อย่าให้ความลำเอียงบังตาจนตัดสินใจผิด! สำรวจ 5 อคติที่กำลังครอบงำความคิดของเรา

1602
ความลำเอียงในการตัดสินใจ

หากเราต้องให้คะแนนความฉลาด หน้าตา หรือความสามารถอื่นๆ ของตัวเองจาก 1-10 เราจะให้คะแนนตัวเองเท่าไหร่กันบ้าง?

รู้หรือไม่ว่า หลายคนนั้นมักให้คะแนนตัวเองประมาณ 7 ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นอาจจะมากหรือน้อยกว่า 7 เสียด้วยซ้ำ การที่พวกเขาให้คะแนนตัวเองแบบนี้นั้นเกิดจากอาการที่เรียกว่า “อคติในการตัดสินใจ (Cognitive Bias)”
 
เราตัดสินในเรื่องต่างๆ โดนยืนบนเหตุผล ประสบการณ์ และข้อมูลที่เรารับรู้ ทว่าหลายๆ ครั้งเราก็ตัดสินจากอารมณ์ส่วนตัวโดยไม่ใช้เหตุผล ไม่ฟังความเห็นผู้อื่น หรือคิดและตีโพยตีพายไปเองว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้โดยไม่สนข้อเท็จจริง สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่อคติ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดได้ตามธรรมชาติของมนุษย์
 
แต่การที่เรามีอคติบดบังความคิดจะทำให้เรามองความเป็นจริงผิดเพี้ยนไป จนเราอาจจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้าย ดังนั้น การเข้าใจว่าอคติอะไรกำลังครอบงำตัวเรา และหาวิธีแก้ไข จะทำให้เรามองโลกบนพื้นฐานของเหตุผลและความเป็นจริง และช่วยให้ตัดสินใจได้ถูกต้องและแม่นยำ

อคติแบบไหน? ที่มีผลต่อการตัดสินใจ

1. ทุกอย่างต้องดีอยู่แล้ว (Optimism Bias)

Optimism Bias คือการมองว่าทุกอย่างต้องดำเนินไปได้ด้วยดี ไม่มีหรอกเหตุร้าย ไม่มีหรอกความผิดพลาด เช่น ขับรถใกล้แค่นี้ไม่ต้องสวมหรอกหมวกนิรภัย หรือจะคาดเข็มขัดนิรภัยทำไมไปแค่ร้านหน้าปากซอย เป็นต้น
 
อคติเช่นนี้เป็นอันตรายต่อความคิดเป็นอย่างมาก เพราะเราจะมองโลกในแง่ดีจนมองข้ามทุกอย่าง และไม่วางแผนรับมือความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง
 
แต่อคตินี้สามารถแก้ไขได้ไม่ยากด้วยการใช้เวลามองเรื่องต่างๆ ให้ละเอียดขึ้น คิดให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจหรือลงมือทำ ซึ่งสามารถช่วยลด Optimism Bias ลงได้

2. ตัวฉันนั้นไม่เคยผิด (Self-Serving Bias)

Self-Serving Bias คือการคิดว่าทุกอย่างแย่ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะคนอื่น ทั้งที่จริงแล้วเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาจากฝีมือของตัวเอง
 
คนที่มีอคตินี้มักมีความเห็นแก่ตัวและหลงตัวเองสูง ซึ่งจะเป็นปัญหามากเมื่อต้องทำงานร่วมกับคนกลุ่มนี้ เพราะเมื่อเกิดความผิดพลาดพวกเขาจะปฏิเสธความรับผิดชอบ และพร้อมที่จะโทษคนในทีมทันที ขณะที่นิสัยหลงตัวเองอาจพัฒนาไปเป็น ‘Narcissistic Personality Disorder’ หรือโรคหลงตัวเองที่จะส่งผลลบต่อความสัมพันธ์ของตนเองกับผู้อื่นอีกด้วย
 
ใครที่มีอคตินี้ต้องค่อยๆ ลดความหลงตัวเองและยอมรับความผิดพลาดที่เกิดจากตัวเอง ผ่านการมองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยเหตุและผล อย่าคิดว่าเรานั้นสมบูรณ์แบบแล้ว เพราะทุกคนนั้นเรียนรู้ได้เสมอ

3. ถ้าเกลียดแต่แรกพบแสดงว่าคบไม่ได้ (The Horn Effect)

‘First Impression’ หรือความประทับใจแรกพบเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราจะตัดสินว่าคนตรงหน้าเป็นคนแบบไหนภายในเวลาไม่กี่วินาทีจากสิ่งนี้ แต่ปัญหาคือ หลายครั้งที่ความรู้สึกแรกพบนั้นก็ไม่ได้ถูกเสียทีเดียว
 
ที่แย่ไปกว่านั้น หากเรามองใครในแง่ลบเมื่อแรกพบ มันมีโอกาสที่เราจะมองคนๆ นั้นในแง่ลบมากขึ้นไปอีก นี่คือ ‘The Horn Effect’ หรือการมองว่าคนที่เราเกลียดตั้งแต่แรกพบไม่มีทางเป็นคนที่ดี ทั้งที่ในความเป็นจริงอาจจะเป็นคนที่น่าคบหาก็เป็นได้
 
การมองด้วยอคติแง่ลบต่อทุกเรื่องเช่นนี้จะทำให้เราตัดสินเรื่องต่างๆ ผิดไปจากความเป็นจริง หรือเสียโอกาสในการทำความรู้จักเพื่อนใหม่ๆ และเข้าสังคมที่ดี เพียงเพราะเราไม่ถูกใจในแรกพบ ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการลดอารมณ์และความรู้สึกในการตัดสินเรื่องต่างๆ ลงสักนิด ทำความรู้จักกับเรื่องหรือคนเหล่านั้นให้ดีก่อน บางทีคุณอาจจะเปลี่ยนทัศนคติของตัวเองก็ได้

4. ปักใจเชื่อเฉพาะเรื่องที่ชอบ (Confirmation Bias)

การที่รับข้อมูลข่าวสารอยู่ฝั่งเดียวเป็นเวลานาน เมื่อเจอกับข้อมูลที่ค้านความเชื่อดั้งเดิมมากๆ หลายคนจะเกิดการปฏิเสธที่จะรับข้อมูลชุดใหม่ หรือต่อให้ข้อมูลชุดใหม่ถูกต้องหรือดีกว่าชุดเก่า บางคนก็เลือกที่จะบิดข้อมูลว่าของใหม่นั้นแย่ ของเก่านั่นแหละดีที่สุด เป็นการบิดข้อมูลให้ตรงความกับเชื่อของตน
 
การบิดเบือนข้อมูลต่างๆ เพียงเพื่อให้ตัวเองสบายใจเป็นเรื่องที่อันตราย แม้การหลอกตัวเองให้เชื่อในเรื่องโกหกที่บิดเบือนเพื่อจะปฏิเสธความจริงนั้นจะทำให้สบายใจ แต่คุณจะเสพติดมันในระยะยาว และทักษะการคิดวิเคราะห์ก็จะย่ำแย่ลงจนในบางครั้งก็ไม่สามารถแยกแยะข้อเท็จจริงได้
 
อคตินี้จะแก้ได้เมื่อเราเปิดใจรับข้อมูลที่ผ่านเข้ามาแม้ว่าจะขัดแย้งกับความเชื่อเราเพียงใดก็ตาม และวิเคราะห์ให้ถ้วนถี่ก่อนจะเชื่อในทุกสิ่ง

5. คิดไปเองว่าเราเก่งกว่าคนทั่วไป (Illusory Superiority)

การเชื่อมั่นในตนเองไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลก แต่การมองตนเองว่าเก่งเกินความเป็นจริงไปมากนั้นไม่ใช่เรื่องที่ดี ‘Illusory Superiority’ คือขั้นกว่าของ Optimism Bias เป็นการมองว่าตัวเรามีความฉลาด ทักษะ หรือแม้กระทั่งศีลธรรมที่สูงส่งกว่าคนทั่วไป
 
อันตรายของ Illusory Superiority คือ การมองว่าตัวเองสูงส่งกว่าคนอื่นจะก่อให้เกิดแนวคิดผิดๆ เช่น ฉันดีกว่าเธอ ฉะนั้นฉันสามารถต่อว่าเธออย่างไรก็ได้ หรืออาจนำไปสู่การหลงตัวเองว่าเป็นคนที่ดีที่สุด ทุกคนแย่กว่าฉัน ทำให้แนวคิดของเรามืดบอดไปด้วยอคติอย่างมหาศาล
 
ขั้นตอนแรกสุดของการแก้อคตินี้คือ การใช้เหตุผลมองความเป็นจริง อย่าเน้นไปที่ความรู้สึกหรืออารมณ์เมื่อพูดถึงทักษะ แน่นอนว่าจะต้องใช้เวลาพอสมควร แต่มันจะดีกว่าปล่อยให้ตัวเราจมอยู่กับจินตนาการที่ไม่เป็นความจริง
 
แม้ว่าอคติจะเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม การมีอคติอยู่เต็มหัวใจนั้นนอกจากจะทำร้ายตัวเราแล้วยังทำร้ายผู้อื่นด้วยเช่นกัน ดังนั้นเมื่อใดที่เรารู้ตัวว่าเรามีความลำเอียงและอคติบดบังทัศนคติของเรานั้น พยายามลดมันลงเพื่อที่เราจะได้ใช้ชีวิตอย่ามีความสุข
 
 
แปลและเรียบเรียงจาก:
อ่านเพิ่มเติม:
 
 

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/online-content/

Advertisements
Advertisements