self developmentเลิกพูดได้ไหมว่าฉัน “ดีเกินไป” วิเคราะห์เหตุผลที่คนบอกเลิก ทั้งๆ ที่ความสัมพันธ์ยังดีอยู่

เลิกพูดได้ไหมว่าฉัน “ดีเกินไป” วิเคราะห์เหตุผลที่คนบอกเลิก ทั้งๆ ที่ความสัมพันธ์ยังดีอยู่

“เธอดีเกินไป”
“เราเข้ากันไม่ได้”
“กลับไปเป็นเพื่อนกันดีกว่า”

หลายครั้งคำพูดเหล่านี้ก็ไม่ใช่คำโกหก หรือข้ออ้างเพื่อขอจบความสัมพันธ์เสมอไป เพราะมันอาจจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนบอกเลิกกัน ทั้งๆ ที่ความสัมพันธ์ยังดีอยู่ก็ได้

หากเราต้องจบความสัมพันธ์กับคนรัก หรือเป็นฝ่ายถูกบอกเลิกด้วยประโยคเหล่านี้ ไม่ว่าใครก็คงสับสนและได้แต่ถามตัวเองว่าถ้าเราดีมากๆ แล้วมันผิดพลาดที่ตรงไหน หรือความจริงแล้วเรายังพยายามไม่พอ ไม่ก็กำลังนั่งคิดโทษตัวเองว่ายังไม่ดีพอต่ออีกฝ่ายจริงๆ สุดท้ายคำถามที่ไร้คำตอบเหล่านี้ก็ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง

เมื่อเราไขว่คว้าหาความรัก ผู้คนมักมองหาความสัมพันธ์ที่ดีต่อใจของทั้งสองฝ่าย ความสบายใจที่ทั้งคู่สนับสนุนกันและกัน ไม่รีบร้อน ไม่กดดัน ไม่ทำร้ายกัน เราเรียกความสัมพันธ์ลักษณะนี้ว่า ‘Healthy Relationship’ เราตั้งใจประคับประคองความสัมพันธ์ไปด้วยกันอย่างเต็มที่ แต่สำหรับบางคู่ก็เดินทางมาถึงวันที่ความสุขเหล่านี้ต้องจบลง

แล้วทำไมคนเราถึงบอกเลิกกันทั้งๆ ที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย?
ทำไมเราถึงเข้ากันไม่ได้ทั้งๆ ที่ต่างฝ่ายต่างก็ตั้งใจรัก?

เพราะคนที่รักมากเกินไปคือ ‘คนที่รักไม่เป็น’

เมื่อเราตั้งใจกับความสัมพันธ์หนึ่ง ถ้ามองเผินๆ การทุ่มเทเพื่ออีกฝ่ายอย่างเต็มที่คงเป็นสิ่งที่ถูกต้องในความคิดของใครหลายคน เขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มีเป้าหมายอะไร เรารับรู้ เข้าใจ เป็นทั้งผู้รับฟัง และผู้สนับสนุนที่ดีสำหรับเขา

บางคนมีเป้าหมายที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ บางคนอยากก้าวหน้าในอาชีพการงาน บางคนอยากสร้างครอบครัวที่เพียบพร้อม บางคนยังต้องการเวลาในการตามหาเป้าหมายของตัวเอง การมีเป้าหมายเป็นเรื่องที่ดี การสนับสนุนและให้กำลังใจคนรักก็เป็นเรื่องที่ดี แต่เราอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังหลงลืมอะไรไป

สิ่งที่เราเผลอลืมไปก็คือความชอบ เป้าหมาย และคนที่คอยสนับสนุนเรา แน่นอนว่าเราจะมีความสุขในวันที่เห็นคนรักประสบความสำเร็จ แต่กว่าจะถึงวันนั้นเราจะรู้สึกอย่างไร หากต้องอยู่คนละประเทศกับคนรัก แล้วเราจะบอกคนรักอย่างไรว่าเรายังไม่พร้อมแต่งงานมีลูกกับเขา

เมื่อเราเลือกที่จะให้ความสำคัญกับความต้องการและความสุขของคนรักมากกว่าความต้องการของเราเอง ต่อให้เราจะประคับประคองความสัมพันธ์มาได้นานแค่ไหน แต่สุดท้ายความรักก็จะเดินมาถึงทางตัน เพราะเราไม่สามารถตอบสนองความสุขของเขา รวมถึงความสุขของเราเองได้ต่อไปอีกแล้ว

สิ่งที่เหลือคือความผูกพัน หรือ ‘การพันผูก’ ด้วยพันธะ

คนเราตอนที่รักกันใหม่ๆ อะไรๆ ก็ดีไปเสียหมด อย่างที่โบราณว่าไว้ว่า “ยามรัก น้ำต้มผักก็ว่าหวาน” ความสัมพันธ์แบบ Healthy Relationship ที่มั่นคงและปลอดภัย อาจเป็นประตูสู่พิธีวิวาห์ของคู่รักหลายๆ คู่ แต่เมื่อคนสองคนมีพันธะชีวิตสมรสผูกเอาไว้ ไม่ว่าจะด้วยทะเบียนสมรส ลูก หรือทรัพย์สินอื่นๆ ก็ตาม จากสิ่งที่เคยมอบความมั่นคงให้กับชีวิตคู่ นานวันไปก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็นโซ่ตรวนหนักอึ้งในใจได้

สำหรับคนที่ไม่อยากมีพันธะหนักอก ความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัดคือคำตอบที่ดีที่สุด มีเวลาให้ตัวเองได้เติบโตตามความฝัน ในขณะเดียวกันก็ยังมีคนรักคอยสนับสนุนเสมอ แต่ถ้าเรารู้ตัวช้าไปล่ะ?

ถ้าเราเลือกที่จะลงหลักปักฐานกับใครสักคนไปแล้ว แต่เพิ่งรู้ตัวว่าไม่พร้อมที่จะมีพันธะ ความสัมพันธ์จากที่เคยดีก็จะสั่นคลอน หรือพังทลายลงได้ในเวลาสั้นๆ สถิติการหย่าร้าง หรือแยกทางในบทความ Forbes ให้ข้อมูลว่าคู่รักที่อยู่ก่อนแต่งมีแนวโน้มหย่ากันมากกว่าคู่รักที่แต่งงานกันก่อนอยู่ด้วยกัน แม้ว่าจะมีสาเหตุหลากหลายมากๆ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าความรู้สึกก่อนมีพันธะกับหลังมีพันธะก็ส่งผลถึงความสัมพันธ์ไม่น้อยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่จริงจังมากขึ้น อย่างเช่น คู่แต่งงาน ความคาดหวังต่อคุณภาพของชีวิตคู่ในเพศหญิงยังเพิ่มสูงมากขึ้น และมากกว่าเพศชายเสียอีก จากการสำรวจคู่แต่งงานแล้วพบว่าผู้หญิง 74% คาดหวังให้คู่สมรสของตัวเองพยายามเพื่อชีวิตคู่มากกว่านี้

จากการสำรวจ ฝ่ายผู้ชายมักถูกตั้งความหวังมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการทำงาน ความมั่นคงทางการเงิน รวมไปถึงการปฏิบัติต่อกันในฐานะคู่สมรสด้วย และฝั่งของผู้หญิงเองก็เริ่มรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในความสัมพันธ์ขึ้นมา ซึ่งหากมองย้อนกลับไปในช่วงก่อนแต่งงาน ความคาดหวังของทั้งสองฝ่ายกลับไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเช่นนี้

แม้เราจะไม่สามารถสรุปได้ว่าการแต่งงานทำให้ความสัมพันธ์ที่เคยดีเปลี่ยนไปในทิศทางที่แย่ลงได้ แต่นั่นก็ทำให้เห็นว่าความคาดหวังที่เรามีต่ออีกฝ่ายเมื่อความสัมพันธ์เข้าสู่ระดับที่จริงจังมากขึ้น อาจทำให้คนเรารู้สึกถึงความกดดันที่เริ่มรบกวนจิตใจ จนต้องขอถอยออกมาเพื่อรักษาความรู้สึกของตัวเองก็ได้

Advertisements
Advertisements

เป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่ไร้ ‘แรงกระตุ้น’

ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นเจ้าของช่องยูทูบ ที่ใช้ชื่อว่า Thewizardliz ได้แบ่งปันเรื่องราวความรักของเธอ เธอบอกว่าเลิกกับแฟนมา ซึ่งเขาเป็นคนดีมาก เป็นพื้นที่ปลอดภัย (Comfort Zone) ให้เธอ เธอรู้สึกดีและพยายามรักษาความสัมพันธ์นี้เอาไว้อยู่หลายปี จนเธอรู้สึกว่าความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่นี้มันดีเกินไป สุดท้ายเธอก็เลือกที่จะขอจบความสัมพันธ์ ทั้งๆ ที่ทั้งเขาและเธอต่างก็ไม่ได้ทำอะไรผิด

ทุกคนมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?

หากคุณไม่เห็นด้วย และคิดว่าคนมากมายตามหาความรักที่ดี แต่ผู้หญิงคนนี้กลับเลือกที่จะผลักไส นั่นแปลว่าคุณกำลังคิดเหมือนกันกับคนอีกนับไม่ถ้วนที่ผ่านมาเห็นวิดีโอของเธอ

ประเด็นที่สำคัญที่สุดไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเธอเลือกที่จะจบความสัมพันธ์ แต่อยู่ที่ความสัมพันธ์ดังกล่าวมัน “ดีเกินไป” สิ่งที่ใครๆ ก็เห็นว่าดี เป็นพื้นที่ปลอดภัย อยู่ด้วยกันแล้วรู้สึกสงบ ใจเย็น ผ่อนคลาย กลับไม่ตรงเป้าหมายในชีวิตที่เธอต้องการ เธอบอกว่าความสัมพันธ์ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย (Comfort Zone) มันทำให้ทั้งเขาและเธอพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ จนไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว

ทว่าความรู้สึกไร้แรงกระตุ้น ไร้แพสชันก็ค่อยๆ โจมตี เธอเริ่มต้องการประสบความสำเร็จ เธออยากออกไปหาความท้าทายในโลกธุรกิจของเธอ เธอต้องการจุดไฟให้ตัวเองทะยานสู่จุดที่สูงกว่านี้ นั่นทำให้เธอไม่ต้องการพื้นที่ปลอดภัยที่แสนสงบอีกแล้ว

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ สมมติว่าคุณเป็นผู้หญิงคนนี้ คุณจะรู้สึกอย่างไร?
ในความสัมพันธ์ที่ดี หากวันหนึ่งมันต้องจบลง อย่าพยายามหาว่าใครคิดผิด ใครคิดถูก ใครดีเกินไป ใครดีไม่พอ แต่ให้ระลึกไว้เสมอว่าถ้าความสัมพันธ์นั้น “ดี” ก็แปลว่า มันดี

แต่ถ้าความสัมพันธ์นั้น “ดีเกินไป” หรือทำให้คุณยังไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ นั่นแปลว่า มันยัง “ไม่ดีพอ” และกำลังร้องบอกให้คุณคิดทบทวนกับความสัมพันธ์นี้ใหม่อีกครั้ง ถ้าความรู้สึกของคุณได้เปลี่ยนไปแล้ว ก็แค่ยอมรับแล้วเดินออกมาเท่านั้น

เมื่อถึงคราวที่ต้องเลือก เราควรยื้อเอาไว้หรือปล่อยมือกัน?

แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างเราและคนรักเป็นความสัมพันธ์ที่ดี แต่การเลิกรากันไปสร้างความเจ็บปวดให้กันได้ไม่แพ้ความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ความเคยชินของมนุษย์มีอิทธิพลและสร้างผลกระทบที่รุนแรงได้เสมอเมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง

แน่นอนว่าสิ่งแรกที่ควรทำเมื่อเราอยากจบความสัมพันธ์คือการสื่อสารต่อคู่รักของเรา โดยเราต้องบอกอีกฝ่ายโดยทันทีอย่างตรงไปตรงมาถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ความรู้สึกทุกอย่างของเรา แล้วช่วยกันคิดแก้ปัญหา การพยายามปรับเข้าหากันน่าจะเป็นคำตอบแรกของทุกคู่ อย่างไรก็ตาม เมื่อบอกไปแล้วก็ต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้นตามมา

เมื่อเรารู้ว่าคนรักรู้สึกเปลี่ยนไป แต่ก็เลือกที่จะพยายามปรับเข้าหากันเพื่อรักษากันไว้ ในช่วงแรกอาจจะทำใจได้ยาก เพราะต้องใช้ความพยายามประคับประคองมากขึ้น และยังมีความรู้สึกเผื่อใจไว้บ้าง ทำให้เรามีความหวังไปด้วย แต่ก็สับสนไปด้วย สุดท้ายแล้วถ้าความพยายามนั้นยังไม่เป็นผล การแยกทางคงเป็นตัวเลือกถัดไป

หากเราจะบอกเลิกคนรัก เราต้องคิดไตร่ตรองอย่างดี และหาเหตุผลมาสนับสนุนการตัดสินใจในครั้งนี้ การไตร่ตรองที่ดีนั้น นอกจากจะต้องคิดถึงความรู้สึกของตัวเองในอนาคตแล้ว ยังต้องคิดถึงความรู้สึกของคนรักในวันที่คำขอเลิกออกจากปากเราด้วย

ถ้ายังคิดไม่ออก จะลองมองในมุมกลับก็ได้ หากเราเป็นฝ่ายถูกบอกเลิกด้วยประโยค “เธอดีเกินไป” หรือ “เราเข้ากันไม่ได้” เราก็คงสับสนไม่น้อย เพราะไม่รู้จะวัดคำว่า “ดี” อย่างไรในเมื่อ ไม่ดีก็ผิด ดีเกินไปก็ถูกบอกเลิก และคงท้อแท้ไม่น้อยหากเราพยายามอย่างถึงที่สุดแล้วก็ยังไม่พอ ยังเข้ากันไม่ได้

ความคิดโทษตัวเองหรือตั้งคำถามกับความดีพอของตัวเองหลังถูกบอกเลิก ทำให้คนสูญเสียความมั่นใจและความนับถือในตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้นยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าเมื่อต้องทนกับอาการช้ำรักเป็นเวลานานๆ ด้วย

ดังนั้นเราอาจไม่สามารถตอบได้จนกว่าเราจะประสบด้วยตัวเอง จนกว่าเราจะต้องเป็นคนเลือก พิจารณาเหตุผลของเขา และที่สำคัญที่สุดก็คือความต้องการ รวมถึงความรู้สึกของเราว่าความสัมพันธ์ควรจะไปต่อในทิศทางไหน

การคุยกันอย่างเปิดอก จริงใจ และใช้เหตุผลประกอบการตัดสินใจ จะส่งผลดีเสมอไม่ว่าเรื่องราวความรักจะดำเนินต่อไป หรือจบลงก็ตาม เพราะอาจช่วยฟื้นฟู และกระชับความสัมพันธ์ให้กลับมาดีเหมือนเดิม

และต่อให้ต้องแยกทาง มันก็จะเป็นความสัมพันธ์ที่จบลงด้วยดี ไม่ใช่เลิกกันเพราะความผิดพลาด แต่เป็นการปล่อยมือเพื่อปลดล็อกความรู้สึกของคนทั้งคู่ ให้ทั้งเราและเขาได้แยกย้ายกันไปเติบโต และเบ่งบานตามเส้นทางของตัวเอง

อ้างอิง
– Why I decided to end my relationship : Thewizardliz, Youtube – https://bit.ly/45rpgoo
– Revealing Divorce Statistics In 2023 : Christy Bieber, Forbes – https://bit.ly/3P7Dg0N
– 3 Reasons Why Women are More Likely than Men to End a Relationship : The Relationship Doc – https://bit.ly/45A5XJg

#selfdevelopment
#relationship
#healthyrelationship
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า