จะเกิดอะไรขึ้น? ถ้ามีธนบัตรปริศนาจำนวนมากผุดขึ้นมาจากท่อน้ำทิ้งในห้องครัวทุกคืน
ประโยคคำถามง่ายๆ แต่ชวนคิดนี้ คือไอเดียที่เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเรื่องราวของภาพยนตร์อินเดียเรื่องหนึ่ง ที่มีชื่อว่า CHOKED
ภาพยนตร์เรื่อง CHOKED คือเรื่องราวของครอบครัวอินเดียครอบครัวหนึ่งที่มีปัญหาทางด้านการเงิน จนภรรยาจำใจต้องยอมทิ้งอาชีพในฝันอย่างการเป็นนักดนตรี เพื่อมาสร้างความมั่นคงในชีวิตคู่ด้วยการเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร ส่วนสามีก็ทำงานเป็นคนขายประกัน แต่จนแล้วจนรอด ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามทำงานหนักอย่างไร สภาพคล่องทางการเงินในครอบครัวก็ยังไม่สู้ดีนัก เป็นเหตุมาจากภาระหนี้สินที่มีเป็นจำนวนมาก
แต่แล้วคืนหนึ่ง ก็มีธนบัตรปริศนาจำนวนมากโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำที่เอ่อล้นบนท่อน้ำทิ้งภายในห้องครัว โดยธนบัตรปริศนาที่ไม่มีใครรู้ที่มาที่ไป มีเพียงภรรยาคนเดียวเท่านั้น ที่เป็นผู้เจอและกุมความลับของธนบัตรปริศนาที่โผล่ออกมาจากท่อน้ำทิ้งในทุกคืนเอาไว้เพียงผู้เดียว
ธนบัตรจำนวนมากที่ปรากฏออกมา ไม่ต่างอะไรจากตู้ ATM ที่เพียงแค่รอเวลาให้มันไหลออกมา จนธนบัตรปริศนาเหล่านั้น ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของภรรยาและครอบครัวดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ด้วยการซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่แพงขึ้น แต่การชดใช้หนี้สินให้สามีได้หมดภายในวันเดียวนั้น ก็ทำให้สามีเกิดความสงสัยขึ้นมา ถึงขั้นต้องไปแกะดูงบในสมุดบัญชีของภรรยา จนเกิดเป็นปากเสียง เถียงกันยกใหญ่
ในขณะที่ชีวิตของภรรยา และครอบครัวกำลังฝันหวานกับการได้ครอบครองธนบัตรปริศนา ที่มาพร้อมกับอำนาจในการเข้าถึงสินค้าและบริการที่อยากได้ แต่เวลาผ่านไปไม่นาน พวกเขาก็ต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมาเจอกับฝันร้ายที่คาดไม่ถึง
เพราะมีประกาศจากทางรัฐบาลที่ออกนโยบายว่า จะยกเลิกธนบัตรรูปีประเภท 500 และ 1,000 ออกจากระบบ โดยมีกำหนดให้ประชาชนเอาธนบัตรประเภทดังกล่าวมาแลกได้ภายใน 60 วันเท่านั้น ทำให้ธนบัตรปริศนาที่เคยมีค่าเท่ากับเงินจำนวนมากมาย กำลังจะกลายเป็นเพียงเศษกระดาษอันไร้ค่าภายในชั่วพริบตาเดียว
คำถามคือ เราสามารถเรียนรู้สิ่งใดจากเรื่องนี้ได้บ้าง?
