สรุปหนังสือ The 100-Year Life กับการรับมือชีวิต “วัยเกษียณ” ในโลกอนาคตที่เปลี่ยนไปในยุคที่คนอายุยืนกว่าเดิม

1186
1920-The 100-Year Life

สรุปหนังสือ The 100-Year Life กับการรับมือชีวิต “วัยเกษียณ” ในโลกอนาคตที่เปลี่ยนไปในยุคที่คนอายุยืนกว่าเดิม

รู้ไว้ก่อนอ่านสรุป หนังสือเล่มนี้เหมาะกับ

1) คนอายุ 20 ถึง 30 กว่าๆ
2) คนที่สนใจมีชีวิตวัยเกษียณที่ดี
3) พ่อแม่ที่เป็นห่วงว่าโลกอนาคตที่ลูกของตนจะอยู่เป็นอย่างไร

เคยคิดไหมว่าเราจะมีอายุถึงเท่าไหร่

ดูจากไลฟ์สไตล์การกินชานมไข่มุกทุกวันและปวดคอบ่าไหล่กันตั้งแต่ 20 ต้นๆ ประกอบกับการที่เราเห็นคนรุ่นก่อนๆ มีอายุขัยเฉลี่ยไม่มาก หลายคนจึงคิดว่าคนรุ่นเราคงอายุไม่ยืนยาวแน่นอน

ไหนจะโลกที่ ‘ดูเหมือน’ จะแย่ลงทุกวัน ไม่ว่าจะภัยธรรมชาติ ภาวะโลกร้อน โรคระบาด สงคราม และอาชญากรรมต่างๆ ที่เราเห็นในข่าวอีก เราเผลอคิดไปว่าคงไม่รอดไปจนถึง 80 หรอกน่า

นั่นก็คือความเป็นไปได้หนึ่ง แต่จะเกิดอะไรขึ้น
หากเราบอกว่าคุณมีความเป็นไปได้ที่จะมีอายุถึง 100 ปี

แอนดรูว์ เจ. สก็อต และลีนดา แกร็ตตอน ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “The 100-Year Life” หรือ “ชีวิตศตวรรษ” จะอธิบายว่าทำไมถึงมีความเป็นไปได้สูงที่มนุษย์เราจะอายุยืนกว่าเดิม และทำไมเราต้องวางแผนวัยเกษียณกันใหม่ ให้สอดคล้องกับชีวิตที่กำลังจะเปลี่ยนไป แต่ก่อนอื่นพวกเขาจะเริ่มโดยการชวนให้คุณคิดใหม่เสียก่อน ว่าจริงๆ แล้วโลกไม่ได้ ‘แย่ลง’ แต่กำลัง ‘ดีขึ้น’ กว่าที่คุณคิด


โลกเปลี่ยนไปและไม่ได้เลวร้ายลงอย่างที่เราคิด

หากเทียบกับร้อยปีก่อน ชีวิตเราพัฒนามาไกลอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการแพทย์ สุขอนามัย การศึกษา และเทคโนโลยี ในปัจจุบันถือว่ามีโอกาสสูงมาก ที่เด็กคนหนึ่งจะเกิดมาและมีชีวิตรอดจนวัยรุ่น เพราะสุขอนามัยที่ดีขึ้นและมีวัคซีนป้องกันโรคอันตราย หากย้อนไปศตวรรษก่อน เด็กคนนั้นมีโอกาสสูงที่จะไม่ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะเสียชีวิตด้วยโรคอย่างโรคฝีดาษ (Smallpox)

สถิติพบว่า เด็กที่เกิดในปี 1914 มีโอกาสเพียง 1% ในการมีชีวิตจนถึง 100 ปี แต่ในทางกลับกัน เด็กที่เกิดในปี 2014 มีโอกาสถึง 50% ที่จะมีอายุยืนยาวขนาดนั้น!

