self developmentต้องกตัญญูเท่าไรถึงพอดี? เมื่อปัญหาการเงินรุมเร้า Sandwich Generation

ต้องกตัญญูเท่าไรถึงพอดี? เมื่อปัญหาการเงินรุมเร้า Sandwich Generation

ว่ากันว่าในบรรดาหัวข้อการสนทนาทั้งหลาย เรื่องที่ไม่ควรหยิบมาพูดคุยกันที่สุดคือประเด็นเรื่องศาสนาและการเมือง แต่ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่หาข้อสรุปของบทสนทนาไม่ได้นั่นก็คือเรื่องของความกตัญญูนั่นเอง

‘กตัญญู’ เป็นคำที่คนไทยเราคุ้นเคยกันอย่างมาก และเรามักจะพูดถึงมันในด้านชื่นชมหรือให้รางวัล เช่น รางวัลลูกดีเด่น หรือใช้ชื่นชมคนที่เลี้ยงดูพ่อแม่และครอบครัวตัวเองอย่างดี รากศัพท์ขอคำนี้มาจากภาษาบาลี แปลว่า รู้คุณหรือตอบแทนบุญคุณ ถ้าเด็กคนไหนถูกชมว่าเป็นเด็กกตัญญูก็คงยิ้มดีใจ เพราะความหมายของมันช่างเป็นคำเชิงบวกเหลือเกิน

ทว่าพอพูดถึงคำที่ตรงข้ามอย่าง ‘อกตัญญู’ หรือ ‘เนรคุณ’ ที่หมายถึง ไม่รู้คุณ กลับกลายเป็นความหมายแง่ลบและสร้างปฏิกิริยารุนแรงจากคนที่ได้ยินหรือได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับคนที่ไม่รู้คุณคน จนถึงขั้นถูกใช้เป็นคำด่าเสียดสีคนที่ทอดทิ้งหรือหักหลังผู้มีพระคุณของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก

แม้เราจะรู้ทั้งที่มาและความหมายของมัน แต่การตัดสินว่ากตัญญูหรือไม่นั้นกลับคลุมเครือมากกว่าที่คิด และผู้คนเองก็มีทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่างกันมาก บางครั้งก็วัดด้วยการกระทำ เราเลี้ยงดูพ่อแม่ที่แก่ชราได้ดีแค่ไหน หรือเรากลับบ้านไปหาพวกท่านบ่อยแค่ไหน แต่บางครั้งการดูแลด้วยตัวเอง หรือให้เวลาก็เป็นเรื่องยาก ความกตัญญูจึงถูกวัดด้วยตัวเงิน เราให้เงินพ่อแม่ใช้มากน้อยเท่าไร แล้วให้สม่ำเสมอไหม

บางครั้งความกตัญญูก็ไม่ได้เกิดจากความรู้สึกอยากตอบแทน อยากดูแล หรืออยากให้ความรักกลับไป แต่เกิดจากความคาดหวังและความกดดันจากคนรอบข้างแทนเสียอย่างนั้น แต่เส้นแบ่งระหว่างคำว่า “กตัญญู” กับ “อกตัญญู” คืออะไรกันแน่? แม้ว่าเราจะหาวิธีตอบแทนบุญคุณที่ถูกต้องหรือถูกใจทุกคนไม่ได้ แต่เราสามารถหาการตอบแทนบุญคุณที่ ‘พอดี’ กับเราและครอบครัวได้

เมื่อนิยามของ “ความกตัญญู” ไม่เหมือนกัน

หากพูดถึงเรื่องความกตัญญู ในภาษาอังกฤษจะใช้เป็นคำว่า Grateful ซึ่งหากพิจารณาจากความหมายแล้วก็ไม่ได้พูดถึงบุญคุณ ในทางกลับกันแล้ว Grateful ยังใช้ในแง่ของการขอบคุณหรือเห็นคุณค่าของสิ่งดีๆ ที่ได้รับมา

นั่นทำให้คนตะวันตกตีความคำว่ากตัญญูแตกต่างจากเรา เนื่องด้วยมุมมองและโครงสร้างทางสังคมที่ไม่มีกรอบของระบบอาวุโสหรือระบบเครือญาติและสวัสดิการรัฐที่ดี การกตัญญูคือตอบแทนด้วยความรัก และมอบสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่วัยของพ่อแม่ควรได้รับ การส่งพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายสูงวัยไปอยู่บ้านพักคนชราถือเป็นเรื่องปกติ มีกิจกรรมให้ทำ มีสังคมเพื่อนวัยเดียวกัน และมีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมมาดูแลอย่างดีตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนคนไทยหลายคนก็ยังมีค่านิยมที่ว่า “ลูกต้องเลี้ยงดูพ่อแม่” จึงมองว่าการให้พ่อแม่หรือปู่ย่าตายายที่สูงวัยไปอยู่บ้านพักคนชราคือ ‘การทอดทิ้ง’ แม้ว่าบ้านพักคนชราในประเทศไทยเดี๋ยวนี้จะมีคุณภาพดีมากแล้วก็ตาม ตัวผู้สูงอายุเองก็เลือกที่จะอยู่บ้านตัวเองเหมือนเดิม ไม่ก็ย้ายไปอยู่กับลูกหลาน เพราะไม่อยากไปอยู่บ้านพักคนชราและไม่อยากถูกทอดทิ้ง

และความตั้งใจที่จะดูแลพ่อแม่ หรือแสดงความกตัญญูตามค่านิยมของคนไทยก็เป็นเป้าหมายเชิงนามธรรม โดยการจะดูแลพ่อแม่ผู้สูงวัยให้สุขสบายได้ก็ต้องใช้เงิน ซึ่งสร้างความกดดันให้ “วัยกลางคน” ไม่น้อยทีเดียว

เมื่อถึงวัย Sandwich Generation วัยที่ต้องเลี้ยงดูทั้งพ่อแม่ และลูกของตัวเอง

ความกตัญญูที่แสดงออกผ่านการกระทำนั้นไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงของคนไทยสักเท่าไร เพราะคนไทยส่วนใหญ่ก็เดินทางกลับต่างจังหวัดไปหาพ่อแม่ ญาติพี่น้องเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เมื่อคุณภาพชีวิตมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ความกตัญญูก็ทำให้มีภาระทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้นทันที

ส่วนใหญ่แล้วคนที่พ่อแม่เริ่มเขาสู่วัยสูงอายุ หรือ 65 ปีขึ้นไปจะเป็นกลุ่มวัยกลางคนหรืออายุตั้งแต่ 40-50 ปี และคนกลุ่มนี้ก็จะมีลูกของตัวเองด้วย พูดง่ายๆ ก็คือประชากรวัยกลางคนหรือกลุ่มคนอายุ 40-50 ปีจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนของพ่อแม่ที่เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ และค่าใช้จ่ายเพื่อลูกของตัวเองด้วย

แม้ว่าวัยนี้จะมีรายได้และอาชีพที่มั่นคงแล้ว แต่ก็ยังคงมีภาระค่าใช้จ่ายที่เตรียมให้กับคนรอบข้างในครอบครัวมากขึ้นไปด้วยเช่นกัน จากการสำรวจประชากรอเมริกันวัยตั้งแต่ 40-50 ปีจำนวน 2,511 คนของ Pew Research Center กล่าวถึงสถิติที่น่าสนใจว่า 15% ของกลุ่มสำรวจเป็นกลุ่ม Sandwich Generation ซึ่งต้องเลี้ยงดูทั้งพ่อแม่และลูกของตัวเอง

โดยจากข้อมูลในปี 2005 ถึง 2012 จำนวนของประชากรที่เข้าข่าย Sandwich Generation จะไม่ได้มีตัวเลขสูงขึ้นมากนัก แต่ปริมาณค่าใช้จ่ายจากปี 2005 ถึง 2012 กลับพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และผลสำรวจในปี 2012 บอกว่า Sandwich Generation มีทั้งคนที่มีลูกเล็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือไม่ก็มีลูกที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งภาระค่าใช้จ่ายที่ใช้กับลูกของตัวเองสูงกว่าเงินที่ต้องหาเพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่ผู้สูงวัยของตัวเองเสียอีก

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะสภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ทำให้กระทบการอัตราการจ้างงานและค่าแรงของคนหนุ่มสาว พอเรียนจบแล้วแต่ยังหางานไม่ได้ หรือมีงานแล้วแต่ยังมีรายได้น้อย ลูกๆ ก็เลยยังคงต้องรับการสนับสนุนด้านการเงินจากพ่อแม่กลุ่ม Sandwich Generation และกลายเป็นภาระการเงินอีกหนึ่งก้อนไปโดยปริยาย

จะทิ้งพ่อแม่ตัวเองก็ไม่ได้ จะปล่อยให้ลูกเอาตัวรอดเองก็คงไม่ดี แล้วแบบนี้เจนแซนด์วิชต้องทำอย่างไร?

Advertisements
Advertisements

กตัญญูแบบพอดีและไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง

เมื่อคนตรงกลางแบกรับความกดดันจากทั้งสองทางไม่ไหว และตัดสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกไปไม่ได้ ก็ต้องหาทางออกที่จะสามารถแบ่งเบาภาระใช้จ่ายให้เบาลงไป

ก่อนอื่นเลยก็ต้องเปิดอกพูดคุยกันว่าสถานการณ์การเงินของครอบครัวตอนนี้เป็นอย่างไร และจะสามารถส่งเสียหรือเลี้ยงดูแต่ละฝ่ายได้แค่ไหน การพูดคุยเพื่อให้เข้าใจตรงกันจะทำให้สมาชิกในครอบครัวรู้ว่าควรช่วยเหลือกันอย่างไร เพื่อให้แต่ละคนได้วางแผนการใช้เงินของตัวเองที่ไม่เดือดร้อนเสาหลักครอบครัวมากจนเกินไปด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น Sandwich Generation คือกลุ่มวัยกลางคนที่มีอาชีพและรายได้มั่นคงระดับหนึ่งแล้ว แต่เมื่อมีรายจ่ายจากหลายๆ ทางเพิ่มขึ้นก็กระทบกับการเงินส่วนตัวได้ ดังนั้นเจนแซนด์วิชจึงต้องวางแผนการเงินให้ดี จัดสรรรายได้ หรือมองหาความช่วยเหลือทางการเงินต่างๆ ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ผู้สูงวัย ไม่กระทบค่าใช้จ่ายในส่วนของตัวเอง รวมถึงมีเงินเหลือสำหรับส่วนที่ใช้สนับสนุนลูก เช่น

ส่วนของพ่อแม่ผู้สูงวัย
[ ] รายได้จากรัฐ เช่น บำนาญสำหรับผู้เกษียณอายุ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สิทธิลดหย่อนค่าโดยสารยานพาหนะประเภทต่างๆ หรือสวัสดิการของรัฐสำหรับผู้สูงอายุ
[ ] ความคุ้มครองด้านอื่นๆ เช่น การทำประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ ที่ให้ความคุ้มครองเรื่องโรคภัย ค่ารักษา หรือช่วยจัดการมรดกให้กับลูกหลาน

ส่วนของตัวเอง
[ ] รายได้จากการทำงาน เช่น เงินเดือน ผลกำไร
[ ] รายได้จากการลงทุน เช่น การลงทุนในพันธบัตร การลงทุนซื้อหุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์ การลงทุนแฟรนไชส์ หรือธุรกิจต่างๆ แต่การลงทุนแต่ละรูปแบบก็มีความเสี่ยงที่ต่างกัน เจนแซนด์วิชจึงต้องศึกษาแนวทางการลงทุนให้ดีก่อนตัดสินใจ
[ ] ความคุ้มครองด้านอื่นๆ เช่น การทำประกันชีวิตสำหรับวัยสร้างความมั่นคง ซึ่งสามารถลดหย่อนภาษีได้

ส่วนของลูกทั้งเด็กเล็กและเด็กโต
[ ] กองทุนเงินกู้เพื่อการศึกษาจากรัฐ เช่น เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.)
[ ] ทุนการศึกษาจากองค์กร เช่น ทุนการศึกษาสำหรับบุตรหลานของบุคลากรในหน่วยงาน
[ ] ความคุ้มครองด้านอื่นๆ เช่น การทำประกันชีวิตที่คุ้มครองเรื่องอุบัติเหตุ ค่ารักษา หรือเพิ่มหลักประกันทางการศึกษา

ท้ายที่สุดนี้ เรื่องของความกตัญญูในสังคมไทยถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะคนไทยมีวัฒนธรรมที่ผูกพันกับครอบครัวสูงมาก แม้ว่าการทำงานหนักเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวเป็นเรื่องจำเป็นก็จริง แต่อย่าลืมว่าความกตัญญูผ่านการกระทำ การตอบแทนด้วยความรักและความเอาใจใส่ก็สำคัญไม่แพ้กัน

การตั้งเป้าหมายในเรื่องส่วนตัวอย่างความก้าวหน้าทางอาชีพก็ดี เป้าหมายครอบครัว และเป้าหมายเรื่องการเงินก็ดี แต่การกำหนดเป้าหมายแต่ละด้านของชีวิตให้ชัดเจน และพยายามเกลี่ยความสำคัญไม่ให้เราเผลอละเลยสิ่งใดสิ่งหนึ่งในชีวิตไปคงจะเป็นเป้าหมายใหญ่ที่สุดที่ Sandwich Generation ต้องยึดเอาไว้

อ้างอิง
– The Sandwich Generation : Rising Financial Burdens for Middle-Aged Americans : Kim Parker and Eileen Patten, Pew Research Center – https://pewrsr.ch/3EZsxjg

#sandwichgeneration
#selfdevelopment
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า