PSYCHOLOGYworklifeอยู่ๆ ก็มีเรื่องราวให้นอนไม่หลับ ไขข้อสงสัยทำไมคนทำงานมักนอนหลับยากในคืนวันอาทิตย์

อยู่ๆ ก็มีเรื่องราวให้นอนไม่หลับ ไขข้อสงสัยทำไมคนทำงานมักนอนหลับยากในคืนวันอาทิตย์

หากใครกำลังอ่านบทความนี้อยู่ เราขอเดาว่าคุณคือหนึ่งในกลุ่มคนที่เคยหรือกำลังมีปัญหาในการข่มตานอนให้หลับในคืนวันอาทิตย์มาไม่น้อยเหมือนกัน

หากเปรียบโลกแห่งการทำงานเหมือนกับทะเลทราย ช่วงเวลาวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็คงเป็นเหมือนกับโอเอซิสแห่งความสุขสั้นๆ ที่ประกอบไปด้วยการเที่ยวเล่น งานอดิเรก และการพักผ่อน เพื่อเป็นการชาร์จพลังทั้งกายและใจ ก่อนที่เราจะพบกับวันจันทร์อีกครั้ง ในการทำงานสัปดาห์ถัดไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคืนวันอาทิตย์ เมื่อถึงเวลาที่เราควรจะหลับตาพักผ่อนอย่างเต็มอิ่มให้ได้มากที่สุด เพื่อเตรียมตัวทำงานให้พร้อมในเช้าวันจันทร์ คนทำงานหลายคนกลับไม่สามารถข่มตาหลับอย่างแท้จริงได้ จนสุดท้ายก็ได้แต่นอนกลิ้งไปกลิ้งมาจนดึกดื่น ต้องเริ่มต้นเช้าวันจันทร์อันหนักหน่วงด้วยเวลานอนเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

แน่นอนว่าหากคิดเร็วๆ คนทำงานหลายคนก็คงตอบแบบพร้อมเพรียงไม่แตกแถวว่า สาเหตุของอาการนอนไม่หลับเหล่านี้ก็คือ ความกังวล ความห่อเหี่ยว และความเครียด ที่ขมวดรวมกันเป็น “ความไม่อยากไปทำงาน” จนทำให้นอนไม่หลับในคืนวันอาทิตย์

อาการนอนไม่หลับนี้หากดูเผินๆ ก็อาจเหมือนจะเป็นเรื่องตลกขำขันที่เหล่าคนทำงานใช้เป็นหัวข้อในการทักทายกันและกันในเช้าวันจันทร์ แต่หารู้ไม่ว่าอาการนอนไม่หลับในคืนวันอาทิตย์นี้ อาจมีเบื้องหลังที่ซับซ้อนยิ่งไปว่าแค่อาการ “ไม่อยากไปทำงาน” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แถมพฤติกรรมนี้อาจเป็นการส่งสัญญาณอันตรายบางอย่าง ที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานและสภาพจิตใจ ที่ไม่ว่าใครก็คงหัวเราะไม่ออกเหมือนกัน

อาการคิดมากในคืนวันอาทิตย์ สัญญาณที่บอกว่าเรา “ทำงาน” หนักเกินพอดี

จากการศึกษาวิจัยของ Sleep Foundation คืนวันอาทิตย์เป็นคืนที่คนทั่วไปนั้น “หลับยากที่สุด” ในสัปดาห์ โดยพวกเขาพบว่าผู้ใหญ่ 8 ใน 10 คนมีแนวโน้มที่จะนอนเล่นพลิกตัวไปมาอย่างกระสับกระส่ายอยู่บนเตียง ซึ่งอาการนอนไม่หลับในคืนวันอาทิตย์นี้ได้รับคำนิยามว่า Sunday Insomnia นั่นเอง

นอกจากนี้ 54% ผู้ทำแบบสำรวจในสหรัฐอเมริกาจำนวน 1,250 คนยังบอกว่า ความเครียดและความวิตกกังวลว่าเป็นสาเหตุของภาวะการนอนไม่หลับในคืนวันอาทิตย์ของพวกเขา

Alex Dimitriu ผู้ก่อตั้ง Menlo Park Psychiatry and Sleep Medicine ในแคลิฟอร์เนีย และสมาชิกคณะกรรมการพิจารณาทางการแพทย์ของ Sleep Foundation ยังบอกอีกว่า ผู้คนหลายคนตอนนี้กำลังรู้สึกได้ถึงสถานการณ์อันตึงเครียดที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ซึ่งมันส่งผลกระทบต่อภาวะการนอนหลับของพวกเขาเป็นอย่างมาก ลำพังใช้ชีวิตและทำงานให้ผ่านพ้นไปแต่ละสัปดาห์ก็เครียดมากอยู่แล้ว แต่สำหรับใครหลายคนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ต้องเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด สงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย และสภาพเศรษฐกิจอันผันผวนในปัจจุบัน มันล้วนแต่ทำให้สมองของทุกคนเกิดการขบคิดมากขึ้นเวลาที่เราอยู่นิ่งเงียบ โดยเฉพาะเวลานอน

