ภาวะผู้นำในวิกฤติ

5174
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • หนังเรื่อง Saving Private Ryan เป็นเรื่องราวของกองร้อยสหรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ไปช่วยพลทหารไรอันกลับบ้าน โดยหนังเรื่องนี้มีโครงสร้างไม่ต่างอะไรจากการทำงาน คือมีภารกิจ ผู้นำ และทีมงาน เพียงแต่อยู่ในภาวะวิกฤติอย่างสงคราม
  • โดยสิ่งที่ผู้นำในภาวะวิกฤติควรจะมีคือ มีสติเพื่อคิดหาทางต่อ สร้างขวัญและกำลังใจให้คนในทีม สื่อสารเป้าหมายในทุกคนเห็นภาพตรงกัน เสียสละ และดูแลรับผิดชอบ

ถ้าพูดถึงหนังเรื่องSaving Private Ryan (เซฟวิ่ง ไพรเวท ไรอัน ฝ่าสมรภูมินรก) ผมเชื่อว่าหนังเรื่องนี้อาจเป็นหนังในดวงใจของใครหลายคน ซึ่งปกติผมไม่ค่อยชอบหนังแนวนี้เท่าไร แต่เรื่องนี้ดูแล้วสนุกมากครับ

ใครยังไม่ได้ดูอย่าเพิ่งอ่านนะครับ เพราะอาจจะสปอยล์ได้

Saving Private Ryan

Saving Private Ryan ชื่อไทยว่า เซฟวิ่ง ไพรเวท ไรอัน ฝ่าสมรภูมินรก เป็นเรื่องราวของกองร้อยหนึ่งของสหรัฐที่ได้รับมอบหมายภารกิจให้ฝ่าสมรภูมิรบข้าศึกอย่างเยอรมันเพื่อเข้าไปช่วยพลทหารไรอัน น้องชายคนสุดท้องของตระกูลไรอันจากพี่น้อง 4 คน ที่ยังมีชีวิตรอดจากสงครามให้กลับบ้านได้อย่างปลอดภัย โดยกองร้อยดังกล่าวนำโดยผู้กองมิลเลอร์ ที่รับบทโดย ทอม แฮงก์

Advertisements

หนังเรื่องนี้จริงๆ แล้วมีโครงสร้างไม่ต่างอะไรจากการทำงานในชีวิตจริงนะครับ คือประกอบด้วย ภารกิจ (mission) ผู้นำ (leader) และทีมงาน (Team) เพียงแต่ ภารกิจนี้มันอยู่ในภาวะวิกฤติสงครามเท่านั้นเอง

และหลังจากผมได้มีโอกาสย้อนกลับไปดูอีกรอบ ก็ทำให้ผมคิดเกี่ยวกับเรื่อง “ภาวะผู้นำในวิกฤติ” เลยอยากนำมาแบ่งปันให้ท่านได้อ่าน โดยผมสรุปมาได้ 4 ข้อ ตามนี้ครับ

1. การมีสติเป็นเรื่องที่สำคัญ

หากใครเคยดูคงจะพอจำได้ว่า ผู้กองมิลเลอร์จะมีอาการมือขวาสั่นตลอดเวลา ถ้าให้อนุมาน คงเพราะผู้กองมิลเลอร์นั้นเครียดและหวาดกลัว หรือที่เรียกว่าแพนิค (panic)

คือในภาวะวิกฤติหรือหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างในสงคราม เป็นใครก็ต้องเครียด ก็ต้องกลัวอยู่แล้ว ผู้นำเองก็เป็นคน ฉะนั้นก็ย่อมรู้สึกกลัวได้เช่นกัน แต่ทว่าสิ่งที่ผู้นำต้องทำ และอาจต้องทำมากกว่าคนอื่น คือการเรียกสติตัวเองมาให้เร็วที่สุด

ซึ่งผมเห็นด้วยมากในเรื่องนี้ ลองนึกดูนะครับ ในภาวะที่ทุกอย่างวุ่นวายโกลาหล หากทุกคน โดยเฉพาะผู้นำสติหลุด สภาพของทีมจะเป็นอย่างไร ผมว่าคงไม่มีใครสามารถฝ่าวิกฤตินั้นได้แน่ๆ

อย่างผู้กองมิลเลอร์ เขาเองก็คงรู้ตัวว่า เขาหวาดผวา เศร้า และเจ็บปวดมาก แต่การปล่อยให้ตัวเองไหลไปกับอารมณ์ความกลัวนั้นรั้งแต่จะทำให้สถานการณ์แย่กว่าเดิม แถมอาจทำให้ลูกทีมตกอยู่ในอันตราย ฉะนั้นเขาเลยต้องพยายามตั้งสติ สกัดกั้นอารมณ์ของตัวเอง โดยเฉพาะเวลาเกิดปัญหาหรือความสูญเสีย การมีสติของเขาช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายและคิดหาทางต่อจากนั้นไปได้

2. ขวัญกำลังใจเป็นเรื่องสำคัญ

ในภาวะวิกฤติ เป็นธรรมดาที่สภาพจิตใจใครก็คงไม่ดี เพราะรู้สึกกลัว ท้อแท้ หมดหวัง ไม่รู้ว่าอนาคตของตัวเองจะเป็นอย่างไร ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ ไม่พยายามซ้ำเติมความเลวร้าย และพยายามรักษาขวัญกำลังใจของคนให้ดีที่สุด 

อย่างตอนหนึ่งที่ผู้กองมิลเลอร์และลูกทีมบังเอิญพบอีกกองร้อยหนึ่ง และสอบถามเบาะแสพลทหารไรอัน ตอนนั้นเจ้าหน้าที่กองร้อยได้ยื่นถุงแท็กห้อยคอชื่อทหารที่เสียชีวิตมาให้ผู้กองมิลเลอร์และทีมหาดูว่ามีของไรอันหรือเปล่า

ตอนนั้นพวกเขาลืมตัวไปครับว่า เขากำลังนั่งดูแท็กชื่อที่มีเป็นโหลๆ ท่ามกลางสายตาของพลทหารใหม่ที่เดินเรียงแถวอยู่ข้างๆ จนกระทั่งมีใครสักคนมาหยุดให้พวกเขาทำ ถึงได้รู้ว่านั่นไม่ใช่เรื่องดีเสียเลย เพราะพลทหารจะรู้สึกอย่างไร เมื่อเห็นแท็กชื่อคนตายมากมายขนาดนั้น เป็นใครก็คงใจคอไม่ดี

Advertisements

ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากๆครับ ยิ่งในสถานการณ์ที่เลวร้าย ถ้าไม่มีข่าวดี ก็อย่าซ้ำเติมกำลังใจคนด้วยเรื่องน่าหดหู่ เพราะมันจะยิ่งทำลายขวัญกำลังคนเพิ่มมากขึ้น

ในทางกลับกัน การเบาสถานการณ์ด้วยอารมณ์ขันบ้าง ก็ช่วยให้ทีมนั้นผ่อนคลายลง เหมือนที่ผู้กองมิลเลอร์พยายามสร้างบทสนทนากับลูกทีมของเขาด้วยเรื่องเล่าขำขัน หรือเปลี่ยนเรื่องคุยตอนที่ลูกทีมของเขาทะเลาะกัน ด้วยการบอกจะเฉลยว่า เขาเคยทำงานอะไรก่อนมารบ ก็ช่วยให้สถานการณ์นั้นเบาลงได้ และทำให้ทีมพอประคองกันไปได้ต่อ

3. สื่อสารเป้าหมาย

ในเรื่อง ภารกิจที่ทีมของผู้กองมิลเลอร์ต้องรับผิดชอบคือการบุกฝ่าดงข้าศึกเพื่อตามหาและช่วยพลทหารไรอันกลับบ้าน แน่นอนครับว่าลูกทีมของเขาตั้งคำถามกับภารกิจว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ ที่คนมากมายต้องมาเสี่ยงชีวิตเพื่อพาพลทหารคนหนึ่งกลับบ้าน

และยิ่งเกิดความสูญเสียระหว่างภารกิจมากเท่าไร ลูกทีมก็ยิ่งตั้งคำถามมากขึ้นเท่านั้น ยังไม่นับเรื่องการค้นหาพลทหารไรอันที่ดูเหมือนงมเข็มในมหาสมุทรที่มีแต่มรสุม ที่ทำให้คนยิ่งตั้งคำถามกันเข้าไปใหญ่

ปัญหานี้ก็คล้ายกับวิกฤติที่เกิดในองค์กรเลยครับ เวลาสถานการณ์ยุ่งเหยิงสับสบ สิ่งสำคัญที่ผู้นำต้องทำคือ การสื่อสารเป้าหมายให้ทุกคนเข้าใจ ว่าพวกเขากำลังฝ่าวิกฤตินี้ไปเพื่ออะไร เหมือนกรณีของบริษัท Xerox ที่ได้ แอนน์ มัลคาฮี เข้ามากอบกู้วิกฤติ สิ่งที่เธอทำคือ การบอกคนในองค์กรว่า Xerox จะเดินไปในทิศทางไหน ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ Xerox ผ่านพ้นวิกฤติมาได้ด้วย

ทั้งนี้ เพราะการสื่อสารเป้าหมายจะช่วยให้ทุกคนในทีมเห็นภาพตรงกันครับ พวกเขาจะได้รู้ว่าควรทำอย่างไรเพื่อช่วยให้ทั้งทีมไปสู่เป้าหมายนั้น อย่างผู้กองมิลเลอร์ เขาเองก็ต้องคอยสื่อสารให้ทีมรู้ว่า เหตุผลที่ต้องช่วยไรอัน ก็เพราะมันเป็นความต้องการของเบื้องบนที่ต้องการรับผิดชอบความรู้สึกของประชาชนชาวอเมริกันครอบครัวหนึ่งที่สูญเสียลูกชายจากสงครามไปถึง 3 คน และการพาไรอันกลับมานั้น จะทำให้พวกเขาทุกคนได้กลับบ้าน

หรือในตอนท้ายที่ไรอันขออยู่ต่อเพื่อปกป้องปราการด่านสุดท้าย แม้มันจะไม่ใช่ภารกิจที่ทีมผู้กองมิลเลอร์มอบหมายให้มาทำ แต่มันคือเป้าหมายใหญ่สูงสุดของกองทัพ อย่างการเอาชนะข้าศึกให้ได้ ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ผู้นำอย่างผู้กองมิลเลอร์ต้องสื่อสารเพื่อให้ทุกคนเข้าใจ เพราะสุดท้ายไม่ใช่แค่ทีมของพวกเขา แต่ทุกคนในกองทัพก็จะได้กลับบ้านด้วย

4. ผู้นำต้องเสียสละ

สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ และได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องนี้มากๆ คือ “ความเสียสละ” ครับ ตลอดเวลาที่ดูหนังเรื่องนี้ ผมสังเกตว่าผู้กองมิลเลอร์เป็นคนที่รักลูกทีมของเขามากๆ เขามองว่าการสูญเสียของลูกทีมเป็นความล้มเหลวของเขา ซึ่งนั่นทำให้เขาที่นอกจากจะต้องวางแผนการรบแล้ว ยังต้องรับผิดชอบคอยระวังให้ลูกทีมของเขาปลอดภัยอีกด้วย

และในฉากสุดท้ายที่ผู้กองมิลเลอร์พลาด ทำตัวจุดชนวนระเบิดสะพานซึ่งเป็นแผนสุดท้ายของภารกิจหล่นกลางทาง เพื่อให้ทุกอย่างบรรลุแผนการที่วางไว้ เขาก็ยอมฝ่าห่ากระสุนเพื่อไปจุดชนวนนั้น ซึ่งมันเป็นข้อคิดที่สำคัญมากว่า การจะเป็นผู้นำนั้นไม่ใช่เพราะแค่ตำแหน่ง แต่ยังต้องรับผิดชอบลูกทีม และพร้อมเสียสละมากกว่าคนอื่น

และนั่นทำให้ผู้กองมิลเลอร์เป็นผู้นำที่ลูกทีมอยากเดินตาม แม้ว่าภารกิจจะยากลำบากหรือเต็มไปด้วยคำถามมากมายแค่ไหน แต่ศรัทธาในตัวผู้นำก็ทำให้ทีมร่วมมือร่วมใจฝ่าวิกฤตินั้นได้สำเร็จ


และนี่เป็น 4 ข้อคิดที่ผมได้จากการดู Saving Private Ryan ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นประโยชน์สำหรับคนที่เป็นหัวหน้า โดยเฉพาะหากกำลังตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤติ หากไม่รู้จะทำอย่างไร ลองปรับใช้แนวคิดจากผู้กองมิลเลอร์ดูนะครับ

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่