BUSINESSNice Guy Syndrome ทำไมคนดีมักไม่สมหวังในความรัก?

Nice Guy Syndrome ทำไมคนดีมักไม่สมหวังในความรัก?

“Nice guys finish last, You’re running out of gas, Your sympathy will get you left behind”

เนื้อร้องส่วนหนึ่งของเพลง “Nice guys finish last” จาก Greenday วงพังก์ร็อกในใจอดีตวัยรุ่นหลายคน โดยเพลง Nice guys finish last นี้เป็นเพลงที่พูดถึงความทุกข์ยากลำบากใจของเหล่า “คนดี” ที่มักจะไม่สมหวังต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิตโดยเฉพาะเรื่องความรัก

เชื่อว่าหลายคนเคยมีประสบการณ์ด้วยตัวเองหรือรู้จักกับเพื่อนที่มักจะไม่สมหวังในความรักไม่ว่าจะเป็นการติดอยู่ในเฟรนด์โซนที่เป็นได้เพียงแค่เพื่อนสนิท หรือโดนบอกเลิกด้วยเหตุผลสุดคลาสสิก “เพราะเธอดีเกินไป” จนต้องกลับมานั่งถามตัวเองว่า แล้วเป็นคนดีมันผิดอะไร? ลองไปหาคำตอบทั้งหมดได้ในบทความนี้กันเลย

Nice guy syndrome การทำดี ที่ไม่อาจชนะใจเธอได้

อาการดีเกินไป หรือ Nice guy syndrome เป็นคำจำกัดความทางจิตวิทยาที่เอาไว้นิยามลักษณะของเพศชาย ที่มักจะมีปัญหาในหลายๆ เรื่องของชีวิต โดยเฉพาะกับเรื่องความรักความสัมพันธ์ ซึ่งในภาษาอังกฤษจะนิยามคนเหล่านี้เอาไว้แบบประชดหน่อยๆ ว่าเป็น “Nice guy” หรือ “คนดี” นั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม Nice Guy นั้นไม่ได้ถูกจำกัดว่าต้องเป็นเพศชายเสมอไปอีกแต่ไปแล้ว

โดย Dr. Robert Glover เจ้าของหนังสือ No More MR. Nice Guy ได้อธิบายลักษณะของคนที่เป็น Nice Guy นี้เอาไว้ว่า Nice Guy มักจะผูกความสุขของตัวเองไว้กับผู้อื่น พวกเขาอยากทำให้คนอื่นมีความสุข และเมื่อคนอื่นมีความสุขนั้นพวกเขาถึงจะอนุญาตให้ตัวเองสามารถมีความสุขได้ ซึ่งเมื่อ Nice Guy เหล่านี้เอาความสุขของตัวเองไปยึดติดกับคนอื่นจนไม่ยอมบอกความรู้สึกของตัวเองออกมา เอาแต่ถามว่าคนอื่นต้องการอะไร รวมถึงยังปฏิเสธคนอื่นไม่ค่อยเป็น ถึงแม้ว่าภายในใจนั้นจะไม่ได้เห็นด้วยก็ตามที

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเกิดคำถามว่า ทำไมใครบางคนจึงจำเป็นที่จะต้องใช้ชีวิตเพื่อความสุขของคนอื่นขนาดนี้ คำตอบก็คือลึกๆ แล้ว ถึงแม้ว่าเหล่า Nice Guy นี้นั้นก็ไม่ได้อยากที่จะเป็นคนดีอะไรมากมายขนาดนั้นหรอก เพียงแต่ว่าพวกเขากลัวว่าถ้าหากตัวเองไม่ทำให้คนอื่นมีความสุขตลอดเวลา พวกเขานั้น “จะไม่เป็นที่รักของผู้อื่น” ซึ่ง Nice Guy ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นคนที่มีปมด้อยหรือไม่มีความมั่นใจในตัวเองในหลายๆ ด้าน จึงทำให้พวกเขาเลือกที่แสวงหาความรักจากผู้อื่น ด้วยวิธีการทำให้ผู้อื่นพอใจนั่นเอง

แล้วการพยายามทำให้คนอื่นมีความสุขตลอดเวลามันผิดตรงไหน? ใครๆ ก็ชอบคนดีไม่ใช่หรือ? ปัญหาก็คือ ในโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นสมการที่เถรตรงเสมอไปโดยเฉพาะในเรื่องของความรัก โดย Dr. Robert Glover ก็อธิบายเพิ่มเติมว่า หนึ่งในนิสัยที่เป็นเหมือนกับดาบสองคมของเหล่า Nice Guy นั้นก็คือการ “ทำดีเพราะหวังผล” เพราะ Nice Guy คาดหวังว่าเมื่อเขาทำดีกับใคร เขาก็ต้องได้รับสิ่งดีๆ นั้นกลับคืนมา ถ้าเกิดว่าแอบชอบจะไม่ยอมสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาว่าชอบเขา แต่จะเข้าไปตีเนียนทำดีด้วยในฐานะเพื่อนแสนดีมากกว่า แถมก็ยังมีความคาดหวังว่าความดีนี้ของตนจะชนะใจเธอได้อย่างแน่นอน

แต่ในท้ายที่สุดแล้วโลกแห่งความจริงมักไม่เป็นดั่งที่ฝัน พวกเราทุกคนต่างรู้ดีว่าเรื่องราวความรักอย่างนี้ส่วนใหญ่แล้วมีจุดจบอย่างไร ถ้าพูดให้สุภาพหน่อยก็คือ โดนสุนัขคาบไปรับประทาน

แล้ว Nice Guy ผิดอะไร ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงไม่ชอบคนดี?

พอรักไม่สมหวัง หนึ่งในคำถามโลกแตกของที่วนเวียนอยู่ในสมองของเหล่า Nice Guy ก็คือ แล้วการทำดีมันผิดตรงไหน? เป็นคนดีมันแย่ยังไง? โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดว่าเจอประโยคแทงใจอย่าง “เธอดีเกินไป” ขึ้นมาแล้วล่ะก็ คงจะเล่นเอาเหล่า Nice Guy กินไม่ลงนอนไม่หลับกันไปเลยทีเดียว ซึ่งทางด้าน Jeremy Nicholson ผู้เป็นแพทย์ด้านจิตวิทยาสังคม ผู้เขียนหนังสือ Attraction Psychology: Solutions for Successful Dating and Relationships ได้เขียนถึงเหตุผลดังกล่าวลงใน Psychology Today ว่า

Advertisements

1. คนดีนั้นไม่อนุญาตให้คู่รักของตนทุ่มเทมากพอ (Nice People Do Not Make Their Partners Invest)

เมื่อเรารักและแคร์คู่รักของเรา ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เรานั้นอยากจะทำดีและหาสิ่งดีๆ มาให้พวกเขาตลอดเวลา เราพยายามทุ่มเทกำลังและจิตใจของเราในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้พวกเขา เพราะมันทำให้เราให้รู้สึกว่าเราทุ่มเทให้กับความรักครั้งนี้ เป็นการแสดงออกว่าเรารักและเชิดชูเขามากแค่ไหน เพียงแต่ว่าคู่รักของเรานั้นอาจไม่ได้รู้สึกดีเสมอไปเมื่อพวกเขาถูกถาโถมด้วยความรักตลอดเวลา

ในทางกลับกัน ฝ่ายที่ถูกบังคับให้อยู่ในสถานะของ “ผู้รับ” นั้นอาจจะไม่ได้รู้สึกรักหรือขอบคุณ “ผู้ให้” เสมอไป อันที่จริงพวกเขาอาจรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกบงการ เป็นภาระ หรือแม้แต่รู้สึกเป็นหนี้ก็ตาม เนื่องจากว่าพวกเขาไม่ได้เป็นฝ่ายที่ทุ่มเทหรือรับบทของการเป็นผู้ให้เลย และเมื่อพวกเขาไม่มีโอกาสได้แสดงความรักใดๆ เลย ความรู้สึกของพวกเขาก็จะค่อยๆ จางลงเรื่อยๆ จนหายไปในที่สุดนั่นเอง

2. คนดีมักมองไม่เห็นความผิดของคู่รัก (Nice people reward bad behavior)

เหล่า Nice Guy มักจะทำดีต่อคู่รักเสมอ แม้ในเวลาที่คู่รักของพวกเขาทำตัวแย่ก็ตาม โดยที่ Nice Guy จะไม่ยอมดุด่าว่ากล่าวหรือตักเตือนพฤติกรรมที่ไม่ดีในตัวคู่รักของตัวเอง เพราะลึกๆ แล้วพวกเขาหวังว่าการทำดีของเขานั้นจะถูกเห็นค่าและได้รับการตอบแทนที่ท้ายที่สุด แต่หารู้ไม่ว่าการทำแบบนี้มันยิ่งส่งเสริมให้คู่รักของพวกเขากระทำสิ่งที่ไม่ดีต่อไปเรื่อยๆ แถมยังทำให้เหล่า Nice Guy ดูเหมือนคนที่เปิดช่องให้โดนเอาเปรียบง่ายอีกด้วย

Advertisements

3. คนดีมักถูกมองเหมือนเป็นของตาย (Nice people are too available)

การเป็นคนดีหรือเป็น Nice Guy นั้นก็อาจจะปราศจาก “ความน่าค้นหา” เนื่องจากว่าพวกเขายินดีที่จะทุ่มเทเวลาและแรงกายของตัวเองให้กับคนที่รัก ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่พอมันมากและบ่อยเกินไปก็อาจจะเกิดเป็นความเคยชินได้ จนคุณค่าทางความดีในตัวของเหล่า Nice Guy นั้นค่อยๆ ถูกลดทอนลงไปจนกลายเป็นของตายในท้ายที่สุด

หากไม่ได้เป็นคนดี ก็ไม่ได้แปลว่าเราต้องเป็นคนเลว

มาถึงจุดนี้เหล่า Nice Guy หรือคนที่เชื่อในการทำดีนั้นก็อาจจะตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ให้เป็นคนดี แล้วจะให้ไปเป็นคนเลวหรือยังไง? คำตอบก็คือไม่ใช่ เพราะว่าโลกนี้นั้นไม่ใช่แบ่งเป็นสีดำหรือขาวเพียงเท่านั้น ถ้าไม่ได้มีใครดีไปเสียทุกเรื่องและก็ไม่มีใครที่จะเลวไปเสียหมดเช่นกัน เพียงแต่อยากจะบอกกับเหล่า Nice Guy ว่าให้เริ่มรักตัวเองเหมือนที่เรารักคนอื่น เพียงแค่นี้เราก็จะดูเป็นคนที่มั่นใจขึ้น ดูมีปากมีเสียง ดูมีความเห็น ทำให้หลายๆ คนได้เริ่มเห็นตัวตนที่แท้จริงของเรา และเมื่อวันนั้นมาถึงเสน่ห์ของเราก็จะแผ่ออกมาเองโดยที่เราไม่จำเป็นต้องขยันทำดีให้เหนื่อยเลยแม้แต่น้อย

แล้วหวังว่าคราวนี้จะเป็นคราวของ Nice Guy ที่จะ Finish first กับเขาบ้างเสียที

ที่มา:

– What Is the Nice Guy Syndrome? : Sean Galla, Mens Group – http://bit.ly/3hT57nt
– 5 Signs Of Nice Guy Syndrome : Suzannah Weiss, Bustle – http://bit.ly/3UQaeDj
– The sinister logic behind ‘Nice Guy Syndrome’, explained by psychologists : Rachel Hosie, The Independent – http://bit.ly/3XbP6Jj
– Why Nice Guys and Gals Finish Last in Love : Jeremy Nicholson, Psychology Today – http://bit.ly/3hYh6jG

#selfdevelopment
#psychology
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

 

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า