PODCASTเจอคนแบบนี้ต้องทำยังไง? รับมือ 3 ประเภทคน “Toxic” สร้างมลพิษในที่ทำงาน

เจอคนแบบนี้ต้องทำยังไง? รับมือ 3 ประเภทคน “Toxic” สร้างมลพิษในที่ทำงาน

“คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก” หนึ่งในสุภาษิตที่คนทำงานเข้าใจความรู้สึกอย่างถ่องแท้ เพราะเมื่อก้าวสู่โลกการทำงานที่แท้จริงก็พบว่า ‘สังคม’ หรือ ‘บรรยากาศการทำงาน’ เป็นหนึ่งในตัวแปรหลักที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงานโดยตรง

จากแบบสำรวจของ iHire เมื่อปลายปี 2023 ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า “บรรยากาศเป็นพิษในที่ทำงาน” เป็นเหตุผลอันดับหนึ่งของการลาออกที่กินสัดส่วนไปถึง 35.7% และ “ไม่พึงพอใจหัวหน้า” เป็นอันดับที่ 2 มีสัดส่วนกว่า 28.9% เรียกได้ว่า “คน” เป็นเกณฑ์ตัดสินใจหลักว่าจะลาออกจากบริษัทแห่งนั้นหรือไม่

ลำพังแค่งานประจำวัน งานด่วน งานเร่ง ไปจนถึงการจัดการเรื่องต่างๆ ในชีวิตส่วนตัวก็ปวดหัวมากพออยู่แล้ว ทว่า “คนเป็นพิษ” ไม่ว่าจะเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าก็เปรียบเสมือนกับสายฟ้าในพายุกลางทะเลที่ทำให้ทุกอย่างยากขึ้นเป็นเท่าตัว

เพราะทุกคนย่อมอยากทำงานให้ออกมา ‘ดีที่สุด’ เสมอ ทว่า “คนอื่น” เป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก หลายต่อหลายครั้งที่คนเป็นพิษมักจะนำไปสู่ ‘ข้อจำกัด’ มากมายที่เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จ และอีกหลายครั้งที่ความเป็นพิษจากคนกลุ่มหนึ่งแผ่ขยายกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งผลต่อการทำงานภาพรวมทั้งหมด

ถึงอย่างนั้นความสัมพันธ์ในที่ทำงานก็ยังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าธรรมชาติงานจะเป็นงานเดี่ยวหรืองานทีมก็ตาม การทำงานจึงไม่ใช่แค่เรื่องของความสามารถในสายงานนั้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงทักษะการรับมือกับคนหลากหลายแบบอีกด้วย

อาจจะกล่าวได้ว่าคนทำงานเก่งคือคนที่รู้ว่าจะต้อง “ใช้พิษให้ยา” อย่างไร หรือก็คือจะรับมือกับคนเหล่านี้อย่างไรให้สร้างประโยชน์กับเป้าหมายตนเอง วันนี้ Mission To The Moon เลยอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ 3 ประเภทคนท็อกซิกจาก Harvard Business Review และ The Muse พร้อมติดอาวุธวิธีผันพิษเป็นยาไปพร้อมกัน

3 ประเภทคน Toxic ในที่ทำงาน พร้อมวิธีรับมือแบบมืออาชีพ

1. ก้อนพลังงานลบ พร้อมแผ่ไอพิษ

แม้ว่าการบ่นจะเป็นเรื่องปกติของการทำงาน เพราะตลอดวันย่อมเจอกับเรื่องน่าหนักใจมากมาย แต่เชื่อว่าเพื่อนร่วมงานที่คอย “บ่น” อยู่ตลอดเวลาและดูเหมือนว่าจะไม่เคยพอใจอะไรในชีวิตเลย ก็กลายเป็นอีกหนึ่งความน่าหนักใจของคนรอบข้างเช่นเดียวกัน

นอกจากกลุ่มที่ชอบบ่นไปทุกเรื่องจนสร้างความรู้สึกอึดอัดให้คนฟังแล้ว ยังมีก้อนพลังงานลบอีกประเภทที่มักจะดักทางโปรเจกต์ใหม่ๆ อยู่เสมอว่ามีโอกาสล้มเหลวอย่างไรบ้าง จนสร้างความกังวลให้กับทีมที่ทำงานด้วยกันแทนที่จะเป็นกำลังใจ

สำหรับคนกลุ่มนี้แล้ว ความวิตกกังวล ความโหยหาอำนาจในการควบคุมความล้มเหลว และความรู้สึกเสียใจต่อความล้มเหลวในอดีตเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของความคิดแง่ลบที่เขาพยายามสื่อสารออกมา แม้จะเข้าใจได้แต่ก็ต้องยอมรับว่าความรู้สึกเชิงลบและความคิดลบนั้นสามารถติดต่อกันได้เป็นวงกว้าง

วิธีรับมือกับคนมีความคิดลบคือการเสนอมุมมองทางเลือกที่แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้เมินเฉยต่อความกังวลถึงผลกระทบของเขา เช่น เพื่อนร่วมงานผู้คิดลบกล่าวว่าผลงานยังมีคุณภาพไม่เพียงพอ หากตีกลับด้วยการบอกว่าคุณภาพเพียงพอแล้วจะไม่สามารถตอบโจทย์ความกังวลที่เขายกประเด็นขึ้นมาได้

แต่หากเสนอมุมมองอื่นว่าสาเหตุที่ผลงานมีคุณภาพประมาณนี้เป็นเพราะปัจจัยใดบ้างและถามความเห็นว่าควรปรับปรุงแต่ละปัจจัยอย่างไร จะช่วยตีกรอบความคิดที่เต็มไปด้วยความกังวลว่าจะล้มเหลวกลับมาสู่เส้นทางการแก้ไขปัญหาได้มากขึ้น นอกจากจะแก้ปัญหาได้แล้วยังสร้างภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือให้ตนเองอีกด้วย

2. ข้างนอกดูไม่มีพิษภัย ข้างในกำลังโจมตี

กลุ่มภายนอกอย่าง ภายในอย่าง สามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 ประเภทหลัก กลุ่มแรกคือคน “Passive-Aggressive” หรือคนที่ไม่พอใจหรือรู้สึกไม่ดี แต่ไม่พูดออกมาตรงๆ กลับแสดงออกผ่านพฤติกรรมอื่นจนชวนให้คนที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วยรู้สึกอึดอัดและไม่รู้จะต้องทำอย่างไรต่อไปดี

พฤติกรรมของคนกลุ่มแรกเกิดมาจากความกลัวที่จะถูกปฏิเสธหากเผยความรู้สึกออกไป หรืออยากจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ขณะเดียวกันก็อาจเกิดมาจากความรู้สึกไร้อำนาจจากบางสถานการณ์ การรับมืออย่างชาญฉลาดคือห้ามตีตราด้วยการบอกว่า “หยุดทำตัวงี่เง่า” หรือ “คุณกำลังทำตัวไม่น่ารัก ไม่มีเหตุผล” ไปจนถึงประโยคที่เป็นการกล่าวโทษเพราะจะยิ่งทำให้คนฟังรู้สึกไม่มั่นคงมากกว่าเดิม

สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจเจตนาหลังความโกรธนั้นว่าเขากังวลเรื่องใด รู้สึกไม่พอใจ ไม่ยุติธรรม หรือมองเห็นอะไรที่ไม่น่าภิรมย์ในโปรเจกต์และการทำงานร่วมกันหรือเปล่า บางครั้งเจ้าตัวอาจจะไม่สามารถสื่อสารความคิดออกมาได้ด้วยตนเอง หากมีใครสักคนเป็นโฆษกพูดแทนก็จะทำให้เขาเรียนรู้ที่จะปรับการสื่อสารให้ซื่อตรงกับความคิดมากขึ้น

กลุ่มที่สองคือเจ้านกจุ๊บจิ๊บ ชอบจับกลุ่มซุบซิบนินทา หลายครั้งที่เราต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ได้อยากจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับการหัวเราะคิกคักหรือวิจารณ์จนเกินเหตุของคนกลุ่มหนึ่งแต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ เช่นนั้นจะต้องรับมือกับกลุ่มนกประสานเสียงนี้อย่างไร?

การเตรียม “สคริปต์” ไว้ให้ตนเองกรณีที่ถูกคาดหวังให้ตอบรับความคิดเห็นที่เป็นประเด็นในวงนินทา เช่น การตั้งคำถามต่อว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น? หรือการออกความคิดเห็นเชิงวิเคราะห์และสงสัยว่าเป็นเรื่องจริงหรือ? จะช่วยหยุดการไหลตามกันของวงสนทนาได้ช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นจึงค่อยเปลี่ยนหัวข้อเพื่อแสดงจุดยืนว่าไม่ต้องการเกี่ยวข้องอย่างมีวุฒิภาวะนั่นเอง

Advertisements

3. ช่างรู้ ช่างเคลม ช่างแสดงตัวตน

“Mr. Know-It-All” หรือคนช่างรู้มีอยู่ทุกพื้นที่ คนเหล่านี้มักจะขัดขึ้นมากลางบทสนทนาเพื่อบอกว่าทุกคนจงฟังทางนี้ เพราะตัวเขานั้นรู้ดีที่สุด เขาจะชื่นชอบให้มีคนเห็นด้วยกับความคิดแล้วย้ำเตือนว่าเขานั้น “ถูกต้อง” แล้ว ฟังดูเหมือนเป็นพฤติกรรมธรรมดาที่ไม่ว่าใครก็อยากได้รับการยอมรับ แต่หลายครั้งที่พฤติกรรมเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการระดมสมองของทีม

ขณะเดียวกันหลายคนอาจจะเคยเจอเหตุการณ์ “แมวขโมย” ที่ชอบเคลมความคิดหรือผลงานของคนอื่นไปเป็นของตนเอง เช่น ท่ามกลางการประชุมที่คุณเสนอไอเดียไปแต่จังหวะนั้นยังไม่มีคนฟัง ก็จะมีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่รอจังหวะหรือสร้างจุดสนใจไปที่ตนเองแล้วนำเสนอไอเดียของคุณออกไปด้วยคำพูดเดียวกัน สุดท้ายเครดิตก็ไปตกที่คนเหล่านั้นเต็มๆ

หรือคน “ช่างแสดงตัวตน” เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มักจะพูดจาแสดงถึงทัศนคติที่ไม่น่าฟังต่อเพศ รสนิยมทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา หรือหัวข้อละเอียดอ่อน เช่น การยกคำพูดว่า “ฉันมีเพื่อนเป็นเกย์เยอะเลย” มาเป็นหลักฐานสนับสนุนว่าตนเองไม่เหยียดเพศ หรือการแซวเพื่อนร่วมงานหญิง เช่น “หวานใจ” “สุดที่รัก” “สาวน้อย” เป็นต้น

แน่นอนว่าแรงจูงใจเบื้องหลังของพฤติกรรมเหล่านี้คือการเป็นที่ยอมรับ แต่วิธีการพิสูจน์ตัวตนอาจจะไม่ใช่แนวทางที่สร้างบรรยากาศน่าอยู่ในทีมสักเท่าไรนัก วิธีใช้ประโยชน์จากความต้องการเป็นที่ยอมรับของคนช่างรู้คือการบอกขอบเขตและการเจาะลึกเนื้อหา

ยกตัวอย่างเช่น หากคนช่างรู้ขัดบทสนทนา การแจ้งไปตรงๆ ว่ารับฟังแต่ขอให้จบประเด็นดังนี้แล้วจะมาพูดคุยกันทีหลังจะช่วยชี้จังหวะให้เขาแสดงตัวตนได้อย่างเหมาะสมขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อถึงเวลาพูดคุย การเจาะลึกไอเดียของเขาว่ามีหลักฐานจากไหน ทำไมถึงคิดเช่นนั้น จะช่วยให้เขาได้แสดงตัวตนอย่างถูกวิธี และคนในทีม รวมถึงตนเองก็จะได้เรียนรู้และสร้างผลงานที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน

แม้ว่ามนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ แต่เราก็สามารถเรียนรู้ที่จะรับมือกับรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลายให้ถูกวิธี และทำให้มันกลับมาสร้างประโยชน์ให้ตนเองในที่สุด อย่างไรก็ตามการประเมินและรักษาใจตนเองก็เป็นสิ่งสำคัญ การรู้ว่าเมื่อไรควรเลี่ยงเมื่อไรควรรับมือก็เป็นอีกทักษะที่ควรเรียนรู้ไว้

แล้วเราจะรับมือกับสังคมไปพร้อมกับรับมือความรู้สึกตนเองอย่างไร?

มาร่วมค้นหาคำตอบไปด้วยกันในงานอีเวนต์พัฒนาทักษะแห่งปี “Mission To The Moon Forum 2024: Work-Life Survival Guide เครื่องมือเอาชีวิตรอดสำหรับคนสู้งาน” ในวันที่ 27 เมษายน 2567 เวลา 9.00-18.00 น. ที่ BHIRAJ Hall 2-3, BITEC Bangna พบกับวิทยากรและวิทยาการมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

[ ] Session 4: ฮีลใจอย่างไรในวันที่หมดไฟ (11.30-12.00)

จัดการอาการหมดไฟจากงาน หมดไฟจากคน ไปกับดีเจพี่อ้อยจากรายการ ‘Club Friday’ พักจากเรื่องภายนอกแล้วเข้ามาสำรวจจิตใจ และฮีลจากอาการหมดไฟไปด้วยกัน

[ ] Session 8: Humanized Leader ผู้นำยุคใหม่ ต้องใช้ใจบริหารอย่างไรจึงจะสำเร็จ (16.00-16.45)

เข้าใจศาสตร์การเป็นผู้นำยุคใหม่ ด้วยแนวคิดการเข้าใจมนุษย์กับชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Food Passion บริษัทแม่แห่งร้านอาหารครอบครัวประจำดวงใจชาวไทยอย่าง Bar B Q Plaza และจิตสุภา วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมไทยรัฐทีวีและไทยรัฐออนไลน์ ดำเนินการบรรยายโดย ชญาน์ทัต วงศ์มณี นักเขียนชื่อดังที่รู้จักกันในนาม ‘ท้อฟฟี่ แบรดชอว์’

[ ] Session 9: ทำไมต้องอยู่เป็นในสมรภูมิการเมืองออฟฟิศที่เป็นอยู่? (17.00-17.45)

รักษางานที่มั่นคงท่ามกลางสมรภูมิภายในออฟฟิศไปกับนาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี นักการเมือง อดีตโฆษกรัฐบาล, รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นักบินขับไล่ไอพ่น F-16 ของกองทัพอากาศไทย และ ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ Bluebik Group ดำเนินการบรรยายโดย รวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Srichand & Mission To The Moon Media

ซื้อบัตรได้แล้ววันนี้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/Mission-To-The-Moon-Forum-2024

ที่มา
– 3 Types of Difficult Coworkers and How to Work with Them: Amy Gallo, Harvard Business Review – https://bit.ly/4az3dOy
– 5 Types of Toxic Coworkers and How to Deal With Them: Siobhan Neela-Stock, The Muse – https://bit.ly/3TwWBJQ

#relationship
#worklife
#toxiccoworker
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า