PSYCHOLOGY‘Gaslighting’ สิ่งน่ากลัวในความสัมพันธ์ เมื่อเธอบอกว่าฉัน ‘เข้าใจผิดคิดบ้าไปเอง’

‘Gaslighting’ สิ่งน่ากลัวในความสัมพันธ์ เมื่อเธอบอกว่าฉัน ‘เข้าใจผิดคิดบ้าไปเอง’

“เธอคิดมากไปหรือเปล่า ฉันไม่เคยทำอะไรแบบนั้นเลย”
“ฉันไม่รู้ว่าทำไมเธอถึงทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องใหญ่…”
“เป็นบ้าเหรอ!”

ถ้าใครเคยถูกผู้อื่นพูดใส่แบบนี้ จนตื่นตระหนกและเริ่มคิดว่า บางทีตนเองอาจจะคิดมากหรือเป็นบ้าแบบที่คนอื่นบอก ให้รู้ไว้เถอะว่าคุณกำลังถูก ‘Gaslighting’! …ทำไมคำว่า ‘ตะเกียง’ ถึงอธิบายถึงประเด็นเชิงจิตวิทยา และเราจะตรวจสอบได้อย่างไร ว่าเรากำลังถูกกระทำเช่นนั้น วันนี้เราจะมารู้จักกับ ‘Gaslighting’ กัน

Gaslighting คืออะไร

คำว่า Gaslight ที่แปลว่าตะเกียงนั้น ถูกใช้เพื่อเปรียบเปรยภาวะการถูกชักใยจากคนอื่น และทำให้สับสนเกี่ยวกับความทรงจำหรือการรับรู้ของตนเอง โดยมาจากภาพยนตร์เรื่อง ‘Gaslight’ (1944) ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับสามีที่ต้องการฮุบสมบัติของภรรยา โดยการทำให้ภรรยาคิดว่าตัวเองเป็นคนบ้า

ภาพยนตร์ ‘Gaslight’ มีฉากสำคัญฉากหนึ่ง คือตอนที่สามีแอบหรี่แสงตะเกียง เมื่อภรรยากล่าวถึงแสงตะเกียงที่มืดลง สามีกลับตำหนิว่า “เธอเป็นบ้าคิดไปเอง ตะเกียงยังส่องแสงปกติ” ทำให้ฝ่ายภรรยาเริ่มคิดว่า ตัวเองเป็นบ้าไปจริงๆ เพราะสามีเอาแต่พูดแบบนี้กับเธอ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วสามีสร้างสถานการณ์ขึ้นทั้งหมด ค่อยๆ ทำทีละเล็กทีละน้อย จนภรรยาสับสน และรู้สึกว่าตนเองต้องพึ่งพาสามีไปเรื่อยๆ

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ หลายๆ คนคงเริ่มรู้สึกว่า ตนเองก็เคยตกเป็นเหยื่อของ Gaslighting มาแล้ว ไม่ว่าจะในความสัมพันธ์ของคนรัก ครอบครัว ที่ทำงาน หรือกระทั่งผู้มีอำนาจที่กล่าวผิดเป็นถูก กลับขาวเป็นดำ และโยนความผิดให้ผู้ถูกปกครองเข้าใจว่า พวกเขาคิดโอเวอร์เกินความจริง

Gaslighting อันตรายหรือไม่

นักจิตวิทยาที่ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ nbcnews บอกว่า Gaslighting นั้น “อันตราย” เพราะการสับสนระหว่างความลวงกับความจริง อาจทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ อย่างไรก็ตาม การ Gaslight ก็อาจไม่ได้หวังผลให้คนที่ถูกกระทำประสาทหลอนไปจริงๆ แต่ต้องการแค่เพิ่มอำนาจให้ตัวเอง เพื่อเป็นผู้ควบคุม หรือเปลี่ยนความผิดของตัวเอง โดยโยนให้อีกฝ่ายเป็นคนเข้าใจผิดแทน

