PODCASTMISSION TO THE MOONผู้ชายไม่จำเป็นต้องแข็งแกร่ง และผู้หญิงไม่จำเป็นต้องอ่อนโยนตลอดเวลา ค้นพบตัวตนอีกครึ่งที่เราทำหายไป ในกฎข้อที่ 12 จากหนังสือ The Laws of Human Nature

ผู้ชายไม่จำเป็นต้องแข็งแกร่ง และผู้หญิงไม่จำเป็นต้องอ่อนโยนตลอดเวลา ค้นพบตัวตนอีกครึ่งที่เราทำหายไป ในกฎข้อที่ 12 จากหนังสือ The Laws of Human Nature

เดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศกำลังจะสิ้นสุด แต่การรณรงค์เพื่อความเท่าเทียมทางเพศยังคงต้องดำเนินต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่ผู้คนต่างตระหนักถึงสิ่งที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าเพศกำเนิด คือตัวตนข้างในของมนุษย์ที่เป็น “ปัจเจก” และต่างมีสิทธิเสรีภาพ “เท่าเทียม” กันในสังคม

ในหลายประเทศต่างมีประวัติศาสตร์แห่งการกำหนดบทบาททางเพศมายาวนานนับพันปี และมีหน้าตาต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม แม้จุดเริ่มต้นจะมีไว้เพื่อแบ่งงานกันทำ แต่ยิ่งเวลาผ่านไปบทบาททางเพศกลับหล่อหลอมให้มนุษย์สูญเสีย “ตัวตนที่แท้จริง” ของตัวเอง แล้วเหลือเพียงตัวตนที่ “สังคมต้องการ”

ในเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา คงเป็นหนึ่งในฉากสำคัญที่เราคนไทยต่างคุ้นเคย เพราะเป็นฉากที่พระพันวษาตัดสินโทษประหารให้กับนางวันทอง ด้วยเหตุผลว่า นางเลือกไม่ได้ว่าจะอยู่กับสามีคนไหนดี “นางวันทองสองใจ” จึงเป็นคำเปรียบเปรยที่แสนจะคลาสสิกในสังคมไทย แต่แอบแฝงไปด้วยความขมขื่นที่ผู้หญิงในสมัยนั้นต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้

ผู้แต่งได้บรรยายสภาพจิตใจของนางวันทองเมื่อต้องอยู่ต่อหน้าพระพันวษาว่า เธอมีทั้งความหวั่นเกรง ความโลเลไม่หนักแน่น และมีความเครียดที่กดทับหัวใจอันหนักอึ้งราวกับเขาพระสุเมรุ เพราะเธอไม่เคยรับบทบาทเป็น “ผู้ตัดสิน” ในชะตาชีวิตของตัวเองมาก่อน นางวันทองจึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงในอดีตที่สังคมคอยหยิบยื่นแต่ “ความอ่อนแอ” ให้เลือก หากตัวเธอในวันตัดสินโทษนั้นเปี่ยมไปด้วยความเด็ดเดี่ยวและความเข้มแข็ง เรื่องราวอันน่าเศร้าของเธออาจจะจบลงอีกแบบ

ไม่ใช่เพียงสำนวนหรือสุภาษิตที่สังคมสร้างขึ้นมาเพื่อกำหนดความเป็นผู้หญิงอย่างเดียว แต่มายาคติที่คาดหวังให้ผู้ชายต้องเข้มแข็งไร้เทียมทานก็แทรกซึมอยู่ในคำพูดที่เราคุ้นหู เช่น “ลูกผู้ชายห้ามร้องไห้” “ลูกผู้ชายต้องอดทน” “ลูกผู้ชายต้องเสียสละ” “ลูกผู้ชายฆ่าได้ หยามไม่ได้” “เป็นผู้ชายทำไมทำตัวเหมือนผู้หญิง” “เหยาะแหยะแบบนี้เอากระโปรงมาใส่เถอะ”

การแสดงความรู้สึกสำหรับผู้ชายแล้ว เปรียบเสมือนการเผยจุดอ่อนให้คนรอบข้างโจมตีด้วยคำพูดที่เต็มไปด้วยความคาดหวังซ้ำๆ ผู้ชายจึงมีแนวโน้มที่จะปิดกั้นอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง และต้องแบกรับความเครียด ความกดดันมหาศาลโดยไร้ที่พึ่งหรือที่ระบาย จึงไม่แปลกเลยที่การศึกษามากมายจะพบว่าอัตราการฆ่าตัวตายในผู้ชายจะมากกว่าผู้หญิง

ค่านิยมในหลายวัฒนธรรมเห็นว่า ผู้ชายควรเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง และผู้หญิงควรเป็นผู้สนับสนุนหรือช้างเท้าหลัง แต่กลับกลายเป็นการเหมารวม ตีความว่าพลังแห่งความเป็นหญิง (Feminine) คือความอ่อนแอ และยกให้พลังแห่งความเป็นชาย (Masculine) คือพลังที่เหนือกว่า มีผู้คนไม่น้อยที่เชื่อว่า หากผู้หญิงต้องการจะเท่าเทียมกับผู้ชาย เธอจะต้องแข็งกร้าวและดุดันให้เหมือนผู้ชาย ทว่าแท้จริงแล้ว สิ่งที่โลกยุคใหม่นี้กำลังต้องการคือ ความเป็นชายและความเป็นหญิงที่มีพลัง “เท่าเทียม” กัน และช่วย “สนับสนุน” ซึ่งกันและกันเท่านั้นเอง

โรเบิร์ต กรีน ผู้เขียนหนังสือ The Laws of Human Nature และหนังสือขายดีระดับโลกกว่า 5 เล่ม (เช่น The 48 Laws of Power, The Art of Seduction และThe 33 Strategies of War) เขาได้อธิบายในกฎข้อที่ 12 The Law of Gender Rigidity ว่า ธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนนั้น แท้จริงแล้วมีทั้งด้านความเป็นชาย (Masculine) และความเป็นหญิง (Feminine) ผสมผสานกันอยู่ด้วยพันธุกรรมจากพ่อครึ่งหนึ่งและแม่ครึ่งหนึ่ง แต่เพื่อปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของสังคม เราจึงเลือกที่จะกดตัวตนด้านใดด้านหนึ่งเอาไว้ มนุษย์จึงสูญเสียตัวตนอีกด้านของตัวเองไป และหน้าที่ของเราคือการรื้อฟื้น “ด้านตรงข้าม” นั้นขึ้นมาอีกครั้ง

เรามีทั้งด้าน Masculine และ Feminine  ในตัวจริงหรือ?

วัยเด็กเป็นช่วงที่มนุษย์อ่อนแอที่สุดจึงต้องพึ่งพาพ่อและแม่เพื่อให้มีชีวิตรอด ในทางจิตวิทยาบอกว่า เด็กจะอาศัยสิ่งแวดล้อม พ่อและแม่เป็นต้นแบบทั้งอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรม เป็นไปได้ว่า นอกจากพันธุกรรมที่ติดตัวมา เด็กได้พัฒนาด้าน Feminine จากแม่ และด้าน Masculine จากพ่อ ในหนังสือจึงกล่าวถึงงานวิจัยที่พบว่า เด็กผู้ชายจะมีการแสดงออกด้วยอารมณ์ที่อ่อนไหวมากกว่าเด็กผู้หญิง ในขณะที่เด็กผู้หญิงจะมีนิสัยคึกคะนอง และช่างสำรวจ

เมื่อเติบโตขึ้นเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยแห่งความต้องการ “การยอมรับจากสังคม” พวกเขาต้องการแยกตัวตนของตัวเองออกมาจากต้นฉบับของพ่อแม่ โดยปรับบุคลิกภาพใหม่ไปในด้านที่สังคมต้องการ และกดด้านที่เห็นว่า “อ่อนแอ” และ “ไม่สอดคล้อง” กับความคาดหวังของสังคมให้จมดิ่งอยู่ในจิตใต้สำนึก

สมมติได้ว่า หากเป็นผู้ชายที่มีตัวตนที่อ่อนโยนของแม่อยู่ในตัว เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดุดันขึ้น แข็งกร้าวขึ้น ไร้ความรู้สึกขึ้น ให้สมกับคำกล่าวที่ว่า “เป็นลูกผู้ชายอย่าร้องไห้” ในเชิงเดียวกันกับผู้หญิงที่มีตัวตนที่แข็งแกร่งของพ่ออยู่ เธอจะสร้างภาพลักษณ์ใหม่ที่ทั้งอ่อนโยนและอ่อนแอเพื่อให้สอดคล้องกับค่านิยม “กุลสตรี” ของสังคม

โรเบิร์ตกล่าวว่า ตัวตนที่แท้จริง “อีกด้าน” ที่ถูกกดเอาไว้มักจะปรากฏออกมาให้เห็นชัดๆ ในตอนที่เรากำลัง “ตกหลุมรัก” เพราะเป็นสภาวะที่มนุษย์พูดและแสดงออกมาจากจิตใต้สำนึกของเราโดยตรง จากคนที่แข็งแกร่งก็สามารถกลายเป็นคนอ่อนแอได้ในทันที จากคนที่มั่นคงก็กลายเป็นคนที่อ่อนไหว จากคนที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใครก็กลายเป็นคนที่เรียกร้องการเอาอกเอาใจ แต่ถ้ามองในทางตรงกันข้าม คนที่เคยอ่อนแอก็สามารถแข็งแกร่งขึ้นมาได้ในสภาวะนี้เช่นกัน

ถ้าเช่นนั้นแล้ว ตัวตนที่แท้จริงอันเป็นปัจเจกของเราคืออะไรกันแน่?

กุญแจสู่ “ตัวตนที่แท้จริง” คือหาตัวตนทั้งสองด้านของเรา

“สิ่งที่งดงามที่สุดในบุรุษคือความอ่อนโยนอย่างสตรี และสิ่งที่งดงามที่สุดในสตรีคือความแข็งแกร่งอย่างชายชาตรี” คำกล่าวของ ซูซาน ซอนแทก นักเขียน นักปรัชญา นักเคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม

วิธีสร้างตัวตนที่เป็นปัจเจกของเราซึ่งหลุดพ้นจากความคาดหวังของสังคม สิ่งแรกที่เราจะต้องทำคือ “การเปิดรับสิ่งที่อยู่ตรงกันข้าม” คือการเรียนรู้ตัวตนอีกด้าน และการรักษาสมดุลของความเป็นชายและหญิงในตัวเรา ซึ่งจะทำให้ทัศนคติของเราเปิดกว้างและยืดหยุ่นมากขึ้น เราจะสามารถลบจุดบอดที่เป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาตนเองได้ เราจะสามารถเข้าใจและมีความรู้สึกร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้น อีกทั้งการลดเกราะป้องกันของตัวเองลง คือก้าวแรกที่จะทำให้เรา “กล้าเป็นตัวของตัวเอง” และรู้สึก “ปลอดภัย” ในสิ่งที่เราเป็น

โรเบิร์ตได้จำแนกความแตกต่างของวิธีการแบบ Masculine และ Feminine ทั้งด้านความคิด การกระทำ การเรียนรู้ และรูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อสะท้อนให้ผู้อ่านได้เห็นชัดถึง ส่วนใดส่วนหนึ่งของเราที่อาจจะกำลังขาดหายไป ดังนี้

1. รูปแบบความคิด

[ ] Masculine: สนใจปัญหาเชิงลึก และหาหนทางแก้ปัญหาอย่างเฉพาะทาง โดยเน้นไปที่การหาความแตกต่าง เพื่อแยกแยะเหตุการณ์หนึ่งออกจากอีกเหตุการณ์หนึ่ง
[ ] Feminine: สนใจภาพรวมทั้งหมดของเหตุการณ์ รวมถึงกระบวนการและตัวแปรต่างๆ ที่เชื่อมโยงถึงกัน เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยครบแล้วถึงจะเป็นขั้นตอนการตกผลึกเพื่อหาทางแก้ไข

Advertisements

2. รูปแบบการกระทำ

[ ] Masculine: เผชิญปัญหาแบบตรงๆ กล้าได้กล้าเสีย ถ้ามีอุปสรรคขวางทางก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อขจัดมันออกไป
[ ] Feminine: หลีกเลี่ยงการปะทะตรงๆ รับมือกับปัญหาอย่างประนีประนอมโดยการหาทางออกอื่นๆ ที่น่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด เพื่อหาทางแก้ปัญหาโดยไม่ต้องสูญเสีย

3. รูปแบบการเรียนรู้จากประสบการณ์

[ ] Masculine: ผูกมัดตนเองอยู่กับความสำเร็จ ผู้ชายมักจะรู้สึกว่าตนเองต้องมีความรับผิดชอบในความสำเร็จทุกด้านของชีวิต ทำให้พวกเขามักไม่ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เมื่อประสบปัญหาเขาจึงจะพยายามหาทางออกโดยลำพัง และมีแนวโน้มว่าจะประเมินความสามารถของตนเองสูงกว่าความเป็นจริง
[ ] Feminine: เมื่อผู้หญิงล้มเหลวส่วนใหญ่แล้วพวกเธอจะโทษตัวเอง และเลือกขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มว่าพวกเธอจะประเมินความสามารถของตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง

4. รูปแบบการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและภาวะความเป็นผู้นำ

[ ] Masculine: สร้างระบบชนชั้นเพื่อขับเคลื่อนสมาชิกไปในทางเดียวกัน ผู้นำแบบ Masculine จะกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและหาหนทางไล่ตามมันโดยมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์
[ ] Feminine: ร้างระบบในองค์กรโดยเน้นไปที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน มีความเห็นอกเห็นใจและความรู้สึกมาร่วมด้วย โดยจะพยายามให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และให้ความสำคัญกับกระบวนการนำไปสู่เป้าหมาย

ดังนั้น หากเรารู้ตัวว่าเป็นคนที่คิดอะไรเพียงด้านเดียว ให้ลองถอยออกมามองภาพที่กว้างขึ้น หากเป็นคนที่มักเสียเวลาอยู่กับเรื่องที่ไม่จำเป็น ให้ฝึกจดจ่อกับแก่นของปัญหาตรงหน้า หากเป็นผู้นำที่เข้มงวดเกินไปกับลูกน้อง ให้ลองแลกเปลี่ยนความเห็นกันให้มากขึ้น หากเป็นคนที่กลัวความขัดแย้งจนไม่เป็นอันทำอะไร ให้ลองวางความคาดหวังว่าทุกคนจะพอใจลง หากเป็นคนที่มักแบกรับทุกอย่างไว้คนเดียว ให้ลองเปิดใจขอความช่วยเหลือจากคนอื่นดูบ้าง

หากเราไม่ได้ไหลไปตามกระแสของความคาดหวังจากสังคมเพียงอย่างเดียว แต่เปิดรับตัวตนที่ตรงกันข้ามกับเรา เรียนรู้ที่จะเข้มแข็งหรืออ่อนแอ และรู้จักเลือกบทบาทที่มีทั้งด้านแข็งแกร่งและด้านอ่อนโยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตรงหน้า ปัญหาสังคมชายเป็นใหญ่ที่เป็นพิษแม้กระทั่งในผู้ชายด้วยกันเอง ปัญหาความเท่าเทียมทางเพศที่เรายังไปไม่ถึง หรือแม้กระทั่งปัญหาในชีวิตเล็กๆ น้อยๆ เช่น การตัดสินใจเรื่องงาน การแก้ไขปัญหาการเงิน การคลี่คลายความขัดแย้งในครอบครัว และการรักษาความสัมพันธ์กับคนรัก เราจะพบว่าปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ต่างล้วนมีทางออกที่ตัวตนเดิมของเรายังนึกไม่ถึงเสมอ

อ้างอิง
– The Laws of Human Nature: Robert Greene 
– Differences in Suicide Among Men and Women: Nancy Schimelpfening – https://bit.ly/3N5La8J

#GenderRole
#selfdevelopment
#selflove
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า