ว่าด้วยเรื่องของ “ที่นั่งชั้นธุรกิจ”

3672
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • ที่นั่งชั้นธุรกิจมีหลายแบบในสายการบินเดียวกัน และคนสามในสี่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังจะเจอเก้าอี้แบบไหน แต่คาดหวังจะได้เก้าอี้แบบที่สายการบินโปรโมทในรูป และมีวิธีคิดในการจองที่หลากหลาย
  • คนที่ต้องต่อเครื่องหลายคนให้ความสำคัญกับเลาจน์ที่จุดแวะพักเครื่องมากกว่าที่ต้นทาง โดยหากมีอาหารดีๆและห้องให้อาบน้ำจะยิ่งประทับใจมาก
  • มีคนจำนวนมากที่เลือกทำบัตรเครดิตและเลือกหยิบบัตรเครดิตมาใช้โดยเอาเรื่องแลกไมล์มาเป็นตัวตัดสินใจหลัก
  • คนสามในสี่ตัดสินใจเลือกสายการบินตามรูปที่เห็นในโซเชียลมีเดีย การออกแบบพื้นที่ห้องโดยสารให้สวยงาม เหมาะสำหรับถ่ายรูป จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญสำหรับสายการบิน

ออกตัวก่อนว่าบทความนี้ไม่มีใครมาสปอนเซอร์ใดๆทั้งสิ้นนะครับ

ตลอดช่วงเวลาประมาณครึ่งปีที่ผ่านมา ผมได้ลองทำการทดลองเล็กๆของตัวเองโดยไม่ได้บอกให้ใครรู้ เวลาเจอลูกค้า ซัพพลายเออร์ ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้บริหาร เพื่อนๆ ญาติพี่น้อง ทั้งตอนที่ผมไปประชุม คุยงาน บรรยาย และทานอาหารด้วย

ผมจะชวนคุยเรื่องนึงแบบเนียนๆครับ คือเรื่องการเลือกสายการบินและเหตุผลของการเลือก วันนี้ผมอยากเขียนถึงเรื่องสินค้าประเภทหนึ่งของสายการบินนั้นคือ “ที่นั่งชั้นธุรกิจ” ครับ จากการเก็บข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ (เนื่องจากเป็นการเก็บข้อมูลแบบไม่เป็นทางการและมั่วมากเราจึงไม่อาจเรียกว่าการวิจัยได้)

Advertisements

ผมได้ข้อสรุปมาสามสี่อย่างที่น่าสนใจ

1. “ที่นั่งชั้นธุรกิจ” หรือ “business class” มีหลายแบบในสายการบินเดียวกัน

และแต่ละแบบความสบายต่างกันฟ้ากับเหว ยกตัวอย่างเอาที่ผมเพิ่งบินล่าสุดเลยสายการบิน เอทิฮัด (Etihad) เส้นทาง กรุงเทพ-อาบูดาบี จะได้เครื่องเก่า เก้าอี้โบราณ แต่เที่ยวบินอาบูดาบี – นิวยอร์ค เครื่อง A380 เก้าอี้ใหม่กริ๊บ นอนสบายกว่ากันแบบนึกว่าคนละสายการบิน

การบินไทยเองก็มีเก้าอี้สารพัดแบบมาก ตั้งแต่ดีมากๆ ไปจนถึงเก้าอี้ที่.. ก็นะ เอาเป็นว่าถ้าใครเคยนั่งก็คงจะนึกออก

สิ่งที่น่าสนใจมันอยู่ตรงนี้ครับ คนที่ผมคุยด้วยส่วนใหญ่ ถ้าให้กะประมาณ ¾ ไม่รู้ก่อนหน้าที่จะบินว่าตัวเองกำลังจะเจอเก้าอี้แบบไหน แต่ “คาดหวัง” ในตอนจองตั๋วว่าจะได้เก้าอี้แบบที่สายการบินโปรโมท ซึ่งรูปที่สายการบินโปรโมทในเว็บส่วนใหญ่ต้องเป็นเก้าอี้ ที่นั่งชั้นธุรกิจ รุ่นใหม่สุดอยู่แล้ว

จะมีคนส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เลือกเที่ยวบินตาม รุ่นของเครื่องบิน ซึ่งหมายถึงความเก่าใหม่ของเก้าอี้ด้วยครับ เรื่องนี้.. เป็นเรื่องที่สายการบินไม่ค่อยได้เล่าให้เราฟังเยอะมากนัก เรียกว่าใครอยากรู้ข้อมูลต้องทำการบ้านกันเอาเอง ถ้าไม่ทำการบ้านมีสิทธิ์ผิดหวังได้

อ่อ ลืม ที่ซวยสุดคือถ้าจองเครื่องใหม่ไปเช่นเที่ยวบินนี้เวลานี้ควรบิน A350 แล้วเจอเปลี่ยนเป็นเครื่องเก่า อันนี้ถือว่าดวงซวยสุดๆช่วยไม่ได้นะครับ

2. วิธีคิดของคนจองตั๋ว “ที่นั่งชั้นธุรกิจ” มีหลากหลายสุดๆ

เท่าที่ผมถามจะสามารถแบ่งกลุ่มมาได้เป็นจำพวกใหญ่ๆดังนี้

2.1 นักธุรกิจที่ตารางแน่นหนา

คนกลุ่มนี้สายการบินน่าจะรักที่สุดนะครับ เพราะไม่สนใจไมล์ ไม่สนอะไรทั้งนั้น ส่วนใหญ่จะจองการบินใกล้เวลาจะบิน แถมเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดจึงต้องซื้อตั๋วราคาเกือบแพงสุด บางทีก็ยกเลิกทริปไปซะดื้อๆอย่างนั้น เพราะฉะนั้นคนประเภทนี้ต้องซื้อตั๋วแบบคล่องตัวสุดๆครับ ราคาไม่ค่อยสนใจ เรื่องเวลาเดินทางเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นพยายามเดินทางด้วย เที่ยวบินตรงถึงที่หมาย หรือต่อเครื่องก็ต้องใช้เวลาน้อย อ่อ แล้วส่วนใหญ่จะเดินทางคนเดียวครับ โดยมีคนจองตั๋วคือเลขา

2.2 นักธุรกิจที่ตารางแน่นน้อยลงมานิด

กลุ่มนี้แม้จะเดินทางไปทำงาน แต่ก็จะมีเวลามาดูเรื่องราคา โปรโมชั่น อาจจะมีการแลกไมล์บ้าง ถ้าสามารถพอจะแลกได้ในเวลาที่เหมาะสมกับการเดินทางของตัวเอง จะมีความกังวล เรื่องราคาพอควร มีการเปรียบเทียบหลายสายการบิน ถ้าสายการบินไหนราคาดีกว่า อาจยอมเสียเวลาต่อเครื่อง หรือถ้าสายการบินไหนดูบริการดี เก้าอี้สบายอาจจะเป็นปัจจัยร่วมด้วยในการเลือก ส่วนใหญ่นักธุรกิจกลุ่มนี้จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทของตัวเองด้วย ส่วนคนจองตั๋วก็เลขาเหมือนเดิมครับ

2.3 นักท่องเที่ยว

อันนี้อาจจะเป็นคนสองกลุ่มแรกก็ได้ แต่เปลี่ยนโหมดมาอยู่ในโหมดเที่ยว ในโหมดนี้จะมีเวลาเตรียมตัวและวางแผนเยอะ เพราะฉะนั้นจะทำการบ้านมาดี มีการเตรียมการศึกษาโปรโมชั่นและถ้าจะแลกไมล์ก็จะวางแผนล่วงหน้ากันมาเลย โดยเฉพาะถ้าไปเป็นครอบครัวใหญ่อันนี้จะเตรียมการนานมาก เรียกว่าเตรียมกันมาเกินครึ่งปี จะมีการมิกซ์แอนด์แมทช์ ตั๋วตั้งแต่ เพื่อ แลกไมล์ หรือซื้อตั๋วและอัพเกรด อันนี้คนเดินทางส่วนใหญ่จะจองเอง 

2.4 นักท่องเที่ยวที่เพิ่งเป็นแฟนกันใหม่ๆ

จะมีพฤติกรรมคล้ายกลุ่ม 2.1 แต่แน่นอนเดินทางสองคน และไม่ได้เปลี่ยนตารางบ่อยๆ แต่ความป๋าและพร้อมเปย์นั้นรับประกันได้ ซึ่งพอเข้าใจได้อยู่

3. เรื่องเลาจน์

เรื่องเลาจน์ที่ต้นทางก็สำคัญ แต่ดูเหมือนถ้าไม่ได้บินแบบเที่ยวบินเดียวถึงเลย คนจะให้ความสำคัญกับเลาจน์ที่จุดแวะพักเครื่องมากกว่า โดนเฉพาะถ้าเวลาแวะพักนานๆ อาจเฉพาะตอนนั้นมันเหนื่อยมากแล้ว และสิ่งที่คนชอบมากๆคือการมีอาหารที่ดีและห้องอาบน้ำครับ ถ้าได้อาบน้ำตอนแวะพักเครื่องชีวิตจะดีขึ้นมาก

Advertisements

เท่าที่ได้ยินมานะครับเลาจน์ของ กาตาร์แอร์เวย์ (Qatar Airways) ที่โดฮา (Doha) เป็นอันที่คนชมเยอะที่สุดแล้ว หลายคนบอกว่านี่น่าจะเป็นเลาจน์สำหรับชั้นธุรกิจที่อลังการที่สุดแล้ว ส่วนตัวก็เห็นด้วยอลังการจริง

ผมดีใจนะครับที่ได้ยินว่าการบินไทยมีแผนที่จะปรับปรุงเลาจน์ที่สุวรรณภูมิให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะเอาจริงๆได้ยินคนบ่นเรื่องนี้มาเยอะมาก

4. เรื่องบัตรเครติดสะสมไมล์

ถ้าพูดถึงเรื่องนี้การบินไทยเป็นเป็นต่ออย่างแน่นอน เพราะสายการบินอื่นยังทำการตลาดเรื่องนี้ในบ้านเราน้อยมาก (เขาก็คงไปทำเยอะที่บ้านของเขา) และมีคนจำนวนมากที่ผมคุยด้วย เลือกทำบัตรเครดิตและเลือกหยิบบัตรเครติดในกระเป๋าตังค์ออกมาใช้ (ในกรณีที่เขามีบัตรหลายใบ) โดยเอาเรื่องการแลกไมล์ ROP (royal orchid plus – รอยัล ออร์คิด พลัส) นี่เป็นตัวตัดสินใจหลักครับ

อย่างตอนนี้หลายธนาคารก็พยายามเน้นเรื่องนี้มาก เช่น SCB ก็เพิ่งออก SCB my travel มา ผมก็อดใจไม่ไหวสมัครไปเหมือนกันนะครับ

ในประเด็นเรื่องบัตรนี้ ปีนี้เรื่องที่ผมได้ยินคนพูดถึงเยอะสุดน่าจะเป็นเรื่องของ Kbank Wisdom ที่เปลี่ยนการแลกไมล์จาก 2 ต่อ 1 เป็น 3 ต่อ 1 อันนี้คนไม่พอใจกันเยอะมาก แต่ผมไม่รู้ว่าลูกค้า Wisdom เป็นคนประเภทที่ไปบ่นๆในโซเชียลมีเดียหรือเปล่านะครับ

เพราะถ้าลูกค้าไม่ได้เป็นประเภทที่ไปบ่นๆหรือคอมแพลน มากๆ Kbank อาจจะไม่ได้รับรู้ถึงความไม่พอใจของลูกค้าตรงนี้ แต่วันนึงลูกค้ากลุ่มที่ใช้ Wisdom อาจจะหยุดใช้บัตรหรือยกเลิกไปเฉยๆอันนี้ก็น่ากลัวนะครับผม เพราะ “ต้นทุนในการเปลี่ยนไปใช้เจ้าอื่น” ของบัตรสมัยนี้มันต่ำมากนะครับ อันนี้ก็ฝากเป็นเสียงเล็กๆไปถึงผู้บริหาร Kbank ด้วยแล้วกันนะครับ เพราะเป็นแฟนของ Wisdom มาตลอด ไม่อยากเห็นธนาคารเสียฐานลูกค้าดีๆไปนะครับ

5. ความคาดหวังบนเครื่อง

เวลาถามว่าทำไมถึงอยากนั่งชั้นธุรกิจ (business class) เรื่องแรกที่คนมักตอบคือ นอนสบาย นั่งสบาย หลับจริงจัง ตื่นมาถึงแล้วจะได้เที่ยวหรือทำงานได้เลย รวมไปถึงความเร็วในการตรวจคนเข้าเมืองด้วย ฯลฯ

ส่วนเรื่องรองลงมาก็เรื่องความเร็วในการขึ้นเครื่อง การได้รับการปรนนิบัติดูแลที่ดี อาหารที่อร่อย เรื่องระบบความบันเทิง

มีแค่เพื่อนผมคนเดียวล่ะมั้งที่บอกว่าไวน์ดีและทุกครั้งต้องกินแชมเปญขวดนึงและไวน์อีกครึ่งขวดเป็นอย่างน้อย เพื่อให้คุ้มค่าตั๋ว

6. ความสำคัญของโซเชียลมีเดีย

อันนี้ทำให้ผมนึกถึง ออนไลน์สู่ออฟไลน์ ในอีกแง่มุมนึงที่เแปลกดี คนเยอะมากคิดว่าประมาณ ¾ อีกเหมือนกัน บอกว่าเลือกสายการบินตามรูปที่เห็นตามโซเชียลมีเดียของเพื่อน ถ้ารูปไหนสวย จะกระตุ้นให้อยากบินสายการบินนั้น

อันนี้ก็ทำให้น่าคิดว่า การออกแบบพื้นที่ห้องโดยสาร (cabin) ของสายการบินนั้นต้องทำให้คนถ่ายรูปออกมาแล้วสวยด้วย อีกอย่างคือพนักงานต้อนรับบนเครื่อง (ที่โดนขอให้ถ่ายรูปอยู่เป็นประจำ) อาจต้องเพิ่มความสามารถในการหามุมที่สวยที่สุดให้กับผู้โดยสาร เพราะรูปที่ถ่ายไปนั้นจะส่งผลต่อคนรอบๆตัวของผู้โดยสารคนนั้น (friends and family) ให้เลือกซื้อตั๋วกับสายการบินนั้นด้วย อนาคตการออกแบบห้องโดยสารนอกจากจะสวยตอนผู้โดยสารอยู่แล้ว อาจจะต้องออกแบบให้สวยตอนถ่ายรูปด้วยนะครับ หลักการเดียวกับการออกแบบภายใน (interior design) ที่ใช้กับร้านอาหารดังๆหลายร้านตอนนี้

อันนี้ก็เป็นการทำการสำรวจเล่นๆของผมที่ทำขำๆนะครับ ไม่ซีเรียส จริงๆมีอีกหลายเรื่องเลยครับ วันหลังจะเอามาเล่าให้ฟังอีกนะครับ

แต่ไม่ว่าผมจะบินมากี่สายการบิน จะไปที่ไหนก็ตาม ก็ยังรักการบินไทยเหมือนเดิมนะครับ 🙂

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่