เช่น เมื่อภรรยากล่าวว่า สามีคุยกับผู้หญิงอื่น และถามว่าเขากำลังนอกใจใช่หรือไม่ ฝ่ายสามีจะตะคอกกลับเสียงดัง ปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้ทำ และมักตอบท้ายว่า “เธอคิดไปเอง!” หรือหัวหน้างานที่ทำงานผิดพลาด แต่กลับโทษว่าลูกน้องเป็นคนทำ เมื่อลูกน้องโต้แย้ง ก็จะรีบตวาดกลับไปว่า “คุณไม่รู้ล่ะสิว่าคุณทำผิดไว้แค่ไหน!” ด้วยอำนาจที่ไม่เท่าเทียมทางเพศ (กรณีสามีภรรยา) และอำนาจของตำแหน่ง (กรณีเจ้านายลูกน้อง) ทำให้อีกฝ่ายไม่อาจโต้เถียง และอยู่ในภาวะจำยอมไป

Advertisements
Advertisements

ข้อสังเกตของ Gaslighting

คนที่พยายาม Gaslight คนอื่น จะรู้ว่าการสร้างความสับสนจะทำให้อีกฝ่ายอ่อนแอลง พวกเขาจึงมีพฤติกรรมที่ชอบปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้พูดหรือทำบางอย่าง แม้จะมีหลักฐานยืนยัน และพยายามทำให้คนอื่นเข้าใจเราผิดไปด้วย

ในขณะเดียวกันคนที่ถูก Gaslight จะมีอาการสงสัยในตนเอง หรือมีปัญหาในการตัดสินใจเพราะรู้สึกไม่มั่นใจในตนเอง หนักๆ เข้าจะเริ่มคิดว่าตนเองเป็นฝ่ายผิด หรือดีไม่พอ รู้สึกไม่มีความสุข ทุกข์ทรมาน แม้จะสัมผัสได้ว่ามีบางอย่างผิดปกติ แต่คุณกลับตอบไม่ได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร

วิธีรับมือกับ Gaslighting

จากข้อสังเกตข้างต้น เมื่อไรที่รู้สึกว่ากำลังเป็นผู้ถูกกระทำ ให้ตั้งสติดีๆ แล้วพยายามระบุให้ได้ว่า ตอนนี้คุณและอีกฝ่ายกำลังมีปัญหาอะไร อย่าไหลตามคำด่าทอหรือกล่าวหา แต่ควรคิดให้รอบคอบว่า เรื่องที่เป็นประเด็นนี้ คุณมีหลักฐานอะไร แม้อีกฝ่ายจะไม่ยอมรับ แต่ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าคุณไม่ได้คิดไปเอง

ถ้าหากคุณรู้สึกแย่มากๆ ก็ปล่อยให้ตัวเองแสดงความรู้สึกนั้นออกมา และเมื่อไรที่คุณเข้าใจแจ่มแจ้งว่าคุณกำลังถูกทำร้ายหรือเปลี่ยนความจริงอย่างไม่เป็นธรรม ให้พาตัวเองออกมาจากความสัมพันธ์นั้น แต่ถ้าคุณรู้สึกว่ายังเข้มแข็งไม่พอ ให้ลองขอความคิดเห็นจากคนรอบข้าง พวกเขาจะชี้ให้คุณเห็นความจริงที่ถูกบิดเบือนได้

และสุดท้ายคือรักตัวเองและเห็นคุณค่าของตัวเองให้มากๆ จำไว้ว่า ถ้าสิ่งไหนเป็นความจริง สิ่งนั้นต้องเป็นความจริงไปตลอด อย่าให้ใครมาพยายามบิดเบือน และกล่าวหาคุณได้


แปลและเรียบเรียงจาก:
– What is gaslighting? And how do you know if it’s happening to you? : Sarah DiGiulio, nbcnews – https://nbcnews.to/3aa3w5H
– 11 Red Flags of Gaslighting in a Relationship : Stephanie A. Sarkis, Psychology Today – https://bit.ly/3scUQ4Z

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Manlika Klinprayong
Manlika Klinprayong
I write, therefore I am. เราเขียน เราจึงมีอยู่

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า