“คิดถึงแทบใจจะขาด” ไม่ใช่เรื่องที่เกินจริง
เรามักเผลอมองของบางอย่างที่รู้สึกผูกพันจนทิ้งไม่ลงด้วยความรู้สึก “คิดถึง” อาจเป็นเสื้อตัวเก่งสีซีดที่แม่เคยชอบใส่ หมอนเน่าที่ลูกเราชอบนอนกอดตอนเป็นเด็ก กระทั่งในโทรศัพท์ของเราเอง อย่างน้อยต้องมีสักหนึ่งรูปถ่ายที่มักจะหยิบขึ้นมาดูเวลาที่คิดถึงใครสักคน
ยิ่งใกล้วันสำคัญของครอบครัวมากเท่าไหร่ ความรู้สึกคิดถึงในใจก็ยิ่งทวีคูณขึ้น บางคนจัดการได้เพราะคนที่เรารักอยู่ไม่ไกล บางคนจัดการลำบากเพราะต่อให้เขายังอยู่ เราก็ไปหาไม่ได้ และบางคนอาจทำได้แค่อยู่กับความคิดถึงอย่างนั้นตลอดไป เพราะคนสำคัญจากไปแล้ว
ร่างกายของเราตอบสนองกับความคิดถึงนั้น สารเคมีในสมองของเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อเราคิดถึงใครสักคน ฮอร์โมน “ออกซิโทซิน” และ “โดปามีน” ที่เดิมจะหลั่งตลอดเวลาเมื่อเราอยู่กับคนรัก จะพลันหยุดชะงักเมื่อเราและคนที่รักห่างกัน
อาการของคนที่กำลังตกอยู่ในห้วงความคิดถึง อาจปะปนไปด้วยความกังวล ความเศร้า ความเดียวดาย ความโหยหา และอาจลามไปกระทบกับกิจวัตรประจำวันให้เปลี่ยนไปจนกินไม่ได้และนอนไม่หลับ กิจกรรมที่ชอบอาจกลายเป็นเรื่องที่ไม่สนุก เพราะมันทำให้ “นึกถึง” อีกคนที่หายไป
นักวิจัยคิดว่า ธรรมชาติมีเหตุผลที่ทำให้ความรักนั้นเป็นสารเสพติดด้วยตัวของมันเอง ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปเวลาที่โหยหาใครสักคน จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้มนุษย์ออกตามหาคนที่รัก เพื่อที่จะได้เข้าไปเป็น “ส่วนหนึ่งในสังคม” อีกครั้ง
ใช่แล้ว ต้นเหตุของความคิดถึงก็คือ “ความสัมพันธ์” นั่นเอง
เข้าใจความสัมพันธ์ที่ทำให้เรา “คิดถึง” กัน
ความคิดถึงของเราเกิดขึ้นมาได้จากความสัมพันธ์หลายรูปแบบ และแอบแฝงไปด้วยอารมณ์อีกนับไม่ถ้วน ความคิดถึงของเราจึงต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าคนที่ทำให้เราต้องคิดถึง เขามีความสัมพันธ์ และมีอิทธิพลกับชีวิตหรือความรู้สึกของเราในแง่มุมไหน
[ ] คิดถึงคนที่ยังอยู่ แต่คุยด้วยไม่ได้
ความรู้สึกคิดถึงอาจมาจากการที่พ่อแม่ ลูก หรือคนรักไม่ว่างคุยกับเรา หรือเราเองที่ไม่ว่างคุยกับพวกเขา แต่ในทุกขณะที่เรากำลังทำงาน เดิน หรือทานข้าวอยู่ เรามักจะนึกถึงเขาตลอดเวลา และเราจะอยากไปแสดงความรักกับเขา ความคิดถึงจากสาเหตุนี้น่าจะดูเป็นไปในทางบวกที่สุดแล้ว
แต่ถ้าเป็นความคิดถึงที่อยากคุยแต่คุยไม่ได้ เพราะคนที่เราคิดถึง ดันเป็นคนที่เราเลือกจบความสัมพันธ์ด้วย หรือซ้ำร้าย เราไม่ใช่คนที่อยากยุติความสัมพันธ์นั้นเลย ความคิดถึงจากสาเหตุนี้อาจแฝงไปด้วยความรู้สึกทางลบ อย่างความสับสน ความเสียใจ ความผิดหวัง ความโกรธ และความน้อยใจ
[ ] คิดถึงคนที่ต้องห่างไกลกัน
เมื่อชีวิตของเราดำเนินไปถึงจุดหนึ่ง เราอาจต้องเลือกหนทางที่ทำให้เราต้องไกลจากครอบครัว คนรัก และเพื่อน ซึ่งในความสัมพันธ์ระยะไกลของบางคน อาจไกลกันแค่สิบกิโลเมตร แต่กลับบางคนอาจถึงขั้นห่างกันข้ามทวีป จนเป็นอุปสรรคของการสื่อสารและการพบเจอ
แม้จะยอมรับเรื่องที่ต้องห่างกายกันได้ แต่การห่างใจกลับไม่ใช่เรื่องที่จะอดทนได้ง่ายๆ ความคิดถึงของความสัมพันธ์นี้แรกเริ่มอาจเป็นความโหยหา แต่หลังจากที่ต้องเผชิญกับการอดทน และความรู้สึกไม่มั่นคงเป็นระยะเวลานาน อาจก่อเป็นความรู้สึกทางด้านลบอย่างความน้อยใจ และความโดดเดี่ยว
[ ] คิดถึงคนที่จากไปแล้ว
ความคิดถึงที่ไม่อาจส่งไปถึงได้ น่าจะเป็นความคิดถึงที่น่าเศร้าและรับมือยากที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะรับไหว คนที่ตกอยู่ในความคิดถึงเพราะการสูญเสีย มักเต็มไปด้วยความโศกเศร้าเสียใจ ถ้าขาดการจัดการความรู้สึกที่ดี อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
เราจะอยู่กับ “ความคิดถึง” ได้อย่างไร?
ที่มาความคิดถึงของคนเราไม่เหมือนกัน จึงทำให้มีวิธีเยียวยาตัวเองไม่เหมือนกันด้วย ลองดูวิธีที่เรารวบรวมมานี้ทั้ง 10 ข้อ เผื่อว่าคุณจะสามารถหยิบไปปรับให้เข้าตนเองได้
1. นัดหมายและรักษาการติดต่อไม่ให้ขาด
ถ้าคนที่คิดถึงเป็นคนที่เราสามารถไปพบหรือโทรหาได้ วิธีที่จะทำให้หายคิดถึงก็คือการบอก “ความรู้สึก” ของเราให้เขารับรู้ แต่ถ้าเป็นความสัมพันธ์ระยะไกล เราจะต้องมี “การวางแผน” เพิ่มขึ้นมา
การวิดีโอคอล การโทรหา และการส่งข้อความหากัน สามารถพอคลายความคิดถึงกันได้ แต่การสร้างความรู้สึกมั่นคงในความสัมพันธ์ระยะยาว จะต้องมีการเจอตัวกันเป็นๆ เพื่อใช้เวลาและสร้างประสบการณ์ที่ดีร่วมกันสม่ำเสมอ
2. หันกลับมาดูแลตนเอง
บางครั้งความรู้สึกคิดถึงมาจากการที่เราอยากให้เขาเข้ามา “เติมเต็ม” ความรักในใจเราที่ขาดหายไป เมื่อคนที่เรารักไม่สามารถอยู่เคียงข้างเราได้ตลอดเวลาอย่างที่เราต้องการ ก็ถึงเวลาหันกลับมาทบทวนตัวเองว่า เราเติมความรักให้ตัวเองเพียงพอแล้วหรือยัง?
เราสามารถแสดงความรักให้ตัวเอง โดยหันกลับมาดูแลและพัฒนาตัวเอง (Self Care) ได้ เช่น
[ ] ทำกิจกรรมที่ชอบ : อาจเป็นงานอดิเรกเข้าครัว เล่นกับสัตว์เลี้ยง อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ และฟังเพลง
[ ] ออกกำลังกาย : เพราะการออกกำลังกายสามารถทำให้สุขภาพกายและจิตดีขึ้น
[ ] กินอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการสูง : เพราะประเภทของอาหารมีผลต่ออารมณ์ของเราโดยตรง
[ ] รักษาเวลานอน : มีงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่าการนอนให้เพียงพอมีผลต่อสุขภาพจิต
[ ] พูดดีกับตัวเอง : ให้กำลังใจกับตัวเองว่าเราจะสามารถผ่านช่วงเวลานี้ได้
[ ] ใช้เวลากับคนรอบตัวที่มีพลังบวก : อาจเป็นครอบครัวหรือเพื่อนสนิทที่รักเรา และยินดีให้กำลังใจเรา
3. รู้ทันความคิดแง่ลบ
ความคิดถึงอาจปนมากับความรู้สึกแง่ลบ จนเกิดเสียงในหัวที่ตอกย้ำเราให้รู้สึกแย่ ถ้าเรารู้ว่ากำลังมีความคิดไม่ดีต่อทั้ง “ตัวเรา” และ “คนที่เรารัก” ให้เราอย่าพึ่งเชื่อเสียงว่าร้ายนั้น ลองตั้งคำถาม และลองมองสถานการณ์ใหม่จากมุมของคนที่สามดู เพราะบางครั้งเรื่องที่คิดกับเรื่องที่เป็นกลับ “ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน” เลย
4. ขอบคุณประสบการณ์ดีๆ ที่เคยมีร่วมกัน
มีงานวิจัยที่ศึกษาพบว่า ความรู้สึกขอบคุณ (Gratitude) สามารถเยียวยาจิตใจของมนุษย์ให้ดีขึ้นได้ แทนที่เราจะจมดิ่งอยู่กับการสูญเสีย ความห่างไกล หรือความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ เราน่าจะลองนึกย้อนประสบการณ์ที่เคยมีร่วมกัน และขอบคุณทุกเรื่องราวดีๆ ที่ผ่านมา
ในความคิดถึงที่เกิดจากการสูญเสีย ให้ลองไปในที่ที่เขาเคยไป เลือกร้านอาหารที่เขาชอบไปนั่งทาน ปลูกต้นไม้หรือดอกไม้ที่เขาชอบ และหยิบรูปเก่าๆ ของเขาขึ้นมาดู จะช่วยให้เรายังจดจำความรู้สึกผูกพัน และทำให้เรารู้สึกว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันยังไม่หายไปไหน
5. เข้าใจและยอมรับความรู้สึกตนเอง
บางคนอาจพยายามปฏิเสธความรู้สึกของตนเอง แต่การกดความรู้สึกเอาไว้มีแต่จะทำให้แย่ลง ทางที่ดีเราน่าจะต้องยอมรับและทำความเข้าใจกับความรู้สึกของตัวเองให้ชัดเจน จึงจะสามารถหาทางแก้ไขได้อย่างตรงจุด เช่น ถ้าเรากำลังน้อยใจ ก็ให้ยอมรับว่าเรากำลังน้อยใจ แล้วค่อยหาทางแก้ไขความรู้สึกแง่ลบที่มี
6. ทำเรื่องดีๆ ให้คนอื่น
การทำดีต่อคนอื่นจะทำให้ความรู้สึกดีๆ นั้นย้อนกลับมาที่ใจของเรา อาจเป็นการช่วยเหลือ การแบ่งปัน การยิ้มให้ และการพูดจาดีๆ กับคนรอบข้าง คล้ายกับความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจเวลาที่เราทำบุญ
7. จดบันทึกความรู้สึกผ่านเสียงและตัวอักษร
เขียนบันทึกความคิดถึง หรืออาจอัดเสียงก็ได้ และรอโอกาสที่จะเอาความรู้สึกนี้เล่าให้เขาฟัง แต่ถึงจะไม่มีโอกาสได้เจอกัน การได้ระบายความรู้สึกออกมาผ่านการพูดและการเขียน จะทำให้ความคิดและใจของเราเบาลง
8. ให้เวลากันและกัน
บางความสัมพันธ์ที่จบลงไปอย่างน่าเสียดาย ต่อให้อยากกลับมาแค่ไหน แต่ทั้งเราและเขาต่างก็ต้องการเวลาในการรักษาใจ หากเรารีบร้อนจะกลายเป็นว่า นอกจากจะไม่ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น ยังจะทำให้เราหายเจ็บช้าลง
9. ดูของต่างหน้า
ในความสัมพันธ์ที่ห่างไกลกันแค่ชั่วคราว ให้หาของมาเตือนใจว่าจริงๆ แล้วนี่เป็นเรื่องชั่วคราว เดี๋ยวเขาก็กลับมา จะทำให้เรามั่นคงและอุ่นใจขึ้น อาจนำของที่เขาเคยให้ไว้พกไปไหนมาไหนด้วย เอาเสื้อคลุมของเขามาพาดเก้าอี้ ใช้แชมพูที่เขาชอบใช้ หรือแค่มองดูวันในปฏิทินให้รู้สึกมีความหวัง ก็พอทำให้หายคิดถึงบ้างแล้ว
10. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
ความคิดถึงที่มาจากการสูญเสียคนในครอบครัวและคนรัก บางครั้งอาจหนักหนาเกินกว่าที่เราจะรับไหว และหลายครั้งที่เราอาจไม่มีใครให้หันหน้าไปพึ่งพา เราอาจต้องปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดเพื่อขอความช่วยเหลือ และขอคำแนะนำวิธีเยียวยาตนเองที่ถูกต้อง
ความคิดถึงเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาจากความรักและความผูกพัน แทนที่เราจะปฏิเสธความรู้สึกนี้ เราน่าจะลองโอบรับมันดู เพราะการที่เราคิดถึงใครยังหมายความว่า คนที่เราคิดถึงยัง “มีความหมาย” และ “มีชีวิต” อยู่ในความทรงจำของเรา
อ้างอิง
– The psychology of missing someone: 5 ways to cope with the pain – Jason Crosby – https://bit.ly/3Y0iTWl
– Missing Someone? How to Cope, Regardless of the Situation: Crystal Raypole – https://bit.ly/3Do9Ch0
– What to Do When You Are Missing Someone: Kendra Cherry, MSEd – https://bit.ly/3pXlELr
#selfdevelopment
#selflove
#selfcare
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast