ข้อจำกัดอยู่ที่ “อุปสรรค” หรือที่ “มุมมอง” ?

3549
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • คนเรามักติดกับหลุมพรางที่มองว่าอะไรก็มีกรอบมีเกณฑ์อยู่แล้ว เลยไม่กล้าแหวกออกมา ทำให้พลาดการเห็นโอกาสที่อยู่รายล้อมตัวเรา
  • ถ้าเรามัวแต่มองข้อจำกัด เราก็จะเห็นแต่ข้อจำกัด แต่ถ้าเราพยายามมองหาโอกาส เราก็จะเห็นโอกาส
  • สิ่งที่จำกัดตัวเรามากที่สุดไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นวิธีคิดและมุมมองของเราเอง

ไม่มีทางไป หรือไม่หาทางไป

นานมาแล้วผมได้คุยกับรุ่นน้องที่เปิดร้านกาแฟ จริงๆ ต้องพูดว่า เขาเป็นคนที่โชคดีมากคนหนึ่ง เพราะเป็นคนที่พอมีเงินทุนอยู่บ้างเพื่อมาทำร้าน และยังมีคอนเนคชั่นที่ดีอีกด้วย

แต่สิ่งที่น่าเสียดาย หลังจากได้ฟังรุ่นน้องคนนี้เล่า คือ เขามักมองว่าอะไรๆ ก็เป็นอุปสรรคไปหมด อย่างร้านที่เพิ่งปิดตัวไป เป็นร้านคาเฟ่เก๋ๆ และอยู่ในทำเลดี ซึ่งช่วงแรกๆ ที่เปิดร้านนั้นกระแสดีมาก ขายดีเทน้ำเทท่า แต่พอกระแสซาลงก็ขายไม่ดีสุดท้ายก็ต้องปิด โดยเขาเชื่อว่า ที่ร้านนี้ต้องปิดลงนั้น เพราะการประชาสัมพันธ์ของร้านไม่ดี

แม้ร้านแรกจะออกมาไม่ดี แต่ด้วยคอนเนคชั่นที่ดี จึงได้รับโอกาสทำร้านคาเฟ่ในโปรเจกต์ใหม่ของห้างดังห้างหนึ่ง

Advertisements

แต่พอเล่าต่อถึงร้านที่กำลังทำอยู่ ซึ่งดูท่าจะไม่ดีเช่นกัน ก็ให้เหตุผลว่า ร้านนี้แทบจะทำอะไรกับมันไม่ได้แล้ว เพราะร้านตั้งอยู่ในโซนโปรเจกต์ใหม่ของห้าง ห้างเลยไม่ยอมให้มีการปรับหรือตกแต่งใหม่อะไรในร้าน เจอแบบนี้ เลยทำกิมมิกอะไรไม่ได้เลย สุดท้ายก็คงต้องปล่อยไปอย่างนี้ ถ้ามีคนมาห้างเยอะก็โชคดีไป แต่ถ้าคนมาลดลงกว่านี้ ก็คงมีอันต้องโบกมือลาร้านนี้เหมือนกัน

ตอนผมฟังเรื่องของรุ่นน้องคนนี้ ผมได้แต่รับฟัง แต่ไม่ได้พูดอะไร เพราะคิดว่า คงยากที่จะเปลี่ยนความคิดของเขา เนื่องจากเขาปักใจเชื่อสุดๆ ว่า ปัญหาที่เขาเจอมีแต่ทางตันและแก้ไขยาก


มองเห็นโอกาสที่ซ่อนอยู่

หากพูดถึงโอกาส ผมมักจะนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่พูดเรื่องนี้ได้ชัดเจนมากๆ นั่นก็คือ น่าจะรู้อย่างนี้ตั้งแต่ตอนอายุ 20 (What I wish I knew when I was 20) ของอาจารย์ ทีน่า ซีลิก หนึ่งในหนังสือเล่มที่ดีที่สุดที่ผมเคยอ่านมา

อาจารย์ ทีน่า พูดได้ชัดเจนมากครับว่า คนเรามักติดกับหลุมพราง ที่มองเห็นว่าอะไรๆ ก็มีกรอบมีเกณฑ์หรือมีแบบแผนอยู่แล้ว ก็เลยไม่กล้าที่จะแหวก ที่จะคิดต่าง ส่งผลให้พลาดการเห็นโอกาสที่อยู่รายล้อมตัวเรา

เธอเล่าว่า เรื่องหนึ่งที่ทำให้เธอเชื่อว่าอะไรๆ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น คือเรื่องของ ไคล์ แมคโดนัลด์ (Kyle MacDonald) ที่เริ่มต้นจากการแลกคลิปหนีบกระดาษสีแดง เป็นของอื่นๆ ไปเรื่อยๆ และในเวลาปีเดียว เขาสามารถแลกบ้านได้หนึ่งหลัง! ซึ่งมันมหัศจรรย์มาก จนฟังดูเรื่องอื่นๆ ก็คงเป็นไปได้หมด

อาจารย์ ทีน่า เล่าในหนังสือว่า หลังจากที่เธอให้แบบฝึกหัดท้าทายลูกศิษย์เกี่ยวกับการมองโอกาสที่อยู่รอบตัว

ลูกศิษย์ของเธอคนหนึ่งก็ปิ๊งไอเดียที่ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างมหัศจรรย์ ตอนนั้นลูกศิษย์ของเธอมีปัญหาคือต้องย้ายหอพัก แต่ไม่มีรถยนต์ที่จะขนของทั้งหมดย้ายไปที่ใหม่ แน่นอนว่าตอนนั้นทุกอย่างดูตันไปหมด แต่ระหว่างที่กำลังครุ่นคิดว่าทำอย่างไรดี ลูกศิษย์คนนี้ก็เหลือบไปเห็นลังไวน์ที่เหลือจากปาร์ตี้เมื่อไม่กี่วันก่อน

ทันใดนั้น ลูกศิษย์ของเธอก็ปิ๊งไอเดีย โดยเข้าเว็บไซต์เคร็กลิสต์ (Craigslist) และประกาศนำขวดไวน์ที่เหลืออยู่นั้นแลกกับการยืมรถมาใช้ขนของ และโชคดีมาก ว่ามีคนยอมแลกด้วยครับ นั่นทำให้ลูกศิษย์คนนี้สามารถแก้ปัญหาย้ายของได้สำเร็จ โดยเกิดจากการที่มองเห็นโอกาสที่ซ่อนอยู่


กล่องไปรษณีย์สีชมพูใบใหญ่

เป็นเรื่องของน้องผู้หญิงคนหนึ่งที่ผมรู้จัก น้องคนนี้เธออยากเป็นนักเขียนครับ

Advertisements

ครั้งหนึ่งเธอเคยติดต่อขอเสนอต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง แต่ที่สำนักพิมพ์มีกฎว่า จะต้องส่งเป็นกระดาษ และส่งไปรษณีย์เท่านั้น

ตอนนั้นเธอก็เริ่มคิดทันทีว่า ถ้าส่งเป็นกระดาษเข้าไป มีหวังว่า กว่ากอง บ.ก. จะได้อ่านและพิจารณาต้นฉบับ คงอีกนานแน่ๆ เพราะเดาว่าคงมีคนส่งต้นฉบับเข้ามาล้นหลาม หรือไม่อาจจะโชคร้าย ต้นฉบับเธออาจปะๆ ปนๆ หายอยู่ในกองพะเนินต้นฉบับของคนอื่นๆ

ซึ่งถ้าเป็นสถานการณ์แบบนี้ ผมว่า บางคนคงได้แต่ทำใจและส่งต้นฉบับไปตามระเบียบแบบนั้นใช่มั้ยครับ

แต่น้องคนนี้ เธอคิดอีกแบบครับ วันนั้นเธอปริ้นท์ต้นฉบับ และไปหาซื้อกระดาษสีชมพูบานเย็นและกล่องไปรษณีย์ใหญ่ๆ กลับมาที่บ้าน จากนั้นเธอลงมือนำกระดาษสีชมพูมาตัดแปะให้เป็นซองเอกสารเพื่อใส่ต้นฉบับที่ปริ้นท์มา แล้วนำซองนั้นใส่ลงในกล่องไปรษณีย์ใบใหญ่ จากนั้นปิดท้ายด้วยการเอากระดาษสีชมพูมาห่อกล่องไปรษณีย์อีกทีหนึ่ง

เธอเล่าให้ฟังว่า ที่เธอทำแบบนี้ เพราะเธอต้องการจะมั่นใจว่า อย่างน้อยที่สุดต้นฉบับของเธอจะต้องถูกเปิดอ่าน และไม่หลงปะปนไปกับกองต้นฉบับของคนอื่นๆ กล่าวคือ การส่งเป็นกล่องไปรษณีย์นั้นจะต้องมีคนเซ็นเป็นผู้รับ และกล่องที่เธอส่งไปก็ใหญ่และสีเด่นมาก อย่างน้อยคงมีใครสักคนแกะมันออก และเธอก็กันเหนียวอีกทีด้วยการใส่มันไว้ในซองเอกสารสีชมพู เพราะถึงแกะจากกล่องมาแล้ว ซองชมพูก็ยังเด่นอยู่ และไม่แน่ว่ามันอาจประหลาดพอที่จะดึงดูดให้กอง บ.ก. หยิบมันมาดู

น้องคนนี้บอกผมว่า “ก็ไม่มีกฏอะไรบอกหนิว่า ห้ามส่งต้นฉบับด้วยกล่องไปรษณีย์สีชมพู” 

แม้เรื่องราวตอนจบของเรื่องนี้ สำนักพิมพ์นี้จะปฏิเสธต้นฉบับของเธอ (ซึ่งสุดท้ายเธอได้พิมพ์กับอีกสำนักพิมพ์หนึ่งแทน) แต่อย่างน้อยเธอก็ดีใจว่า ต้นฉบับของเธอถูกเปิดอ่าน และถูกปฏิเสธเพราะเหตุผลเรื่องตัวต้นฉบับ ไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิคเกี่ยวกับการส่งหรือโชคร้ายหายไปในกองต้นฉบับของคนอื่นๆ

เรื่องของน้องผู้หญิงคนนี้ สะท้อนเรื่องหนึ่งมากๆ คือ ถ้าเรามัวแต่มองข้อจำกัด เราก็จะเห็นแต่ข้อจำกัด แต่ถ้าเราพยายามมองหาโอกาส เราก็จะเห็นโอกาส อย่างรุ่นน้องที่เปิดร้านกาแฟ จริงๆ ผมคิดว่าเขาโชคดีมากที่เขามีทั้งทุนและโอกาสดีๆ ที่เข้ามาเรื่อยๆ แต่ความที่เขามองทุกอย่างยากไปหมด โอกาสดีๆ ก็ต้องสูญเปล่าไปในที่สุด


ดังนั้น สุดท้ายแล้ว ผมว่า สิ่งที่จำกัดตัวเรามากที่สุดไม่น่าจะใช่อุปสรรคนะครับ แต่เป็นวิธีคิดและมุมมองของเราเองมากกว่า

เหมือนที่ รี้ด มาร์คาม (Reed Markham) ว่าไว้ “Successful leaders see the opportunities in every difficulty rather than the difficulty in every opportunity”

ผู้นำที่ประสบความสำเร็จมักมองเห็นโอกาสในความยากลำบาก มากกว่าที่จะมองความยากลำบากที่อยู่ในโอกาส<span class="su-quote-cite">รี้ด มาร์คาม</span>
Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่