ความเสี่ยงของการมี “เงินสด” ในมือมากเกินไป
บทเรียนสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง CHOKED ที่ใครหลายคนสามารถดูเอาไว้เป็นตัวอย่างได้ก็คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากความชะล่าใจ ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นจากการถือเงินสดไว้เป็นจำนวนมาก
ซึ่งเรื่องราวของการยกเลิกธนบัตร 500 และ 1,000 รูปี คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในอินเดียในปี 2016 เนื่องจากทางรัฐบาลต้องการทำการกวาดล้างธุรกิจสีเทา ที่นิยมฟอกเงินด้วยเงินสดเป็นหลัก ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ประเทศอินเดียเดินหน้าเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญของการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด
โดยมี 2 ประเด็นที่คิดว่าน่าสนใจและน่าหยิบยกมาพูดถึงเสียหน่อยในหัวข้อของ “ความเสี่ยงเรื่องการเงิน” ครับ
1. พฤติกรรมทางการเงิน
ถึงแม้ว่าเงินสด “ธนบัตรปริศนา” นั้น จะเข้ามาช่วยให้ชีวิตของครอบครัวดีขึ้น แต่สุดท้ายหากไม่รู้แหล่งที่มาของรายได้ที่แน่นอนว่ามาจากอะไร ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความเสี่ยงที่รอวันปะทุขึ้นมา
ความเสี่ยงที่ว่านี้ นอกเหนือจากธนบัตรปริศนาแล้ว ยังเกิดจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ใช้เงินเกินตัวกว่าแต่ก่อน ซึ่งพฤติกรรมและนิสัยการใช้เงิน จะเป็นตัวกำหนดอนาคตทางการเงินของเราว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลงนั่นเอง
แต่ในภาพยนตร์ก็ยังมีข้อดีให้เห็นบ้าง นั้นคือการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ที่ทำให้เราสามารถตรวจสอบได้ว่า เงินที่เข้ามานั้นมีการจับจ่ายไปกับอะไรบ้าง แต่ทางที่ดี ก็ต้องระวังคู่ชีวิตจะจับได้ว่า เราใช้จ่ายอะไรที่มันเกินตัวไปบ้างก็ดีนะครับ
2. การกระจายความเสี่ยง
อีกประเด็นหนึ่งที่สะท้อนมาสู่วิธีการลงทุนก็คือ การรับมือกับความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง อย่างเช่นกรณีการยกเลิกธนบัตรแบบเดิมของอินเดีย ซึ่งก็อาจทำให้มูลค่าสินทรัพย์ที่เราถือครองหายวับไปกับตาได้ทันที
การบริหารความเสี่ยงด้วยการกระจายสินทรัพย์การลงทุน ก็เป็นอีกหนึ่งข้อสำคัญที่ไม่ควรละเลย
เช่น เงินสด หุ้น กองทุน ตราสารหนี้ พันธบัตร ทองคำ อสังหาฯ และการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีช่องทางการลงทุนที่สะดวก รวดเร็ว และง่ายกว่าเดิมมากๆ
เงินเป็นสิ่งสำคัญ แต่การได้มาของเงิน และการบริหารความเสี่ยงของเงินก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ยิ่งเรากำลังเข้าสู่ช่วงหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจโลก ที่เต็มไปด้วยความผันผวนจากโรคระบาด อัตราดอกเบี้ยสูง ภาวะเงินเฟ้อ จำนวนคนว่างงาน ภัยพิบัติจากธรรมชาติ และอื่นๆ อีกมากมาย
ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเรื่องการเงิน จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องใส่ใจให้มากๆ นะครับ เพราะจากภาพยนตร์เรื่อง CHOKED เราจะเห็นได้ว่า “เงิน” คือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อมิติแทบทุกด้านในชีวิตเลย ไม่ว่าจะเป็นความฝันที่ไม่ได้สานต่อ ปัญหาความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ ความไม่สะดวกต่อการใช้ชีวิตทั้งการเข้าถึงสินค้าและบริการทั้งหมดนั้นล้วนส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ในการดำเนินชีวิตอย่างไม่มีความสุขเอาเสียเลย เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการเงินจึงเป็นทักษะสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ในชีวิต
ถ้ามัวแต่ไปหวังให้โชคชะตาพัดพาให้เงินออกมาจากท่อน้ำทิ้งในห้องครัวทุกๆ คืน เหมือนในภาพยนตร์เรื่อง CHOKED ละก็…รบกวนแบ่งผมด้วยนะครับ
ผู้เขียน: โอมศิริ วีระกุล Content Director จาก Rocket Digital Agency และเจ้าของผลงานหนังสือ “นี่เงินเดือนหรือเงินทอน” และ “เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ”
#inspireproject
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast