self developmentเรียกร้องความสนใจ “มาก” เกินไป กระทบความสัมพันธ์กว่าที่คิด! เข้าใจถึงสาเหตุและแนวทางแก้ไขอาการเรียกร้องความสนใจมากไป

เรียกร้องความสนใจ “มาก” เกินไป กระทบความสัมพันธ์กว่าที่คิด! เข้าใจถึงสาเหตุและแนวทางแก้ไขอาการเรียกร้องความสนใจมากไป

“ทำไมเพื่อน/แฟน/พ่อแม่ไม่สนใจเราเลย” เคยรู้สึกแบบนี้กันบ้างไหม?

เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการการยอมรับและการยกย่องจากคนรอบข้าง ทุกคนต่างก็ต้องการความสนใจจากคนอื่นบ้างเป็นครั้งคราว ซึ่งนั่นก็หมายความว่าในบางครั้งหากเราไม่ได้รับความสนใจและการยอมรับจากคนอื่น เราก็อาจมีพฤติกรรม “เรียกร้องความสนใจ” ขึ้นมาได้

ซึ่งการเรียกร้องความสนใจสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกๆ รูปแบบความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน หรือแม้กระทั่งคนรัก เชื่อว่าหลายคนก็อาจจะเคยพบเจอพฤติกรรมเช่นนี้มาแล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น เราอาจจะเคยเห็นเพื่อนยึดติดกับยอดไลก์และยอดคอมเมนต์ในโลกโซเชียลมากเกินไป หรืออาจจะเคยเห็นคนที่ชอบคุยโม้อยู่ตลอดเวลา

แล้วถ้าพฤติกรรมดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับคนอื่น แต่ดันเป็นเราที่ชอบเรียกร้องความสนใจจากคนอื่นเสียเองล่ะ?

ก็ต้องบอกว่าการเรียกร้องความสนใจจากเพื่อน คนที่เรารัก หรือคนที่เราชื่นชมนั้นไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลกแต่อย่างใด แต่ถ้าเราเรียกร้องความสนใจบ่อยเกินไป หรือทำพฤติกรรมที่กระทบต่อผู้อื่นมากไป ก็อาจถึงเวลาที่ต้องกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง เพราะมันอาจจะส่งผลร้ายแรงถึงความสัมพันธ์ของเราและคนรอบข้าง

เช็ก 5 พฤติกรรม ที่บอกว่าเรากำลังต้องการ “ความสนใจ” จากคนอื่นมากไป

หากเราแสดงพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจออกมาบ่อยๆ โดยไม่รู้ตัว เช่น แสดงท่าทีก้าวร้าวหรือพูดจารุนแรงต่อผู้อื่น ก็อาจทำให้ผู้คนรอบๆ ข้างไม่อยากอยู่ใกล้เราอีกต่อไปแล้วก็ได้ เรียกได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่สามารถทำลายความสัมพันธ์ได้เลย

ดังนั้น เราลองมาเช็กกันดูก่อนว่าเรามีพฤติกรรมที่เข้าข่ายเรียกร้องความสนใจจากคนอื่นมากเกินไปหรือไม่

1. แสร้งทำเป็นว่าตัวเองทำอะไรบางอย่างไม่ได้

เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คงเหมือนในละครหลังข่าวที่นางร้ายมักจะพยายามเรียกร้องความสนใจด้วยการทำอะไรสักอย่างไม่ได้ เช่น ทำเป็นเจ็บขาเดินไม่ได้เพื่อให้พระเอกช่วย ซึ่งพฤติกรรมประเภทนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริงและเกิดขึ้นได้กับทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว หรือคนรัก

Advertisements

2. ชอบทำให้เกิดความขัดแย้ง

บางคนก็อาจจะเรียกร้องความสนใจด้วยการสร้างความขัดแย้งในที่สาธารณะหรือในพื้นที่ส่วนตัว เพื่อดึงดูดความสนใจจากคนรอบข้าง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคนที่เรียกร้องความสนใจนั้นมักจะเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้ง

3. ต้องการความเห็นอกเห็นใจจากผู้อื่น

ตัวอย่างพฤติกรรมประเภทนี้เช่น แกล้งทำเป็นป่วย เพื่อให้เพื่อน ครอบครัว หรือคนรอบข้างหันมาให้กำลังใจ หรือบางครั้งก็อาจจะชอบแสดงอารมณ์ที่เกินจริงไป เมื่อเกิดความเสียหายเล็กๆ น้อยๆ เช่น กระเป๋าหรือรองเท้าขาด

4. ต้องการคำชม

หากเราทำอะไรสักอย่างได้ดี การอยากได้รับคำชื่นชมจากคนอื่นก็เป็นเรื่องปกติ แต่บางคนพยายามทำสิ่งต่างๆ มากเกินไปเพียงเพราะอยากให้คนอื่นชื่นชมตัวเอง เช่น บางคนพยายามขโมยเครดิตงานคนอื่นจนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หรือบางคนพยายามช่วยเหลืองานคนอื่นมากไปจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของตัวเอง

5. ชอบโกหกและแต่งเรื่อง

พฤติกรรมที่อาจส่งผลร้ายแรงที่สุดก็คงเป็นเรื่องของการโกหกและแต่งเรื่องขึ้นมา บางคนชอบสร้างเรื่องเกินจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวเองหรือเรื่องของคนอื่น เพราะอยากให้คนอื่นๆ มีท่าทีสนใจเรื่องที่ตัวเองเล่า ซึ่งแน่นอนว่าหากนำเรื่องของคนอื่นมาพูดเกินจริงก็อาจทำให้เขาเสื่อมเสีย จนสุดท้ายแล้วก็กระทบกับความสัมพันธ์ที่มีอยู่ได้

ในท้ายที่สุด การเรียกร้องความสนใจอาจไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หากการกระทำนั้นไม่ได้ส่งผลลบต่อตัวเองและคนรอบข้าง แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเรียกร้องมากเกินไปจนส่งผลลบมากกว่าผลดี เราก็อาจจะต้องหันกลับมาทบทวนพฤติกรรมของเรากันใหม่

Advertisements

เข้าใจสาเหตุของพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนก็อาจเริ่มคิดว่า “ทำไมเราถึงเป็นคนอย่างนี้ไปได้กันนะ” เพราะฉะนั้นเราลองมาไขข้อสงสัยกันว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเกิดพฤติกรรมเช่นนี้ขึ้นมาได้

สาเหตุแรกก็คงเป็นเพราะเรามี “ความพึงพอใจในตัวเองต่ำ” ลองนึกภาพว่าถ้าตอนเด็กๆ เราเติบโตมากับการที่ไม่ค่อยได้รับคำชื่นชมจากคนรอบๆ ข้าง แล้วยังถูกตอกย้ำอยู่บ่อยๆ ว่าเรานั้นไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ หรือไม่มีค่าพอ พอโตมาก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราจะต้องการได้รับความสนใจหรือได้รับการยอมรับจากคนอื่น

“ความเหงาและความอิจฉา” ก็เป็นอีกสองสาเหตุที่พบได้บ่อยเช่นกัน โดยความอิจฉานั้นอาจเกิดขึ้นเพราะเมื่อก่อนเราเป็นคนที่ได้รับความสนใจจากคนอื่นตลอดเวลา แต่พอวันใดวันหนึ่งรู้สึกว่ามีใครบางคนเข้ามาคุกคามพื้นที่ตรงนี้ ก็อาจทำให้เราแสดงพฤติกรรมที่เรียกร้องความสนใจออกมาโดยที่ไม่รู้ตัวได้

ส่วนความโดดเดี่ยวนั้นก็มีความเกี่ยวข้องกับความอิจฉาเช่นกัน เช่น ช่วงที่ผ่านมาเราวุ่นอยู่กับการทำงานจนไม่มีเวลาไปเจอเพื่อน แต่พอไถโซเชียลมีเดียดูแล้วก็เห็นว่าเพื่อนสนิทไปเจอหน้ากันแค่สองคน เมื่อเห็นแบบนั้นแล้วก็อาจเกิดความรู้สึกเชิงลบทั้งด้านความโดดเดี่ยวและความอิจฉาขึ้นมา จนสุดท้ายแล้วก็แสดงพฤติกรรมที่เรียกร้องความสนใจออกมา

อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้บางคนมีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจเป็นเพราะมี “ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ” บางอย่าง เช่น

[ ] โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทีเรีย (Histrionic Personality Disorder: HPD) คนที่เป็นโรคนี้จะมีอารมณ์ที่หุนหันพลันแล่น มีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ทำให้อารมณ์แปรปรวน และชอบแสดงพฤติกรรมที่ดึงดูดความสนใจผู้อื่น

[ ] ภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder: BPD) คนที่มีภาวะนี้จะมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเอง มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนอื่น รวมทั้งยังมีอาการกลัวการถูกทอดทิ้งอย่างรุนแรงอีกด้วย

[ ] โรคอื่นๆ เช่น โรคไบโพลาร์ โรคสมาธิสั้น โรคหลงตัวเอง โรคดื้อต่อต้าน และภาวะระเบิดอารมณ์ชั่วคราว

เราจะหยุดนิสัยเรียกร้องมากไปได้อย่างไร?

การที่เราจะเลิกเรียกร้องความสนใจและการยอมรับจากคนอื่นได้ สิ่งที่สำคัญมากคือเราจะต้องตระหนักให้ได้ก่อนว่าเรากำลังมีพฤติกรรมเช่นนี้อยู่ เพราะบางครั้งเราอาจไม่รู้ตัวว่าพฤติกรรมบางอย่างกำลังทำร้ายตัวเราและคนรอบข้าง เมื่อเราตระหนักถึงเรื่องนี้ได้แล้ว หลังจากนั้นเราก็ควรหาแนวทางในการสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง โดยสามารถทำได้ด้วย 3 วิธีต่อไปนี้

1. เขียนบันทึกเรื่องราวประจำวัน

วิธีที่ดีที่จะช่วยให้เรารู้ได้ว่าเรามีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจมากเกินไปหรือเปล่า ก็คือ “การเขียน Journal” เพราะการเขียนจดบันทึกประจำวันจะช่วยให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นว่าในแต่ละวันเราคิด รู้สึก หรือมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง

2. สร้าง Self-Esteem

อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้นว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราต้องการความสนใจจากคนอื่นเป็นเพราะเรามีความพึงพอใจในตนเองต่ำ แต่การเรียกร้องความสนใจก็ไม่ได้ช่วยให้เรามีความพึงพอใจในตัวเองสูงขึ้น

วิธีการที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับเราได้คือ “การพูดกับตัวเองในเชิงบวก” บ่อยๆ โดยไม่ต้องรอให้คนอื่นมาพูด เช่น “เราทำได้อยู่แล้ว” “เราเก่งแล้ว” หรือ “วันนี้เราทำได้ดีแล้ว” นอกจากนั้น เราก็ควรพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่มีคนที่พร้อมจะสนับสนุนเราเสมอ เพื่อสร้างบรรยากาศเชิงบวกรอบตัวและเรียกความมั่นใจของตัวเองให้กลับมา

3. เข้ารับการบำบัด

หากใครที่กำลังรู้สึกว่าตัวเองมีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจมากไปแล้วไม่รู้จะเริ่มตรงไหนดี ทางที่ดีที่สุดก็ควรเข้ารับการบำบัด เพราะผู้เชี่ยวชาญจะช่วยเราหาต้นตอได้ว่าที่เรามีพฤติกรรมเช่นนี้นั้นเกิดขึ้นมาจากอะไร รวมทั้งยังช่วยให้แนวทางในการแก้ไขพฤติกรรมเหล่านั้นกลับมาอีกด้วย

“การเรียกร้องความสนใจ” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกๆ คน เพราะเราต่างก็ต้องการการยอมรับจากคนอื่น แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกว่า “นี่เรากำลังเรียกร้องจากคนอื่นมากไปหรือเปล่า?” ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องหันมาตกผลึกและทำความเข้าใจพฤติกรรมตัวเองใหม่ แล้วหาวิธีแก้ไขเพื่อไม่ให้กระทบกับความสุขและความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้าง


แปลและเรียบเรียง
– ‘I Need Attention:’ What This Means and How to Stop Needing It : Toketemu Ohwovoriole, Verywell Mind – http://bit.ly/3Uj83Jf
– What to Know About Attention-Seeking Behavior : Wendy Wisner, Verywell Mind – http://bit.ly/3zpAWJR
– Do I Have Attention Seeking Disorder? : The Awareness Centre – http://bit.ly/3nHS5vW

#selfdevelopment
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า