PSYCHOLOGY“การกลั่นแกล้งในวัยเรียน” เมื่อการเยียวยาจิตใจอาจใช้เวลาทั้งชีวิต

“การกลั่นแกล้งในวัยเรียน” เมื่อการเยียวยาจิตใจอาจใช้เวลาทั้งชีวิต

“การกลั่นแกล้ง” หรือ บูลลี่ (Bullying) คือประเด็นที่เป็นที่พูดถึงมากบนโลกออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อซีรีส์ชื่อดัง The Glory เปิดตัว ด้วยเนื้อหาที่เล่าถึง ‘มุนดงอึน’ เหยื่อความรุนแรงในโรงเรียนที่ลุกขึ้นมาล้างแค้นกลุ่มคนที่รังแกเธอหลังจากเวลาผ่านไปหลายสิบปี การเอาคืนอันแสนหอมหวานนี้ทำให้คนดูหลายคนรู้สึกพึงพอใจอยู่ลึกๆ

เพราะคนจำนวนไม่น้อยก็ถูกกลั่นแกล้งในวัยเด็กกันมาทั้งนั้น

เราต่างรู้ดีว่าช่วงเวลานั้นเจ็บปวดมากเพียงใด และความรู้สึกอยากตอบแทนอย่างสาสมให้อีกฝ่ายรู้สึกบ้างนั้นเป็นอย่างไร

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเลือกตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง หลายคนเลือกที่จะอยู่เงียบๆ และปล่อยให้เวลาเยียวยา และยังมีอีกหลายคนที่แม้เวลาจะผ่านมานาน พวกเขายังถูกความรู้สึกเจ็บปวดนั้นหลอกหลอน ราวกับว่าเหตุการณ์นั้นพึ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน

Advertisements

#บาดแผลในวัยเด็กที่ยังอยู่กับเราจนถึงตอนโต

การกลั่นแกล้งในวัยเรียนทิ้งบาดแผลให้แก่เหยื่อไว้หลายระดับความรุนแรง หลายคนอาจเติบโตมาด้วยความไม่เชื่อใจ หลายคนกลายเป็นคนไม่ชอบเข้าสังคม และหลายๆ คนต้องเผชิญกับโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ ไปจนถึงโรค “PTSD” หรือภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง

หากพูดถึงโรค PTSD หลายคนมักจะคิดว่าผู้ป่วยต้องผ่านเหตุการณ์รุนแรงมากๆ อย่างสงคราม การสูญเสีย หรืออุบัติเหตุเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ความรุนแรงอย่างการกลั่นแกล้งก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบได้ประจำในผู้ป่วยโรค PTSD งานวิจัยหนึ่งพบว่ากว่า 57% ของคนที่ถูกกลั่นแกล้ง มักจะมีอาการของโรค PTSD

จะเห็นได้ว่าความรุนแรงที่มักจะเกิดขึ้นในวัยเรียนนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเลย

#เยียวยาจิตใจจากการถูกบูลลี่

เหยื่อหลายคนได้รับการเยียวยาผ่านคำขอโทษของผู้กระทำ หรือไม่ก็ผ่านความช่วยเหลือจากทั้งเพื่อน คนในครอบครัว และผู้เชี่ยวชาญ ในขณะเดียวกันก็มีเหยื่อจำนวนมากที่ไม่ได้โชคดีขนาดนั้น พวกเขาต้องมีบาดแผลติดตัวตั้งแต่ตอนเด็กมาจนถึงตอนโต โดยไม่ได้ยินแม้แต่คำขอโทษจากผู้ที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดเลย

หากเราคือหนึ่งในผู้ใหญ่ที่ยังมีบาดแผลจากวัยเด็ก และอยากเยียวยาจิตใจตัวเองบ้างล่ะ จะเริ่มต้นได้อย่างไร?

1) ยอมรับความจริง

เหยื่อจากการกลั่นแกล้งหลายคนพยายามไม่ใส่ใจ มองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเล็ก หรือไม่ได้เกิดขึ้นจริง ในขณะที่อีกหลายคนโทษตัวเองว่าหากเราเข้มแข็งกว่านี้ เหตุการณ์นั้นอาจไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การจะเริ่มขั้นตอนการเยียวยาจิตใจต้องเริ่มจากการ “ยอมรับความจริง” เสียก่อน ว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นและได้สร้างความเจ็บปวดแก่เราจริงๆ และที่สำคัญมัน “ไม่ใช่ความผิดของเรา”

2) ให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและใจ

อย่างที่เราได้กล่าวไปว่าเหยื่อจากการถูกกลั่นแกล้งมักจะเผชิญกับโรค เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล อาการนอนไม่หลับ หรือ PTSD ดังนั้นการพบผู้เชี่ยวชาญและเริ่มหันมาดูแลสุขภาพตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ

3) ทวงคืนพลังในการควบคุม

ในตอนที่เราถูกกลั่นแกล้ง เราคงจำได้ดีว่าเรารู้สึกตัวเล็กและไร้พลังเพียงใด ความรู้สึกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไร้อำนาจ และควบคุมอะไรไม่ได้นี้ บางครั้งก็ตามติดตัวเรามาจนโต

จริงอยู่ที่มีเรื่องจำนวนมากอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา (เช่น เรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับเราในอดีต) แต่อย่าลืมว่ายังมีสิ่งที่เราควบคุมได้ในตอนนี้อยู่ ซึ่งก็คือวิธีการตอบสนองของเรา ความคิด อารมณ์ และการกระทำ

อย่าลืมว่าวันนี้เราเลือกได้ว่าอยากจะใช้ชีวิตอย่างไร และเรื่องในอดีตไม่ใช่ตัวกำหนดว่าชีวิตเราต้องเป็นอย่างไร

4) อย่าลืมคุณค่าของตัวเอง

สิ่งที่คนจำนวนมากสูญเสียไปเพราะถูกกลั่นแกล้งก็คือ “ความมั่นใจ” และ “การเห็นคุณค่าในตนเอง” อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคำพูดของผู้ที่ทำร้ายเราจะว่าอย่างไร อย่ายอมรับ จงปฏิเสธ และฟังเสียงจากข้างในของเราแทน

เช่น เราเก่งเรื่องอะไร? เราชอบอะไรในตัวเองบ้าง? และคนรอบตัวชอบอะไรเกี่ยวกับเรา เรื่องเหล่านี้ต่างหากที่เราควรให้ความสำคัญ

Advertisements
5) เราไม่ได้ตัวคนเดียว

หนึ่งข้อสำคัญในขั้นตอนการเยียวยาจากการถูกกลั่นแกล้ง คือการรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบตัว คอยรับกำลังใจและพลังบวกจากคนเหล่านี้ โดยไม่ปลีกตัวออกไปอยู่คนเดียวในยามที่เราต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด

6) ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

การพูดคุยกับนักจิตบำบัดหรือนักจิตวิทยาจะช่วยเราได้อย่างมาก หากบาดแผลที่มีของเรานั้นลึกและเจ็บปวดจนไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน หรือจะรับมือด้วยตัวเองไหวไหม

7) โฟกัสที่การเติบโตของตัวเอง

ด้านไหนที่เราอยากเยียวยาและอยากพัฒนาบ้าง? เราอยากเป็นคนที่มีความมั่นใจกว่านี้ เป็นคนที่รักตัวเองมากกว่านี้ หรือเป็นคนที่กล้าปฏิเสธหรือเปล่า? ลองหาด้านที่เราอยากพัฒนา โฟกัสกับมัน แล้วเฝ้าดูการเติบโตของตัวเองดู

8) เปลี่ยนวิธีคิดของตัวเอง

หลายๆ ครั้งคนที่เผชิญกับการกลั่นแกล้งก็คิดย้อนถึงเหตุการณ์ในอดีตซ้ำๆ หรือไม่ก็หมกมุ่นกับการปฏิเสธ ทำเหมือนเรื่องราวนั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริง ซึ่งความคิดเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้เรามีความสุขเลย

เราแบ่งเวลามาเยียวยาตัวเองและรับมือกับเรื่องในอดีตได้ แต่ต้องไม่ใช่ตลอดเวลา พยายามหลีกเลี่ยงการฉายภาพเดิมซ้ำๆ หรือการกดดันตัวเองในการเยียวยามากเกินไป (เช่น บังคับตัวเองว่าเราต้องไม่รู้สึกอะไรแล้ว) แต่หันมาโฟกัสกับชีวิตในปัจจุบันและสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขแทน 

9) ตามหา “จุดจบของเรื่อง” ให้ตัวเอง

แม้เรื่องราวจะเกิดมานาน แต่หลายๆ คนกลับรู้สึกค้างคาใจ อยากได้คำอธิบายว่าอีกฝ่ายทำไปทำไม คำขอโทษ หรือไม่ก็อยากตอบแทนอย่างสาสม (แบบมุนดงอึน ในเรื่อง The Glory)

ในความเป็นจริงนั้นเราอาจไม่มีโอกาสแก้แค้น ไม่ได้ยินคำขอโทษ หรือไม่ได้ยินแม้แต่คำอธิบายด้วยซ้ำ หากเป็นเช่นนี้ เราจะจบเรื่องนี้อย่างไรไม่ให้วนกลับมาคิดซ้ำๆ อีกดี? การเขียนจดหมาย (แบบไม่ส่ง) ถึงผู้กระทำผิดก็ช่วยได้ เพราะเราจะได้ระบายความโกรธ ทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมอบจุดจบให้แก่เรื่องนี้สักที

10) การเยียวยาเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

หลายๆ ครั้งการกลั่นแกล้งทิ้งบาดแผลไว้ลึกมาก การเยียวยาอาจใช้เวลาเป็นปีๆ เลยก็ได้ ซึ่งหากเราเป็นหนึ่งในคนที่ยังเจ็บปวดกับเหตุการณ์ในอดีต จำไว้ว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ไม่ต้องรีบเร่ง ให้พื้นที่ ให้เวลาตัวเองในการค่อยๆ ดีขึ้นไปทีละก้าว

เชื่อเถอะว่าวันหนึ่งเราจะผ่านมันไปได้ และจะไม่ต้องเจ็บปวดกับมันอีกเลย

การกลั่นแกล้ง โดยเฉพาะในวัยเด็กที่เรากำลังหล่อหลอมตัวตนขึ้นมา สามารถสร้างผลกระทบได้อย่างมหาศาล เหยื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เราไม่อาจจินตนาการได้เลยว่ามันเลวร้ายเพียงใด และแน่นอนว่าเราไม่สามารถพูดแทนได้ว่าควรรับมือแบบไหน ควรหรือไม่ควรที่จะตอบแทนด้วยความรุนแรง เพราะเราไม่ใช่คนที่เผชิญกับเรื่องราวนั้นเอง

สิ่งที่เราทำได้คงมีเพียงแค่การให้กำลังใจ และสำหรับใครที่กำลังหาทางออกที่ไม่ใช่ความรุนแรง บางทีการเริ่มเยียวยาจาก 10 วิธีในบทความนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะพาเราออกเดินทางสู่ชีวิตใหม่ที่มีความสุขกว่าเดิม

อ้างอิง
10 Ways for Adults to Heal From Childhood Bullying : http://bit.ly/3iYz0n4
What to Know About PTSD From Bullying : http://bit.ly/3ZZJQdi

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#selfdevelopment
#inspiration

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า