เรื่องราวร้ายๆ มักกระแทกเข้ามาใส่ชีวิตเราโดยไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมากแค่ไหนก็ตาม ทุกครั้งที่มันเข้ามาปะทะก็ย่อมทิ้งร่องรอยความเจ็บปวดเอาไว้เสมอ เปรียบเสมือนตะปูที่ตอกเข้าไปถึงแก่นวิญญาณ สร้างรอยแผลทิ้งไว้ทั้งบนตัวและจิตใจ
แต่เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีการส่งผ่านความรู้สึกสู่กันและกัน ราวกับเป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดจากอันตราย รอยแผลที่เกิดขึ้นในจิตใจจึงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนที่ประสบเหตุการณ์เลวร้ายโดยตรงเท่านั้น แต่ยังลุกลามเหมือนโรคระบาดไปยังบุคคลอื่นๆ ที่รับรู้เรื่องราว โดยมีตัวกลางเป็น “ข่าวสาร” นั่นเอง
โดยเฉพาะเมื่อเหตุร้ายที่เกิดขึ้นชวนให้ตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น สงคราม การก่อการร้าย และเหตุกราดยิง อานุภาพของมันยิ่งสร้างบาดแผลให้แก่ผู้คนในวงกว้างมากขึ้น เพราะมันสั่นคลอนความปลอดภัยในชีวิตของคนหมู่มาก กระตุ้นกลไกการเอาชีวิตรอดให้ผู้คนตอบสนองด้วยความกลัว ความโศกเศร้า ความตกใจ ความโกรธ และความรู้สึกอีกมากมายปะทุขึ้นมาพร้อมกัน
ปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติเหล่านั้นก่อให้เกิดความโกลาหล ลดทอนการใช้เหตุผล ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และปิดกั้นมุมมองบางประการเพื่อทำให้เราสามารถโฟกัสกับการเอาตัวรอดได้ง่ายขึ้น เราจึงมักจะเห็นการตอบโต้ที่รุนแรงและสุดโต่งของผู้คนต่อเหตุการณ์ชวนช็อกมากมาย เช่น การด่าทอ การเรียกร้องโทษประหาร ไปจนถึงการแก้แค้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อรักษาไว้ซึ่ง ‘ความปลอดภัยในชีวิต’
อย่างไรก็ตาม ความโกลาหลย่อมนำมาซึ่งผลร้ายมากกว่าผลดี ความยุ่งเหยิงจนเสียระเบียบอาจก่อให้เกิดเหตุร้ายต่อเนื่องไม่รู้จบ การรู้เท่าทันกลไกของร่างกายต่อเหตุร้ายและเตรียมรับมืออย่างถูกวิธีจึงจำเป็น เพื่อคงไว้ซึ่งสติในการแก้ปัญหา บทความนี้จึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับผลกระทบของเหตุการณ์เลวร้าย (Traumatic Shock) และวิธีรับมือกัน
ความโกรธที่มีและอาการเหล่านี้เรียกว่าปกติไหม?
เหตุการณ์สะเทือนขวัญหรือ “Traumatic Shock” มีหลายระดับ นอกจากเหตุร้ายแรงที่เป็นภัยต่อมนุษยชาติดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังหมายรวมถึงความสะเทือนขวัญที่เกิดจากการประสบอุบัติเหตุ หรือการสูญเสียกะทันหัน ไปจนถึงเรื่องราวขวัญหนีดีฝ่ออื่นๆ อีกมากมาย
แน่นอนว่าความรุนแรงของบาดแผลที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไปตามพื้นเพและภูมิคุ้มกันของบุคคลนั้น แต่ละคนจึงมีปฏิกิริยาต่อเหตุสะเทือนขวัญต่างกัน โดยบาดแผลอาจมาในรูปแบบกายภาพอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างพร้อมกัน
ยกตัวอย่างเช่น การทำงานผิดปกติของระบบหายใจ ท้อง กล้ามเนื้อ หัวใจ หรือสารเคมีในสมอง นั่นคืออาการวิงเวียนศีรษะ ปวดหัว มึนงง คลื่นไส้อาเจียน กล้ามเนื้อหดเกร็งเป็นส่วนหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดท้อง หรือมีอาการหายใจเร็ว หายใจไม่เป็นจังหวะ หายใจไม่ทั่วท้อง ชีพจรเต้นเร็ว และความดันขึ้นสูง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีบาดแผลด้านจิตใจที่อาจมองไม่เห็นแต่มักฝังรากลึก ยกตัวอย่างเช่น ภาวะแยกตัวระหว่างสัมปชัญญะกับร่างกาย หรือการตกอยู่ในภวังค์ (Dissociation) กล่าวคือจะมีอาการเหม่อลอย ไม่สามารถตั้งสมาธิ บางคนอาจมีภาวะสูญเสียความทรงจำ ความทรงจำขาดตอน หรือไม่ปะติดปะต่อ เป็นต้น
พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปก็เป็นหนึ่งในผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น บางคนอาจสูญเสียแรงจูงใจหรือความสนใจต่อสิ่งต่างๆ บางคนอาจพบว่าไม่สามารถเอาเรื่องราวออกจากหัวได้ ปลีกวิเวกออกจากคนอื่น หรืออาจกระทำพฤติกรรมทำร้ายตัวเองทั้งทางตรงทางอ้อม เช่น มีอาการติดสุรา ติดสารเสพติด หรือละเลยการดูแลตัวเอง
เหตุการณ์สะเทือนขวัญยังก่อให้เกิดอารมณ์เชิงลบมากมาย ทั้งความโกรธ ความกลัว ความรู้สึกผิด ความละอาย ความสับสน ความสิ้นหวัง ความรู้สึกไม่ปลอดภัย และความชินชา (Numbness) ไม่สามารถรู้สึกยินดียินร้ายต่อสิ่งต่างๆ ทั้งยังนำไปสู่อาการทางจิตอื่นๆ เช่น อาการแพนิก วิตกกังวล และภาวะปฏิเสธความจริง เป็นต้น
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ และมักจะเกิดขึ้นกับคนจำนวนมากด้วยเช่นกัน โดยปกติแล้วเวลาจะช่วยเยียวยาและลบเลือนรอยแผลเหล่านี้ให้ดีขึ้นตามระดับ แต่ก็มีบางกรณีที่รอยแผลสร้างผลกระทบจนส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตจนเกิดเป็นโรคทางจิตเวช โดยทางการแพทย์มีการแบ่งกลุ่มโรคที่เกิดจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. Acute Stress Disorder (ASD) คือกลุ่มโรคที่ผู้ป่วยได้รับผลกระทบและมีอาการต่างๆ ดังที่กล่าวไปในระยะสั้น ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงหนึ่งเดือนแรกหลังจากเกิดเหตุสะเทือนขวัญ แต่หลายครั้งผู้ป่วยกลุ่มนี้นั้นไม่เข้ารับการรักษาจนกว่าจะพัฒนาเป็นกลุ่มถัดไป
2. Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) มีอาการเช่นเดียวกับกลุ่มแรกแต่ผลกระทบและอาการคงอยู่ในระยะยาวกว่า กล่าวคือผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตแม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านไปแล้วหลายเดือน
3. Dissociative Disorders คือกลุ่มอาการที่ผลกระทบพัฒนากลายเป็นโรคทางจิตเวชที่ผู้ป่วยจะเกิดการแยกตัวตนออกจากโลกแห่งความจริง เช่น สูญเสียความทรงจำ ความทรงจำบกพร่อง สร้างตัวตนใหม่ และแยกแยะความจริงไม่ได้ เป็นต้น
ประกอบชิ้นส่วนที่แตกกระจาย ดูแลแผลใจยังไงก่อนจะลุกลาม?
อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าภาวะที่ขวัญกระเจิงอาจทำให้เรากระทำการใดๆ โดยขาดสติสัมปชัญญะ จนนำมาซึ่งความเลวร้ายที่เป็นซีรีส์ต่อกันไปไม่มีวันหยุด การกอบกู้สติจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกเมื่อพบกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญ
เป็นเรื่องปกติที่เมื่อได้รับแผลใจเราจะวิ่งหาใครสักคนมาช่วยแบ่งเบา การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก็เป็นหนึ่งในทางออกแรกๆ ที่อยากแนะนำให้ทุกคนได้ลองเปิดใจให้ตัวเอง แต่สำหรับใครที่อยากลองเก็บเศษขวัญที่หายไปขึ้นมาประกอบใหม่ด้วยตัวเองก่อน การลองทำตามคู่มือปฐมพยาบาลจิตใจเหล่านี้ก็เป็นทางเลือกที่ดีเหมือนกัน
1. จำไว้เสมอว่าความรู้สึกไม่มีผิดหรือถูก
ความรู้สึกที่ประเดประดังเข้ามาพร้อมกันอาจมีทั้งดีและไม่ดีปะปนกันไป บางความรู้สึกอาจทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมเราถึงรู้สึกอย่างนั้นทั้งที่ไม่ควรรู้สึก แต่เพราะความรู้สึกไม่มีผิดไม่มีถูก สิ่งที่เราต้องทำมีเพียงยอมรับให้มันไหลเข้ามาและรอให้มันไหลออกไปก็เพียงพอ
2. อย่าฝืนทำเป็นไม่รู้สึก
บางคนอาจคิดว่ามันคงดีกว่าหากเราทำเป็นไม่รู้สึกอะไร แต่การปฏิเสธการรับรู้ตัวตน (Self-awareness) ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกนั้นหายไป ทางที่ดีจึงควรตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของความรู้สึกนั้นและพึงระลึกเสมอว่ามันจะหายไปตามกาลเวลา
3. อย่ากดดันให้ต้องรีบฟื้นเสมอไป
ให้เวลาตัวเองได้จมดิ่งอยู่กับข้อมูลมากมาย เปรียบเสมือนเรือเล็กท่ามกลางมหาสมุทร ยิ่งเราต้านลมและกระแสน้ำเชี่ยวมากเท่าไรโอกาสที่เรือละล่มก็มีมากเท่านั้น การปล่อยให้ตัวเองได้ซึมซับและเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันช้าๆ จึงเป็นทางออกที่ดีกว่า
4. หวนกลับสู่ความคุ้นเคยและกิจวัตรเดิม
การขยับตัวจะทำให้เรากลับมาอยู่กับความเป็นจริงมากขึ้น การกลับมาสู่กิจวัตรเดิมๆ ก็จะช่วยให้เรารู้สึกสบายใจกับสิ่งที่คุ้นเคยมากขึ้นเช่นกัน วิธีนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระให้ร่างกายและจิตใจ ทำให้สามารถฟื้นฟูในส่วนที่ได้รับบาดเจ็บได้ดีขึ้น
5. พักเรื่องที่ต้องตัดสินใจครั้งใหญ่เอาไว้ก่อน
การตัดสินใจท่ามกลางความวุ่นวายภายในใจอาจทำให้เราไม่สามารถคิดได้ถี่ถ้วนและนำมาซึ่งความเสียใจในภายหลัง ดังนั้นทางที่ดีจึงควรรอให้คลื่นพายุผ่านไปเสียก่อนแล้วจึงเริ่มต้นคิดใหม่ตั้งแต่ศูนย์ ให้เวลาตัวเองได้ทบทวนเรื่องราว ตามเท่าทันความรู้สึกและความต้องการของตนเองเสียก่อน
6. หลีกหนีตัวกระตุ้น
ท่ามกลางภาวะสะเทือนขวัญก็เหมือนการเล่นกายกรรมบนเชือกเดี่ยว ความสั่นไหวเพียงนิดเดียวอาจทำให้เราตกและกลับไปเริ่มใหม่ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการรับรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ โดยเฉพาะการรับรู้ผ่านโซเชียลมีเดียจะช่วยให้จิตใจสงบได้เร็วขึ้น
จดจำไว้เสมอว่าทุกสิ่งเข้ามาแล้วย่อมผ่านไป หากสุดท้ายแล้วภารกิจกอบกู้เศษเสี้ยวความรู้สึกที่ตกหล่นไปไม่สามารถสำเร็จด้วยตัวคนเดียว นั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพียงยื่นมือออกไปขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจหรือผู้เชี่ยวชาญก็เป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดเช่นเดียวกัน
ที่มา
– Coping after a traumatic event : RC PSYCH – https://bit.ly/46vbhOI
– What Is Traumatic Shock? : Sanjaha Gupta, VeryWell Mind – https://bit.ly/3tja12G
– How to Cope with Traumatic Events : HelpGuide.org – https://bit.ly/3thKx5L
#selfdevelopment
#psychology
#traumaticshock
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast