self developmentHow to รับฟังโดยไม่ตัดสิน เพราะบางครั้งเราก็แค่ต้องการใครสักคนที่เข้าใจในยามท้อแท้

How to รับฟังโดยไม่ตัดสิน เพราะบางครั้งเราก็แค่ต้องการใครสักคนที่เข้าใจในยามท้อแท้

เมื่อปัญหาถาโถมเข้ามาในชีวิต แต่ละคนก็มีวิธีรับมือกับปัญหาตรงหน้าแตกต่างกันไป บางคนอาจเลือกปิดปากเงียบไม่บอกใคร ในขณะที่บางคนอาจเลือกเล่าให้ใครสักคนฟัง

บางคนอาจตัดสินใจเลือกเล่าให้คนอื่นฟังเพราะต้องการรับฟังคำแนะนำอีกมุม
แต่บางคนก็อาจตัดสินใจเล่าให้คนอื่นฟังเพียงแค่เพราะต้องการคนรับฟังและเข้าใจ

ซึ่งก็หมายความว่าสำหรับคนที่ยืนอยู่ในจุดที่เรียกว่าเป็น “ผู้รับฟัง” แล้ว ถึงแม้ว่าการให้คำแนะนำอาจดูเป็นทางเลือกที่ดี แต่ก็ใช่ว่ามันจะเป็นสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการเสมอไป

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บางคนพอเห็นคนรอบข้างมาปรึกษา ก็มักจะปรี่ตอบไปด้วย “คำตัดสิน” ทันที จนทำให้อีกฝ่ายไม่อยากเล่าเรื่องอะไรให้ฟังอีกต่อไป

ดังนั้น บางครั้งการให้คำแนะนำจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเสมอไป แค่รับฟังอย่างเข้าใจคงจะดีกว่า

เพราะอะไรการให้คำแนะนำอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเสมอไป?

อย่างแรก เพราะว่าคำแนะนำเป็นรูปแบบหนึ่งของการตัดสิน เราที่เป็นคนให้คำแนะนำอาจมองว่าตัวเองกำลังให้ความช่วยเหลือเขาอยู่ แต่การให้ความคิดเห็นแบบที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับอีกฝ่ายเท่าไรนั้น อาจทำให้เขามองว่าเรากำลังตัดสินเขาอยู่ได้

ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ คือ การที่ลูกเล่าปัญหาให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่บางคนมักจะตอกกลับไปทันทีว่า “ทำไมถึงทำแบบนี้ล่ะ ถ้าไม่ทำแบบนี้ปัญหาก็ไม่เกิดตั้งแต่แรก” ซึ่งมันเหมือนกับเป็นการชี้นิ้วว่าลูกเป็นฝ่ายผิด และแสดงให้เห็นถึงการไม่พร้อมอยู่เคียงข้างกัน ทั้งๆ ที่ฝั่งพ่อแม่เองกลับมองว่าสิ่งที่พูดและทำลงไปนั้นเป็นเพียงแค่คำแนะนำ และทำลงไปเพราะหวังดี

อย่างที่สอง การให้คำแนะนำจะทำให้อีกฝ่ายไม่สามารถเรียนรู้และเติบโตได้ด้วยตัวเอง บางคนอาจมองว่าการให้คำแนะนำถือเป็นความหวังดี แต่แท้จริงแล้วคำแนะนำของเราอาจไปจำกัดแนวคิดและวิธีการในการแก้ปัญหาของอีกฝ่ายได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วคนเรานั้นมักจะชอบเก็บคำพูดของคนอื่นไปคิดต่อ ซึ่งสุดท้ายแล้วมันก็จะทำให้คนคนนั้นไม่สามารถเรียนรู้และเติบโตได้ด้วยตนเอง

อย่างที่สาม ถึงแม้ว่าคำแนะนำของเราจะเคยใช้ได้มาก่อน แต่อาจไม่ใช่กับกรณีตรงหน้า เราอาจคิดว่าคำแนะนำของเรานั้นดีที่สุด เพราะมันเคยได้ผลกับคนอื่นหรือตัวเองมาก่อน แต่ว่าแต่ละปัญหาที่แต่ละคนเจอนั้นไม่เหมือนกัน จะให้ใช้คำแนะนำเดียวกันไปเรื่อยๆ ก็คงจะไม่ได้

อย่างสุดท้ายคือ การให้คำแนะนำจะทำให้อีกฝ่ายปิดใจกับเรา อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าหากเราให้คำแนะนำที่เป็นการโจมตีอีกฝ่าย จะทำให้เขารู้สึกว่ากำลังถูกตัดสินอยู่ ดังนั้นแทนที่การคุยกันครั้งนั้นจะทำให้ระหว่างเราและเขามีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้น ก็จะทำให้บทสนทนาจบลงพร้อมกับเขาปิดประตูหัวใจใส่หน้าเราเพราะรู้สึกไม่พอใจแทน

ดังนั้น หากยังคงอยากรักษาความสัมพันธ์นั้นให้ดีอยู่เสมอ ก็จงเป็นผู้รับฟังที่ดีแทน

บางครั้งเพื่อน คนรัก หรือสมาชิกในครอบครัวต้องการคำแนะนำ แต่บางครั้งกลับต้องการแค่คนรับฟัง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เวลาไหนควรรับฟัง หรือเวลาไหนควรให้คำแนะนำ?

วิธีแรกก็ง่ายๆ เลยคือ ให้ถามสิ่งที่คนเหล่านั้นต้องการ เพราะเราไม่สามารถอ่านใจคนอื่นได้ วิธีเดียวที่จะรู้ได้อย่างชัดเจนที่สุดคือให้เขาพูดมันออกมา อย่าคาดเดาสิ่งที่คนอื่นต้องการเอาเอง เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าจริงๆ แล้วเขาต้องการอะไรกันแน่

อีกวิธีหนึ่งคือ ลองสังเกตดูว่าระหว่างที่เพื่อน คนรัก หรือสมาชิกในครอบครัวระบายปัญหาให้ฟังเขาหลุดคำพูดว่า “ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง” ออกมาหรือเปล่า ถ้าใช่ ก็อย่าเพิ่งโยนคำแนะนำไป แต่ให้โยนหินถามทางไปก่อนว่าเขาต้องการคำแนะนำอะไรจากเราหรือเปล่า เพราะบางครั้งเขาก็อาจจะแค่บ่นออกมาลอยๆ ไม่ได้ต้องการคำแนะนำ

นอกจากจะสังเกตคำพูดแล้ว เราก็สามารถสังเกตจากการกระทำของคนเหล่านั้นได้เช่นกัน เช่น บางคนระบายอารมณ์โดยการพูดถึงแค่ปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ไม่ค่อยพูดถึงวิธีการแก้ปัญหาเลย นี่ก็อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณที่ชี้ว่าเขากำลังมองหาทางออกหรือคำแนะนำอยู่ก็เป็นได้ แต่สุดท้ายแล้วเราก็ต้องถามเขาอยู่ดีว่าเขาต้องการข้อเสนอแนะหรือความคิดเห็นอะไรหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์แย่ลง

Advertisements
Advertisements

ถ้าเพื่อน คนรัก หรือสมาชิกในครอบครัว ไม่ได้ต้องการคำแนะนำ แต่ต้องการแค่คนรับฟังและเข้าใจ แล้วเราจะเป็นผู้รับฟังที่ดีได้อย่างไร?

1. รับฟังด้วยใจ
รับฟังด้วยใจคืออะไร? คือการฟังเพื่อทำความเข้าใจมากกว่าฟังเพื่อตอบกลับไปเฉยๆ โดยการรับฟังด้วยใจนั้นจะต้องมีสติและใส่ใจในสิ่งที่คนตรงหน้าพูดอยู่เสมอ เพื่อที่เราจะได้โฟกัสสิ่งที่เขาต้องการสื่อสารออกมาได้ ซึ่งการรับฟังด้วยใจหรือการรับฟังอย่างตั้งใจนั้นสามารถฝึกกันได้ ด้วยวิธีการเหล่านี้

[ ] โฟกัสที่ผู้พูด
[ ] ตั้งใจฟัง แม้จะไม่ใช่สิ่งที่อยากฟัง
[ ] ถามคำถามหากสงสัย
[ ] เลี่ยงการตัดสิน
[ ] เลี่ยงการตั้งสมมติฐานใดๆ ขึ้นมาเอง
[ ] อย่าปักธงคำตอบไว้ในใจจนกว่าจะได้ยินเรื่องราวทั้งหมด

2. ให้การยืนยันและยอมรับความรู้สึกของคนตรงหน้า
หากมีใครแสดงด้านที่อ่อนแอให้เราเห็น ก็หมายความว่าเขาไว้ใจเรามากว่าเราจะสามารถอยู่เคียงข้างเขาได้ ดังนั้นหากเจอคนมาระบายอะไรให้ฟัง เราก็ควรยืนยันและยอมรับความรู้สึกของเขา ว่าเขาสามารถรู้สึกแบบนี้ได้ เช่น การบอกว่า

[ ] “เราเข้าใจนะว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นเรื่องยากสำหรับคุณ”
[ ] “เราก็คงจะโกรธเหมือนกันถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับเรา”
[ ] “เราเสียใจที่มีเรื่องนี้เกิดขึ้นกับคุณ คุณไม่สมควรต้องมาเจอเรื่องแบบนี้”
[ ] “เราคิดว่าคุณรับมือกับเรื่องที่ผ่านมาได้ดีมาก เราภูมิใจในตัวคุณนะ”

3. เป็นพื้นที่สบายใจให้กับคนอื่น
เมื่อมีคนมาเล่าปัญหาให้ฟัง อย่าเพิ่งเสนอแนวคิดหรือคำแนะนำอะไรออกไป เพราะเขาอาจรู้สึกไม่ปลอดภัยได้ ทางที่ดีให้หลีกเลี่ยงการตัดสินสิ่งที่บุคคลนั้นกำลังพูด เราควรให้การสนับสนุนมากกว่าให้คำแนะนำ เพราะถ้าเราทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอับอาย โกรธ หรือไม่พอใจที่แสดงความรู้สึกออกมา เขาก็คงจะไม่ไว้ใจหรือเล่าอะไรให้เราฟังอีก

4. แสดงความเห็นอกเห็นใจ
อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราฟังอย่างไม่ตัดสินคือ การแสดงความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเราสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ถึงความทุกข์ของอีกฝ่ายและเข้าใจว่าความทุกข์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน หรือการแสดงความห่วงใยต่อคนที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่และปฏิบัติต่อเขาด้วยความใจดี

การแสดงให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าเราตระหนักถึงความท้าทายที่เขากำลังเผชิญอยู่ จะช่วยให้เขาเห็นว่าเราใส่ใจและเป็นห่วงเขาจริงๆ

5. มองเรื่องราวที่เกิดขึ้นในมุมมองของอีกฝ่าย
อีกวิธีที่จะช่วยให้เราเป็นผู้ฟังที่ดีได้ไม่แพ้กันคือ “Put yourself in their shoes” – การเอาใจเขามาใส่ใจเรา

เมื่อเห็นว่าคนอื่นมีปัญหา อย่ามองถึงปัญหานั้นแค่ในมุมเรา เพราะเราไม่ได้เป็นคนเผชิญกับเรื่องราวนั้นด้วยตัวเอง แต่ให้ลองสวมบทบาทเป็นอีกฝ่ายดู เช่น แทนที่เราจะรู้สึกเสียใจแทนบุคคลนั้น ให้ลองทำความเข้าใจจริงๆ ว่าถ้าเราเป็นเขา แล้วต้องมาเจอเรื่องราวแบบนั้น เราจะรู้สึกอย่างไร สุดท้ายมันก็จะช่วยให้เราสนับสนุนอีกฝ่ายได้ดีขึ้น

แม้ว่าการให้คำแนะนำจะดูเป็นทางเลือกที่ดี แต่บางครั้งเมื่อเราทุกข์ใจเราก็อาจจะไม่ได้ต้องการคำแนะนำเสมอไป แค่ต้องการคนคอยอยู่ข้างๆ และรับฟังอย่างเข้าใจเท่านั้นเอง ดังนั้นหากใครกำลังเจอคนมาระบายความในใจให้ฟัง ก็อย่าเพิ่งรีบตัดสินและโยนคำแนะนำไป ให้หยุดคิดสักนิด แสดงความเห็นอกเห็นใจอย่างแท้จริงสักหน่อย แล้วคอยรับฟังเขาด้วยใจจริง เท่านี้เขาก็จะรู้สึกได้แล้วว่า “การมีคุณอยู่เคียงข้างบนโลกใบนี้มันช่างมีความหมายจริงๆ”


อ้างอิง
– Giving Advice- Why it Could Be Ruining Your Relationships : Dr.Sheri Jacobson, Harley Therapy – https://bit.ly/3SdpR8U
– Should I Listen or Give Advice? How to Determine Which Way to Respond to Your Partner or Friend : Estes Therapy – https://bit.ly/3vyYSfh
– How to Listen Without Giving Advice : Marissa Moore, Psych Central – https://bit.ly/3RLRFQg

#selfdevelopment
#inspiration
#activelistening
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า