โกรธก็บอก อย่าหลอกว่า “ไม่เป็นไร” เพราะการมองข้ามปัญหาและทำเป็นให้อภัย อาจทำร้ายความสัมพันธ์มากกว่าที่คิด

6728
ไม่เป็นไร

คุณเคยยกโทษให้ใคร ทั้งๆ ที่ยังโกรธอยู่หรือไม่? เพราะอยากรักษาความสัมพันธ์ คุณจึงพยายามปกปิดอารมณ์โกรธ และบอกกับเขาว่า “ไม่เป็นไร”

เราทุกคนล้วนถูกปลูกฝังมาว่าการให้อภัยผู้อื่นเป็นสิ่งที่ควรทำ และคิดว่าการละทิ้งความขุ่นเคืองจะสามารถรักษาความสัมพันธ์ไว้ได้ เราจึงยกโทษให้กับผู้อื่นอย่างง่ายดาย โดยที่ความรู้สึกลบๆ ยังไม่หายไปไหน แต่หารู้ไม่ว่าการทำสิ่งนี้ จะทำให้ปัญหาที่ค้างคาใจยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะเราไม่ได้แสดงออกว่าเราไม่พอใจอะไร และมันจะติดอยู่ในใจเราไปเรื่อยๆ เมื่อมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก ปัญหาที่พอกพูนเอาไว้มันจะเป็นชนวนที่ทำให้ความสัมพันธ์พังลงในที่สุด

Advertisements

คู่รักที่มีชีวิตคู่ที่ยืนยาว ไม่ได้มาจากการหล่อเลี้ยงด้วยความรักที่หวานชื่นเพียงอย่างเดียว และไม่ใช่การหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งอีกเช่นกัน แต่เป็นการเผชิญปัญหาและจัดการกับความขัดแย้งอย่างตรงไปตรงมา

ในปี 2018 นักวิจัยกลุ่มหนึ่งได้ออกบทความวิเคราะห์ “Forgive and Forget: A Typology of Transgressions and Forgiveness Strategies in Married and Dating Relationships” ลงบน Western Journal of Communication โดยกลุ่มนักวิจัยได้ทำการวิจัยความสัมพันธ์สองรูปแบบ คือผู้ใหญ่ที่แต่งงานแล้ว 123 คน และผู้ใหญ่ที่ออกเดต 93 คน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสำรวจวิธีการให้อภัยในความสัมพันธ์ของทั้งสองกลุ่มตัวอย่าง รวมถึงหาคำตอบวิธีการให้อภัยแบบใดที่พวกเขาใช้แล้วทำให้มีชีวิตคู่ที่ยืนยาว มาดูกันมาว่าผลการวิจัยออกมาเป็นอย่างไร

Kelley และ Waldron นักวิจัยสองท่านนี้ได้ระบุวิธีที่คู่รักและคู่ที่กำลังคบกันใช้เพื่อรักษาความสัมพันธ์หลังจากเกิดความขัดแย้ง โดยมีอยู่ 5 วิธีด้วยกัน

1) การพูดคุยถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา 

2) การให้อภัยอย่างชัดเจน บอกกับฝ่ายตรงข้ามว่าเราอภัยกับสิ่งสิ่งนี้แล้ว

3) การให้อภัยแบบใช้ภาษากาย เช่น การกอดหลังทะเลาะกัน เป็นต้น

4) การลดขนาดของปัญหา ซึ่งก็คือการมองข้ามปัญหาและเลือกที่จะเพิกเฉย เพราะเห็นว่าเป็นปัญหาเล็กน้อย

5) การให้อภัยแบบมีเงื่อนไข เช่น ถ้าคุณทำสิ่งนี้แล้วฉันจะหายโกรธ เป็นต้น

นักวิจัยพบว่าทั้ง 5 กลยุทธ์เหล่านี้ล้วนมีประสิทธิภาพในการรักษาความสัมพันธ์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรสหรือคู่เดตก็ตาม และกลยุทธ์ที่เลือกใช้มักขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความคับข้องใจ เช่น การพูดคุยกันมักใช้สำหรับความผิดที่เลวร้ายที่สุด อย่างการนอกใจ หรือการมองข้ามปัญหา การให้อภัยแบบใช้ภาษากายจะมักใช้กับปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เช่น การมาทานอาหารเย็นสาย และการให้อภัยอย่างชัดเจนมักจะใช้กับความขัดแย้งที่ไม่อาจหาข้อสรุปได้ เป็นต้น

โดยทางนักวิจัยก็ได้อธิบายเกี่ยวกับรูปแบบการให้อภัยแบบมีเงื่อนไขและ ‘Pseudo-Forgiveness’ หรือการให้อภัยแบบหลอกๆ ไว้อย่างน่าสนใจ การให้อภัยแบบมีเงื่อนไขอาจเรียกว่าเป็น ‘การปกป้องทางอารมณ์’ เพราะพวกเขาได้ปกปิดบาดแผลนั้นและใช้สิทธิ์ของการเป็นผู้ถูกกระทำในการควบคุมอีกฝ่าย สร้างเงื่อนไขเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง ซึ่งบางครั้งเงื่อนไขที่เอ่ยนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้เลยสักนิด 

Advertisements

ส่วนการให้อภัยแบบหลอกๆ นั้นมีความคล้ายคลึงและแย่พอๆ กับการให้อภัยแบบมีเงื่อนไข  โดยผู้ถูกกระทำเลือกที่จะก้าวต่อไปและบอกว่า “ไม่พูดถึงเรื่องนี้อีก” การมองข้ามปัญหาเช่นนี้สามารถยืดอายุความสัมพันธ์ได้ก็จริง แต่เป็นความสัมพันธ์ที่รอระเบิดเวลา เนื่องจากไม่มีการให้อภัยที่แท้จริงเกิดขึ้น ซึ่งผลการวิจัยชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของการอยู่รอดของความสัมพันธ์ที่อาจไม่ยืนยาวนัก

การอภัยจะดีต่อความสัมพันธ์ก็ต่อเมื่อเราปล่อยวางจากความรู้สึกแย่ๆ อย่างแท้จริง โดยกฎการให้อภัยที่จะทำให้ความสัมพันธ์ยืนยาวมีอยู่ 3 กฎด้วยกัน

1) การให้อภัยไม่ใช่ทำเพื่อใคร แต่ทำเพื่อตัวเอง

การให้อภัยไม่ใช่ทางออกของปัญหา ไม่ใช่วิธีการที่จะทำให้ผู้อื่นสบายใจหรือเป็นวิธีการประคองความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน แต่การให้อภัยคือการทำเพื่อตัวเราเองต่างหาก และการให้อภัยผู้อื่นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราให้อภัยตัวเองก่อน  การให้อภัยตัวเองคือการหยุดปล่อยให้ความโกรธกัดกินหัวใจ เข้าใจที่มาของความรู้สึกและจัดการกับมันอย่างค่อยเป็นค่อยไป  หันไปโฟกัสกับสิ่งที่มีคุณค่ากับชีวิตเราจริงๆ และเมื่อเราปล่อยวางสิ่งแย่ๆ ได้ด้วย ‘ตัวเอง’ วันนั้นจะเป็นวันที่เราสามารถพูดคำว่ายกโทษได้อย่างเต็มปาก 

2) หาทางออกของความขัดแย้งด้วยวิธีอื่นๆ

เมื่อวิธีแก้ไขที่เราใช้ไม่ได้ผล บางทีเราอาจตัดปัญหาหรือมองมันให้เป็นเรื่องเล็กๆ เมื่อเราสามารถยอมรับปัญหานั้นได้ หรือบางสถานการณ์ เมื่อเกิดความขัดแย้งที่รุนแรงเกินกว่าจะแก้ไขด้วยวิธีที่เราเคยใช้ในกรณีที่เราเป็นผู้ถูกกระทำ ทางออกคือการให้อภัยอย่างชัดเจน บอกความรู้สึกและแสดงออกให้อีกฝ่ายเข้าใจอย่างชัดเจน หากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน ให้ลองหันหน้าพูดคุย ปรับความเข้าใจกัน

3) ความขัดแย้งบางเรื่องไม่คุ้มที่จะปะทะโดยตรง

ในหลายกรณี การละทิ้งความขัดแย้งแทนที่จะพยายามแก้ไขเป็นทางออกที่ดีที่สุด เช่น ความคิดที่แตกต่างกันในครอบครัว ให้เราลองชั่งใจว่าระหว่างความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือความคิดที่แตกต่างอะไรมีความสำคัญมากกว่ากัน หรืออย่างการที่คนรักอารมณ์เสียใส่หลังจากเขากลับมาจากที่ทำงานเหนื่อยๆ แทนที่เราจะโมโห การไม่เก็บปัญหาเล็กๆ มาใส่ใจจะเป็นทางออกที่ดีกว่า เพราะฉะนั้น การเมินเฉยกับปัญหา เพื่อลดความกระทบกระทั่งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์มั่นคงได้

จาก 3 กฎที่กล่าวไปเป็นเพียงการแนะนำการประคองความสัมพันธ์เบื้องต้นเท่านั้น เพราะจากการวิจัยพบว่า เมื่อเกิดการกระทบกระทั่ง แต่ละคนล้วนมีพฤติกรรมการแสดงออกที่แตกต่างกันออกไป สำหรับคู่รักบางคู่อาจเลือกใช้วิธีที่ดีกว่าก็ได้เช่นกัน 

อย่างผลการวิจัยพบว่า วิธีรับมือปัญหาของคู่สมรสมักจะใช้วิธีการให้อภัยหลอกๆ ในขณะที่คู่เดตมักใช้การลดขนาดของปัญหา และเมื่อต้องการแสดงออกกับอีกฝ่ายว่าตนให้อภัย คู่สมรสมักจะพูดคุยเรื่องการให้อภัยอย่างตรงไปตรงมา แต่คู่เดตมักจะเลือกใช้การสื่ออ้อมๆ นอกจากการรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ทำให้แต่ละคนเกิดการแสดงออกการให้อภัยและมีวิธีการรับมือกับปัญหาที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีตัวแปรของอายุความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก และลักษณะนิสัยรายบุคคลที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกต่างๆ นี้อีกด้วย

แม้ว่าแต่ละคู่จะมีวิธีการแสดงออกการให้อภัยที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการให้อภัยสำหรับทุกความสัมพันธ์คือการระบุปัญหาและจัดการกับความขัดแย้งให้เหมาะสม โดยถามตัวเองว่าปัญหานี้คืออะไร จะแก้ไขมันอย่างไร วิธีที่แก้ไขนี้สามารถจัดการกับรากของปัญหาจนทำให้ความสัมพันธ์ของคู่เรามั่นคงยิ่งขึ้นใช่หรือไม่  และหลังจากเกิดความขัดแย้งขึ้น เราต้องมั่นใจว่าเรา ‘สบายใจ’ ที่กล่าวให้อภัยกับอีกฝ่ายด้วยเช่นกัน 


อ้างอิง
https://bit.ly/3iXF7oA
https://bit.ly/3DFI6cW

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements