกาศผล ความรู้สึกเราจะเริ่มดิ่งลงเหวจนมองโลกในแง่ร้าย แม้จะทำมาดีแค่ไหน แต่เราจะหลงลืมความเป็นจริงและจินตนาการว่ามันต้องออกมาแย่แน่ๆ

ด้วยปัจจัยเหล่านี้เอง การรอที่ฟังดูง่ายเพราะไม่ต้องออกแรงอะไร กลายเป็นเรื่องยากที่ทำเอาหลายคนคิดหนัก! อย่างไรก็ตาม เราเคยสงสัยไหมว่าทำไมคนรอบตัวเรา ‘บางคน’ ถึงรอได้อย่างใจเย็น

สรุปว่าไม่ใช่มนุษย์ทุกคนหรือที่ทุกข์ใจกับการรอ?

งานวิจัยหนึ่งพบว่าผู้หญิงแสดงออกว่ากังวลมากกว่าผู้ชาย โดยปัจจัยมีหลายอย่าง ตั้งแต่วิวัฒนาการไปจนถึงการขัดเกลาทางสังคม เราอาจมองได้ว่า ที่ผู้หญิงกังวลและกล้าที่จะรายงานให้คนอื่นทราบนั้น เป็นเพราะในอดีต ผู้หญิงมักจะไม่ถูกต่อว่าหรือมองว่าอ่อนแอหากร้องไห้หรือแสดงอารมณ์ ในขณะเดียวกัน ผู้ชายมักจะถูกคาดหวังว่าต้องเข้มแข็งและห้ามร้องไห้ จึงมีแนวโน้มที่จะไม่แสดงออก แม้จริงๆ จะกังวลก็ตาม

ตัวตนของแต่ละคนก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน คนที่มีบุคลิกภาพประเภทที่นักจิตวิทยาเรียกว่า บุคลิกภาพแบบ “ไม่มั่นคงทางอารมณ์” (Neuroticism) มักจะกังวลและคิดว่าเรื่องร้ายๆ จะเกิดขึ้นมากกว่า ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับคนที่มองโลกในแง่ดีที่มักเชื่อว่าเรื่องดีๆ จะเกิดขึ้น และถึงไม่เป็นไปตามคาดก็ไม่เป็นไร คนประเภทหลังนี้มักจะรับมือกับความไม่แน่นอนได้ดีกว่า

แล้วถ้าเราไม่ได้เป็นมองโลกในแง่ดีขนาดนั้นล่ะ จะมีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยรับมือกับการรอได้ดีขึ้นไหม

Advertisements

รู้จัก “สภาวะ Flow” และมาฝึกเป็นนักรอมืออาชีพกันเถอะ!

เคยเห็นกันบ้างไหม ศิลปินที่นั่งวาดรูปหรือแต่งเพลงเป็นเวลาหลายชั่วโมง อยู่ที่เดิมไม่ลุกไปไหน ลืมแม้กระทั่งการลุกไปเข้าห้องน้ำ สงสัยหรือเปล่าว่าทำไมคนเหล่านี้ถึงจดจ่อกับงานที่พวกเขาทำจัง

สภาวะเช่นนี้แหละที่เรียกว่า ‘สภาวะ Flow’

หากการนั่งสมาธิคือการมี Awareness หรือ การรับรู้ถึงสภาพแวดล้อม สภาพร่างกายและจิตใจ แต่ปล่อยให้ความคิดไหลผ่านเราไปและอยู่กับลมหายใจเข้า-ออก สภาวะ Flow คือสิ่งที่ตรงกันข้าม เพราะในสภาวะนี้เราจะจดจ่ออยู่กับกิจกรรมบางอย่างจนเรารวมเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ กับกิจกรรมจนแยกไม่ออก เราไม่รับรู้ถึงโลกรอบตัวอีกต่อไป รู้ตัวอีกทีก็นั่งอยู่ที่เดิมมาหลายชั่วโมงแล้ว

ถ้าการรอทำให้เรารู้สึกว่าเวลาเดินช้า จะมีอะไรเหมาะไปกว่าการฆ่าเวลาโดยการเข้าสู่สภาวะ Flow ล่ะ?

สำหรับคนที่พอจะเห็นภาพว่ากิจกรรมที่ตัวเองทำแล้วลืมเวลาคืออะไร ให้ลองเริ่มทำสิ่งนั้นเมื่อเราต้องรออะไรนานๆ ดู จะได้ช่วยให้จิตใจเราไปโฟกัสกับสิ่งอื่นและกังวลน้อยลง แต่สำหรับคนที่ไม่รู้ว่ากิจกรรมที่เราทำแล้ว Flow คืออะไร ศาสตราจารย์เคท สวีนีย์แนะนำว่า “ลองคิดถึงกิจกรรมที่เราห้ามทำถ้ากำลังจะออกจากบ้านไปทำธุระ” พูดง่ายๆ ก็คือกิจกรรมที่เราเริ่มทำแล้วจะหยุดไม่ได้จนกินเวลาไปมากนั่นเอง อาจเป็นการจัดบ้าน จัดตู้เย็น ทำขนม หรือเล่นวิดีโอเกมก็ได้

อย่างไรก็ตาม สภาวะ Flow เป็นเครื่องมือที่ช่วยได้เพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น หากกิจกรรมจบลง เราอาจกลับมากังวลเหมือนเดิม (แต่อย่างน้อยช่วงเวลา 1-2 ชั่วโมงที่ทำอยู่เราก็ได้พักสมองไปโฟกัสสิ่งอื่นนะ) หากเราต้องการรับมือกับความกังวลได้ดีจริงๆ ต้องเริ่มจากการฝึกการมีสติ (Mindfulness) ด้วยกิจกรรมอย่างการนั่งสมาธิหรือโยคะ เพราะคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการตระหนักรู้ว่าเรากำลังคิดมากในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แล้วหันไปทำอย่างอื่นแทน

ศาสตราจารย์เคท สวีนีย์ ยังแนะนำอีกว่า การพูดคุยกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงก็ช่วยได้ มีงานวิจัยหลายงานพบว่า ความสัมพันธ์อันดีเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้สุขภาพจิตของเราดีขึ้น แต่ยังส่งผลดีต่อสุขภาพกายอีกด้วย เป็นที่รู้กันดีว่าการรอคอย โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัว มักจะทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยว การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นนี่แหละจะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นเป็นกอง อย่างไรก็ตาม ควรตระหนักอยู่เสมอว่าคนรอบตัวเราไม่ใช่ผู้ฟังที่ดีเสมอไป เขาอาจไม่เข้าใจสิ่งที่เราเผชิญอยู่ด้วยซ้ำ หากการรอคอยทำให้เรากังวลมากจริงๆ แถมไม่มีใครเข้าใจอีก ลองพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญดูก็จะไม่ใช่เรื่องเสียหายเลย

อีกวิธีที่น่าสนใจคือการ “จดบันทึกความกังวล” หรือ Worry Journal ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไร เขียนไปให้หมดลงในกระดาษแบบไม่ต้องอายว่าใครจะมาเปิดอ่าน หากระบายจนสบายใจแล้ว ค่อยมาวิเคราะห์เป็นขั้นเป็นตอนต่อว่า ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรและเราจะจัดการกับมันอย่างไรได้บ้าง การเปลี่ยนความรู้สึกที่เป็นนามธรรมให้เป็นตัวหนังสือบนกระดาษนี้เองจะช่วยให้เรารับมือได้ดียิ่งขึ้น

หากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นเขียนอย่างไร ขณะเขียนเราสามารถถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ดูได้
[ ] จริงๆ แล้วเรากังวลเรื่องอะไร
[ ] ตอนนี้รู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์นี้
[ ] สิ่งที่เรากังวลอยู่ มันมีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
[ ] ผลลัพธ์เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้คืออะไร
[ ] แล้วผลลัพธ์ที่ดีที่สุดล่ะ
[ ] พอจะมีหนทางทำให้ความกังวลเหล่านี้หายไปไหม


ตั้งแต่เด็กมัธยมเตรียมสอบเข้ามหาลัย นักศึกษาจบใหม่ที่รอผลสมัครงาน ไปจนถึงผู้ใหญ่วัยกลางคนที่เราผลตรวจสุขภาพ ทุกช่วงเวลาของชีวิต มนุษย์เราต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซ้ำร้าย เราอาจสูญเวลาและสุขภาพจิตไปมากกับการกังวลจนทำอะไรไม่ได้ ดังนั้น การฝึกรับมือกับเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สภาวะ Flow การนั่งสมาธิ หรือการพูดคุยกับผู้อื่น จึงเป็นทักษะสำคัญที่เราควรฝึกไว้ เพราะนอกจากจะช่วยให้เราเป็นนักรอที่เก่งแล้ว เรายังได้สิ่งมีค่าอย่าง ‘เวลา’ กลับคืนมาด้วย

Advertisements

สิ่งที่คุณอาจสนใจ:
Why we write? รวม 10 Podcasts พูดถึงเรื่อง “การเขียน”
รู้จัก ‘Morning Pages’ เพราะการเขียนหลังตื่นนอนมีประโยชน์กว่าที่คิด


อ้างอิง:
https://bit.ly/3qJ0RY8
https://bit.ly/3sZpBy8

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่