ส่วนในกลุ่มวัยรุ่นและวัยกลางคน มีการกระจายความรู้ด้านการรักษาสุขภาพให้เข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม คนจึงหันมารักษาสุขภาพมากกว่า ปัจจุบันเราจะเห็นคนมากมายหันมาออกกำลังกาย ทานอาหารคลีน หรือทานอาหารเสริมกันมากขึ้น

ในอดีต ตัวอันตรายต่อสุขภาพอย่างบุหรี่นั้นเคยมีการอนุญาตให้สูบได้ทุกที่ (แม้กระทั่งบนเครื่องบิน) แต่ไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มีการออกกฎห้ามสูบในหลายสถานที่ และมีการออกมารณรงค์ให้คนตระหนักถึงอันตรายของมัน

ส่วนความพยายามในการหาทางรักษาโรควัยชราอย่างอัลไซเมอร์ก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เท่ากับว่าคนทุกวัย ตั้งแต่เด็กยันแก่ มีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น และการเปลี่ยนแปลงที่ตามมาคือ “ชีวิตวัยเกษียณ” ที่ยาวนานกว่าเดิม


โลกที่เปลี่ยนไปและชีวิตวัยเกษียณที่เปลี่ยนตาม

คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เรา หรือ คนที่เกิดในช่วงปี 1940 ถึง 1960 มีช่วงเวลาชีวิตที่แบ่งอย่างชัดเจน คือเรียน ทำงาน จากนั้นก็ใช้ชีวิตวัยเกษียณสั้นๆ

ยกตัวอย่างเช่น แจ็กเกิดในปี 1945 และจบมหาวิทยาลัยตอนอายุ 20 จากนั้นก็ทำงานไปเรื่อยๆ จนผ่านไป 42 ปี แจ็กเกษียณที่อายุ 62 และออกมาใช้ชีวิตบั้นปลายได้ไม่นาน ก็เสียชีวิตลงในวัย 70 ปี

มาดูกันที่การเงินหลังเกษียณของแจ็ก เขามีเงินบำนาญจากนายจ้างและประกันสังคมจากการทำงาน 40 ปี แต่เขามีชีวิตวัยเกษียณเพียง 8 ปีเท่านั้น หากหารออกมาแล้วจะพบว่า 1 ปีเกษียนของเขามีเงินใช้เท่ากับ 5 ปีทำงานของเขาเลย ฟังดูเป็นชีวิตที่สบาย ใช้เงินได้อย่างไม่ต้องกังวลเลยใช่ไหม

แต่ถ้าแจ็กเกิดอายุยาวถึง 100 ปีล่ะ

100 ปีอาจฟังดูน่าเหลือเชื่อ แต่ตามรายงานข้างต้น มันไม่ใช่เรื่อง ‘เป็นไปไม่ได้’ อีกต่อไป นั่นหมายความว่าเงินบำนาญของแจ็กอาจไม่พอและแผนการเกษียณแบบเดิมอาจไม่สอดคล้องกับอนาคตอีกต่อไป


จะต้องรับมืออย่างไร หากเราอาจมีชีวิตถึง 100 ปี

เมื่ออายุขัยเพิ่มขึ้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือเราต้อง ‘รักษาสุขภาพ’ ให้ดี ถ้าเกิดเราปวดหลังประจำทุกๆ วันตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ และเราต้องมีอายุไปถึง 100 ปี เท่ากับว่าเราต้องปวดหลังไปอีก 80 ปีเลยทีเดียว บางทีนี่อาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องออกกำลังกาย ทานอาหารให้ดี และตรวจสุขภาพบ้าง

อีกสิ่งที่สำคัญคือ ‘การรู้จักตัวเอง’ เราเก่งอะไร สนใจเรื่องอะไร มีจุดแข็ง หรือจุดอ่อนอะไรบ้าง หากเราเข้าใจตัวเองดี เราสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น และเลือกเส้นทางชีวิตที่ดีที่สุดสำหรับเราในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาอายุที่ยืดยาวขึ้น ยังแปลว่าเรามีเวลาได้ ‘สำรวจ’ มากขึ้นด้วย

ไม่ว่าตอนนี้จะอายุเท่าไหร่ หากสนใจลองทำอะไรก็คว้าโอกาสนั้นไว้เสีย หากไม่ชอบก็ไม่เป็นไร เรายังมีเวลาอีกเยอะให้ลองสิ่งใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอสิ่งที่ชอบจริงๆ และใช้ชีวิตที่เหลือกับการพัฒนาด้านนั้นให้เต็มที่ เวลาที่มากขึ้นถือเป็นโอกาสอันดีอย่างมากให้เราได้เรียนรู้

และแน่นอน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการ ‘วางแผนการเงินที่ดี’ สำหรับการเกษียณ

อันดับแรก เราต้องรู้ก่อนว่ากี่เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนถึงจะเพียงพอต่อชีวิตในวัยเกษียณแต่ละเดือน อาจเริ่มจากการคิดออกมาก่อนว่าเราใช้เงินไปกับอะไรบ้าง และใช้เดือนละเท่าไหร่

เมื่อเกษียณแล้ว ค่าใช้จ่ายในการเดินทางจะลดลงเพราะเราไม่ต้องเดินทางไปทำงานอีกต่อไป ค่าอาหารนอกบ้านก็ลดลงด้วย เพราะเราจะมีเวลาทำอาหารทานเองมากขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มขึ้นคือค่ายา ค่ารักษาสุขภาพ

การเพิ่มพูนความรู้ด้านการเงินถือเป็นเรื่องจำเป็น ลองมาดูกันดีกว่าว่าคุณตอบคำถาม 5 ข้อนี้ได้ไหม

1. ถ้าเกิดเรามีเงินอยู่ 100 บาทในบัญชีออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ผ่านไป 5 ปี เราจะมีเงินในบัญชีเท่าไหร่
2. หากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% ผ่านไป 1 ปี ด้วยเงินที่มี เราจะสามารถซื้อของได้มากกว่า น้อยลง หรือซื้อได้เท่าเดิม
3. ซื้อหุ้นของบริษัทเดียวปลอดภัยกว่าการลงทุนในกองทุนรวม จริงหรือเท็จ
4. ในการกู้เงิน การผ่อนชำระรายเดือนของการกู้ 15 ปีจะสูงกว่าการกู้ 30 ปี แต่อัตราดอกเบี้ยตลอดจะต่ำกว่า จริงหรือเท็จ
5. ถ้าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้น จะเกิดอะไรขึ้นกับราคาพันธบัตร

หากเราตอบได้ครบทุกข้อ เราก็สามารถเก็บเงินได้และวางแผนเกษียณที่ดีได้แล้ว แต่ถ้าตอบไม่ได้ เราอาจจะต้องหาความรู้ด้านการเงินเพิ่มหน่อยนะ!


(เฉลย ข้อ 1 ประมาณ 110 / ข้อ 2 น้อยกว่า / ข้อ 3 เท็จ / ข้อ 4 จริง / ข้อ 5 ราคาจะตก)


ในอดีต บรรพบุรุษเรามีเพียงชั่วชีวิตสั้นๆ ที่ต้องดิ้นรนหาอาหารและที่อยู่อาศัยอันปลอดภัย ปัจจุบันอารยธรรมมนุษย์ได้ก้าวหน้าไปมาก ประชากรจำนวนมากไม่ต้องกังวลเรื่องพื้นฐานอย่าง อาหารหรือที่อยู่ พวกเขามีชีวิตที่ดีกว่าเดิมและมีอายุขัยที่ยาวกว่าเดิม

บทบาททางเพศที่เคยกำกับชีวิตคนรุ่นก่อนๆ ก็เริ่มลดลง คนเริ่มหันมายอมรับกันและกันที่ตัวตนและความสามารถมากขึ้น เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มนุษย์เราสามารถสร้างชีวิตที่สอดคล้องกับค่านิยมส่วนบุคคล ความฝัน และความปรารถนาของตนเองได้

ดังนั้นมาเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างชีวิตที่ดีไปตลอดชีวิตกันเถอะนะ



อ้างอิง:
หนังสือ The 100-Year Life

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#book
#society

Advertisements
Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่