เพื่อให้รู้ว่าทำไมเราถึงนอนไม่หลับ ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจสมองของเราก่อน โดย Jayne Gardner หนึ่งในที่ปรึกษา Sleep Foundation เน้นย้ำว่า เมื่อสมองส่วนความรู้สึกที่เรียกว่าระบบลิมบิก (Limbic System) ของเราอัดแน่นไปด้วยความรู้สึกมากเกินไป อารมณ์ที่เราไม่ได้ให้เวลาประมวลผล สมองส่วนลิมบิกจะมีอำนาจเหนือสมองส่วนความคิดของเรา

เมื่อเรามีท่วมท้นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก เราก็ไม่จัดเรียงความคิดอย่างสงบได้ เราไม่สามารถผ่อนคลาย ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เราไม่สามารถนอนหลับได้ พูดง่ายๆ คือเรามีสิ่งเร้าต่างๆ ภายในจิตใจมากเกินกว่าจะสามารถนอนหลับลงได้

ซึ่งการที่เราไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอนั้น อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของเรา คุณภาพในงานของเรา และในกรณีที่แย่ที่สุด ทำให้บริษัทของเราเกิดเสียหายหลายแสน ทั้งในแง่มุมของชื่อเสียงไปจนถึงเงินทองเลยทีเดียว

การพักผ่อนไม่เพียงพอ ปัญหาสำคัญของพนักงาน ที่องค์กรไม่ควรมองข้าม

Nicole Detling โค้ชด้านประสิทธิภาพจิตของ ReliaQuest บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ในสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าพนักงานที่เหนื่อยล้าจากอาการนอนไม่พอนั้น อาจส่งผลร้ายในระยะยาวแต่สุขภาพโดยรวมขององค์กรได้ โดยเธอเชื่อว่าพนักงานที่เหนื่อยล้าและเครียดจัดจะส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวงต่อธุรกิจ รวมถึงสุขภาพกาย สุขภาพจิต และความเป็นอยู่โดยรวมของตัวพนักงานคนนั้นเองด้วย

แล้วมีสิ่งใดบ้าง ที่บริษัทหรือองค์กรต่างๆ สามารถทำได้บ้าง เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานของพวกเขาได้รับการพักผ่อนและพร้อมที่จะปฏิบัติงาน ท่ามกลางโลกที่ตกอยู่ในสภาวะแห่งความวุ่นวายแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ในปัจจุบัน?

Advertisements

1. มีนโยบายที่ส่งเสริมการ “พักผ่อน”

องค์กรหรือบริษัทต่างๆ ควรส่งเสริมนโยบายที่สนับสนุนให้พนักงานของพวกเขาสามารถที่จะมีเวลาในการพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ เช่น การทำงานแบบยืดหยุ่น (Flexible Working Hour) ที่อนุญาตให้พนักงานสามารถจัดตารางเวลาในการทำงานและพักผ่อนได้อย่างเหมาะสม หรืออาจจะเป็นนโยบาย Micro-Naps หรือ “งีบหลับสั้นๆ” ระหว่างวันทำงานเมื่อจำเป็น หรืออย่างน้อยที่สุด การตระหนักรู้ถึงปัญหาและพยายามสื่อสารให้พนักงานของตัวเองตระหนักถึงความสำคัญในการนอนหลับให้เพียงพอก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

Advertisements

2. สื่อสารอย่างชัดเจน เพื่อลดความกังวลในใจพนักงาน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่คนทำงานหลายคนเลือกที่จะทำงานนอกเวลาแทนที่จะนำเวลาไปพักผ่อนก็อาจมีสาเหตุมาจากความกลัวหรือความกังวลในคุณภาพงานของตัวเองนั้นจะดีไม่พอในสายตาของหัวหน้างาน ซึ่ง Andrew Robinson หัวหน้าฝ่ายบุคคลของ Highwire PR ที่มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับบริษัทชั้นนำอย่าง Intel และ GitLab แนะนำว่า เพื่อลดความวิตกกังวลของพนักงาน ผู้บริหารหรือหัวหน้างานควรมีแนวทางการเป็นผู้นำด้วยการเอาใจใส่และ “ความอ่อนข้อ” ในเวลาที่พวกเขามอบโจทย์ในการทำงานหรือสั่งงานต่างๆ โดยการสื่อสารด้วยความชัดเจนและอ่อนน้อมนี้ จะช่วยคลายความกังวลภายในใจของพนักงาน และทำให้พวกเขากล้าที่จะใช้เวลาพักผ่อนหลังเลิกงานอย่างเต็มที่

3. หาเวลาพักผ่อนด้วยกัน อย่างสามัคคี

Andrew Robinson ได้เปิดเผยว่า เคล็ดลับที่จะทำให้พนักงานทุกคนสามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ก็คือการที่พวกเขารู้กันอย่างถ้วนหน้าว่า พนักงานทุกคนจะพักผ่อนพร้อมกัน ตัวอย่างเช่น Highwire สนับสนุนให้พนักงานถอดปลั๊กคอมพิวเตอร์หยุดทำงานพร้อมกันตอน 15.00 น. ทุกวันศุกร์ ซึ่งเรียกว่า “Empower Hours” และยังมีนโยบายปิดกิจการพร้อมกันปีละ 2 ครั้งเพื่อให้พนักงานของพวกเขาได้ตัดขาดจากการทำงานโดยแท้จริง

ทั้งนี้ ไม่ว่าบริษัทหรือองค์กรจะช่วยออกนโยบายหรือสนับสนุนการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอมากเท่าไร มันจะไม่มีประโยชน์ใดๆ เลยตราบใดที่ตัวพนักงานเองไม่ยอมพักผ่อนหรือนอนให้หลับในเวลาที่เหมาะสม

แยกให้ออกระหว่าง เหนื่อยกับง่วง

แน่นอนว่าช่วงเวลาวันหยุดสุดสัปดาห์สำหรับใครหลายคนคือช่วงเวลาสำหรับการสังสรรค์กับเพื่อนฝูง รวมถึงเที่ยวเล่นอย่างตามใจชอบ อย่างไรก็ตาม การมีตารางเวลานอนที่แข็งแรงคือสิ่งสำคัญ

พวกเราทุกคนควรพยายามจัดตารางการนอนของตัวเองและเข้านอนตามตารางเวลานั้นจนเกิดเป็นนิสัย ทั้งในคืนวันธรรมดาและคืนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพราะการเข้านอนเวลาเดิมทุกคืนจะทำให้เราสามารถหลับได้ง่ายขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องฟังร่างกายของเราและเข้านอนเมื่อตัวเรารู้สึก “ง่วง” ไม่ใช่การเข้านอนเมื่อเรารู้สึก “เหนื่อย”

ใครหลายคนมักเกิดความเข้าใจผิดระหว่างความ “ง่วง” กับ “ความเหนื่อยล้า” ว่ามันคือสิ่งเดียวกัน โดยอาการง่วงนอนนั้นแตกต่างจากความเหนื่อยล้า เหน็ดเหนื่อย หรืออ่อนเพลีย เราอาจรู้สึกอ่อนเพลียและหลับไม่ลงไม่เวลาเดียวกันได้ ความง่วงคือความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะนอนหลับ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากอาการเปลือกตาหนัก ร่างกายรู้สึกอบอุ่น และสูญเสียสมาธิในการมองเห็น

ดังนั้น เราควรเข้านอนเมื่อคุณรู้สึกง่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เราไม่ควรเลือกเวลานอนตามเวลาที่เราต้องการจะหลับ หากแต่เป็นเวลาที่ร่างกายของเราสื่อสารออกมาว่ามันกำลัง “ง่วงนอน” พยายามสังเกตสัญญาณจากร่างกายของตัวเองว่าปกติแล้วเราจะมีอาการง่วงประมาณกี่โมง และปรับตารางนอนให้สอดคล้องกัน แทนที่จะพยายามสั่งร่างกายของเราให้นอนในเวลาที่เราต้องการเพียงอย่างเดียว

ถ้าหากเรานอนไม่หลับ ลองลุกขึ้นนั่งอย่างช้าๆ พยายามหากิจกรรมเบาๆ และผ่อนคลายอารมณ์ทำเช่น การอ่านหนังสือ จดบันทึก หรือนั่งสมาธิสัก 15 นาที ทำอย่างอื่นที่ผ่อนคลาย จากนั้นค่อยกลับมานอนเมื่อเรารู้สึกง่วงมากขึ้น

ท้ายที่สุดนี้ พวกเราทุกคนนั้นก็คงไม่สามารถที่จะมี Work Life Balance ได้อย่างสมบูรณ์ดั่งใจฝัน แต่สิ่งสำคัญคือการพยายามอยู่กับปัจจุบันและทิ้งความกังวลอื่นทิ้งไปในยามพักผ่อน ในเวลาทำงานก็จงทำงานอย่างตั้งใจให้ดีที่สุด แต่เมื่อถึงเวลาพักผ่อน ก็ควรนำตัวเองออกมาจากบทบาทของการทำงานให้ได้มากที่สุด

แน่นอนว่าการทำแบบนี้ได้นั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครหลายคน เราอาจเผลอคิดถึงเรื่องงานบ้างเป็นครั้งคราวในช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน แต่แค่เรารู้ตัวแล้วกลับมาเอนจอยกับปัจจุบันให้ได้มากที่สุด เท่านั้นก็ดีมากแล้ว

อ้างอิง
– Why we can’t sleep – and what it means for work : Tony Case, Worklife – https://bit.ly/45AnGkt
– What Causes My Sunday Night Insomnia? : Brandon Peters MD., Verywellhealth – https://bit.ly/3N66wUw
– This is Why Sunday Night Insomnia Is a Thing (It’s Not Just Anxiety) – Dr. Paul Greene, Manhattancbt – https://bit.ly/42emrED

#worklife
#psychology
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า