self developmentMidlife Crisis ไม่ใช่เพียง “ปัญหาวัยกลางคน” แต่เป็นถึง “มรสุมชีวิต”

Midlife Crisis ไม่ใช่เพียง “ปัญหาวัยกลางคน” แต่เป็นถึง “มรสุมชีวิต”

แม้ช่วงวัยกลางคนจะเป็นวัยที่เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวสำเร็จ เริ่มมีทรัพย์สินเป็นของตนเอง เริ่มมีความสัมพันธ์ที่มั่นคง แต่จากผลงานวิจัยที่ศึกษาโดย Centers for Disease Control and Prevention (CDC) พบว่า คนในช่วงอายุ 40-60 ปีมีแนวโน้มว่าความสุขในชีวิตลดน้อยลง และยังพบว่าคนวัยนี้มีแนวโน้มที่จะเป็น “ภาวะซึมเศร้า” มากที่สุด

อาจเป็นไปได้ว่า คนในช่วงวัยนี้ต่างเริ่มคิดว่าตนเองไม่ใช่ “เด็ก” อีกต่อไปแล้ว และทำให้พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับความจริงและความคาดหวังใน “โลกของผู้ใหญ่” จึงต้องบังคับตนเองให้หันไปทบทวน “ทุกเรื่อง” ในชีวิต จนในที่สุดก็พบว่า บางส่วนในชีวิตไม่ได้เป็น “ดั่งใจหวัง”

ในพอดแคสต์ Mission To The Moon EP.1888 “เรื่องราวมรสุมชุดใหญ่ของคนวัย 40 กว่าๆ ” คุณรวิศกล่าวถึงเรื่องราวของคนรู้จักที่ภายนอกดูสมบูรณ์แบบด้วยวัย ชีวิตครอบครัว ฐานะและความสำเร็จ แต่ภายในกลับเกิดช่องว่างใหญ่ในจิตใจ เขารู้สึกว่างเปล่า รู้สึกความสุขในใจไม่ได้รับการเติมเต็ม รู้สึกว่าความสำเร็จและเงินที่มีไม่สามารถทำให้พอใจชีวิตได้เลย

ปัญหามรสุมในชีวิตช่วงวัยกลางคน (Midlife Crisis) อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปตามภูมิหลัง ครอบครัว สถานะ และเพศ แต่จากคอมเมนต์และเสียงตอบรับมากมายของผู้ชมพอดแคสต์ ทำให้เราทราบถึงจุดร่วมของปัญหาที่หลายคนต่างประสบเหมือนกัน

5 ปัญหาพบบ่อยในช่วงวิกฤตวัยกลางคน (Midlife Crisis)

ปัญหาที่รวบรวมมาจากคอมเมนต์ในพอดแคสต์ Mission To The Moon EP.1888 ส่วนใหญ่มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน จึงสรุปออกมาเป็นภาพรวมได้ทั้งหมด 5 ข้อ ลองดูว่าข้อไหนที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของตัวเราได้บ้าง

1. ปัญหาสุขภาพรุมเร้า

ปัญหาสุขภาพที่ครอบคลุมทั้งร่างกายและจิตใจ ในวัยรุ่นยังเป็นช่วงที่ร่างกายแข็งแรงดี แต่พออายุมากขึ้นร่างกายกลับสั่งการไม่ได้ดั่งใจ เริ่มเข้าออกโรงพยาบาล เริ่มนอนไม่หลับ หลับไม่สนิทและตื่นขึ้นมากลางดึกบ่อย การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอจึงกระทบไปยังสุขภาพจิตด้วย

วัยกลางคนจึงเป็นช่วงอายุที่ต้องการการดูแลสุขภาพกายใจเป็นพิเศษ เริ่มต้นด้วยพื้นฐานธรรมดา อย่างการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เริ่มออกกำลังกายเบาๆ เดินเล่นยามเช้า ยืดเหยียดร่างกายต้อนรับวันใหม่ และปรับกิจวัตรให้เอื้อกับการนอนมากขึ้น

Advertisements

2. สูญเสียความหมายในชีวิต

บางคนพบว่าตนเองตื่นขึ้นอย่างไร้ความหมาย ทั้งที่ตัวเราในวัยรุ่นใช้ชีวิตอย่างเต็มที่เพื่อให้มีวันนี้ และชีวิตผ่านมาครึ่งทางแล้ว แต่กลับเกิดคำถามในใจตลอดเวลาว่า ตนเองมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร? เป้าหมายในชีวิตคืออะไร? ความฝันของตนเองคืออะไร? และอาจไปถึงขั้นสงสัยใน “คุณค่า” ของตนเอง

3. ต้องเป็น “ผู้นำ” ทั้งที่ทำงานและที่บ้าน

วัยกลางคนเป็นช่วงอายุที่ต้องรับไม้ต่อจากคุณพ่อและคุณแม่ที่กำลังเข้าสู่วัยชรา รวมถึงรับไม้ต่อจากหัวหน้าในที่ทำงาน ทำให้ต้องแบกรับความรับผิดชอบและต้องหาทางแก้ปัญหาพร้อมกันทั้งสองทาง

4. แบกรับแรงกดดันจาก “ความคาดหวัง”

เพราะบทบาทในชีวิตเพิ่มมากขึ้น ความคาดหวังและความกดดันในฐานะ “ที่พึ่งพา” จึงมากขึ้นไปด้วย แต่ความคาดหวังที่มีผลกระทบมากที่สุดคือ “ความคาดหวังจากภายใน” เนื่องจากสื่อ ค่านิยม และภาพสวยงามที่เห็นในสังคม ทำให้เราเกิดมาตรฐานในใจว่า อายุวัยนี้ต้องมีบ้าน รถ เงินในบัญชีและครอบครัวเป็นหลักแหล่ง เมื่อตัวเราไม่ได้สมบูรณ์แบบอย่างที่เคยตั้งมั่นไว้ จึงเกิดเป็นความผิดหวังต่อตนเอง

Advertisements

5. ความสำเร็จไม่ทำให้รู้สึกพอใจอีกต่อไป

อย่างที่คุณรวิศหยิบเรื่องราวมาเล่าในพอดแคสต์ การมีพร้อมครบทุกอย่างจนน่าอิจฉาสำหรับบางคน กลับไม่ได้ทำให้ความสุขภายในใจได้รับการเติมเต็ม บางคนอาจยังหาสาเหตุไม่ได้ด้วยซ้ำ ว่าทำไมตนเองรู้สึกไม่มีความสุข แต่เป็นไปได้ว่าสาเหตุอาจมาจาก “มาตรฐาน” ความสุขของตัวเราเอง บางทีเราอาจใช้ความคาดหวังเป็นตัวตั้งโจทย์ที่ “สูงเกินไป” หรือบางทีอาจเป็นเพราะสิ่งที่เรามี ยังไม่ใช่สิ่งที่เรา “ต้องการ” จริงๆ

สำหรับวัยนี้การดูแลสภาพจิตใจจึงสำคัญไม่แพ้กับสุขภาพร่างกาย เราน่าจะลองหมั่นทบทวนเป้าหมายชีวิต ความต้องการ ความคิด ความคาดหวัง ความรู้สึกและอารมณ์ของตนเองเป็นประจำ เพื่อหาคำตอบว่าสิ่งใดกันแน่ที่จะทำให้เรามีความสุข

ลองปรับความคิด เพื่อเปลี่ยนมาตรฐานความสุขของชีวิต

มนุษย์มักพยายามไขว่คว้าหาความสำเร็จทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ความมั่งคั่ง หน้าที่การงาน และการเป็นที่ยอมรับ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถเติมเต็มความสุขของตนเองได้ จากบทความในเว็บไซต์ Havard Business Review ชื่อบทความ “Why Success Donesn’t Lead to Satisfaction” อธิบายว่า เพราะทุกครั้งที่มนุษย์รู้สึกว่าได้ของ 3 อย่างนี้ สมองจะหลั่งฮอร์โมนโดปามีน ทำให้เรารู้สึกพึงพอใจ แต่ความพึงพอใจนั้นเป็นแค่ “ช่วงเวลาสั้นๆ ”

ทั้งที่เรารู้ว่าความพึงพอใจจากสิ่งนอกกายเหล่านี้ไม่คงทนถาวร แต่เมื่อมนุษย์ต้องรู้สึก “ว่างเปล่า” ทุกครั้งหลังความรู้สึก “สำเร็จ” หมดไป เราจึงพยายามไขว่คว้าความสำเร็จใหม่จากทั้ง 3 ด้านอีกหน เหมือน “การเสพติด” อย่างไม่จบสิ้น

มนุษย์ยังคอย “เปรียบเทียบ” ตนเองกับคนอื่นในสังคม ยิ่งทำให้เกิดภาพแห่งความสำเร็จในอุดมคติที่ชัดเจน จนทำให้เราไล่ตามแต่สิ่งที่ตนเองยัง “ไม่มี” จนลืมตั้งคำถามถึงสิ่งที่เรา “ต้องการ” จริงๆ

หากเราปรับความคิดและทบทวนเงื่อนไขความสุขของเราเสียใหม่ เราอาจจะพบจุดตรงกลางระหว่าง “ความคาดหวัง” และ “ความพอใจ” ในชีวิตของตนเอง จึงขอยกตัวอย่างแนวทางเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางความคิด 3 ข้อจากบทความ ดังนี้

1. ลองทบทวนทัศนคติต่อความสำเร็จในชีวิตทั้ง 3 ด้าน

“ความมั่งคั่ง” “ความสำเร็จในหน้าที่การงาน” และ “การเป็นที่ยอมรับในสังคม” แม้ว่าจะเป็นตัวชี้วัดที่เห็นภาพชัดเจน จับต้องได้ และมักสร้างความสุขระยะสั้นได้ง่าย แต่ก็เป็นปัญหาต่อเราได้ง่ายเช่นกันหากเรานำ 3 ด้านนี้ไปเปรียบเทียบกับคนอื่น และเหมารวมไปประเมินเป็น “คุณค่า” ภายในของตนเอง

บางทีเราอาจคาดหวังกับทุกด้านมากเกินไปโดยไม่รู้ตัว จนความคาดหวังนี้บดบังในสิ่งที่เราต้องการจริงๆ ดังนั้นลองตั้งคำถามเพื่อทบทวนทัศนคติของตนเองต่อทั้ง 3 ด้านนี้ดู เช่น

[  ] เราเคยเปรียบเทียบฐานะของตนเองกับคนอื่นหรือเปล่า?
[  ] เรานิยามจำนวนเงินที่เรารู้สึกว่า “เพียงพอ” อย่างไร?
[  ] เหตุการณ์ไหนบ้างที่เรื่องเงินทำให้เรารู้สึก “ละอาย” ?
[  ] เราได้เสียสละสุขภาพตนเองเพื่อเรื่องงานบ้างหรือเปล่า?
[  ] ครั้งล่าสุดที่เรารู้สึกสนุกไปกับงานโดยไม่คาดหวังผลลัพธ์คือเมื่อไหร่?
[  ] ต้องประสบความสำเร็จเท่าไหน เราถึงจะพอใจ?
[  ] เราพยายามควบคุมบทสนทนาเพื่อให้ตัวเองดูน่าประทับใจต่อคนอื่นหรือเปล่า?
[  ] เรามักจะพยายามทำให้คนอื่นจดจำเราด้วยวิธีอะไรบ้าง?

2. ลองเปลี่ยนการเปรียบเทียบเป็น “การชื่นชม”

นักจิตวิทยาต่างเห็นด้วยว่า การเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นเพื่อเป็น “ตัววัด” ความสำเร็จ มักทำให้ตัวเราเองรู้สึกเศร้าเสียใจและรู้สึกว่างเปล่ากับชีวิต ในทางตรงกันข้าม การรู้สึกชื่นชมข้อดีของผู้อื่นและชื่นชมในความพยายามตนเอง จะทำให้เราเป็นอิสระจากการเปรียบเทียบและด้อยค่าตนเอง

เราอาจเริ่มต้นจากการขอบคุณ (Gratitude) เช่น ขอบคุณสิ่งที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ขอบคุณคุณค่าที่เราได้รับจากงาน ขอบคุณบทเรียนจากประสบการณ์ที่ดีและไม่ดีในชีวิต เพราะอย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกตนเองไม่ได้ “ขาดแคลน” ในเรื่องใด

3. ลองเปลี่ยนจากการไขว่คว้าเป็น “การให้”

แทนที่เราจะตั้งเพดานความสุขไว้สูงเพื่อให้ตัวเองคอยวิ่งไล่ตามตลอดเวลา เราน่าจะลองเปลี่ยนบทบาทมาเป็น “ผู้ให้” ความสุขแก่คนอื่นดูบ้าง เพราะมนุษย์เมื่อได้ทำสิ่งดีๆ เพื่อคนอื่นหรือสังคม มักจะทำให้ความรู้สึกดีเหล่านั้นย้อนกลับมาที่ตนเอง เราจะรู้สึกอิ่มใจและทำให้เรามองโลกในแง่ดีมากยิ่งขึ้น

วัยกลางคนเป็นวัยที่แบกความหวังของคนรอบข้างและตนเอง ท่ามกลางความกดดันจึงต้องสร้างภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์แบบตลอดเวลา แต่หากเราลองเมตตาตนเองอีกสักนิด และเห็นใจตัวเองเพิ่มมากขึ้นอีกหน่อย อาจจะทำให้เราค้นพบความหมายใหม่ของชีวิตที่ไม่ต้องสมบูรณ์แบบตลอดเวลา

อ้างอิง
– เรื่องราวมรสุมชุดใหญ่ของคนวัย 40 กว่าๆ | Mission To The Moon EP.1888 : รวิศ หาญอุตสาหะ – https://bit.ly/45QjZ9x
– 10 Tips to Turn a Midlife Crisis into a Fresh Re(start) : Forbes Coaches Council – https://bit.ly/44pZrnf
– Why Success Doesn’t Lead to Satisfaction : Ron Carucci – https://bit.ly/3KZOxhc

#selfdevelopment
#generation
#midlife
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า