self developmentเคยสงสัยกันไหมว่า เราทำคนสำคัญหล่นหายไปจากชีวิตตอนไหน?

เคยสงสัยกันไหมว่า เราทำคนสำคัญหล่นหายไปจากชีวิตตอนไหน?

“เราจะเป็นเพื่อนกันตลอดไป”

ย้อนกลับไปสมัยเด็ก เรามักจะมีเพื่อนอยู่กลุ่มหนึ่งที่เราใช้ชีวิตด้วยกันทุกวัน ถึงเวลาทานข้าวก็ไปกันยกแก๊ง จะไปเข้าห้องน้ำทีก็ต้องพาเพื่อนไปด้วย และพอถึงวันที่พวกเราเรียนจบ ไม่ว่าจะจบมัธยมต้น มัธยมปลาย หรือมหาวิทยาลัย เราก็มักจะให้คำมั่นสัญญากันไว้เสมอว่า “เราจะอยู่ตรงนี้ไม่ไปไหนและเราจะเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิมไม่มีวันแปรเปลี่ยน”

แต่แล้วพอผ่านช่วงระยะเวลานั้นมาสักพักหนึ่ง อยู่ดีๆ เราก็ค่อยๆ หายจากกันไป จากที่เคยเจอกันทุกวัน ไปไหนก็ไปด้วยกันตลอด ก็เหลือเพียงแค่เจอกันอาทิตย์ละครั้ง เดือนละครั้ง ปีละครั้ง จนสุดท้ายก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย..

จริงๆ แล้วการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เราไม่อาจหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้พ้น แต่จะเป็นอย่างไรหากวันหนึ่งเราต้องห่างหายหรือจากใครสักคนไป โดยที่ไม่ใช่ “ความตาย” มาพรากเราจากกัน แต่เป็นเพราะอยู่ดีๆ เราก็ค่อยๆ หายไปจากชีวิตของกันและกัน ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเคยสนิทกันมากแท้ๆ

แน่นอนว่า เมื่อย้อนกลับไปมองถึงเรื่องราวเหล่านั้น เราก็คงจะมีความเสียใจเกิดขึ้นมาบ้างเป็นแน่ 

เมื่อมีพบ… ก็ต้องมีจาก

“การจากลา” แค่พูดถึงคำนี้ขึ้นมา ความเศร้าก็พร้อมตีขึ้นมาในใจ เพราะเมื่อเราสนิทกับใครสักคนหรือรักใครสักคนหนึ่ง จนรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนสำคัญในชีวิตของเรา เช่น สมมติว่าถ้าเรามีเพื่อนสนิทอยู่คนหนึ่งที่ กิน นอน เล่น เที่ยว เรียน หรือทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันทุกวัน เราก็คงจะไม่อยากจากกันไปไหน หรือไม่แม้แต่จะคิดว่าเราจะต้องแยกจากกันไปไหน จริงไหม?

แต่อะไรเป็นตัวที่ผลักให้เราต้องแยกจากกันและค่อยๆ จางหายไปจากชีวิตของกันและกันล่ะ?

การจากลาเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงของชีวิต ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็อาจมาจากการถึง “ช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต” เช่น การย้ายห้อง การย้ายโรงเรียน การก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย หรือการก้าวเข้าสู่วัยทำงาน สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เราต้องห่างกันไปกับใครสักคนหนึ่ง เพราะมันทำให้เราก้าวไปสู่สังคมใหม่ๆ ต้องเจอกับผู้คนใหม่ๆ เพื่อนใหม่ๆ และคนที่สามารถซัปพอร์ตชีวิตใหม่ของเราได้ก็คือกลุ่มคนเหล่านี้

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็อาจทำให้เราเริ่มค่อยๆ หลงลืมคนสำคัญในชีวิตที่มีมาก่อนหน้าไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากทั้งเราและเขาไม่เคยคิดที่จะติดต่อกัน ความสัมพันธ์ที่มีมันก็จะค่อยๆ จืดจางลงไป จนทำให้จากแต่เดิมที่เป็นคนสำคัญ ถูกปัดตกมาเป็นคนที่ “เคย” สำคัญไปเสียแล้ว

ในขณะเดียวกัน เขาเหล่านั้นก็อาจจะมีสังคมใหม่ๆ และเพื่อนใหม่ๆ ที่ซัปพอร์ตชีวิต ณ ตอนนั้นได้ดีกว่าเราไปแล้วด้วยเหมือนกัน หลังจากนั้นเราก็อาจจะเริ่มรู้สึกเสียใจและถามตัวเองว่า “นี่เราทำคนสำคัญในชีวิตหล่นหายไปตั้งแต่ตอนไหนกันนะ?” ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ก็ง่ายๆ คือ “ก็ตอนที่เราเริ่มค่อยๆ ไม่ใส่ใจและหลงลืมเขาไปเรื่อยๆ ยังไงล่ะ”

สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับ “เพื่อน” เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์อื่นๆ ด้วย อย่างเช่น ความสัมพันธ์ฉันท์ “คู่รัก” บางคนเมื่อถึงช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต ก็เริ่มติดสังคมใหม่ๆ จนลืมคนข้างกายไปและสุดท้ายก็เลิกรากันไปในที่สุด

ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เราอาจนิยามตามคำที่คนสมัยใหม่ชอบใช้กันได้ว่า “แยกย้ายกันไปเติบโต” เพราะต่างคนต่างก็ไปมีชีวิตใหม่ในแบบของตัวเอง แบบที่ไม่มีคนสำคัญคนเดิมคอยอยู่เคียงข้างอีกต่อไป

จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ ก็จะเห็นได้ว่า เมื่อต้องเจอการจากลากันในช่วงแรกๆ ต่างคนต่างก็เศร้าเพราะ “ไม่อยากจากกัน” แต่พอระยะเวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง เรากลับปล่อยให้มันกลายเป็นความเศร้าด้วยสาเหตุที่ว่า “เราไม่เหลือกันและกันอีกต่อไปแล้ว”

และสุดท้ายเหตุการณ์เหล่านี้ก็ทิ้งไว้เพียงความเศร้าปนเสียดาย พร้อมกับประโยคที่ว่า “กว่าจะรู้ตัวอีกที ก็สายไปเสียแล้ว”

Advertisements

แล้วเราควรจัดการกับความเศร้าปนเสียดายนี้อย่างไรดี?

เชื่อว่าหลายคนคงมีความคิดว่า อยากให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนคนนั้นกลับมาเป็นเหมือนเดิม ซึ่งจริงๆ แล้วเราก็สามารถลองพยายามทำให้ทุกอย่างกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ เช่น ลองชวนเพื่อนคนนั้นออกมาเที่ยวเล่นหรือทานข้าวด้วยกันให้บ่อยขึ้น หรือลองกลับไปพูดคุยกันให้บ่อยขึ้น

แต่ถ้าลองแล้วอะไรๆ ยังไม่ดีขึ้นและดูท่าว่าความสัมพันธ์นั้นคงกลับมาเป็นเหมือนเดิมไม่ได้ ก็ถึงเวลาที่เราต้องเลือกอีกทางเลือกหนึ่งคือ “ปล่อยอดีตให้ผ่านพ้นไป”

การปล่อยอดีตหรือใครสักคนไปนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เพราะด้วยความที่เรามีความทรงจำดีๆ ร่วมกันมาเยอะ เราก็คงจะเกิดความเสียดายและความเสียใจขึ้นมาได้ว่า ทำไมเราถึงไม่ดูแลรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ให้ดี แต่ในท้ายที่สุดแล้วเราก็ต้องรู้จักปล่อยวาง “อดีต” ลง

ทำไมเราถึงต้องปล่อยวางอดีต? เหตุผลก็ง่ายๆ คือ เพราะ “ทุกอย่างมันจบลงไปแล้ว” ดังนั้นเราจึงไม่ควรนำเอาพลังงานทั้งหมดที่มีไปใช้กับเรื่องที่มันจบไปแล้ว

เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงปฏิกิริยาของเราที่มีต่อเรื่องราวนี้ได้ เช่น แทนที่เราจะมานั่งนึกเสียใจกับเรื่องราวในอดีต ก็ให้ปรับความคิดและความรู้สึกให้เป็นไปในทางบวกมากขึ้น อย่างเช่น ลองย้อนคิดดูว่าเราได้บทเรียนอะไรจากเรื่องนี้บ้าง เพื่อที่จะได้นำมาพัฒนาปัจจุบันและอนาคตให้ดีขึ้นกว่าเดิม หรืออาจจะลองเปลี่ยนความคิดเป็นแบบนี้ดูก็ได้ว่า การที่เราปล่อยอดีตไป จะช่วยให้เราเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิมเข้ามาได้

เมื่อมีพบก็ต้องมีจากกันเป็นธรรมดา และเมื่อถึงเวลานั้นเราก็ต้องรู้จักปล่อยวาง เพราะการปล่อยวางเป็นรากฐานสำคัญของการเปลี่ยนแปลง และจำไว้ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น “อย่าโทษคนอื่น” และเราจะโทษตัวเองก็ได้ แต่อย่าโทษนาน ให้เรียนรู้ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น แล้วนำบทเรียนที่ได้ไปปรับใช้และพัฒนาความสัมพันธ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปดีกว่า เพื่อที่จะได้ไม่ซ้ำรอยเดิมอีก


อ้างอิง
– 5 Reasons Why It’s Important to Let Go of the Past : Abigail Brenner, Psychology Today – https://bit.ly/3QRvUjq
– Letting Go: How to Put The Past, Anger, & Fear Behind You : Tchiki Davis, The Berkeley Well-Being Institute – https://bit.ly/45nyBxo

#selfdevelopment
#inspiration
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า