ช่วงนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เจอแต่ “Squid Game” ซีรีส์ดังจาก Netflix ทั้งเว็บไซต์ไทยและต่างประเทศต่างพูดถึงกันอย่างมากในฐานะ “ซีรีส์ที่มีผู้ชมสูงสุดตลอดกาล” ของ Netflix แน่นอนว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้ซีรีส์ประสบความสำเร็จเช่นนี้
ไม่ว่าจะเป็นพล็อตเรื่องสนุกน่าติดตามตั้งแต่ตอนแรก ความเลือดสาดที่แฝงไปด้วยการเสียดสีสังคม อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีที่ขึ้นชื่อเรื่อง Soft Power สามารถนำวัฒนธรรมมาชุบชีวิตผ่านซีรีส์ ไปจนถึงนักแสดงมากความสามารถ
แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากนี้แล้ว Squid Game ยังมอบ “บทเรียนการตลาด” น่าสนใจๆ ให้เราอีกด้วยนะ! Pierre Subeh นักลงทุนและนักเขียนได้เล่าถึงบทเรียนการตลาดจาก Squid Game ไว้ในเว็บไซต์ Entrepreneur Asia Pacific
มาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง (ผู้ชมที่ยังไม่ได้ดูสามารถอ่านได้ เพราะบทความไม่ได้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญในซีรีส์)
บทเรียนที่ 1 : พลังแห่ง Word-of-Mouth ที่แบรนด์ช่วยเสริมแรงได้!
“Word-of-Mouth” เป็นเทคนิคการตลาดแสนคลาสสิก เรียกได้ว่าหากเราเปิดหนังสือด้านการตลาดที่มีอายุ 100 ปี ก็ยังจะเจอเทคนิคนี้อยู่ สำหรับสินค้าหรือบริการอื่นๆ Word-of-Mouth อาจเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ขายดีได้ แต่สำหรับ Squid Game การที่ผู้ชมนำไปพูดต่อๆ กันนี่แหละ เป็น “ปัจจัยหลัก” ที่ทำให้คนหันมาดูมากขึ้น!
ช่วงที่ผ่านมา บนโลกอินเทอร์เน็ตต่างเต็มไปด้วย Memes เกี่ยวกับ Squid Game เต็มไปหมดทุกโซเชียลมีเดีย สำหรับคนที่ดูแล้วก็อาจขำและแชร์ต่อ แต่สำหรับคนที่ยังไม่ได้ดูกลับไม่เข้าใจเพราะส่วนใหญ่เป็น “มุกวงใน” (Inside Joke) ที่ต้องดูเท่านั้นถึงจะรู้เรื่อง
เรารู้สึกว่า ‘ถ้าไม่ดูก็จะคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่องนะ’ ความอยากเข้าใจ (ว่าคนอื่นเขาขำอะไรกัน) และอยากเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนี่เอง ที่เป็นแรงผลักดันให้ผู้ชมหน้าใหม่กดดู Squid Game
แน่นอนว่า Word-of-Mouth เกิดจากผู้บริโภคเป็นส่วนใหญ่ แต่แบรนด์ก็สามารถช่วยเสริมได้ ยกตัวอย่างเช่น Netflix เองที่มีการลง Memes ตลกๆ เกี่ยวกับซีรีส์ในโซเชียลมีเดีย หรือสร้างความฮือฮาด้วยการสร้าง Pop-up อีเวนต์ที่เกาหลีและต่อด้วยที่ปารีสให้คนพูดถึงอย่างต่อเนื่อง
สรุปเป็นสำนวนไทยง่ายๆ คือ “น้ำขึ้นให้รีบตัก” หากธุรกิจของเราโชคดีที่มีคนพูดถึงเยอะแยะแล้ว อย่าปล่อยไว้เฉยๆ แต่ควรนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์หรือช่วยผลักดันต่อให้กระแสแรงไม่มีตกด้วย
บทเรียนที่ 2 : ถ้าเป็นเทรนด์ไวรัลใน TikTok แล้ว มีโอกาสประสบความสำเร็จแน่นอน
ถ้าแบรนด์ของเราเป็นเทรนด์ใน TikTok ขึ้นมาถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะอัตราการที่เทรนด์นั้นจะเป็นไวรัลยิ่งสูงมากขึ้น สำหรับซีรีส์ Squid Game นั้นก็มีแรงผลักดันส่วนหนึ่งมาจากความโด่งดังใน TikTok เช่นกัน เพราะความเป็นเอกลักษณ์หลายๆ อย่าง เช่น เครื่องแบบสีเขียวของผู้เล่นและสีแดงของผู้คุมเกมที่น่าเล่นตาม (เช่น เกมน้ำตาล Dalgona) และเรื่องตลกวงในที่กระตุ้นให้คนเห็นอยากรู้เรื่อง
Pierre Subeh ผู้เขียนบทความมองว่าโซเชียลมีเดียอย่าง TikTok ไม่เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการที่แบรนด์เข้าหากลุ่มลูกค้า แต่ยังสร้างมาตรฐานใหม่อีกด้วย ปัจจุบันเป็นเรื่องปกติที่จะเห็นแบรนด์ต่างๆ เข้าไปคอมเมนต์ตามวิดีโอโดยไม่ต้องมีพิธีรีตองหรือใช้ภาษาทางการ อย่าง Tinder แอปฯ หาคู่ชื่อดังที่มักจะไปทิ้งคอมเมนต์กวนๆ ไว้ตามวิดีโอของคู่รักบน TikTok สร้างความสนใจให้แก่ผู้พบเห็นและสร้างภาพลักษณ์ที่ดูเป็นมิตร เข้าถึงลูกค้าได้ดีกว่าเดิม
บทเรียนที่ 3 : เราไม่รู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไรจนกว่าพวกเขาจะบอกเรา
หากได้ลองดูแล้ว เราก็จะเข้าใจเองว่าทำไมหลายคนถึงชื่นชอบ Squid Game กันนัก
เพราะซีรีส์เกาหลีเรื่องนี้เนื้อหาดี ทำให้ผู้ชมตื่นเต้นจนนั่งไม่ติดเก้าอี้ แถมยังมาถูกเวลาอีกด้วย
เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาผู้คนค่อนข้างเบื่อซีรีส์และภาพยนตร์เนื้อหาเดิมๆ อยากชมอะไรที่น่าตื่นเต้น แปลกใหม่ รุนแรงและเต็มไปด้วยประเด็นน่าคิดต่อ จริงอยู่ที่ก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์เนื้อหาแนวนี้อยู่บ้างอย่าง Alice in Boderland แต่ความดังพลุแตกเสียยิ่งกว่าของ Squid Game ก็ช่วยยืนยันได้อย่างดีว่า สุดท้ายเราก็ไม่รู้อยู่ดีว่าช่วงเวลาไหนผู้บริโภคต้องการอะไร
นอกจากจะได้ลองทำดูจริงๆ เราถึงจะรู้ว่ามันได้ผลหรือไม่ได้ผล
อาจฟังดูเป็นปรัชญาไปสักนิด แต่ในชีวิตจริงก็เป็นเช่นนี้ บางครั้งมนุษย์เราก็ไม่รู้ถึงความต้องการของตัวเองจนกระทั่งสิ่งสิ่งนั้นมาอยู่ตรงหน้า ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราหิวแต่ไม่รู้ว่าหิวอะไร เราจะรู้เองว่าเราอยากกินอะไรก็ต่อเมื่อเราได้เห็นเมนูที่เต็มไปด้วยรูปอาหารน่าทาน สีสันฉูดฉาด
แล้วเราเรียนรู้อะไร? เราเรียนรู้ว่าบางครั้งหากทำตามวิธีเดิมๆ หรือพึ่งข้อมูลในอดีตมากเกินไป ไอเดียธุรกิจแปลกใหม่คงไม่เกิดขึ้น เราอาจจะต้องลองคำนวณความเสี่ยง วางแผนรับมือให้ดี และ “ลองทำดู”
Squid Game ได้นิยามขอบเขตใหม่ของรายการทีวีและการที่ผู้ชมนำเนื้อหาไปใช้ต่อ เราจะเห็นว่าหากตัวสินค้าหรือบริการของเรานั้นธรรมดา สุดท้ายธุรกิจก็ได้แค่ความสนใจระดับกลางเท่านั้น แต่ถ้าหากสินค้าและบริการของเราโดดเด่นและมาได้ถูกเวลา ความสนใจอาจแพร่หลายแถมได้การโปรโมตฟรีๆ โดยผู้บริโภคอย่าง Squid Game ก็เป็นได้
แปลและเรียบเรียง
https://bit.ly/3DDj91P
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#business
ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/